• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยู่กับยาย


คุณครับ อาหารที่สั่งมานี่น่ะ ไม่อร่อยหรือไงครับ”

“เปล่านี่ ก็อร่อยดี มีอะไรหรือค่ะ?”

“ก็คุณกินอาหารช้าจัง ยังกับเคี้ยวเอื้องแน่ะครับ ผมรู้สึกว่าคุณพยายามประคองอะไรบางอย่างในปากของคุณ ใช่ไหมครับ”

หนุ่มสาวคู่ใดก็ตาม คงไม่ชอบให้เหตุการณ์ข้างต้นเกิดกับตนเองเป็นแน่ และคงไม่ชอบถ้าขณะใดขณะหนึ่งที่คู่ของตนที่เคยสวยงามสมบูรณ์ เปลี่ยนสภาพเป็นคนที่ริมฝีปากยุบ หรือแก้มตอบกะทันหัน ซึ่งทำให้ตกใจได้ว่า “อยู่กับยาย” ก่อนเวลาอันควร

มาถึงขั้นนี้ท่านคงพอจะนึกออกแล้วกระมังว่า เรากำลังพูดถึงสภาวะการใส่ฟันปลอมชนิดที่สามารถถอดออกได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้หนึ่งที่กำลังใช้ฟันปลอดชนิดนี้อยู่ หรือเป็นแฟนของผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือแม้แต่รู้จักคนที่ใส่ฟันปลอมก็น่าจะได้รู้จักการใช้ฟันปลอมให้เกิดประโยชน์เต็มที่ โดยไม่เกิดผลข้างเคียง ซึ่งอาจมีมากและรุนแรงกว่าที่ท่าน จะคาดถึง ในผู้ใหญ่ พบว่าทุก ๆ 10 คน จะมีไม่น้อยกว่า 3 คนที่มีฟันถาวรไม่ครบถ้วน อาจถูกถอนไปเนื่องจากฟันผุ เหงือกอักเสบรุนแรง หรืออุบัติภัยต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้สูญเสีย ฟันโดยไม่สมควร โดยทั่วไปถ้าฟันหลัง เช่น ฟันกรามหรือฟันกรามน้อยสูญเสียไป การใส่ฟันปลอมก็พบไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นฟันหน้าก็จะรีบขวนขวายใส่ฟันเพื่อเสริมบุคลิกภาพของตนเอง ทั้งในด้านความสวยงามของใบหน้า และการออกเสียงในการพูดจาให้ชัดเจน ไม่ว่าจะมีการสูญเสียฟันจำนวนกี่ซี่ก็ตาม แม้แต่ซี่เดียวในฟันหน้าก็จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมแล้ว

 

⇒ชนิดของฟันปลอม

ฟันปลอมแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของฟันปลอม คือ
1. ฟันปลอมชนิดติดแน่น ซึ่งใส่อยู่ได้โดยยึดกับฟันถาวรข้างเคียง โดยมีลักษณะเป็นสะพานฟัน ให้ส่วนของฟันปลอมที่ใส่ปิดช่องว่าง เป็นส่วนของสะพาน และฟันถาวรที่เป็นที่ยึดของฟันปลอมทั้งสองด้าน เป็นเสมือนหนึ่งตอหม้อของสะพานเป็นที่ยึดให้ส่วนสะพานแขวนอยู่ได้ ซึ่งในที่นี้หมายถึงตัวฟันปลอมให้อยู่ได้โดยไม่ไปกดเหงือก และเป็นที่ถ่ายทอดน้ำหนักที่เกิดจากแรงบดเคี้ยวลงมาบนฟันที่ยึดอยู่นี้ ดังนั้น ตัวฟันถาวรที่จะเป็นที่ยึดฟันปลอมชนิดติดแน่นนี้ได้จำเป็นต้องแข็งแรงเพียงพอ
ฟันปลอมชนิดติดแน่นนี้ เมื่อทำให้ดีแล้วจะดูเหมือนฟันจริงทีเดียว และความรู้สึกก็จะคล้ายฟันจริงด้วย โดยจะไม่รำคาญหรือเกะกะฟันอื่น หรือลิ้นแต่อย่างใด แต่เนื่องจากการใส่ฟันปลอมชนิดนี้ ทำให้ดีจะต้องใช้วัสดุชนิดพิเศษ ทำด้วยความประณีต และยุ่งยากพอสมควร ที่สำคัญคือ ราคาแพงค่อนข้างมาก และอาจทำไม่ได้ทุกแห่ง เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติเฉพาะทาง ดังนั้น ในชนบทห่างไกลซึ่งแม้จะมีทันตแพทย์ก็อาจทำฟันปลอมชนิดนี้ไม่ได้

