• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย้อนดูโรคดังที่เกิดจากเชื้อไวรัส ในปีมะโรง (พ.ศ. 2531)

คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นักเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วย โดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม กรุณาเขียนถามมาได้

   

ในรอบปีที่ผ่านมา นับว่ามีเหตุการณ์ของโรคต่าง ๆ ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อที่ดัง ๆ เกิดขึ้นมากมายในหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านั้นผ่านเลยไปเฉย ๆ ผมจึงถือโอกาสทบทวนโรคต่าง ๆ เหล่านั้นมารวบรวมเพื่อลงในฉบับต้อนรับปีใหม่ปี พ.ศ. 2532 ของนิตยสารหมอชาวบ้าน รวมทั้งแนะนำวิธีป้องกันที่สำคัญ ๆ ของโรคดัง ๆ เหล่านี้ อย่างย่อ ๆ ส่วนรายละเอียดนั้น ท่านสามารถค้นได้จากนิตยสารฉบับก่อน ๆ

โรคอันดับแรกสุดที่ควรจะนำมากล่าวถึง คือ โรคเอดส์ (AIDS) ที่มีชื่อเต็มในภาษาไทยว่า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องนั้นมีข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์บ่อยมาก รวมทั้งมีบทความต่าง ๆ เขียนออกมามากมาย
ในช่วงปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาถึงสภาวะการติดเชื้อหลายครั้งหลายคราว ในบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ กัน ก็พบว่า กลุ่มผู้ติดยาเสพติด มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจมาก เพราะในคลินิกรักษาผู้ติดยาเสพติดบางแห่งของกรุงเทพมหานครพบอัตราการติดเชื้อไวรัสโรคเอดส์มากกว่าร้อยละ 50 จากการศึกษายังพบว่า กลุ่มผู้ติดยาเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากการใช้กระบอกและเข็มฉีดยาร่วมกัน ทำให้การแพร่กระจายของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
ในคนปกติทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ คือ ผู้ฉีดยาเสพติดทางเส้นเลือด กลุ่มชายรักร่วมเพศ หญิงโสเภณี ผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องรับผลิตภัณฑ์ช่วยให้เลือดแข็งตัวบ่อย ๆ ตามลำดับ โอกาสติดเชื้อยังนับว่าต่ำมาก

แนวทางการป้องกัน ก็คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ โดยงดการสำส่อนทางเพศกับทั้งชายและหญิง และการใช้ถุงยางอนามัย ส่วนในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงก็ใช้วิธีเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้ฉีดยาเสพติให้งดการใช้อุปกรณ์การฉีดยาร่วมกัน กลุ่มชายรักร่วมเพศต้องไม่สำส่อนทางเพศ และให้ใช้ถุงยางอนามัย ส่วนการป้องกันการติดเชื้อของทารก โดยการคุมกำเนิดมิให้มีการตั้งครรภ์ เมื่อบิดาหรือมารดามีเลือดเอดส์บวก หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ทุกคนต้องมีความรู้เรื่องโรคนี้พอสมควร เพื่อป้องกันการกลัวเกินเหตุอันเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย จึงนำตารางที่แสดงถึงวิธีต่าง ๆ ที่ไม่ติดเอดส์มาแสดงด้วย

 

ตารางแสดง การปฏิบัติตัวที่ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อโรคเอดส์ 

                                                 อย่ากลัวอย่างนี้ไม่ติดเอดส์

⇒ ทางลมหายใจ                                                 ⇒ การว่ายน้ำในสระเดียวกัน

⇒ การสัมผัสทางผิวหนังตามปกติ                       ⇒ การกินอาหารด้วยกัน

⇒ การนั่งใกล้ชิดกันหรือเที่ยวด้วยกัน                  ⇒ การอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

⇒ การใช้เสื้อผ้าร่วมกัน                                       ⇒ การใช้ห้องน้ำและส้วมร่วมกัน

⇒ การหอมแก้มหรือการกอดกัน                          ⇒ ยุงหรือแมลงที่ดูดกินเลือด

 
โรคอันดับสองที่ควรกล่าวถึง คือ โรคไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งยัง ไม่มียารักษาเฉพาะ ส่วนมากจะหายเอง เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งจะมีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาการและยา กระทรวงสาธารณสุข ห้ามโฆษณาวัคซีนในเชิงที่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่มวลชน เนื่องจากวัคซีนมีราคาแพง ดังนั้น การใช้วัคซีนจึงควรใช้ให้ได้ประโยชน์ที่สุดในการป้องกัน กล่าวคือ ควรมีการเจาะเลือดหาระดับภูมิคุ้มกัน หรือภาวะเป็นพาหะเพื่อช่วยในการตัดสินใจว่า ควรได้รับวัคซีนหรือไม่

สำหรับประเทศไทย ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ไม่มีความจำเป็นต้องเจาะเลือด สามารถให้วัคซีนได้เลย และได้ผลคุ้มค่า เนื่องจากเด็กวัยนี้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนวิธีการป้องกัน สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี คือ
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย ของคนที่เป็นพาหะ หรือขณะกำลังป่วย
2. การฉีดยา การเจาะเลือด เจาะหู สัก หรือฝังเข็ม อุปกรณ์เครื่องใช้ต้องผ่านการทำลายเชื้อเป็นอย่างดี
3. เชื้อตัวนี้ถูกทำลายโดยการต้มในน้ำเดือดตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป หรืออาจใช้โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (น้ำยาแช่ผ้าขาว) ในความเข้มข้น 0.5-2%
4. การกินอาหารสามารถกินร่วมกับผู้อื่นได้โดยใช้ช้อนกลาง
ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขมีความคิดที่จะบรรจุนโยบายการให้วัคซีนฟรีแก่เด็กเกิดใหม่ทุกคนเข้าในแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 7 ในปี พ.ศ. 2535 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณและราคาวัคซีน

อันดับสามที่ค่อนข้างเป็นข่าวอยู่ช่วงหนึ่ง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มประชาชนมากอยู่ระยะหนึ่ง คือ ไข้สมองอักเสบ โดยเฉพาะจากเชื้อไวรัส แจแปนนีส บี ดังจะเห็นได้จากการที่ประชาชนแตกตื่น พาลูกหลานไปฉัดวัคซีน จนวัคซีนขาดตลาด แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรค จะมีสูงไม่มาก แต่นับเป็นโรคที่สำคัญของเด็กอีกโรคหนึ่ง เพราะความรุนแรงของโรคที่เป็นขึ้นมานั้นมีการเสียชีวิต หรือเกิดความพิการสูงขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่า ปัจจุบันความเสี่ยงโรคนี้เกิดขึ้นกับเขตชนบทที่เป็นเขตทุ่งนาและมีการเลี้ยงสุกรจำนวนมาก จังหวัดที่มีการรายงานโรคสูง ๆ อยู่ในภาคเหนือเกือบทั้งสิ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีบางจังหวัด ส่วนภาคใต้และภาคกลางยังมีรายงานโรคน้อยมากการที่จะตัดสินใจพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนหรือไม่ จึงอาจจะขอคำแนะนำได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของท่านเองว่าโรคมีอุบัติการณ์อย่างไร ส่วนการป้องกัน เนื่องจากยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคการป้องกันการป่วยในเด็กก็คือ นอนในมุ้ง หรือป้องกันยุงกัดด้วยวิธีใด ๆ ก็ตามก็จะช่วยให้เด็กปลอดจากการป่วยเป็นโรคได้

โรคอันดับสี่ที่ยังคงอยู่ในกลุ่มของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส คือ ไข้เลือดออก ที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูงทุกปี ดังจะเห็นปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกมากกว่า 100,000 ราย เนื่องจากโรคเกิดกับเด็กวัยเรียนชั้นประถม จึงถือว่าเป็นโรคที่สำคัญของเด็ก เนื่องจากโรคนี้นำโดยยุงลาย และเป็นโรคเฉพาะกับคนเท่านั้น ดังนั้น การป้องกันที่มีประสิทธิภาพก็คืออย่าให้ยุงลายกัด และการควบคุมก็คือ การกำจัดยุงลายอีกนั่นแหละ สรุปก็คือ ไม่มียุงลาย ไม่มีไข้เลือดออก

โรคลำดับสุดท้าย สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ควรจะนำมากล่าวถึงก็คือ โรคตาแดงอักเสบ ซึ่งมีอัตราป่วยสูงมากที่สุดโรคหนึ่ง แม้ว่าจะไม่พบโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงมากนักก็ตาม แต่ก็ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานจากการติดเชื้อได้มาก เนื่องจากโรคนี้เป็นการติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง
การป้องกันก็คือ ระมัดระวังไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสบู่ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ขันตักอาบน้ำ หมอน นอกจากนี้ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ หากเป็นไปได้ควรแยกผู้ป่วยนอนต่างหาก ไม่ปะปนกับผู้อื่น สำหรับนักเรียนขณะป่วย ควรหยุดไปโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชนต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

117-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์