• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาชุด


                    
                    

ยาชุดโรคกระเพาะ...1

ยาชุดแก้โรคกระเพาะ ยาชุดแก้โรคกระเพาะ (ชนิดพิเศษ)
แก้โรคกระเพาะ ปวดท้อง ท้องแน่น ท้องเฟ้อจุกเสียด รักษาแผลในลำไส้ ลดกรดในกระเพาะอาหาร
ยาที่พบ ยาลดกรด ยาแก้ปวด ยาแก้ท้องอืด ยาปฏิชีวนะ ยาลดการเกร็ง เอ็นซัยม์ ยากล่อมประสาท

การดูแลรักษาตนเอง ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
1. กินอาหารเป็นเวลา อย่าปล่อยให้ท้องหิวบ่อย ๆ
2. อย่ากินอาหารที่มีรสจัด เช่น รสเปรี้ยวจัด, เผ็ดจัด, เผ็ดร้อน, ขณะที่มีอาการปวดท้อง ควรกินอาหารอ่อน ๆ และกินทีละน้อย ๆ แต่กินบ่อย ๆ เช่น ทุก 2-3 ชั่วโมงจนกระทั่งหายปวด
3. งดเว้นจากบุหรี่ สุรา กาแฟ
4. ต้องไม่กินยาแอสไพริน ไม่กินยาซองแก้ปวด และยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะทุกชนิด
5. ต้องไม่ใช้ยาชุดทุกชนิด เพราะยาชุดมักมีกลุ่มยาสเตียรอยด์ หรือ เอพีซีซึ่งมีผลทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ อาจถึงขั้นกระเพาะทะลุถึงแก่ชีวิตได้
6. ทำจิตใจให้สงบ ไม่วิตกกังวล อย่าเครียด อย่าเซ็ง
7. กินยาลดกรดติดต่อกัน (ไม่ใช่กินเฉพาะเวลาปวดเท่านั้น) ประมาณ 3 เดือนก็พอ

วิธีใช้ยาน้ำ เขย่าขวดก่อนรินยา
ผู้ใหญ่กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 15 นาที (เวลาปวด) หากไม่หาย และขณะไม่ปวดให้กินก่อนหรือหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง และก่อนนอน ราคาขวดละ 15-18 บาท (ขนาด 8 ออนซ์ หรือ 240 ซีซี.)

วิธีใช้ยาเม็ด
ยาเม็ดไตรซิลิเคท (เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน)
ผู้ใหญ่กิน 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมงและก่อนนอน ถ้าเป็นมากกิน 1-2 เม็ด ทุก 2-3 ชั่วโมง หรือมากกว่านี้ก็ได้ ราคา 10 เม็ด/บาท

                      
                      

ยาชุดแก้ปวดเมื่อย 2
ยาชุดแก้ปวดเมื่อยอันตราย

ยากระจายเส้น แก้ประดงเบอร์ 18 (แสงทอง) ยากระจายเส้น ยาชุดกระจายเส้น (สูตรไร้เทียมทาน) ยาชุดหมอนวด ประดง 108 ยาชุดหมอนวดดึงเส้นอย่างแรง ชนิดพิเศษ สำหรับผู้ใหญ่ ยาแก้ยอก ยาประดงขุนแผน (เบอร์ 15) ยาชุดปานดงกระจายเส้น (ชนิดแทนฉีด) ยาชุดประดงฝรั่งอย่างแรง (สำหรับผู้ใหญ่) ยาชุดประดง

แก้เคล็ด ขัดยอก ปวดตามกล้ามเนื้อ โรคเหน็บชา มือเท้าชา ปวดลม ปวดกระดูกสันหลัง ปวดตามหลังเอว แก้เส้นท้องตึง ปวดหลัง ปวดเอว เจ็บเอว เส้นเอ็นอักเสบ อัมพาต ปวดข้อ ปวดกระดูก รูห์มาติสซั่ม เพิ่มน้ำมันไขข้อ ไขข้ออักเสบ ปวดเย็นในกระดูก กล้ามเนื้ออักเสบ แก้โรคไต แก้ยอก ปวดเส้นเอ็น เจริญอาหาร นอนหลับสบาย

ยาที่พบ กลุ่มยาสเตียรอยด์ ยากล่อมประสาท กลุ่มยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด กลุ่มยาแก้แพ้ ยาลดกรด วิตามิน กลุ่มยาฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การดูแลรักษาตนเอง ข้อควรปฏิบัติเมื่อปวดเมื่อย
1. ถ้าสังเกตว่าอาการปวดเมื่อนั้น มี สาเหตุ มาจากอะไร แล้วก็ แก้ไข ที่ต้นเหตุ เช่น ปวดหลังตอนตื่นนอน ก็อาจเกิดจากที่นอนนุ่มไป หรือนอนเตียงสปริงก็แก้ไขโดยนอนที่นอนแบบแข็ง และเรียบแทน เป็นต้น

สาเหตุของการปวดหลังที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการทำงานก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก ท่านั่ง ท่ายืน ท่านอน ท่ายกของไม่ถูกต้อง ถ้าปรับปรุงลักษณะท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องก็จะไม่ปวด

2. ถ้ามีการปวดมาก ให้นอนหงายบนพื้นเรียบแล้วใช้เท้าพาดบนคันนา หรือขอนไม้ หรือเก้าอี้ ให้เข่างอ เป็นมุมฉาก สักครู่หนึ่งก็อาจทุเลาได้ หรือจะใช้ยาหม่องหรือน้ำมันระกำทานวดก็ได้

3. ถ้าไม่หายให้กินยาแก้ปวด คือ ยาแอสไพรินหรือพาราเซตามอล
- แอสไพริน ขนาด 300 มก. ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 เม็ด กินซ้ำกันได้ทุก 4 ชั่วโมง (ราคา 10 เม็ด/บาท) เนื่องจากยานี้อาจจะระคายเคืองกระเพาะอาหารจึงไม่ควรใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ รวมทั้งไม่ใช้ในคนที่แพ้ยานี้และเด็กที่สงสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกให้ใช้พาราเซตามอล
- พาราเซตามอล ขนาด 500 มก. ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 เม็ด กินซ้ำได้ทุก 4 -6 ชั่วโมง (ราคา 2-3 เม็ด/ บาท) มีสรรพคุณเช่นเดียวกับแอสไพริน ให้ใช้แทนแอสไพรินในรายที่เป็นโรคกระเพาะอยู่ก่อน หรือคนที่แพ้แอสไพริน หรือในเด็กที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก หรือในคนที่เป็นหืดเท่านั้น
ข้อห้ามของยาพาราเซตามอล ห้ามกินต่อกันเกิน 10 วัน กินอย่างมากวันละไม่เกิน 8 เม็ด เพราะจะเป็นอันตรายต่อตับ
(หมายเหตุ พาราเซตามอลมีฤทธิ์อ่อนกว่าแอสไพริน แต่ราคาแพงกว่า อันตรายก็ค่อนข้ามาก จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นอันดับแรก)

4. นอกจากนี้ถ้าปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่หลังมาก อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนช่วยประคบก็ได้ หรือปวดขาก็ใช้ใบพลับพลึงอังไฟประกบ ก็ได้ผลบรรเทาอาการปวดได้ดีเช่นเดียวกัน

ยาชุดรักษามาลาเรีย 3
ยาชุดแก้มาลาเรียอันตราย

ยาแก้ไข้มาลาเรีย

ยาแก้ไข้มาลาเรีย ชนิดแทนฉีด
ลดไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ป้องกันไข้ป่า
ยาที่พบ คลอโรควิน ไพรมาควิน ยาแก้ปวด ยากล่อมประสาท สเตียรอยด์ วิตามิน เมปาควิน เตตร้าซัยคลีน คลอแรม

การดูแลรักษาตนเอง ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นไข้มาลาเรีย
1. เมื่อสงสัยหรือรู้ตัวว่าเป็นมาลาเรีย ควรไปตรวจเลือดที่หน่วยมาลาเรียหรือ โรงพยาบาลให้ทราบชนิดของเชื้อโรคทีเป็นเพื่อที่จะได้รักษาได้ถูกต้อง แต่ถ้าทำเช่นนั้นไม่ได้ ควรสังเกตอาการและช่วงจับไข้แล้วจึงทำการรักษาดังนี้
1.1 มาลาเรียชนิดฟัลซิพารัม จะมีอาการจับไข้ทุกวัน และจับไม่เป็นเวลา หรืออาจจะจับไข้วันละหลายครั้งก็ได้ ให้กินยาดังนี้
- ถ้าอาการน้อยให้กิน ซัลฟาดอกซินและพัยริเมธามีน (ขนาด 500 มก. และ 25 มก. ราคาเม็ดละ 3-5 บาท) 2-3 เม็ด ร่วมกับไพรมาควิน (ขนาด 7.5 มก. ราคาเม็ดละ 1 บาท) 6 เม็ด กินครั้งเดียว
- ถ้าอาการมากหรือมีอาการแทรกซ้อน ให้กินซัลฟาดอกซินและพัยริเมธามีน 2-3 เม็ด กินรั้งเดียวร่วมกับ ควินิน (ขนาด 5 เกรน ราคาเม็ดละ 2 บาท) โดยกินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร จนครบ 3-5 วัน เมื่ออาการไข้ทุเลา และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ควรกินไพรมาควิน (ขนาด 7.5 มก.) 6 เม็ดครั้งเดียว โดยกินพร้อมคิวนินในมื้อสุดท้าย หรือจะกินครั้งละ 2 เม็ดวันละครั้งหลังอาหาร ติดต่อกัน 5 วัน (หลังจากหยุดกินควินินแล้ว)
- ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาพวกซัลฟา (หรือในกรณีหาซื้อยาซับฟาดอกซินและพัยริเมธามีนไม่ได้ ) ต้องให้กิน ควินิน (ขนาด 5 เกรน) ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกัน 7-10 วัน แล้วจึงกินไพรมาควินเช่นเดียวกับข้างบน

1.2 มาลาเรียชนิดไวแวกซ์ จะมีอาการจับไข้วันเว้นวัน แต่มักจับเป็นเวลา ให้กินยาดังนี้
ให้กินคลอโรควิน (ขนาด 250 มก. ราคาเม็ดละ 0.5-1 บาท) สำหรับวันแรกกิน 6 เม็ด (โดยแบ่งกินมื้อแรก 4 เม็ด แล้วอีก 6 ชั่วโมงต่อมากินยาอีก 2 เม็ด) ในวันรุ่งขึ้นและวันถัดมา (วันที่ 2 และ 3) กินอีกวันละครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด (รวมกิน 10 เม็ด) วันละครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน ระยะนี้ควรกินน้ำมากๆ
ขนาดของยาที่กล่าวมานี้เป็นขนาดสำหรับผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กให้ลดตามส่วน คือ เด็กอายุ 7-12 ปี ใช้ครึ่งของผู้ใหญ่ เด็กอายุน้อยว่านี้ ควรพาไปโรงพยาบาล
ถ้ารู้สึกอ่อนเพลีย ปัสสาวะสีเข้ม ตาเหลือง ให้หยุดยาทันทีและพยายามดื่มน้ำมาก ๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นไปโรงพยาบาล

ข้อห้าม
- ห้ามใช้ยาชุดทุกชนิด
- ห้ามฉีดยาแก้ไข้มาลาเรียเอง

ยาชุดอ้วน 4
ยาชุดแก้ผอมแห้งแรงน้อยอันตราย

ยาชุดอ้วน สำหรับผู้ใหญ่ ยาอ้วนชาวอีสาน (ชุดพิเศษ)
สำหรับบุคคล ผอมแห้งแรงน้อย ทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ
บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงประสาท ถ่ายน้ำเหลือเย แก้ปวดเมื่อย ช่วยเจริญอาหาร และช่วยให้นอนหลับดี ยานี้แก้กินของผิด แก้ลมพิษผื่นคันได้ดีอีกด้วย

ยาที่พบ กลุ่มสเตียรอยด์ วิตามินต่างๆ กลุ่มยาแก้แพ้ กลุ่มยากล่อมประสาท

การดูแรรักษาตนเองข้อควรปฏิบัติเมื่อผอมแห้งแรงน้อย

1. ก่อนอื่นท่านควรวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ร่างกายผอม โดยเริ่มจาก "การมองตน" ดังต่อไปนี้ อาจมีสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกันก็ได้ คือ
- กรรมพันธุ์ ควรภูมิใจ เพราะ คนผอมมีโรคน้อยกว่าคนอ้วน
- ขาดอาหาร ไม่ได้รับสารอาหารครบทุกประเภทอย่างเพียงพอ เนื่องจากกินไม่เป็นหรือไม่มีกิน
- เบื่ออาหาร เพราะเครียด เซ็ง
- เป็นโรคบางชนิด เช่น วัณโรค โรคพยาธิเบียดเบียน เป็นต้น
- ร่างกายทรุดโทรม เนื่องจากตรากตรำทำงานหนักเกินไป
- ร่างกายทรุดโทรม เนื่องจากความวิตกกังวล เศร้าโศกเสียใจ ยิ่งทำงานหนักก็ยิ่งยากไร้
- ร่างกายทรุดโทรม เนื่องจากสิ่งเสพติดต่างๆ และเที่ยวเตร่ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ขาดการออกกำลังกายตามสมควร จิตใจฟุ้งซ่าน เป็นต้น

2. เมื่อรู้สาเหตุแล้วเร่งแก้ไขให้ตรงประเด็น คือ
- ละเว้นจากสิ่งเสพติดทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาชุดอ้วน (เก็บเงินค่าซื้อยาชุดไปซื้ออาหารกินดีกว่า)
- อย่าหักโหมทำงานหนักจนขาดการพักผ่อน
- ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสด้วยการประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรม มนุษยธรรม
- สำหรรับท่านที่ไม่ได้ใช้แรงกายในการทำงาน ควรมีเวลาสำหรับออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ วิตามิน เมื่อได้รับอาหารครบถ้วนทุกหมู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกิน วิตามิน วิตามินมิได้ทำให้อ้วน เพียงแต่ทำให้ร่างกายของเราเป็นปกติเท่านั้นเอง
- เมื่อพบว่าร่างกายมิได้มีโรคภัยไข้เจ็บแต่ประการใด ก็ไม่ควรเป็นทุกข์ร้อนใจ แม้จะไม่อ้วนท้วน แต่หากร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ก็ควรจะพอใจเป็นอย่างยิ่ง
- ถ้าพบว่ามีพยาธิเบียดเบียนอยู่ในท้อง มักผอมแห้งแรงน้อย เพราะเป็นโรคโลหิตจางขาดธาตุเหล็ก ขอให้ทำการถ่ายพยาธิปีละ 1-2 ครั้งพร้อมทั้งกินยาบำรุงเลือดคือ ยาฟอร์รัสซัลเฟต กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ประมาณ 7 วัน (10 เม็ด/บาท) ต่อไปต้องเลิกกินอาหารสุก ๆ ดิบๆที่มีพยาธิเสียโดยเด็ดขาด
- หากได้ปฏิบัติตนตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ยังไม่ได้ผล ควรปรึกษาหาผู้รู้ เพื่อค้นหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก

ยาชุดไข้หวัด 5
ยาชุดแก้หวัดอันตราย


ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ไข้หวัดปวดศีรษะ ลดไข้ ยาแก้ไข้หวัดเด็ก ยาชุดแก้หวัดเด็กโต ยาชุดแก้ไข้หวัดใหญ่ (ชนิดแทนฉีด)
แก้ปวดศีรษะหรือแก้ปวดหัว คัดจมูก ลดน้ำมูก ลดไข้ อาการไอเนื่องจากหวัด ปวดประสาท ลดความร้อน อาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ ไอเจ็บคอ และบรรเทาอาการปวดเมื่อย

ยาที่พบ
ยาลดไข้ แก้ปวด ยาต้านจุลชีพ ยาแก้แพ้ สเตียรอยด์ ยาแก้คัดจมูก ยาระงับไอ ยากล่อมประสาท ยาขับเสมหะ วิตามิน

การดูแลรักษาตนเอง ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นหวัด
เมื่อเป็นหวัด
1. ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งหายเองได้ การดูแลรักษา จึงเป็นเพียงให้การบำบัดตามอาการที่เกิดขึ้น เช่นมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อย เป็นไข้ ก็ใช้ยาลดไข้แก้ปวด เมื่อมีน้ำมูกไหลมากก็ใช้ยาแก้แพ้เพื่อลดน้ำมูก เป็นต้น

ยาลดไข้แก้ปวดที่ควรเลือกใช้ ก็คือ แอสไพริน ซึ่งเป็นยาที่ดี ราคาประหยัด (ราคาประมาณเม็ดละ 10 สตางค์) เนื่องจากแอสไพรินมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารจึงควรกินหลังอาหรทันทีดื่มน้ำตามมาก ๆ ไม่แนะนำให้ใช้แอสไพรินในคนที่เป็นโรคกระเพาะ หรือลำไส้อักเสบ เป็นแผลหรือแพ้แอสไพริน ในกรณีนี้ควรเลือกใช้ พาราเซตามอล ราคาเม็ดละไม่เกิน 50 สตางค์ เป็นยาลดไข้แก้ปวดที่ปลอดภัย ได้ผลดี และไม่กัดกระเพาะ แต่ห้ามกินติดต่อกันเกิน 10 วัน เพราะจะทำให้เป็นอันตรายต่อตับ

ยาแก้แพ้ที่ควรเลือกใช้ คือ คลอร์เฟนิรามีน ราคาเม็ดละ ไม่เกิน 25 สตางค์ เป็นยาที่ดี ปลอดภัยและราคาพอสมควรแต่จะมีอาการข้างเคียงคือ ทำให้ง่วงซึม คนที่ต้องทำงานที่เสี่ยง เช่น ขับรถ ทำงานที่สูง หรือทำงานกับเครื่องจักรจึงไม่ควรกินยานี้ในขณะที่ทำงาน และในระหว่างที่ใช้ยานี้ ไม่ควรดื่มเหล้าหรือใช้ยาร่วมกับยาอื่น ๆ ที่ทำให้ง่วงซึม เพราะจะเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมมากขึ้น

2. การปฏิบัติตัว เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้อาการไข้หวัดหายได้เร็วขึ้น คือ
- ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น ทำให้จิตใจสบาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ตรากตรำทำงานหนักเกินไป
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
- ไม่ควรอยู่ที่แออัด
- ควรงดเว้นจากสิ่งที่ระคายเคืองคอ เช่น บุหรี่ เหล้า

3. หากมี อาการแสบคอ (หรือเจ็บคอเล็กน้อย) ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วคอ หรือจิบน้ำอุ่น หรือกวดคอด้วยมะนาวกับเกลือ เพื่อบรรเทาอาการ

4. หากมี อาการแทรกซ้อน ของการติดเชื้อ คือ มีอาการเจ็บคอมาก (เป็นหนอง) หรือน้ำมูก และเสมหะ เปลี่ยนเป็นข้นสีเหลืองหรือเขียว ให้กินยาปฏิชีวนะ
ผู้ใหญ่ กินเพ็นวี 250 มก. 1 เม็ด 4 เวลา ก่อนอาหาร 1 ชม. และก่อนนอน กินยาติดต่อกันจนครบ 5-7 วัน (อย่าหยุดยาก่อน) กรณีที่ไม่ดีขึ้นเพราะเชื้อดื้อยาหรือแพ้ยาเพนิซิลิน ให้ใช้อิริโธมัยซิน 250-500 มก. วันละ 4 เวลา ก่อนอาหารแลก่อนนอนจนครบ 5-7 วัน
เด็ก ใช้ยาแบบเดียวกัน แต่ละลดลงตามส่วน ถ้าไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล

ยาชุดแก้ผิดสำแลง 6
ยาชุดแก้อาการแพ้อันตราย


ยาชุดผิดสำแลง (ชนิดพิเศษ) ยาชุดแก้ผิดสำแลง
กินของผิดแพ้อาหาร ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน หน้ามืดตามัว ทำให้เจริญอาหาร นอนหลับ

ยาที่พบ
ยาแก้ปวด เอ.พี.ซี. ยาลดกรด ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ วิตามินต่างๆ

การดูแลรักษาตนเอง ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการแพ้

1. เลิกกินอาหาร หรือยาหรือของมึนเมาที่ทำให้เกิดอาการนั้นๆ ทันที
2. พยายามอาเจียนออกให้หมด ถ้ามีอาการเรอเหม็นเปรี้ยวมาก อาจให้กินยาขับลมแก้ท้องอืด หรือยาลดกรดถ้ามีผื่นคันตามตัว กินยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีนได้
3. ลดอาการอาเจียนได้ด้วยการดื่มน้ำอุ่น หรือกินของเปรี้ยว
4. งดสุรา อาหารรสจัด และอาหารดิบๆ
5. งดใช้ยาชุด และยาอันตรายทุกชนิด
6. หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว ควรเริ่มให้อาหารอ่อน
7. อาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรัง ควรไปโรงพยาบาล

 

ข้อมูลสื่อ

54-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 54
ตุลาคม 2526
อื่น ๆ