• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มารู้จักโคเลสเตอรอลกันเถอะ


ปัจจุบัน ปัญหาภาวะโภชนาการเกินมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคโคเลสเตอรอลสูงในเลือด เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับโคเลสเตอรอล เพราะประชาชนมักจะเข้าใจกันว่าคนอ้วนเท่านั้นที่มีโคเลสเตอรอลสูงกว่าคนผอม แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกัน
คอลัมน์ “เรื่องน่ารู้” ฉบับนี้ หมอชาวบ้านได้สัมภาษณ์ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย ตันไพจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และหัวหน้าหน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องโคเลสเตอรอล

 

 โคเลสเตอรอลคืออะไร
โคเลสเตอรอลเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในพวกไขมัน โคเลสเตอรอลที่อยู่ภายในร่างกายเรานั้นได้มาจาก 2 ทางด้วยกันคือ
ทางแรก จากอาหารที่กินเข้าไป ได้แก่อาหารที่มาจากสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารพวกเครื่องในสัตว์ ไข่แดง สัตว์ที่มีกระดองหรือเปลือก เช่น ปู กุ้ง หอย เป็นต้น จะมีโคเลสเดอรอลมาก ส่วนอาหารที่มาจากพืชนั้นไม่มีโคเลสเตอรอล

ทางที่สอง ร่างกายคนเราสามารถสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นเองได้ จากการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน หรือไขมัน โดยมีตับและลำไส้เป็นอวัยวะสำคัญ ที่สร้างสารนี้

 

 หน้าที่สำคัญของโคเลสเตอรอลในร่างกาย
เมื่อพูดถึงโคเลสเตอรอล คนส่วนใหญ่มักคิดถึงอันตรายของมัน แต่ความจริงแล้วส่วนดีก็มี ดังเช่น
1. เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะเซลล์ของระบบประสาทจะมีโคเลสเตอรอลอยู่มาก
2. นำไปสร้างฮอร์โมนเพศ จำพวกเอสโตรเจน (estrogen) แอนโตรเจน (androgen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone) ตลอดจนฮอร์โมนของต่อมหมวกไตเกือบทุกชนิด (เช่น สเตียรอยด์) ก็ล้วนแล้วแต่มีแหล่งกำเนิดจากโคเลสเตอรอล
3. เวลาที่โคเลสเตอรอลถูกเผาผลาญโดยตับภายในร่างกายแล้ว ยังจะให้เกลือน้ำดี ซึ่งมีความสำคัญต่อการดูดซึมไขมันในอาหารภายในลำไส้
4. ผิวหนังคนเรามีสารซึ่งอยู่ในจำพวกโคเลสเตอรอล เมื่อถูกแสงอัลตราไวโอเลต จะเปลี่ยนเป็นวิตามิน ดี ได้

 

 ชนิดของโคเลสเตอรอลในเลือด
โคเลสเตอรอลมีคุณสมบัติไม่ละลายตัวในน้ำ เพื่อให้การละลายตัวของโคเลสเตอรอลในเลือดเป็น ไปได้ดี โคเลสเตอรอลจะรวมตัวอยู่กับโปรตีนและไขมันอีก 2 ชนิด คือ ไตรถลีเซอไรด์ (Triglyceride) และ ฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) เราเรียกองค์ประกอบของการรวมตัวระหว่างไขมันทั้ง 3 ประเภทกับโปรตีนนี้ว่า ไลโปโปรตีน (Lipoprotein)
 

   


การขนถ่ายของโคเลสเตอรอลในร้างกายจะอยู่ในสภาพของไลโปโปรตีนที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด คือ วี.แอล.ดี.แอล. (VLDL = very low density lipoprotein) แอล.ดี.แอล. (LDL = low density lipoprotein) และ เอช.ดี.แอล. (HDL = high density lipoprotein) ตับทำหน้าที่สร้างทั้ง วี.แอล.ดี.แอล. และ เอช.ดี.แอล. และปลดปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนแอล.ดี.แอล.นั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวี.แอล.ดี.แอล. ในกระแสเลือด
ค่าโคเลสเตอรอลในเลือดที่ตรวจวัดได้นั้น เป็นผลรวมของโคเลสเตอรอลที่ได้มาจากไลโปโปรตีนทั้ง 3 ชนิด โดยในคนปกติ ค่าโคเลสเตอรอลที่วัดได้มาจาก วี.แอล.ดี.แอล. ร้อยละ 13 แอล.ดี.แอล. ร้อยละ 70 และ เอช.ดี.แอล. ร้อยละ 17

 

 สาเหตุของโคเลสเตอรอลสูงในเลือด
จากการกินอาหารไม่ถูกต้อง คือชอบกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมาก และไขมันจากสัตว์มาก ๆ เป็นประจำ
กรรมพันธุ์ ความผิดปกติในด้านกรรมพันธุ์ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคโคเลสเตอรอลสูงในเลือดได้
โรคบางชนิด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย และโรคตับ เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดโคเลสเตอรอลในเลือดสูงได้เช่นกัน
ไม่ว่าโคเลสเตอรอลในเลือดจะสูงจากสาเหตุใดก็ตาม ก็สามารถคุกคามทำให้เกอดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้เหมือนกัน และการกินอาหารที่ถูกต้องจะมีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด

 

 จะทราบได้อย่างไรว่าตนเอง มีโคเลสเตอรอลสูงในเลือด
คนที่มีโคเลสเตอรอลสูงมาก ๆ โคเลสเตอรอลอาจมาพอกที่ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นปื้นเหลืองที่ผิวหนัง (xanthoma) ขึ้นตามข้อศอก ฝ่ามือ ตามเอ็นต่าง ๆ หรืออาจจะเกิดขึ้นบริเวณหนังตา และที่บริเวณขอบนอกกระจกตาดำ ปกติตาดำจะเห็นเป็นสีดำตลอดที่ขอบนอกของกระจกตาดำของคนที่มีโคเลสเตอรอสูงจะเห็นเป็นวงสีขาว เนื่องจากโคเลสเตอรอลมาจับอยู่จับตรงเนื้อเยื่อดังกล่าว

แต่วิธีที่แน่นอนก็ต้องเจาะเลือดตรวจเพื่อวัดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เป็นวิธีเดียวที่จะวัดได้ ควรงดอาหารทุกชนิดก่อนการเจาะเลือด 12 ชั่วโมง ถ้ากินยาบางชนิดต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพราะอาจต้องหยุดยาบางชนิดก่อนเจาะเลือด

ผู้ใดที่มีค่าโคเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม / 100 มิลลิลิตร (มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุต่อไป เพราะบุคคลเหล่านี้อาจมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 3-5 เท่าของคนที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดต่ำกว่านี้

 

 คนอ้วนทุกคนต้องมีโคเลสเตอรอลสูงจริงหรือ
คนอ้วนทุกคนไม่จำเป็นจะต้องมีโคเลสเตอรอลสูง แต่ก็มีโอกาสที่จะมีระดับโคเลสเตอรอลสูงมากในคนที่อ้วน จุดนี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องของโคเลสเตอรอลเกิดได้ทั้งคนผอม คนอ้วน และคนไม่อ้วนไม่ผอม เพราะอาจเกิดจากการกินอาหารไม่ถูกต้อง จากกรรมพันธุ์ หรือจากโรคต่าง ๆ

 

 ผลร้ายของการมีโคเลสเตอรอลสูงในเลือด
โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด การที่มีโคเลสเตอรอลสูงมาก ๆ เราก็พบว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะทำให้เกิดภาวะหลอเลือดแดงแข็ง เราเปรียบหลอดเลือดปกติเหมือนกับท่อน้ำที่ไม่มีขี้สนิมมาเกาะ น้ำก็ไหลสะดวก ถ้ามีโคเลสเตอรอลไปพอกอยู่ ที่ผนังด้านในของหลอดเลือด มันก็เริ่มขรุขระเหมือนมีสนิมไปจับ เพราะฉะนั้นเมื่อเม็ดเลือด (โดยเฉพาะเกล็ดเลือด) วิ่งไปก็จับตัวเป็นก้อนได้ การจับตัวเป็นก้อนทำให้เกิดเป็นก้อนเลือดอุดตันตามหลอดเลือดแดง และทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
การอุดตันของหลอดเลือดแดงนี้ ถ้าเกิดที่เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ ถ้าเกิดที่เส้นเลือดแดงไปเลี้ยงสมอง ก็จะทำให้พิการถึงขั้นอัมพาต ถ้าเป็นที่เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงแขนขา ก็ทำให้แขนขาเน่าได้ และถ้าเกิดขึ้นที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไต ก็เกิดความดันเลือดสูงได้ 

จากสถิติของการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดในประเทศไทย จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีอัตราสูงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ทั้งสองโรคนี้ ก็มีสาเหตุมากมาย แต่สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ โรคหัวใจขาดเลือด
สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่ก็อาจเกิดจากโรคความดันเลือดสูง การสูบบุหรี่ และเกิดจากโคเลสเตอรอลสูงในเลือด ฉะนั้น คนที่มีโคเลสเตอรอลสูงก็ควรจะได้รับการตรวจ เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจที่มีสาเหตุมาจากโคเลสเตอรอลสูงในเลือด ในระยะแรกยังไม่แสดงอาการอะไรทั้งสิ้น ต้องอาศัยการเจาะเลือดตรวจ อาจต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีขึ้นไป กว่าจะเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เพราะฉะนั้น คนที่มีโคเลสเตอรอลสูงอยู่ ถ้าปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ก็อาจจะยังไม่แสดงผลทันที ต้องใช้เวลานานพอสมควร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีโคเลสเตอรอลสูงตอนอายุ 30 ปี กว่าจะไปเกิดโรคหัวใจขาดเลือดให้เห็นผลอาจจะอายุถึง 40 ปีแล้วก็ได้ โดยอาจจะแสดงอาการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอเพียงชั่วคราว หรืออาจรุนแรง ถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตายเลยก็ได้ แม้ว่าจะได้ทำการรักษาคนที่มีโคเลสเตอรอลสูงในเลือดทั้งอาหารและยาแล้ว จะสรุปว่าคนนั้นจะไม่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดอีกเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าเขายังสูบบุหรี่อยู่ หรือเป็นโรคความดันเลือดสูงก็อาจจะเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดได้

การควบคุมโคเลสเตอรอลเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนนั้นเป็น แต่มีโคเลสเตอรอลสูงในเลือดอย่างเดียว ไม่มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง ก็มีตัวเลขที่ศึกษาจากต่างประเทศว่า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในการักษาแต่ไม่ใช่ว่า 2 ปีหลังจากนี้จะปลอดภัยทีเดียว แต่หมายถึงอัตราที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดนั้นจะมีน้อยลง
การสูบบุหรี่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะพิษจากบุหรี่ก็อาจจะทำให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในหลอดเลือด และทำให้เส้นเลือดตีบได้ ในขณะเดียวกันมีการศึกษาพบว่า บุหรี่จะไปลดสารตัวหนึ่งในร่างกาย สารตัวนี้เรียกว่า เอช.ดี.แอล. ซึ่งทำหน้าที่ นำโคเลสเตอรอลจากผนังหลอดเลือดแดงมาเผาผลาญที่ตับ และตับจะเผาผลาญโคเลสเตอรอลไปเป็นเกลือน้ำดี ขับถ่ายออกจากร่างกาย ถ้าเอช.ดี.แอล.ลดต่ำลง การนำโคเลสเตอรอลมาเผาผลาญก็เป็นไปได้ไม่ปกติ

 

 กินไขมันอย่างไรให้พอเหมาะ
ไขมันชนิดอิ่มตัวพบได้ในมันสัตว์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่สำหรับไขมันชนิดไม่อิ่มตัวนั้นมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญและเกี่ยวกับสุขภาพของเราคือ กรดไขมันจำเป็นที่เรียกว่า “กรดไลโนเลอิก” ซึ่งจะช่วยเร่งการเผาผลาญโคเลสเตอรอล ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลน้อยลง กรดชนิดนี้มีมากเฉพาะในน้ำพืชบางชนิด ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันรำ น้ำมันถั่วลิสง ถ้าจะถามในแง่คุณค่าทางโภชนาการก็ควรจะบริโภคน้ำมันถั่วเหลือง
ส่วนน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม มีกรดไลโนเลอิกน้อยมาก จึงไม่เหมาะจะนำมาปรุงอาหาร สำหรับผู้ที่เป็นโรคโคเลสเตอรอลสูงในเลือด
ถ้าเป็นผู้ใหญ่ทั่วๆไปที่กินอาหารที่ให้พลังงานได้วันละ 2,000 แคลอรี ได้มีการกำหนดไว้ว่า ถ้าเราแบ่งพลังงานออกเป็น 100 ส่วน เราไม่ควรกินไขมันเกิน 30 ส่วน (ไขมันทั้งหมด) และไขมันชนิดอิ่มตัวนั้น ไม่ควรจะกินเกิน 1 ใน 3 ของไขมันทั้งหมด (เท่ากับ 10 ส่วนของพลังงานทั้งหมด) เพราะว่าถ้ากินไขมันชนิดอิ่มตัวมากเกินไป จะไปเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือด เพราะอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวมากจะมีโคเลสเตอรอลมาก นอกจากนั้นยังจะไปขัดขวางการเผาผลาญโคเลสเตอรอลในร่างกายอีกด้วย
 

           ตารางปริมาณของโคเลสเตอรอลในอาหารบางชนิด                  

 อาหาร

 โคเลสเตอรอล

   มก./100 กรัม

 เนื้อวัว ( ไม่ติดมัน )

เนื้อหมู ( ไม่ติดมัน )

เนื้อไก่

หอยแครง

หอยนางรม

เนื้อปู

เนื้อกุ้ง

ไข่

      ไข่ขาว

      ไข่แดง

       ไข่ขาวและไข่แดง

ไข่ปลา

ตับ วัว , ลูกแกะ , หมู

ตับไก่

ไต

ตับอ่อน

สมอง

เนยแข็ง

เนยเหลว

ไอศกรีม ( ไขมัน 10 % )

น้ำมันหมู

น้ำนม

มาการีน ( ไขมันจากพืช )

           91

           89

           80

           50

       > 200

          101

          150

 

            0

        1480

          504 

        >300

          438

          746

          375

          466

      >2000

     90- 113

         250

          40

          95

          14

            0

การกินไข่สำหรับคนที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ในเรื่องโคเลสเตอรอล ควรกินเฉพาะไข่ขาว ไม่ควรกินไข่แดง เพราะในไข่แดงมีโคเลสเตอรอลสูงมาก แต่คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ก็บริโภคได้ ทั้งไข่ขาวและไข่แดง แต่ก็ต้องคำนึงว่า เมื่อเรากินไข่วันละฟอง ก็อาจจะได้โคเลสเตอรอลเข้าไปในร่างกายเกือบ 300 มิลลิกรัมแล้ว ฉะนั้นการกินเครื่องในสัตว์หรือหนังสัตว์ก็ไม่สมควรกินอีก หรือแทนที่เราจะกินไข่ต้มก็ควรกินไข่เจียว ไข่ดาว โดยใช้น้ำมันถั่วเหลืองทอด น้ำมันนี้จะช่วยเผาผลาญโคเลสเตอรอลที่เรากินเข้าไป ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลมากเกินไป เพราะถ้ายิ่งมาก ร่างกายก็ต้องทำงานหนัก เพื่อที่จะกำจัดสารชนิดนี้ออกไป

สำหรับในนมนั้น ถ้าเราดื่มนมสดหนึ่งแก้ว 240 มิลลิลิตร ก็จะได้ไขมันประมาณ 8 กรัม ไขมันนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันชนิดเดียวกับที่เราได้รับ เมื่อเวลาเรากินน้ำมันพืช น้ำมันหมู ในไขมันชนิดนี้ 8 กรัม จะให้พลังงาน 72 แคลอรี แต่ในนมก็มีโปรตีนและอื่น ๆ รวมทั้งโคเลสเตอรอลด้วยประมาณ 33 มิลลิกรัม

 

 การลดโคเลสเตอรอล โดยวิธีธรรมชาติ
1. ต้องกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลให้น้อยที่สุด ในขณะนี้มีตัวเลขเสนอแนะว่า ไม่ควรกินให้เกินวันละ 300 มิลลิกรัม เราก็ต้องรู้ว่าโคเลสเตอรอลมีมากเฉพาะในสัตว์ในพืชไม่มี แต่ก็ไม่ใช่จะกินเนื้อสัตว์อะไรไม่ได้เลย โคเลสเตอรอลจะมีมากในเครื่องในสัตว์ ในเนื้อสัตว์จะมีน้อยกว่าในเครื่องในสัตว์ นอกจากนี้ยังมีในส่วนที่เป็นหนังสัตว์ เช่น หนังเป็ด หนังไก่ หนังหมู และในไข่แดงด้วย

2. การใช้น้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันจำเป็นตัวหนึ่ง เรียกว่า กรดไลโนเลอิกมาก จะช่วยเร่งการเผาผลาญโคเลสเตอรอลได้ ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้าย แต่ต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เช่น น้ำมันถั่วเหลืองในผู้ใหญ่ต้องบริโภคให้ได้วันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ
3. อย่าเป็นคนกินอาหารจุ เพราะถ้ากินมากก็จะอ้วน อาจจะทำให้โคเลสเตอรอลสูงขึ้นได้ด้วย
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระดับของสารเอช.ดี.แอล. ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมโคเลสเตอรรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ข้อปฏิบัติเหล่านี้ เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้โคเลสเตอรอลสูงในเลือดเกินไปได้

 

 การใช้ยาและกระเทียม ลดโคเลสเตอรอล
หลังจากที่ได้มีการควบคุมอาหารผู้ป่วยโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 เดือนแล้ว โคเลสเตอรอล ยังไม่ลดลงมาเป็นที่น่าพอใจ ก็ควรจะใช้ยาช่วยในการลด อันนี้ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะใช้ยาอะไร และไม่ควรซื้อยามากินเอง

มีการศึกษาพบว่า การใช้กระเทียมอาจจะมีส่วนช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ แต่ก็ลดได้ประมาณร้อยละ 10 ของค่าที่เกิด เพราะฉะนั้นคนที่มีโคเลสเตอรอลก็อาจจะใช้กระเทียมควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ปกติเราจะใช้กระเทียมสกัด เพราะการกินกระเทียมสดจะต้องกินจำนวนมาก ขณะนี้มีกระเทียมที่เป็นแคปซูล และที่สกัดมาเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นน้ำมันเม็ด ซึ่งความจริงก็ต้องจัดว่า เป็นยาเหมือนกัน

 

 สถานที่รับการตรวจรักษา
โรงพยาบาลทุกแห่งขณะนี้ สามารถตรวจได้หมด ไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด สำหรับที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถ้าผู้ใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่คลินิกโภชนวิทยา อาคาร 1 วันอังคาร เวลา 8.30-12.00 น. ทั้งนี้ต้องติดต่อนัดหมายล่วงหน้า เพราะในการรักษาแต่ละครั้ง ทางคลินิกจะให้บริการคนไข้ประมาณ 50 ราย ฉะนั้น ถ้าไม่นัดล่วงหน้า มาถึงแล้วอาจไม่ได้รับการตรวจ เพราะทางโรงพยาบาลมีผู้ที่มาใช้บริการมาก และเมื่อพบคนไข้ที่มีโคเลสเตอรอลสูง เราไม่ได้ติดตามเฉพาะคนที่มาตรวจ แต่เราจะให้นำญาติและครอบครัวมาตรวจ เพื่อดูว่า มีใครผิดปกติ เพราะว่าบางคนอาจเป็นโรคทางกรรมพันธุ์

ทุกคนควรได้รับการตรวจโคเลสเตอรอลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ถ้าตรวจแล้วปกติก็อาจจะไม่ต้องตรวจทุกปี อาจจะทุก 2 ปีก็ได้ โรคโคเลสเตอรอลสูงในเลือด ส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนที่มีฐานะความเป็นเป็นอยู่ที่ดี แต่คนจนที่เป็นโรคกรรมพันธุ์ก็มี ดังนั้น ทุกคนควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อป้องกันภัยจากโคเลสเตอรอลสูงในเลือดได้ทันเวลา
 

ข้อมูลสื่อ

113-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531
เรื่องน่ารู้
นพ.วิชัย ตันไพจิตร