• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เท้าบอกโรค ตอน นวดฝ่าเท้ารักษาโรค


ในบรรดาสัตว์บกทุกชนิดที่วิ่งอยู่บนเท้า คงมีแต่ม้าที่มีเกือกม้าและมนุษย์เท่านั้นที่สวมใส่รองเท้า
ในสังคมปัจจุบัน การใส่รองเท้าเป็นการแสดงถึงความศิวิไลซ์ และเป็นการช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับฝ่าเท้าได้ เช่นเสี้ยนหนามตำ เศษกระจกบาด นอกจากนั้นยังหลีกเลี่ยงจากการไชเข้าผิวหนังของพยาธิชนิดต่าง ๆ ได้

การใส่รองเท้าจึงถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง

แต่ทว่า การที่มนุษย์พยายามเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ทำให้มีทั้งด้านดีและเสีย การใส่รองเท้าทำให้ฝ่าเท้าบาง ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับผืนหญ้าอันอ่อนนุ่ม พื้นดินที่มีไออุ่น พื้นหินที่เย็นเยือก พื้นทรายที่เปียกชื้น ซึ่งเสมือนหนึ่งมือธรรมชาติที่คอยบีบนวดทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และที่สำคัญมากคือ การเดินด้วยเท้าเปล่า ช่วยทำให้สุขภาพทั่วไปของร่างกายดีขึ้นด้วย

ฝ่าเท้ามีส่วนสัมพันธ์กับร่างกายส่วนอื่นๆ ได้อย่างไร ?
ถ้าเราสามารถมองทะลุเข้าไปในครรภ์ของมารดาที่อุ้มท้อง และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เราจะพบว่าผิวหนังของร่างกายซึ่งรวมทั้งผิวหนังที่ฝ่าเท้า เป็นส่วนที่พัฒนามาจากกลุ่มเซลล์ชั้นนอกของตัวอ่อน มีต้นตอเดียวกันกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่พัฒนามาจากกลุ่มเซลล์ชั้นกลาง ชั้นใน และชั้นนอก
เส้นประสาทก็พัฒนามาจากกลุ่มเซลล์ชั้นนอกเช่นเดียวกัน และเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงที่อวัยวะต่างๆ ก็ส่งสาขามาเลี้ยงที่ผิวหนังด้วย (รูปที่ 1 และ 2)

  

ดังนั้นไม่เป็นการแปลกเลยที่ตำแหน่งต่าง ๆ บนใบหู จะเกี่ยวข้องกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้แพทย์ทั้งแผนโบราณและปัจจุบันสามารถฝังเข็มที่ใบหูเพื่อรักษาอวัยวะอื่นๆ อาทิ เช่น กระเพาะ ลำไส้ ศีรษะ ได้ และเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากที่การแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่าฝ่าเท้าของเรามีตำแหน่งต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ทั่วทั้งร่างกาย (ดูรูป 3,4 และ 5)

  

 

   


   


ในภาพจะเห็นได้ว่า ฝ่าเท้าข้างซ้ายสัมพันธ์กับอวัยวะทางด้านซ้ายของร่างกายและฝ่าเท้าข้างขวาสัมพันธ์กับทางด้านขวา
พึงสังเกตว่า ส่วนของศีรษะอยู่ที่หัวแม่เท้า ตำแหน่งดวงตาอยู่ที่บริเวณโคนนิ้วเท้าที่ 2 และ3 ตำแหน่งหูอยู่ที่โคนนิ้วเท้าที่ 4 แล 5 ปอดอยู่ที่ต่ำลงมา หัวใจอยู่ทางด้านนอกของฝ่าเท้าซ้าย ขณะที่ตับและถุงน้ำดีอยู่บริเวณด้านนอกของฝ่าเท้าขวา กระเพาะอยู่ทางด้านใน ไส้ติ่งอยู่ที่ฝ่าเท้าขวาส่วนไตอยู่ที่กึ่งกลางส่วนโค้งของฝ่าเท้าทั้ง 2

ตำแหน่งเส้นประสาทเซียติคซึ่งมักเกิดอาการปวดร้าวที่ด้านหลังของขานั้นอยู่ที่ส้นเท้า ดังนั้นคนที่ปวดหลังส่วนล่าง และมีการปวดร้าวตามแนวของเส้นประสาทนี้จะมีาการกดเจ็บที่ส้นเท้าเวลายืนลงน้ำหนักทำให้แพทย์วินิจฉัยกันว่าเป็นอาการกระดูกงอกที่ส้นเท้า ทั้ง ๆ ที่แนวของกระดูกงอกไม่น่าจะทำให้เกิดการเจ็บปวดได้
 

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมเมื่อเกิดอาการผิดปกติของอวัยวะส่วนใดจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่ฝ่าเท้าที่บริเวณตำแหน่งนั้นได้ เรื่องนี้ในวงการแพทย์เราพิสูจน์ได้เสมอว่า ถ้าเกิดอาการเจ็บปวดที่ไหล่ซ้าย อาจเนื่องจากหัวใจผิดปกติได้ และส่วนอื่น ๆ ที่ผิวหนังก็เช่นเดียวกัน มักจะแสดงอาการเจ็บปวดต่าง ๆ จากความผิดปกติของอวัยวะภายในได้ เราเรียกการเจ็บปวดชนิดนี้ว่าอาการปวดที่มาจากแหล่งอื่น ภาษาอังกฤษเรียกว่า Referred pain การกดนวดที่ตำแหน่งต่าง ๆ บนฝ่าเท้าทำให้เกิดปฏิกิริยาการตอบสนองของเส้นประสาทไปยังอวัยวะที่เกี่ยวข้องทำให้มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานทางงานวิจัยที่เด่นชัดในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์ข้อนี้แต่ประสิทธิภาพในการรักษาก็ปรากฏออกมาเช่นเดียวกันกับกรณีของการฝังเข็ม

การแพทย์แผนโบราณชนิดต่าง ๆ ถึงแม้จะดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์นัก แต่การที่วิธีการเหล่านั้นสามารถถูกถ่ายทอดมาเป็นเวลาหลายพันปี ย่อมมีความหมายอย่างยิ่ง เนื่องจากการักษาได้ผลพอสมควรและเป็นวิธีการง่ายดายที่ประชาชนรับได้ และที่สำคัญที่สุดวิธีการนวดกดฝ่าเท้านี้สามารถทำได้ทุกคน และไม่มีข้อเสียหรือผลข้างเคียงจากการกดนวดนี้เลย จึงเป็นการปลอดภัยที่จะนำเข้าโปรแกรมของสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อให้ประชาชนรักษาตนเองก่อนที่จะต้องมาพึ่งแพทย์

แต่ย่อมต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของการกดนวดฝ่าเท้านี้ว่าไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ทุกชนิด จึงไม่ใช่วิธีการรักษาที่ครอบจักรวาล ยังต้องอาศัยวิธีการรักษาอย่างอื่นถ้าการกดนวดไม่ทำให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลง และไม่ควรใช้ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยแบบปัจจุบันทันด่วนที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต

ในตอนหน้าจะเล่าถึงวิธีการกดนวดเพื่อรักษาส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ข้อมูลสื่อ

67-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527
เรื่องน่ารู้
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข