• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสาธารณสุขมูลฐานบทความเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2527

 

   

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแกนหลักของชาติการสาธารณสุขมูลฐาน เป็นแกนหลักของการสาธารณสุขของประเทศ

ข้อความสองบรรทัดแรกไม่จำเป็นต้องอธิบายแต่บรรทัดที่เหลืออาจต้องอธิบายขยายความ ดังนี้
1.การแพทย์ การแพทย์ไม่ว่าของระบบใด ๆ เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะเยียวยารักษาโรค เนื่องจากความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษยชาติ

 

2.การสาธารณสุข ขณะที่การแพทย์เน้นที่การตรวจรักษา การสาธารณสุขหมายรวมเอาการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพเข้าไว้ด้วย ที่จริงก็มิได้มีข้อห้ามอันใดว่าการแพทย์จะไม่สนใจเรื่องการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพร่วมไปด้วย

 

3.สถาบันการแพทย์ เมื่อวิชาการทางการแพทย์วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมากขึ้น บริการการแพทย์ซึ่งสมัยก่อนไปถึงบ้านของประชาชนก็ย้ายถิ่นตั้งเป็นโรงพยาบาล เพราะไม่สามารถแบกหามเทคโนโลยีไปถึงชุมชนหรือประชาชนได้ โรงพยาบาลมีขนาดใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้นอาจมีแพทย์เป็น
ร้อย ๆ หรือพันคน สามารถทำการตรวจรักษาโรคที่ยาก ๆ ซึ่งสมัยก่อนทำไม่ได้ เช่นผ่าตัดสมอง ผ่าตัดหัวใจ

 

4.ช่องว่าง กระนั้นก็ตามปรากฏว่าประชาชนยังเจ็บป่วยล้มตายด้วยเรื่องที่ไม่น่าเจ็บป่วยและตาย และประสบความลำบากในการตรวจรักษามาก เพราะ

4.1 ตามโรงพยาบาลผู้ป่วยแน่นมาก จึงแออัดยัดเยียดและได้รับบริการแบบคร่าว ๆ เป็นการตรวจชนิดนาทีสองนาที ประโยชน์จึงไม่คุ้มค่า เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้ต้องลงทุนมากทั้งทางวัตถุและบุคคล ประชาชนต้องเสียเงินเสียเวลาเดินทางและรอการตรวจนาน

4.2 ประชาชนขาดความรู้ทำให้เป็นโรคมาก ช่วยตัวเองไม่ได้ และขาดบริการใกล้บ้าน ทำให้ไปแออัดที่โรงพยาบาลมากเกิน

4.3 โรงพยาบาลที่แน่น ๆ ยุ่ง ๆ จึงเป็นการยากที่จะให้บริการด้านป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นที่สำคัญยิ่ง

4.4 ลักษณะของการแพทย์เช่นนี้จึงเป็นการแพทย์แบบตั้งรับ กล่าวคือ ปล่อยให้ปัญหามันเกิดแล้วจึงมารับบริการ เช่น ในประเทศไทยมีคนเป็นเบาหวานอย่างน้อยล้านคน แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นบ้าง ต่อเมื่อเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น หัวใจเสีย ไตเสีย จึงมาเป็นคนไข้ที่โรงพยาบาลซึ่งรักษาไม่หายแล้ว
แต่หมดเปลื้องอย่างยิ่งทั้งของหลวงและของราษฏร มิใช่เฉพาะหมอเปลืองเงินเท่านั้น แต่หมดเปลืองชีวิตด้วย

 

5. รุกและกระจาย เมื่อการเป็นเช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ อันเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกได้มีมติร่วมกันที่จะให้เกิดสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health For All) ภายในปี ค.ศ.2000 ให้จงได้ และใช้แผนรุกและกระจายที่เรียกว่า การสาธารณสุขมูลฐาน

 

6. การสาธารณสุขมูลฐาน การสาธารณสุขมูลฐานมิใช่การสาธารณสุขสำหรับประเทศด้อยพัฒนา หรือการสาธารณสุขสำหรับคนจน หรือการสาธารณสุขสำหรับคนบ้านนอก แต่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกประเทศ และจะเข้ามาปรับให้การสาธารณสุข (รวมถึงการแพทย์ด้วย) ทุกระดับเข้ารูปเข้ารอยและมีคุณภาพดีขึ้น

การสาธารณสุขมูลฐานถือประชาชนและชุมชนเป็นตัวตั้ง ทั้งในฐานะผู้พัฒนาและผู้ได้รับผลของการพัฒนา ประชาชนและชุมชนสามารถเรียนรู้และบริหารจัดการเพื่อให้มีการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรคได้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากการสาธารณสุขระดับอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ด้วย และองค์ประกอบอื่นๆ ของการพัฒนาสังคม

 

7.องค์ประกอบของสาธรณสุขมูลฐาน มี 8 ประการคือ

(1 ) อาหารและโภชนาการ

(2 ) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

(3 ) น้ำสะอาดและสุขาภิบาล

(4 ) อนามัยแม่และเด็กกับการวางแผนครอบครัว

(5 ) การควบคุมโรคที่พบบ่อย

(6 ) การรักษาโรคที่พบบ่อย

(7 ) การมียาจำเป็นใช้ และป้องกันการใช้ยาโดยไม่ถูกต้อง

(8 ) ได้รับการศึกษาในเรื่องสุขภาพอนามัยอย่างดีที่สุด

ทั้งนี้เน้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน การที่ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ การใช้วิชาการและเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่เหมาะสมโดยเป็นที่ยอมรับของประชาชน เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และอยู่ในความสามารถของประชาชนที่จะบริหารจัดการได้ และมีการใช้กำลังคนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น
ชาวบ้าน อาสาสมัคร ครู พระ หมอตำแย แพทย์แผนโบราณ ฯลฯ และเชื่อมโยงกับบุคลากรสาธารณสุขประเภทต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอพึ่งแพทย์อย่างเดียว

ถ้าทั่วทุกหมู่บ้านและชุมชนมีการสาธารณสุขมูลฐานครบถ้วนทั้ง 8 องค์ประกอบ ประชาชนจะมีสุขภาพอนามัยดีและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ ถึงจะทำอย่างอื่นอีกเท่าไรก็ไม่สามารถสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้ประชาชนได้

 

8.สาธารณสุขมูลฐานกับการแพทย์ระดับอื่นๆ การสาธารณสุขมูลฐานกับการแพทย์ระดับอื่นๆ ต้องเชื่อมโยงพึ่งพากัน การสาธารณสุขมูลฐานต้องการการสนับสนุนทางวิชาการเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน การศึกษาวิจัยจากการแพทย์ระดับอื่น ๆ และการรับการส่งต่อปัญหาที่ยากเกินความสามารถของชุนชน แต่ในขณะเดียวกัน การสาธารณสุขมูลฐานจะทำให้คุณภาพของการแพทย์โดยทั่วไปดีขึ้น เพราะการสาธารณสุขมูลฐานทำให้มีการกระจายการป้องกันและรักษาโรคไปสู่ชุนชนทั่วประเทศ เป็นการลดภาวะของโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งขณะนี้ให้บริการแบบนาทีสองนาที เพราะผู้ป่วยแน่นเกิน การสาธารณสุขมูลฐานจะช่วยให้โรงพยาบาลใหญ่อยู่ในฐานะที่จะปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ
ปัญหาหลายอย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าการแพทย์เป็นแบบสร้างโรงพยาบาลตั้งรับคนที่รอให้เกิดเรื่องเสียก่อนก็จะเสียหายทางเศรษฐกิจและขาดทุนชีวิตที่สูญเสียโดยไม่จำเป็น การแพทย์และการสาธารณสุขที่ดีจะต้องบอกได้หมดว่ามีใครบ้างเป็นเบาหวานและใครเป็นความดันโลหิตสูงบ้าง และมีการควบคุมเสียเนิ่น ๆ จะได้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อน เราจะบอกให้คนทั้งประเทศไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาลก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจะโกลาหลวุ่นวาย แต่เรื่องเช่นนี้ทำผ่านการสาธารณสุขมูลฐานได้ไม่ยาก จึงกล่าวว่าการสาธารณสุขมูลฐานจะช่วยให้คุณภาพการแพทย์ดีขึ้น

 

9.หลักการในการพัฒนาการสาธารณสุข เท่าที่กล่าวมาพอสังเขป จะเห็นได้ชัดเจนว่า ทำไมหลักการในการพัฒนาการสาธารณสุขในปัจจุบันจึงมีดังต่อไปนี้

9.1 ขยายและส่งเสริมให้มีการสาธารณสุขมูลฐานกว้างขวางและมีคุณภาพดีที่สุด

9.2 เตรียมฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นจาก 9.1 และ 9.2 ปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่ขยาย)

 

10.ผลเสียของการสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก ทุกประเทศจำเป็นต้องมีโรงพยาบาล และโรงพยาบาลบางแห่งต้องมีขนาดใหญ่ ประเทศไทยมีโครงสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่พอเพียงแล้วในขณะนี้ กล่าวคือนอกเหนือจากในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด 73 จังหวัด มีโรงพยาบาลจังหวัด 89 แห่ง และ 14 แห่งถือเป็นโรงพยาบาลศูนย์
ปัญหาอยู่ที่คุณภาพการให้บริการให้ทั่วถึง และความเชื่อมต่อระหว่างการสาธารณสุขมูลฐาน-สถานบริการชุมชน-โรงพยาบาลใหญ่
หากสร้างโรงพยาบาลใหญ่เพิ่มขึ้นอีกมีมูลค่าเป็นร้อย ๆ หรือพันล้าน จะดึงแพทย์พยาบาลไว้อีกเป็นร้อย ๆคน ไม่สามารถกระจายไปได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยก็จะมากระจุกแน่นทำให้เกิความสับสนต่อไป ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและทำให้การกระจายบริเวณสาธารณสุขต้องล่าช้าออกไป ฉะนั้นถึงแม้จะมีเจตนาดีใจบุญใจกุศล การกระทำดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสาธารณสุข

 

11.การสาธารณสุขมิใช่เรื่องมดหมอหยูกยาเท่านั้น การที่มนุษย์จะมีสุขภาพอนามัยดีนั้น ขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ พฤติกรรม และวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ขณะนี้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาสาธารณสุขได้มีทรรศนะเกี่ยวกับการสาธารณสุขกว้างขวางอย่างน่าสรรเสริญ และพยายามผสมผสานการสาธารณสุขเข้ากับการพัฒนาอื่นๆ อย่างเต็มที่ และการสาธารณสุขของไทยรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะมีความคิดถูกต้องและต่อเนื่องกันมาช้านานในกระทรวงสาธารณสุข และขณะนี้ความถูกต้องกำลังเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางกับส่วนปลายขยายตัวและมีนวัตกรรมสร้างสรรค์

 

12.การสาธารณสุขกับการพัฒนาด้านอื่น ขณะนี้มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่าง 4 กระทรวงหลัก คือมหาดไทย ศึกษา เกษตร สาธารณสุข ในหลายพื้นที่ เช่นที่ นครราชสีมา อันเรียกว่าโครงการโคราชพัฒนา และที่อื่นๆ เขาทำงานกันอย่างน่าสรรเสริญ ที่จังหวัดไหนผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอลงมือเอง การสาธารณสุขรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โครงการพัฒนาสังคมซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานอยู่นั้นก็ได้มีการคิดเอาดัชนีแห่งความจำเป็นพื้นฐาน (จ.ป.ฐ.) เข้าไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง

 

13. การสาธารณสุขมูลฐานกับการพัฒนาชุมชน การสาธารณสุขมูลฐานแนบแน่นอยู่กับการพัฒนาชุมชน ขณะนี้มีความตื่นตัวและเปิดโอกาสแก่การพัฒนาชุมชนมาก เพราะได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านนโยบาย งบประมาณ และอื่น ๆ มีการสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรของชุมชน การบริหารจัดการทางการเงินของชุมชน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีของชุมชน ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่ประชาธิปไตยของชุมชนและของประเทศ เมื่อชุมชนเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ปกครองตนเองได้ดีขึ้น ก็จะลดปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการเติบโตไม่ได้สัดส่วนของกรุงเทพ ฯ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการเอาเปรียบกดขี่ด้วยประการต่าง ๆ
อะไรเล่าเป็นเหตุให้มีการพัฒนาชุมชนกันขนานใหญ่ ? คงจะมีเหตุปัจจัยประจวบเหมาะหลายอย่าง แต่เหตุที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่คงจะไม่ปฏิเสธกันก็คือการที่มีผู้ชายคนหนึ่งสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังมาเป็นเวลาช้านานเป็นสิบปี ใช้เวลาออกไปดูไปเยี่ยมเยียนไปแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารประการใด ชายผู้นี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช!
สิ่งที่ทรงทำก็คือหัวใจของการสาธารณสุขมูลฐานก่อนที่จะมีการใช้คำนี้กัน แน่นอนที่ความสนพระทัยในการออกไปสอดส่องดูแลเรื่องชนบทได้เป็นแรงดลใจให้ทางราชการ รัฐบาล และฝ่ายอื่น ๆ สนใจเรื่องนี้กันขึ้นมาอย่างจริงจังจนเกินความเห็นพ้อง และมีนโยบายทางการเมืองเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาชุมชนกันได้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

 

14.การสาธารณสุขมูลฐานมีฐานอยู่ในคุณธรรมและจริยธรรม
เรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้าและการสาธารณสุขมูลฐานยังมิใช่เรื่องที่จะสำเร็จโดยง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางจิตสำนึกและการกระทำ การที่การแพทย์ระดับต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกันได้ และเชื่อมโยงไปถึงการสาธารณสุขมูลฐานได้สำเร็จนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีฐานอยู่ในคุณธรรมและจริยธรรม หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณของประชาชาติทั้งมวล


เรื่องใหญ่เช่นนี้ทำไม่สำเร็จถ้าไม่ได้อาศัยพระบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถ้านึกถึงพระเจ้าอยู่หัว ก็ให้นึกถึงคุณธรรมความดี
ถ้ารักพระเจ้าอยู่หัว ก็ต้องรักประชาชน
เพราะพระเจ้าอยู่หัวรักประชาชน

การสาธารณสุขมูลฐานมีฐานอยู่ที่ประชาชน
และมีฐานอยู่ในคุณธรรมจริยธรรม

พระบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นแกนหลักของชาติ
การสาธารณสุขมูลฐานเป็นแกนหลักของการสาธารณสุขของประเทศ

ข้อมูลสื่อ

68-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี