• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย


                                                       

"หมอชาวบ้าน"
ฉบับที่ 44 ผู้เขียนได้กล่าวถึง การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายมีศูนย์คำสั่งการเคลื่อนไหว ทำหน้าที่สั่งงาน แต่ที่เราไม่รู้สึกตัว เป็นเพราะเราทำทุกอย่างจนเคยชิน จึงไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาสั่งงาน

ฉบับนี้จะพาท่านมาพบกับความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ในเรื่องการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
ปกติคนเราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายของคนเราจะมีการสร้างความร้อน ทำให้ร่างกายมีความอบอุ่นขณะเดียวกันความร้อนก็จะถ่ายเทไปให้กับสิ่งแวดล้อม ทำให้ร่างกายของคนเรามีอุณหภูมิคงที่ เราเรียกคนหรือสัตว์ที่มีอุณหภูมิของร่างกายคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมนี้ว่า สัตว์เลือดอุ่น (ได้แก่ นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม)

ส่วนสัตว์ที่มีอุณหภูมิไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม เรียกสัตว์ประเภทนี้ว่า สัตว์เลือดเย็น (มีสัตว์ต่างๆ ยกเว้นนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม)

อุณหภูมิปกติของร่างกายคนประมาณ 36.3-37.1 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 37 องศาเซลเซียสหรือ 98.7 องศาฟาเรนไฮด์

ความร้อนในร่างกายเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความร้อนในร่างกายเกิดขึ้นหลายทางด้วยกัน โดยปกติแล้วเกิดขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อ การหดและการคลายตัวของกล้ามเนื้อทำให้เกิดพลังงานความร้อนได้

ถ้าลองสังเกตในเวลาอากาศหนาวเย็น เนื้อตัวจะสั่นไปหมด เนื่องจากการหดตัวของกล้ามเนื้อทำให้เกิดพลังงานเพื่อให้เกิดความอบอุ่น

ความร้อนยังอาจเกิดขึ้นจากการย่อยอาหารในกระเพาะลำไส้ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย

                            

นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนบางชนิด เช่น เอพิเนฟรีน(epinephrine) นอร์เอพิเนฟรีน (norepinephrine) และ ธัยร็อกซิน (thyroxin) ซึ่งกระตุ้นให้มีการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ฮอร์โมนเหล่านี้จะหลั่งในขณะที่ตื่นเต้น ตกใจ

อะไรเป็นศูนย์ควบคุมความร้อนในร่างกาย
จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ทราบว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการควบคุมความร้อนหรือกลไกต่างๆ อยู่ที่สมองส่วนที่เรียกว่า ฮัยโปธาลามัส (Hypothalamus)

สมองส่วนฮัยโปธาลามัสนี้อยู่ตอนล่างของสมองส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกายของฮัยโปธาลามัสนี้อยู่ส่วนหน้าและส่วนหลัง ส่วนหน้าควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป ส่วนหลังจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิต่ำเกินไป

 

ข้อมูลสื่อ

50-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 50
มิถุนายน 2526
ดร.นที คัคนานตดิลก