• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คนไทยกับภัยเอดส์ 2532

 

                        แบบจำลองเชื้อไวรัสเอดส์
 

เอดส์ เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน เวลานี้โรคเอดส์แพร่กระจายทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา แอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเซีย ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้ผู้ป่วยทั่วโลกเท่าที่รวบรวมได้ประมาณ 130,000 คน และผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการอีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

การติดเชื้อไวรัสเอดส์ สันนิษฐานว่า เริ่มจากประเทศในแอฟริกาเมื่อกว่า 10 ปีก่อนแล้ว แล้วเดินทางแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาก้าวหน้า จึงสามารถให้การวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ก่อนประเทศอื่น ๆ ทางติดต่อแพร่กระจายของเชื้อในอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ที่พบบ่อยเรียงตามลำดับคือ เพศสัมพันธ์ในบุรุษรักร่วมเพศ ผู้ฉีดยาเสพติดใช้เข็มร่วมกัน ผู้ที่ได้รับการให้เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดที่มีเชื้อ ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการถ่ายเลือดหรือเกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ และเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย สำหรับในแอฟริกาทางติดต่อที่พบบ่อยที่สุด คือ ทางเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย โสเภณีในแอฟริกาจำนวนมากที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสเอดส์ ในทวีบเอเซียพบการติดเชื้อไวรัสเอดส์น้อยกว่าทวีปอื่น ๆ เพราะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ

ปัญหาการติดเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีในประเทศไทย เจริญรวดเร็ว สามารถให้การตรวจและการวินิจฉัยยผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้ไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจึงรู้ปัญหาของเราได้ทันเหตุการณ์

การเดินทางมาประเทศไทยของไวรัสเอดส์

ก่อนปี พ.ศ. 2532 เอดส์ยังไม่ใช่โรคของคนไทย เชื้อไวรัสเอดส์ได้รับการนำเข้าจากต่างประเทศโดยชาวต่างประเทศเป็นผู้นำมาให้ และคนไทยเดินทางไปรับมาจากต่างประเทศ

2527
ปี พ.ศ. 2527 ผู้ป่วยคนไทยรายแรกที่ติดเชื้อและป่วยจากสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงประเทศไทยในเวลาใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยต่างชาติที่มีประวัติติดาเสพติดและเป็นบุรุษรักร่วมเพศแสดงอาการป่วยเข้ารับการรักษาในประเทศ ผู้ป่วยต่างชาติรายนี้มีประวัติการแพร่เชื้อให้ชาวไทยจำนวนไม่น้อย

2528
ปี พ.ศ. 2528 ชายไทยรายที่ 2 ด้วยเป็นโรคเอดส์ เข้าใจว่าได้รับเชื้อในประเทศไทยจากคู่สัมพันธ์ชายต่างชาติ ผู้ป่วยรายนี้มีเพศสัมพันธ์ทั้งหญิงและชาย ภรรยาติดเชื้อไวรัสเอดส์จากผู้ป่วยและมีอาการ
ในปีนี้ พบผู้ป่วยเอดส์ชาวต่างชาติ 3 ราย ทั้ง 3 รายมีประวัติอยู่ในเมืองไทยนานนับปี และมีโอกาสแพร่เชื้อให้ชาวไทยจำนวนมากมายมานานปี นอกจากนี้ พบผู้ป่วยชาวไทยที่มีอาการของโรคเอดส์ระยะต้น 6 ราย และติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ 5 ราย

2529
ปี พ.ศ. 2529 ไม่พบผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย แต่พบผู้ที่มีอาการระยะต้น 8 ราย และติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ 10 ราย

2530
ปี พ.ศ. 2530 พบผู้ป่วยเอดส์ชาวไทยเพิ่มขึ้นอีก 6 ราย เป็นบุรุษรักร่วมเพศ ผู้ป่วย 3 รายไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ หนึ่งรายให้ประวัติว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติเลย อีก 2 รายไม่แน่ว่าติดจากประเทศหรือต่างประเทศ และอีกรายหนึ่งติดจากต่างประเทศ
ผู้ติดเชื้อที่มีอาการระยะต้นพบเพิ่มอีก 13 คน และติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการอีก 174 คน

2531
ปี พ.ศ. 2531 ปัญหาโรคเอดส์ในประเทศไทยแสดงความรุนแรงเด่นชัด พบผู้ป่วยหญิง 1 ราย ที่ติดเชื้อโดยมีประวัติได้รับเลือดจากการผ่าตัดในต่างประเทศเมื่อ 2 ปีก่อนป่วยเป็นโรคเอดส์ และพบผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์รายแรกที่เกิดจากแม่ ติดเชื้อโดยแม่ไม่มีอาการ นอกจากนี้ พบเด็กที่เกิดจากแม่อีกไม่ต่ำกว่า 3 คน  นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2531 จำนวนผู้ฉีดยาเสพติดที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ฉีดยาเสพติดเข้ารับการรักษา ซึ่งเดิมตรวจพบว่าติดเชื้อประมาณร้อยละ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงร้อยละ 40 ในปลายปี ในปีนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ฉีดยาเสพติด ส่วนน้อยคือโสเภณีทั้งชายและหญิง คู่ของผู้ที่ติดเชื้อ ชายนักเที่ยวโสเภณี และผู้ได้รับเลือดที่มีเชื้อ ถ้าเรามีผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว 3,000 คน ผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่ได้ตรวจหรือยังอยู่ในระยะต้นยังตรวจไม่พบคงจะไม่น้อยกว่า 30,000 คน

คนเหล่านี้อยู่ที่ไหนกันบ้าง? และกำลังแพร่เชื้ออยู่หรือไม่?

ผู้ที่มาตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อจำนวนนับร้อยคน พบจากการตรวจเลือดที่มาจากการบริจาค กลุ่มนี้มีทั้งนักเรียน ทหาร พระ ฯลฯ เมื่อถามประวัติละเอียด พบประวัติที่เสี่ยงโรคคือ เคยฉีดยาเสพติด เคยมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ประวัติเหล่านี้จะได้รับเมื่อตรวจพบเลือดบวก แล้วขอให้มาตรวจซ้ำ แต่ที่น่าตกใจคือ หลายคนน่าจะติดจากโสเภณี เพราะไม่มีประวัติเสี่ยงอย่างอื่น
จำนวนโสเภณีที่ติดเชื้อในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 1 ใน 1,000 เป็น 1 ใน 100 หรือมากกว่า

การป้องกันและควบคุมโรคเอดส์

ถ้าดูจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ที่รายงานในขณะนี้ มาตรการควบคุมโรคเอดส์ของประเทศไทย นับว่าได้ผล จำนวนผู้ป่วยยังคงพบเพียงปีละ 1-6 คน
แต่จำนวนที่แสดงนี้ อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะในรายที่อาการไม่ชัดเจนแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น ผู้ป่วยยาเสพติดจำนวนหนึ่ง จะตายด้วยโรคติดเชื้อหรืออุบัติเหตุก่อนที่จะแสดงอาการโรคเอดส์
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์จะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี งบประมาณค่ารักษาพยาบาลจะต้องเพิ่มขึ้น มาตรการในการป้องกันโรคของสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่เคยลดหย่อนตามสบาย จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา และปรับปรุงรับรองให้ปลอดภัย เพื่อรับรองว่า บุคลากรสาธารณสุขที่เป็นผู้ให้บริการ ผู้ป่วยที่มารับบริการ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอดส์และเชื้อก่อโรคตัวอื่น ๆ 

 เรื่องของคนเลือดบวก

เวลานี้ขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการในการตรวจเลือดดู การติดเชื้อไวรัสเอดส์เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำการตรวจดูการติดเชื้อมีไม่ต่ำกว่า 46 แห่ง เลือดที่ใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เกือบทุกแห่งผ่านการตรวจมาก่อน ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยมากกว่าร้อยละ 95
ผลการตรวจนี้ ถ้าเป็นรายที่บวกชัดเจน จะบอกแม่นยำแน่นอน แต่รายที่เพิ่งติดเชื้อ อาจจะบอกได้ไม่ชัด หรือให้ผลลบปลอม* นอกจากนี้ผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสนี้ อาจตรวจเลือดพบผลบวกปลอม**ได้ เท่าที่ผ่านมา พบว่า การตรวจกรองในประชาชนที่ไม่มีประวัติเสี่ยง โรคทั่วไป พบผลบวกปลอมได้ราวหนึ่งในพัน จำเป็นต้องตรวจยืนยัน หรือติดตามตรวจซ้ำ

สำหรับผู้บริจาคเลือดทั่วไป พบเลือดบวกราวหนึ่งในสองพัน ส่วนมากยังเป็นผู้มีประวัติฉีดยาเสพติด โสเภณีชายเวลานี้เริ่มมีชายนักเที่ยวที่ให้ประวัติว่าเที่ยวโสเภณีหญิงอยู่ในกลุ่มนี้แล้วการที่ผู้ติดเชื้อได้มีโอกาสตรวจ และรู้ตัวว่าเลือดบวก นับเป็นโอกาสดี เพราะจะได้มีการปฏิบัติตนที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้โรครุนแรง ถ้าเริ่มมีอาการติดเชื้อไวรัสเอดส์ และได้รับยารักษาตั้งแต่ต้น ก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ ในผู้ที่ติดเชื้อตรวจพบเลือดบวกนี้ ถ้าไม่มีพฤติกรรมส่งเสริม จะช่วยไม่ให้ต้องป่วยเป็นโรคในเวลา 6 เดือนถึง 5 ปีข้างหน้า

ข้อปฏิบัติตนของคนเลือดบวก

1. เลิกพฤติกรรมที่จะมีโอกาสได้รับเชื้อเอดส์ซ้ำเข้าไปอีก ได้แก่
- งดการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้พยายามอย่ามีเพศสัมพันธ์รุนแรงจนเกิดบาดแผล ต้องใส่ถุงยางทุกครั้ง ถุงยางควรใช้ชนิดที่มีคุณภาพดีและมียาฆ่าเชื้อกับน้ำยาหล่อลื่น
ถ้างดไม่ได้และไม่ป้องกันตัวเอง เมื่อได้รับเชื้อเอดส์หรือเชื้อกามโรคตัวอื่น ก็จะช่วยส่งเสริมกับเชื้อที่มีอยู่เดิมก่อโรคมีอาการรุนแรง
อย่าคิดว่าตนเองเลือดบวกแล้วไม่เป็นไร คนเลือดบวกที่มีร่างกายแข็งแรง จะมีชีวิตเป็นปกติได้นานปีถ้าเชื้อในตัวอยู่ในระยะสงบ แต่ถ้าไม่ระวังตัว กระตุ้นให้เชื้อที่มีอยู่หรือเชื้อที่ได้รับเข้าไปใหม่แสดงฤทธิ์ ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจนตาย

- ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือของมีคมหรือของใช้ส่วนตัว เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน ผ้าขาวม้า เสื้อผ้าโดยเฉพาะชุดชั้นในร่วมกับผู้อื่น

2. คุมกำเนิด ถ้างดเพศสัมพันธ์ไม่ได้ ต้องคุมกำเนิดทั้งชาย และหญิง การใช้ถึงยางอนามัยเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่จะใช้วิธีอื่นร่วมด้วยก็ได้ ถ้าตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด หญิงเลือดบวกไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้เชื้อที่สงบก่อโรคเกิดอาการรุนแรงถึงชีวิตได้ แม้ว่าตัวเองจะยังไม่มีอาการขณะตั้งครรภ์ แต่ก็มีโอกาสสูงขึ้นในเวลาต่อมา และลูกที่เกิดมา มีโอกาสเป็นโรคด้วย ถ้าเป็นภรรยาของผู้ที่รู้ตัวว่าเลือดบวก หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ฉีดยาเสพติด ผู้มีเพศสัมพันธ์ทั้งกับชายและหญิง หรือชายนักเที่ยวโสเภณี ควรตรวจเลือดของคนเองและสามี
ถ้าเลือดบวกแล้ว ก็ต้องทำใจยอมรับความจริง ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ถ้าเลือดลบควรจะดีใจและงดพฤติกรรมเสี่ยงโรคทั้งหมดทั้ง 2 ฝ่าย และตรวจเลือดซ้ำอีก 6 เดือนต่อมา ถ้ายังได้ผลลบอีก ก็รับรองได้ว่าปลอดภัย ควรหยุดกการแสวงหาเชื้อ

3. สร้างเสริมสุขภาพของตนเอง
- อย่านอนดึก ควรนอนหลับพักผ่อนวันละ 6-8 ชั่วโมง
- อย่าเข้าไปในที่แออัด เพราะอาจติดโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางการหายใจ
- งดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ และยาเสพติดอื่น ๆ
- ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนกินอาหารทุกครั้งและหลังจากเข้าห้องน้ำ
- กินอาหารให้เป็นเวลา กินผักและผลไม้จำนวนมาก ๆ อาหารประเภทข้าว ถั่ว ไข่ ปลา และผักเป็นอาหารที่กินชีวิตประจำวันของคนไทย และเป็นอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินอาหารรสจัด อาหารดิบ อาหารหมักดอง อาหารที่ค้างคืน ซึ่งอาจบูดเสีย
- ออกกำลังกายทุกวัน อาจเป็นการเดินเร็ว ๆ หรือวิ่งเหยาะ ๆ ไม่ควรออกกำลังกามากจนเหนื่อยล้า ไม่ควรเข้าแข่งขันกีฬาซึ่งต้องออกแรงหักโหม
- อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ติดตามข่าวสารต่าง ๆ
- หางานอดิเรกทำอย่าให้มีเวลาว่างมากเกินไป อาจทำการฝีมือ วาดรูป หรืองานอื่น ๆ ที่พอใจและเกิดความเพลิดเพลิน

4. งดบริจาคเลือด น้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียม หรืออวัยวะต่าง ๆ

5. หาเพื่อนหรือผู้ที่ไว้ใจได้ สำหรับปรึกษาหารือ ควรมีแพทย์ที่จะติดต่อได้เป็นประจำ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยควรรีบพบแพทย์ ถ้าได้รับการรักษาจากแพทย์ที่ไม่รู้ประวัติ ขอให้บอกด้วยว่า ตนเองอาจมีเชื้อที่ติดต่อทางเลือดได้
การมีแพทย์ประจำจะช่วยในกรณีที่ต้องใช้ยาเฉพาะรักษาโรคเอดส์ และถ้ามียาใหม่ ๆ ที่ได้ผลจะได้รับการรักษาได้เร็วที่สุด

6. ถ้าทำได้ ควรมีการติดต่อรวมกลุ่มระหว่างพวกที่มีเลือดบวกด้วยกัน เพื่อจะได้ติดตามข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ และให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

7. ใช้ชีวิตในครอบครัวตามปกติ กินอาหารร่วมกับผู้อื่นได้แต่ควรใช้ช้อนกลาง ถ้วยชามที่ใช้ไม่จำเป็นต้องแยก แต่ควรแยกซักผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม เครื่องชั้นใน เสื้อผ้าหรือของใช้ที่เปรอะเปื้อนเลือด หรือสิ่งปฏิกูลขับถ่ายต่าง ๆ ควรแช่ในน้ำยาฟอกผ้าขาว ที่เจือจางราง 30 เท่า ก่อนซักสักครึ่งชั่วโมง เที่ยวเล่น สนทนากับเพื่อนและบุคคลในครอบครัว ในที่ทำงานได้ตามอัธยาศัย

8. ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องบอกให้ใครรู้ว่ามีเลือดเอดส์บวก บอกเฉพาะผู้ที่ไว้ใจได้ว่ามีสติไม่ตื่นตกใจ และจะช่วยเหลือได้  ถ้ามีผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ ไม่ช้าคนไทยจะชินไปเอง ถึงเวลานั้นคนเลือดเอดส์บวก และคนเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี จะได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน

ความปลอดภัยจากภัยเอดส์

ในปี พ.ศ. 2532 นี้ คนไทยที่ไม่มีพฤติกรรมในการแสวงหาเชื้อ หรือไม่ได้เป็นคู่ของผู้เสี่ยงโรค นับได้ว่า ยังปลอดภัยจากภัยเอดส์ ถ้ามีพฤติกรรมที่แม้จะเคยคิดว่าปกติ แต่มีโอกาสเสี่ยง เช่น สำส่อนทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นโสเภณี หรือผู้มีรสนิยมเปลี่ยนคู่ ต้องเลิกให้เด็ดขาด
ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับโสเภณี เด็ก เพราะจะมีโอกาสเกิดบาดแผลได้สูงทั้งสองฝ่ายเป็นช่องทางให้ติดเชื้อได้

การติดเชื้อเอดส์พบชุกชุมเพิ่มขึ้นในโสเภณีและชายนักเที่ยวเช่นเดียวกับที่พบในกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติดในปีที่ผ่านมา ถ้าปีนี้เราควบคุมไม่ได้ อนาคตก็คือ การติดเชื้อเอดส์ในเด็ก และเมื่อนั้นประเทศไทยจะเป็นแดนระบาดของเชื้อเอดส์เหมือนที่มีปัญหาไวรัสตับอักเสบ บี เวลานี้
ขออวยพรให้ทุกท่านมีกำลังใจที่มั่นคง ในการต่อสู้กับสิ่งยั่วยุกิเลสทั้งหลายที่จะชักจูงไปสู่ภัยเอดส์

*คนที่มีเชื้อเอดส์ในร่างกายแต่ตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่มีเชื้อ กล่าวคือเป็นเอดส์แต่ตรวจไม่พบว่าเป็นโรค

**คนที่ไม่มีเชื้อเอดส์ในร่างกายแต่ตรวจโรคแล้วพบว่าไม่มีเชื้อ กล่าวคือไม่ได้เป็นเอดส์แต่ถูกตรวจว่าเป็นโรค
 

ตารางที่1 จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ทั่วโลก (รายงานถึงวันที่ 15 มกราคม 2532 )  

 ทวีป

ประเทศที่ส่งรายงาน

ประเทศที่มีรายงานผู้ป่วย 

 ประเทศที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย

 รวมผู้ป่วยที่รายงานจำนวน

 อเมริกา

      44

      42

      2

 93,723

 แอฟริกา

      51

      45

      6

 20,905

 ยุโรป

      30 

      28

      2 

 16,883

 โอเชียเนีย

      14

       5

      9

   1,180

 เอเชีย

      38 

      22 

     16

      285

 รวม

     177

    142

     35 

 129,385

  

 โรงพยาบาลของเราทั้งหมดมีขีดความสามารถที่จะ

 ตรวจค้นหาไวรัสเอดส์ได้หมดแล้ว

                                                     

                                                             น.พ. ธีระ รวมสูตร
                                                   รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 


“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขจะผสมผสานโครงการควบคุมโรคเอดส์เข้าไปในระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลของเราทั้งหมด มีขีดความสามารถที่จะตรวจค้นหาโรคเอดส์ได้หมดแล้ว ก็คิดว่าปีนี้จะเป็นปีที่เราสามารถค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดได้

ที่สำคัญต้องให้การศึกษากับประชาชนว่า โรคเอดส์ไม่ได้ติดทุกราย ติดเฉพาะทางการร่วมเพศ ร่วมเลือด ร่วมเข็ม ไม่ได้ติดทางลมหายใจหรือติดทางสัมผัสผิวหนัง ถ้าประชาชนรู้ความจริงว่า ถ้าไม่ไปหาโรค พูดง่าย ๆ อยู่ ๆ ไม่ไปเสี่ยงหาโรค (คือ ไม่ไปสำส่อนทางเพศ) ก็ไม่เป็นเท่านั้นเอง ปัญหาคือไม่รู้ สามีไปเที่ยวไปติดมาก็ไปติดภรรยาโดยไม่รู้ตัว แบบนี้อันตราย ไม่ควรสำส่อน ควรให้ประชาชนเข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรม”

 

 ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบที่จะป้องกันตนเอง

 โดยไม่สำส่อนทางเพศ ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

 

 น.พ. เทพนม เมืองแมน
 คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


 

ในเมืองไทยขณะนี้ผู้ที่ติดเชื้อโรค แต่ไม่ใช่มีเฉพาะในกรุงเทพฯ ในจังหวัดต่าง ๆ ก็มีด้วย และถึงแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ติดยาเสพติดคือ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่ว่าหญิงบริการหรือโสเภณี หรือกลุ่มร่วมทั้ง 2 เพศ ก็มีจำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่น้อย เพราะในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่ติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
ผู้ที่ติดเชื้อเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็จะป่วย เนื่องจากไม่มียารักษาหรือยาที่มีรักษาก็ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวแค่ 3-4 เดือน แต่ค่ายารักษาแพงมากเม็ดละ 80 บาท ต้องกินวันละ 10 เม็ด ก็ตกวันละ 800 บาท เดือนละ 24,000 บาท นี่กินยาอย่างเดียว ถ้าติดเชื้ออื่นต้องกินยาอื่นอีก ก็หลายหมื่น คนธรรมดาสู้ไม่ไหว แล้วเสียเงิน แล้วไม่ใช่หายนะครับ ตายอย่างเดียว
วิธีที่ดีที่สุดคือ ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบที่จะป้องกันตัวเองไม่สำส่อนทางเพศ ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น 2 อย่างนี้สำคัญที่สุด ไม่งั้นติดเชื้อขึ้นมาไม่รู้จะช่วยอย่างไร ตัวเลขของสหรัฐฯ ร้อยละ 80 ของคนที่เป็นโรคนี้ตายหมดภายใน 8 ปี”
 

 

⇒ โรคเอดส์ คืออะไร
เอดส์ คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโรคหรือกลไกต่อต้านเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้ง่าย แม้กระทั่งเชื้อที่พบทั่วไปในธรรมชาติ และไม่ทำอันตรายต่อคนปกติก็จะเป็นอันตรายสำหรับผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ที่มีระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง นอกจากนี้ยังอาจพบอาการของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังบางชนิดที่ปกติไม่พบบ่อย ความเจ็บป่วยเหล่านี้อาจมีความรุนแรง และทำให้ตายได้ การติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสเอดส์จากเลือด น้ำ หรือของเหลวที่ออกจากร่างกายของผู้มีเชื้อโรคเอดส์ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ น้ำเหลือง และเสมหะ ผ่านเข้าสู่ร่างกาย ผู้สัมผัสทางบาดแผล รอยฉีกขาด เยื่อเมือก และเยื่อบุตา 

⇒ เชื้อไวรัสผ่านจากผู้มีเชื้อเอดส์ไปสู่ผู้สัมผัสได้ทาง
1. การร่วมเพสกับผู้มีเชื้อโรคเอดส์ เช่น การร่วมเพศทางทวารหนักจะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงของการติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น

2. การได้รับเชื้อโรคเอดส์ผ่านเข้าทางกระแสเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยาร่วมกัน การรับเลือด และการปลูกถ่ายอวัยวะที่บริจาคของผู้มีเชื้อ

3. การถ่ายทอดเชื้อโรคเอดส์จากมารดาสู่ทารกพบได้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอด หรือทางน้ำนม
การติดต่อทางสังคมในการใช้ชีวิตประจำวัน จะไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อโรคเอดส์ เช่น การจับมือ การสัมผัส กอดรัด การจับต้องของใช้ของผู้ติดเชื้อ อันได้แก่ ถ้วย แก้วน้ำ ช้อน อาหาร เสื้อผ้า ผ้าขนหนู หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกัน การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน การใช้ลูกบิดประตูร่วมกัน หรือว่ายน้ำในสระเดียวกัน เป็นต้น

⇒ ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์
ผู้ที่มีพฤติกรรมต่อการติดเชื้อโรคเอดส์ ตั้งแต่น้อยถึงมากที่สุดเรียงลำดับได้ดังนี้
1. หญิงหรือชายที่มีสามีหรือภรรยาเป็นผู้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายบริการ
2.. เกย์ หญิงบริการ ชายบริการ และผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
3. ผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีด และเข็มฉีดยาร่วมกัน โดยที่เข็มนั้นไม่ได้รับการฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกวิธีนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับเลือดเพื่อการรักษาโรคอื่น หรือหญิงที่ใช้วิธีการผสมเทียมเพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ (หากเลือดหรือน้ำเชื้อนั้นไม่ได้ผ่านการตรวจหาเชื้อโรคเอดส์เสียก่อนก็นับว่าเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์มากที่สุด)
5. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลในกลุ่มที่ระบุในข้อ 1 ถึงข้อ 4

⇒อาการเอดส์เป็นอย่างไร
ผู้ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ผู้ติดเชื้อเอดส์เพียงบางคนจะมีอาการที่น่าสงสัยจะเป็นโรคเอดส์ได้ ซึ่งจะสังเกตอาการได้ง่าย ๆ คือ
1. ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบโตนานเกิน 3 เดือน
2. น้ำหนักลด 4-5 กิโลกรัม หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ภายใน 3 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ
3 .อุจจาระร่วงเรื้องรัง เกิน 3 เดือน โดยไม่ยอมหาย
4. เบื่ออาหารหรือเหนื่อยง่ายมาเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน
5. ไอโดยไม่ทราบสาเหตุนานเกิน 3 เดือน
6. มีไข้เกิน 37.8 ซ. หรือมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน เรื้อรังเกิน 1 เดือน
7. มีก้อนสีแดงปนม่วงแก่ขึ้นตามตัว และโตขึ้นเรื่อย ๆ
8. แขนขา ข้างใดข้างหนึ่งไม่มีแรงหรือทำงานไม่ประสานกันหรือชัก
9. เป็นฝ้าขาวในปากเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้มีอาการดังกล่าวเหล่านี้จะเป็นเอดส์ทุกราย จนกว่าจะได้รับการตรวจเลือดยืนยันเป็นที่แน่นอนก่อน

⇒ วิธีป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์สำหรับบุคคลทั่วไป
1. อย่าให้เลือด (ซึ่งหมายรวมถึงเลือดประจำเดือนของผู้หญิง) น้ำอสุจิ น้ำปัสสาวะ น้ำหลั่งในช่องคลอด หรืออุจจาระของผู้มีเชื้อโรคเอดส์ผ่านเข้าไปในปาก ช่องคลอด ทวารหนัก เยื่อเมือก หรือเยื่อบุตา

2. ซื่อสัตย์ต่อสามี ภรรยา

3. เลิกมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีคู่นอนอื่น คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักหรือชาวตางชาติ หญิงบริการ หรือขายบริการ หรือบุคคลผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เกย์ ผู้ติดยาเสพติด และผู้มีนิสัยชอบเที่ยวตามสถานเริงรมย์ เป็นต้น

4. ถึงแม้การใช้ถุงยางอนามัยในการร่วมเพศจะช่วยป้องกันโรคเอดส์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของถุงยาง การเลือกถุงยางอนามัยควรเป็นถุงยางที่บรรจุอย่างดีในกล่องที่มีวัน เดือน ปี ที่ผลิตให้เห็นชัดเจน และได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานทุกครั้ง

5. หลีกเลี่ยงการทำพฤติกรรมเพศสัมพันธ์บางอ่าง เช่น การร่วมเพศทางทวารหนัก ใช้ปากกระตุ้นอวัยวะสืบพันธุ์ของคู่นอน หรือใช้อุปกรณ์การร่วมเพศร่วมกัน

6. อย่าทดลองยาเสพติด ถ้าติดยาเสพติดแล้วอย่าเปลี่ยนเป็นชนิดฉีด หากใช้ชนิดฉีดอยู่ต้องไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น

7. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดรอยเจาะของผิวหนังร่วมกัน ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกทำให้ปราศจากเชื้ออย่างถูกต้องเสียก่อน เช่น เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา เครื่องมือเจาะหู เครื่องมือใช้ในการสักผิวหนัง และเข็มที่ใช้ในการฝังเข็ม เป็นต้น

8. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับเลือดของผู้มีเชื้อโรคเอดส์ เช่น กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน แปรงสีฟัน หรือของมีคมอื่น ๆ เป็นต้น

9. หญิงที่มีเชื้อโรคเอดส์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด เพราะการตั้งครรภ์อาจะเป็นอันตรายต่อทั้งตัวแม่แลเด็กในครรภ์

10. งดเว้นการฉีดยาโดยไม่จำเป็น ถ้าเกิดการเจ็บป่วยควรรับบริการรักษาในสถานบริการของรัฐ หรือของเอกชนที่ถูกกฎหมาย งดเว้นการฉีดยากันเอง หรือการฉีดยาโดยหมอเถื่อน

11. รับบริจาคเลือดหรืออวัยวะจากสถานที่ที่มั่นใจว่าผ่านการตรวจเชื้อโรคเอดส์แล้วเท่านั้น

 

ข้อมูลสื่อ

118-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
อื่น ๆ
รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี