• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กแปดเดือดถึงเก้าเดือน ลักษณะของเด็ก

(ต่อ) 188 ลักษณะของเด็ก
สำหรับอาหารนั้น พออายุเท่านี้ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ได้รับอาหารเสริมในรูปแบบต่างๆ แล้วตามตารางอาหารเสริม เด็กวันนี้ควรกินข้าววันละ 2 มื้อ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามนั้นอย่างเดียว เด็กคนไหนที่ไม่ชอบของเละๆ แบบข้าวต้มอาจไม่ค่อยยอมกิน คุณแม่ไม่ต้องบังคับ ให้มื้อเดียวก็พอ หรือคุณแม่จะลองให้เด็กกินข้าวสวยดูก็ได้ ถ้าเด็กชอบก็ให้กินได้ไม่มีอันตรายอะไร

เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จะกินข้าวต้มวันละ 2 มื้อ และหลังอาหารจะดื่มนมประมาณครึ่งขวดและให้นมตอนตื่นนอนกับตอนก่อนนอนอีกมื้อละขวด เด็กที่ไม่ชอบกินนมจะกินข้าวมากกว่า เด็กแบบนี้คุณแม่ต้องเน้นให้อาหารพวก ไข่ ปลา หรือ เต้าหู้ ให้มากหน่อย มิฉะนั้นจะขาดโปรตีน

เด็กส่วนใหญ่ยังดูดนมจากขวด แต่นมมื้อหลังอาหารคุณแม่อาจให้ดื่มจากถ้วยก็ได้
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว พอถึงวันนี้มีน้อยคนที่ยังต้องกินนมมื้อเดียวอยู่ แต่ถ้าเด็กร้องกวนกลางคืนแล้วให้ดูดนมจากขวดนิดหน่อยหลับง่ายละก้อ คุณแม่ยังให้นมมื้อดึกต่อไปได้

เด็กที่กินนมแม่มาตลอด นมมื้อหลังอาหารควรให้ดื่มนมวัว และค่อยๆ เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมวัว โดยช่วงกลางวันให้นมวัว เก็บนมแม่ไว้ให้ตอนเช้าตรู่กับก่อนนอนและตอนตื่นขึ้นมากลางดึก

สำหรับผลไม้ แทนที่จะให้น้ำผลไม้คั้น เปลี่ยนเป็นให้ผลไม้ชิ้นเล็กๆ แต่ต้องแกะเอาเมล็ดออกก่อนให้เด็กเสมอ เช่น กล้วย มะละกอ ส้ม แตงโม น้อยหน่า ละมุด สับปะรด สตรอเบอรี่ ฯลฯ เด็กที่มีฟันล่างแล้วอาจชอบแทะผลไม้แข็งๆ เช่น ชมพู่ ฝรั่ง แอปเปิ้ล เพราะกำลังมันเขี้ยว เวลาคุณแม่อุ้มพาดไหล่อาจโดนงับเอาบ่อยๆ ก็ได้

พวกขนม ให้กินขนมไทยๆต่างๆ (ที่ไม่ใส่สีและไม่หวานเกินไป) เช่น เวเฟอร์ ขนมปังกรอบ ขนมเค้ก ฯลฯ แต่อย่าให้กินลูกกวาด ทอฟฟี่ ถั่วลิสง หรือ ถั่วคั่วทุกชนิดเพราะอันตรายจากการติดคอ

เมื่อได้รับอาหารเสริมมากขึ้น อุจจาระของเด็กจะส่งกลิ่นเหม็นขึ้นและสีเปลี่ยนไป เด็กจะถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง หรือ 2 วันครั้ง มีหลายแบบแล้วแต่เด็ก สำหรับปัสสาวะนั้นยังถ่ายประมาณวันละ 10 กว่าครั้ง และสีจะเข้มขึ้นเมื่ออาหารเสริมมากขึ้น

ในวันนี้มีเด็กที่สามารถนั่งกระโถนได้แล้ว แต่เด็กคนไหนไม่ยอมนั่งก็ไม่ต้องบังคับให้นั่ง


จำนวนครั้งที่ปัสสาวะช่วงกลางคืนของเด็กแต่ละคนต่างกัน เด็กที่กินน้อยมักจะปัสสาวะน้อย บางคนไม่ปัสสาวะเลยจนถึงเช้า แต่เด็กที่ต้องกินนม 1 ขวดก่อนนอน มักจะปัสสาวะกลางดึกประมาณ 1-2 ครั้ง

เด็กคนไหนที่พอที่นอนเปียกจะตื่นขึ้นมาร้องกวนเปลี่ยนผ้าอ้อมให้แล้วก็ยังไม่ยอมนอนต่อง่าย ๆ นั้น คุณแม่อาจเลื่อนเวลาให้นมก่อนนอนให้เร็วขึ้นหน่อย และก่อนที่คุณแม่จะนอนก็จับลุกขึ้นมาปัสสาวะเสียครั้งหนึ่ง อาจจะช่วยได้มาก

โรคภายในที่เด็กช่วง 8-9 เดือนมีเรื่องที่จะต้องพาไปหาหมอมากที่สุดก็คือ โรคส่าไข้ (หัวข้อ 168 โรส่าไข้ หมอชาวบ้าน ฉบับ 42 ) รองลงมาก็ โรคตุ่มเม็ดพองในปาก (ดูหัวข้อ 185 โรคตุ่มเม็ดพองในปาก หมอชาวบ้าน ฉบับ 48) และโรคท้องเสีย (ดูหัวข้อ 184 ท้องเสีย หมอชาวบ้านฉบับที่ 47)

เด็กที่มีเสมหะมากอาจถูกหาว่าเป็น "โรคหืดในเด็ก" ถ้าเด็กเคยเป็นมานานแล้วคุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจแต่อาจมีเด็กบางคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่พอถึงวัยนี้ช่วงอากาศเปลี่ยน เกิดมีอาการเสมหะมาก และพอไอก็อาเจียนออกมาด้วย เมื่อไปหาหมอแล้วหมอว่าเป็นโรคหืดในเด็ก คุณแม่คงตกใจมาก (ดูหัวข้อ 186 โรคหืดในเด็ก หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 49)

เด็กที่ตัวร้อนสูงแล้วมีอาการชัก เพราะไข้มักจะเริ่มเกิดในวัยนี้เช่นกัน (ดูหัวข้อ 183 ชัก หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 47)

เด็กที่มีพี่ อาจติดโรคหัด อีสุกอีใส สำหรับคางทูมนั้น ถึงจะติดก็เกือบไม่แสดงอาการเลย
เด็กในวัยนี้มักจะเป็นโรคภายนอกซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุมากว่าโรคภายใน อุบัติเหตุที่เกิดมากที่สุดคือ ตกเตียงหรือตกจากที่สูงแล้วเอาหัวฟาดพื้น ตามปกติเด็กที่ตกเตียงสูงขนาดธรรมดาๆ ลงมาบนพื้นนุ่มๆ มักไม่ส่งผลอะไรในภายหลัง แต่ถ้าตกลงโดนพื้นแข็งเช่น ซีเมนต์ ก็อาจจะเป็นอันตรายได้

อุบัติเหตุมากเป็นอันดับรองลงมาคือ ถูกของร้อน เช่น เตารีดหรือน้ำร้อนลวก คุณแม่ต้องเก็บงำของพวกนี้ให้ดี เด็กที่คลานได้ อาจคลานเอามือจิ้มเข้าไปในปลั๊กไฟ ฉะนั้น ปลั๊กไฟที่อยู่ในระดับต่ำ ควรหาเทปมาปิดไว้หรือหาเครื่องมาครอบปลั๊กไฟไว้มิให้นิ้วเด็กแยงเข้าไปได้
นอกจากนั้นยังมีอุบัติเหตุ กินก้นบุหรี่ เศษสตางค์ กระดุม

การเลี้ยงดู

189 การให้อาหารเสริม
เด็กวัย 8-9 เดือนนี้ถ้าให้อาหารเสริมตามตารางจะต้องกินข้าววันละ 2 มื้อ และนมอีก 3 มื้อ เด็กที่ได้รับอาหารเสริมตามตารางจะกินอาหารดังต่อไปนี้
7.00 น. นม 1 ขวด กับขนมจำพวกแป้ง เช่น ขนมปังกรอบ
11.00 น. ข้าวต้ม ประมาณ 1 ถ้วย ผักบด 2-3 ช้อน คาว ไข่ แกงจืด
15.00 น. นม 1 ขวด กับผลไม้
18.00 น. ข้ามต้มครึ่งถึงหนึ่งถ้วย ปลาหรือเนื้อบด 2-3 ช้อนคาว หรือ เต้าหู้ 2-3 ช้อนคาว ผัก ซุป
21.00 น. นม 1 ขวด

การทำอาหารเสริมให้เด็กไม่ควรเสียเวลามาก ข้าวต้มไม่จำเป็นต้องต้มใหม่ทุกมื้อ วันหนึ่งต้มครั้งเดียวที่เหลือเก็บใส่ตู้เย็นเอาไว้ให้มื้อต่อไปได้ หรือจะเอาข้าวสวยนิ่มๆ มาบดให้ เด็กบางคนอาจจะชอบมากกว่าข้าวต้มเสียอีก

เมื่อเด็กอายุเกิน 8 เดือน ส่วนใหญ่จะเริ่มไม่ชอบอาหารเละๆ เหมือนพวกอาหารเด็กอ่อนสำเร็จรูป เด็กมักชอบที่จะกินของที่ต้องขบเคี้ยวบ้าง

สำหรับผลไม้นั้น ผลไม้แข็งหน่อย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล มะม่วง ถ้าหั่นชิ้นบางๆ ให้เด็กถือกัดกิน เด็กจะชอบมาก ผลไม้อื่นๆ ก็ให้กินเป็นชิ้นได้

เด็กวัยนี้ชอบอยู่ไม่สุข ถ้าให้นั่งกินอาหารกับพื้นคุณแม่คงต้องวิ่งไล่ป้อน ควรให้นั่งในโต๊ะอาหารสำหรับเด็กหรือในเก้าอี้หัดเดิน

สำหรับระยะเวลาในการให้อาหารนั้น ขึ้นอยู่กับนิสัยของเด็กแต่ละคน บางคนกินเร็ว บางคนกินช้า แต่ถ้าช้าเกินไป เช่นกว่าจะกินข้าวต้มหมดถ้วยต้องเสียเวลาป้อนเป็นค่อนชั่วโมงละก็ แปลว่าเด็กไม่ได้ชอบอาหารนั้น พอป้อนใส่ปากเด็กก็จะอมอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมกลืนสักที เพราะเด็กไม่รู้สึกอร่อย คุณแม่ก็ไม่ควรตื๊อป้อนอยู่จนเกินครึ่งชั่วโมง ให้เด็กกินอย่างอื่นแทนดีกว่า
 

ข้อมูลสื่อ

50-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 50
มิถุนายน 2526