• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ท้องเสีย

นอกจากความไม่สมดุลระหว่าง จำนวนบุคลากรทางการแพทย์กับจำนวนประชาชนแล้ว ภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้บริการของสถานพยาบาลได้ทุกครั้ง การดูแลตนเอง หรือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีความผิดปกติบางอย่าง จึงมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือบรรเทาภาวะวิกฤตก่อนที่จะไปสถานพยาบาลได้ และปัญหาบางอย่างต้องการเพียงพยาบาลในบ้าน

          

     
 


เด็กเล็ก ๆ นอกจากพบ “ปัญหาท้องอืด” แล้ว “ท้องเสีย” ยังเป็นปัญหาที่พบได้มาก โดยเฉพาะทารกที่รับประทาน นมขวด (หมายถึงนมผสมชงแล้วใส่ขวดดูด) ทั้งนี้เนื่องจาก “ความไม่สะอาด” ของมือผู้ชงนม อุปกรณ์ชงนม ขวดนม และหัวนม หรือจากการชงนมไม่ได้สัดส่วนตามที่ฉลากกำหนดไว้ เช่น กลัวลูกจะโตช้าเลยใส่นมเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนนมมีปริมาณมากเกินความสามารถของระบบการย่อยอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทารกเกิด “มีปัญหาท้องเสีย” ได้ทั้งสิ้น

การถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะหรือจำนวนครั้งผิดไปจากปกติที่ทารกเคยถ่าย ตลอดจนทารกอาจมีอาการร้องแบบเจ็บปวด เกร็ง กำมือแน่น ปลายเท้าจิกลงก่อนการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ เป็นการแสดงว่าทารภมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นแล้ว ในเด็กเล็กมาก ๆ ควรพาไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ การเสียน้ำและเกลือแร่ที่ปนออกมากับอุจจาระของเด็กเล็ก ๆ สามารถทำให้ทารกเกิด “ภาวะขาดน้ำ” และ “ช็อก” ได้อย่างรวเร็ว จึงไม่ควรรอช้า ระหว่างไปงดให้นมขวดไว้ก่อนและให้น้ำต้มสุกแทนมากๆ จนกว่าแพทย์จะแนะนำเป็นอย่างอื่น ไม่แนะนำให้น้ำชาหรือน้ำต้มใบอื่น ๆ

ในรายทารก “ดื่มนมแม่” การถ่ายบ่อยหรือถ่ายทุกครั้งที่ดูดนมเป็นสิ่งปกติ ที่พบได้ทั่วไป ถ้าลักษณะอุจจาระนั้นเป็นสีเหลืองทองปนน้ำเล็กน้อย ทารกไม่ร้องก่อนถ่าย อย่างไรก็ตาม ทารกที่ดื่มนมแม่อาจมีการท้องเสีย จากแม่ที่รับประทานยาดองเหล้าได้ จึงควรงดยาดองเหล้านั้นเสีย และให้ดื่มนมมารดาต่อไป ทารกที่เป็นหวัดอาจมีการท้องเสียร่วมด้วย ถ้าทารกมีไข้และท้องเสียควรพาไปสถานพยายาลเช่นกัน

กรณีเด็กโตถ้าอุจจาระมีเนื้อปนไม่บ่อยครั้งนัก ไม่มีไข้ ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ดื่มน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) บ่อย ๆ น้ำตาลเกลือแร่ชนิดสำเร็จรูปขององค์การเภสัชกรรมมีขายทั่วไป ใช้น้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง ผสมน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดน้ำปลาชนิดกลมใหญ่ แต่ถ้าจะทำใช้เองให้ใช้ส่วนผสมของ
เกลือ 1 ช้อนชา น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ชงน้ำต้มสุก 1 ขวด น้ำปลาชนิดกลมใหญ่ ถ้าถ่ายบ่อยขึ้นถ่ายเป็นน้ำ หรือมีอาเจียน หรือมีไข้ ควรพาไปสถานพยาบาล และถ้าได้ยากลับมารับประทาน พยายามให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆหรือจะใช่ดื่มน้ำตาลเกลือแร่แทนก็ได้ น้ำตาลเกลือแร่นี้ถ้าชงค้างคืนจะบูด ควรสังเกตลักษณะอุจจาระของทารกหรือเด็กทุกครั้ง แม้จะในเวลาปกติก็ตาม

 


 

ข้อมูลสื่อ

68-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์