2. ฟันปลอมชนิดถอดได้ สามารถใส่อยู่ในปากได้โดยอาศัยแรงยึดของส่วนฟันปลอมเกาะกับขอบเหงือกของฟันข้างเคียงที่ยังคงเหลืออยู่ แท้ที่จริงแล้วฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ใช้หลักการเดียวกับการใส่ฟันปลอมทั้งปาก คืออาศัยเหงือก ไม่ว่าจะเป็นฐานเหงือกในกรณีฟันปลอมทั้งปาก หรือขอบเหงือกในกรณีฟันปลอมบางซี่ ส่วนใหญ่การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ เหมาะในกรณีที่มีฟันสูญหายไปหลายซี่ โดยเฉพาะในรายที่ฟันซี่หลังสุดหายไป ทำให้ไม่มีฟันที่จะสามารถใช้เป็นที่ยึดหรือถ่ายทอดน้ำหนักแก่สะพานฟัน ทำให้การใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นทำไม่ได้

อย่างไรก็ดี อีกรณีหนึ่งที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ ได้แก่ การใช้เป็นฟันปลอมชั่วคราว สำหรับฟันหน้าที่ต้องถูกถอนออกไปเพื่อป้องกันฟันหลอ ซึ่งในกรณีนี้แหละที่หลายท่านไม่เข้าใจถึงคำว่าฟันปลอมชนิดชั่วคราว และใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ประกอบกับการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ราคาย่อมเยากว่าฟันปลอมชนิดติดแน่นมาก ทำได้โดยทั่วไปแม้แต่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล และใช้กันแพร่หลายมานานแล้ว จึงเป็นที่นิยมสำหรับชาวบ้าน ฟันปลอมชนิดนี้ มีผลข้างเคียงมากมาย ซึ่งจะได้กล่าวถึงในที่นี้เป็นพิเศษ

ฟันปลอมชนิดถอดได้ โดยทั่วไปจะมีฐานฟันปลอมใหญ่ ครอบคลุมไปถึงฟันข้างเคียงให้มากซี่ เพื่อ ให้แรงยึดฟันปลอมได้แน่น โดยเฉพาะตามขอบเหงือกของฟันที่ยังคงเหลืออยู่ ในกรณีที่ราคาถูกมักจะใช้ฐานฟันปลอมพลาสติก ทำได้ง่ายแต่ก็หักได้ง่ายเช่นกัน ในบางกรณีที่ใส่ฟันปลอมหลายซี่อาจมีตะขอหรือโลหะเพิ่มเติมเพื่อช่วยยึดกับฟันปลอมแน่นขึ้นได้

เนื่องจากว่าฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ใช้เหงือกเป็นส่วนช่วยยึดฟันปลอม แต่ส่วนของเหงือกในปากของเราจะเปลี่ยนแปลงสภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีแรงกดจากฟันปลอม ดังนั้น เมื่อใช้ฟันปลอมชนิดนี้ไปสักระยะหนึ่งจะรู้สึกว่าฟันปลอมหลวมไม่แน่นเหมือนเมื่อใส่ฟันปลิมใหม่ ๆ การที่ฟันปลอมหลวมนี่เอง ทำให้ผู้ที่ใส่ฟันปลอมนั้นพยายามประคับประคองฟันปลอมในปาก โดยใช้ลิ้นคอยดุนไว้ในขณะที่กำลังกินอาหาร ทำให้การกินอาหารไม่คล่องตัว ช้า และอาจพาลให้ไม่อร่อยเท่าที่ควรด้วย

นอกจากนี้ การที่ฟันปลอมชนิดถอดได้มีฐานฟันปลอมเกาะตามเหงือกของฟันข้างเคียง ยังเป็นที่เกาะและสะสมของเศษอาหาร รวมทั้งคราบจุลินทรีย์ในบริเวณดังกล่าว เป็นต้นเหตุให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ เลือดออกตามขอบเหงือก และมีกลิ่นปากในบริเวณนั้น ๆ ได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น จนพบได้ว่า คนที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ เมื่อเริ่มต้นใส่ฟันซี่สองซี่ไปนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะต้องใส่ฟันปลอมมากซี่ขึ้นเรื่อยไป เนื่องจากอาจต้องสูญเสียฟันข้างเคียงไปจากสาเหตุของฟันผุ หรือโรคเหงือกอักเสบที่มีเหตุมาจากการเกาะตัวของฐานเหงือกพลาสติกของฟันปลอมชนิดถอดได้อันแรก ๆ นั่นเอง

ข้อแนะนำสำหรับการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องใส่ฟันชนิดนี้ได้แก่ การถอดออกทำความสะอาดอย่างทั่วถึง ภายหลังกินอาหารหรือขนมทุกครั้ง ซึ่งไม่ได้มีความหายเฉพาะการทำความสะอาดตัวฟันปอมเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือทำความสะอาด ฟันถาวรข้างเคียงที่เป็นที่เกาะของฟันปลอมด้วย โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกด้านเพดานในรายที่ใส่ฟันปลอมบน หรือด้านลิ้นในรายที่ใส่ฟันปลอมล่างรวมทั้งการกำจัดเศษอาหารที่อาจตกค้างอยู่ตามซอกเหงือกให้หมดสิ้น

จากการที่ฟันปลอมชนิดนี้ สามารถอดออกได้ จึงมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้ถอดฟันปลอมออกในเวลากลางคืนเพื่อช่วยพักเหงือกไว้บ้าง เพราะการใส่ฟันปลอมตลอดเวลา จะกดเหงือกไว้ ทำให้อักเสบได้ง่าย การพักเหงือกเป็นครั้งคราวเท่ากับช่วยยืดเวลาให้เหงือกแข็งแรงขึ้นบ้าง

การที่ต้องถอดฟันปลอมเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะในเวลากลางคืน อาจไม่ถูกอัธยาศัยสำหรับผู้ที่ใส่ฟันปลอมบางท่านโดยเฉพาะผู้หญิง การละเลยคำแนะนำเหล่านี้ เท่ากับเป็นการเร่งให้เกิดความสูญเสียต่อฟันข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น ยิ่งพยายามอดทนต่อสภาพฟันและเหงือกที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากฟันปลอมนี้ ก็ยิ่งทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้เป็นเวลานาน ๆ มีข้อเสียหลายประการดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ทำไมทันตแพทย์ได้แนะนำให้ใช้ฟันปลอมชนิดถอดได้นี้เป็นเพียงฟันปลอมชนิดชั่วคราว และจะต้องเปลี่ยนเป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น ยกเว้นในรายที่ไม่สามารถใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นได้ซึ่งต้องดูแลเป็นพิเศษเฉพาะรายไป
เป็นที่น่าเสียดายว่า คนไทยที่ใส่ฟันปลอมอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่ ยังคงใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ อาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจหรือไม่สนใจถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญยิ่งก็คงจะเป็นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถสู้ราคาของฟันปลอมชนิดติดแน่นที่มีราคาค่อนข้างแพงได้ เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ในการทำฟันปลอมชนิดติดแน่นนี้ต้องสั่งจากต่างประเทศ จึงน่าที่จะได้มีการสนับสนุนให้ทันตแพทย์ไทยได้ค้นคว้าวิจัยการทำฟันปลอมชนิดติดแน่นด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ในประเทศไทย เพื่อลดต้นทุนให้ราคาพอเหมาะกับเศรษฐฐานะของคนไทยโดยทั่วไป

อย่างไรก็ดี ถ้าจะคำนึงถึงผลเสียของฟันปลอมชนิดถอดได้ที่มีต่อฟันข้างเคียงแล้ว การอดทนใช้ต่อไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีผลเสียมากมาย เช่นนี้คงจะไม่ถูกต้อง เพราะการสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลของการใช้ฟันปลอมชนิดถอดได้นี้ นับได้ว่า ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะผลเสียจากการที่ไม่มีฟันในที่สุดคงจะทำให้เป็นคุณตาคุณยายก่อนวัย อันมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจโดยทั่วไปด้วย
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการดำรงชีพของคนเราในด้านปัจจัยสี่อื่น ๆ ที่เราขวนขวายหาให้ตัวเองและครอบครัวแล้ว ถ้าจะแบ่งปันส่วนหนึ่ง สำหรับการเปลี่ยนฟันปลอมชนิดถอดได้ ให้เป็นพันปลอมชนิดติดแน่น ก็น่าจะมีเหตุผลเพียงพอมิใช่หรือ

การรู้ถึงข้อดีข้อเสียของการใส่ฟันปลอมทั้งสองชนิดนี้ คงเป็นที่ประจักษ์ว่า ความจำเป็นในการเก็บรักษาฟันถาวรไว้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยฟันปลอมไม่ว่าจะชนิดใด ก็ตามน่าจะดีที่สุด ดังนั้น จึงขอชักชวนให้ทุกท่านช่วยกันดูแลป้องกันโรคในช่องปาก โดยยึดหลัก “ฟันถาวรมีไว้ใช้ชั่วชีวิต” ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีภาระในด้านค่าใช้จ่ายในเรื่องฟันปลอม และมีสุขภาพในช่องปากที่สมบูรณ์ดี ไม่ต้องให้ผู้ที่อยู่ด้วยมีความรู้สึกว่า “อยู่กับยาย” ทั้ง ๆ ที่อายุยังไม่ถึงวัยดังกล่าว

 

ข้อมูลสื่อ

116-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช