• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหัก การผ่าตัดยึดตรึงกระดูก

หมอผ่าตัดกระดูก
"หมอผ่าตัดกระดูก"
ในสายตาของคนทั่วไป มักจะมีภาพพจน์ในลักษณะของ "ช่างกระดูก" ผู้ใช้สิ่วใช้ค้อน แถมบางทีการผ่าตัดต้องยกแขนยกขาใช้กำลังกันจนเป็นที่เข้าใจว่า หมอกระดูกต้องมีรูปร่างสูงใหญ่กำยำเสียอีก

ความจริงแล้ว งานผ่าตัดของหมอกระดูกถึงจะเป็นงาน "ช่าง" ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังอย่างที่คิดเพราะว่าการรักษาที่ต้องอาศัยกำลังเหล่านี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ "เทคนิค" ในการใช้กำลังเป็นสำคัญ

ผมมีเพื่อนร่วมอาชีพเป็นคนตัวผอมตัวเล็กหรือเพศสตรี (ที่หุ่นเพรียวลมสมเป็นหมอกระดูก) ก็ไม่เห็นเขามีปัญหาในการใช้กำลังสักที

ในบรรดา "ช่าง" ด้วยกันนั้น มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ช่างกระดูกต่างกับช่างทั่วไปโดยสิ้นเชิงก็คือ "ช่างกระดูก" นั้นปฏิบัติงานกับ "คน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจ ส่วนช่างอื่นๆ นั้นทำงานกับของที่ไม่มีชีวิตจิตใจ
ความแตกต่างข้อนี้แหละที่ทำให้ช่างกระดูกแต่ละคนต้องเรียนหนังสือตั้งแต่เล็กจนจบอย่างน้อยที่สุด 22 ปี จึงจะพอใช้งานได้

ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับช่างไม้ เวลาจะเลื่อยจะเจาะ ก็สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องไม้เครื่องมือพลั้งเผลอไปโดนสิ่งของอื่นๆ ได้ โดยการจัดบริเวณที่ทำงานให้สะดวกแก่งานและถึงแม้ว่าจะเกิดความผิดพลาดเสียหายไป ก็พอหาอะไหล่มาทดแทนกันได้ไม่ยาก

สำหรับการผ่าตัดของ "ช่างกระดูก" นั้นเราต้องผ่าผ่านผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท เพื่อเข้าไปให้ถึงกระดูก เวลาจะเลื่อยจะเจาะกระดูกก็ต้องคอยระวังระไว ไม่ให้เผลอไปโดนอวัยวะข้างเคียง ที่สำคัญ ได้แก่ เส้นเลือด เส้นประสาท ซึ่งถ้าขาดขึ้นมาก็อาจเดือดร้อนถึงขึ้นแขนขาตายได้ง่าย ๆจะหาอะไหล่มาแทนรึก็ไม่ทราบว่าใครที่ไหนจะยอมบริจาคและถึงแม้จะมีใครใจบุญสุนทาน ถึงขนาดนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเอามาใส่ชดใช้ให้กับผู้ป่วยได้สำเร็จเสมอไป

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้อักเสบเป็นหนอง ถ้ากระดูกเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นเมื่อใด อย่างดีที่สุดก็ต้องรักษากันเป็นปีๆ กว่าจะพอทะเลาได้

เพียงแค่นี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะพอมองเห็นว่าการผ่าตัดของช่องกระดูกนั้นมันมีปัญหายุ่งยากกว่าช่างอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ยึดตรึงกระดูก เพื่ออะไรกัน
ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ กับชีวิตประจำวัน หนังสือขาดออกจากเล่ม เรามักจะซ่อมมันด้วยการใช้กาวติดหรือการเย็บ วัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะให้หนังสือมีรูปเล่มกลับคืนสู่สภาพเดิม ส่วนจะเร็วหรือช้า ถาวรหรือชั่วคราว และมั่นคงหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับวิธีและวัสดุที่ใช้ซ่อม

                                            

กระดูกก็เช่นเดียวกัน อยู่ดีๆ คงไม่อุตริไปยึดตรึงมันแน่ ส่วนใหญ่แล้วเราจะยึดตรึงเมื่อกระดูกมันหัก แต่เนื่องจากกระดูกหักทั่วๆ ไป ที่สามรถจัดเข้าที่ได้ดี และรอยหักเองก็มั่นคงพอนั้น เรามักจะยึดมันด้วยเฝือกได้

การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกที่หัก
จึงทำเมื่อการรักษาด้วยการจัดกระดูกภายนอกและใส่เฝือกไม่สำเร็จหรือคาดว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นรอยหักที่ผ่านเข้าหรือใกล้ข้อต่อเพราะเป็นตำแหน่งที่ชิ้นหักของกระดูกเลื่อนหลุดจาที่ได้ง่าน และจะเป็นเหตุให้ผิวข้อขรุขระสึกกร่อนในภายหลังด้วย

ความประสงค์อีกหนึ่งประการ ของการยึดตรึงกระดูกก็คือว่า เนื่องจากกระดูกทั่วไปจะติดได้แข็งแรงพอสมควรนั้น ต้องกินเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน การใส่เฝือกไว้นานขนาดนั้นก็เปรียบเสมือนการจำคุกอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วยไว้ อย่างทารุณทั้งกายและใจ ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่จะช่วยปลดเปลื้องเครื่องจองจำเหล่านี้ออกได้เร็วๆ จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายพึงประสงค์ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่เสี่ยงอันตรายจากการกระทำนั้นๆ จนเกินไปนัก



ตัวอย่างที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ภาวะกระดูกต้นขาหักในผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าจะรักษาด้วยเฝือกธรรมดาแล้วต้องใส่คลุมตั้งแต่ใต้ชายโครงถึงปลายเท้านานประมาณ 3-6 เดือน จึงจะพอใช้ขาข้างนั้นได้ แต่ถ้าหากได้รับการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถลงน้ำหนักตัวบางส่วนที่ขาข้างนั้นได้ในเวลาเพียง 7- 10 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดทั้งเวลาและเศรษฐกิจ โรงพยาบาลไม่ต้องเปลืองเตียง ผู้ป่วยเองก็ชื่นชอบที่ไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพนานเกินไป

                                    

นอกจากนี้ ในบางกรณีเช่น ในผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของไขสันหลังหรือสมอง ซึ่งมีผลทำให้อัมพาตและผิวหนังของอวัยวะที่เกี่ยวข้องขาดความรู้สึกร่วมด้วย ถ้าใส่เฝือกนานอาจเป็นแผลเรื้อรังได้ หรือกระดูกหักตรงตำแหน่งที่มีการทำลายของเนื้องอกอยู่ก่อน ซึ่งโอกาสที่รอยหักจะติดเองนั้นเป็นไปได้ยากมาก อาจต้องพิจารณาผ่าตัดยึดตรึง เพื่อให้การเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนนั้นทำได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

หลักเกณฑ์ในการยึดตรึงกระดูก
อย่างที่ผมได้ยอมรับไปแล้วว่า หมอผ่าตัดกระดูกนั้นต้องมีวิญญาณของ "ช่าง" อย่างเต็มตัว

นั่นคือ จะต้องอาศัยไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมีโอกาสเจออยู่เกือบตลอดเวลาในระหว่างที่กำลังทำการผ่าตัด ทั้งยังต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวว่า จะเลือกแก้ปัญหาโดยวิธีใดจึงจะดีที่สุด

พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องรู้กำลังของข้าศึกและตัวเอง จึงจะสู้เอาชนะได้เสมอ ดังที่ท่านซุนอู่นักวิชาการทหารจีนได้กล่าวเอาไว้เมื่อหลายพันปีก่อน


สมัยที่ผมเป็นแพทย์ฝักหัดหรืออินเทิร์นนั้น ผมมีความรู้สึกโก้อยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าวันไหนได้ผ่าตัด (โดยการอนุญาตและควบคุมของแพทย์อาวุโส) สักรายที่คิดว่ามีภาษีหน่อย อย่างเช่น ได้ตอกแกนโลหะยึดกระดูกต้นขาผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ได้ได้รู้เรื่ออะไรเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้เท่าที่ควร ก็ยังอุตสาห์เก็บไปคุยอวดกับเพื่อนๆ ที่เขาไม่ได้มีโอกาสอย่างนั้น หรือแม้กระทั่งกับแพทย์รุ่นก่อนที่เขามีวิชาแก่กล้าอย่าเสียด้วยซ้ำ ทำนองว่าเรานี้ไม่ใช่ย่อยนะ

แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ให้เห็นจริงขึ้นมาบ้างแล้ว มาหวนนึกดูในตอนนี้ ก็รู้สึกออกจะสงสารตัวเองที่เป็นอย่างนั้น ที่ได้หลงผิดคิดว่าแน่ เพราะว่าโดยความเป็นจริงแล้ว "การผ่าตัด" นั้นเหมือนกับขับรถ ถึงแม้ว่าจะสอนให้ทุกคนขับรถเป็นไปหมดไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะพอไปไหว เพียงแต่ว่า การที่จะขับได้ดี แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้คล่อง จนกระทั่งสามารถแก้เครื่องยนต์ได้เองนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้จริงๆ ลำพัง "การผ่าตัด" ตามคำสั่งเฉยๆ ก็ไม่ได้ต่างกับการขับรถให้วิ่งได้เท่าใดนัก

ผมเคยเห็นโรงพยาบาลบาลบางแห่งฝึกคนงานให้ผ่าตัดเลาะก้อนเนื้องอกบ้าง ขลิบหนังปลายองคชาติบ้าง ก็รู้สึกว่าทำได้คล่องแคล่วดี

แต่ถ้าถามว่า ทำไมต้องผ่าตัดอย่างนั้น ผ่าแล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หรือถ้าเจอปัญหาว่า ไม่ใช่โรคที่คิดไว้ก่อนทำการผ่าตัดจะทำอย่างไร ก็คงต้องผิดหวังกับคำตอบพอสมควร

สรุปแล้วการผ่าตัดนั้นทำได้ไม่ยาก ความลำบากมันอยู่ที่การเรียนรู้หลักเกณฑ์ของการผ่าตัดต่างหาก

ถึงตรงนี้ ท่านก็คงจะถามผมว่า แล้วหลักเกณฑ์ในการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกมีอะไรบ้างล่ะ? ขอตอบว่า....
1. ต้องพยายามจัดชิ้นกระดูกที่หักมากต่อกันให้ได้ตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้เหมือนหรือใกล้เคียงปกติที่สุด
2. ชิ้นหักที่อยู่ตำแหน่งที่ดีแล้วนั้น ต้องยึดตรึงให้ได้ แน่นขนาดไม่ขยับเขยื้อนเมื่อเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนที่หักนั้นทันที (ไม่ใช่รับน้ำหนักตัวเต็มที่) หลังจากที่แผลผ่าตัดเริ่มหายเจ็บลงบ้างแล้ว
3. การผ่าตัดต้องทำด้วยความระมัดระวัง ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ชอกช้ำเพิ่มขึ้นจากการบาดเจ็บเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว
4. หลังจากผ่าตัดแล้วต้องพยายามให้ผู้ป่วยสามารถบริหารอวัยวะส่วนนั้นได้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนตามหลังการไม่ได้ใช้งานนานๆ เช่น ข้อแข็ง กระดูกผุ บวมน้ำ กล้ามเนื้อลีบ เอ็นหด มีแผลเรื้อรัง เป็นต้น

ถ้าลงทุนผ่าตัดทั้งๆ ที่ต้องเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อและผลแทรกซ้อนจากการดมยาเสียเลือดสารพัดแล้ว ยังบรรลุหลักเกณฑ์ข้างบนไม่ได้หากเป็นการค้า ก็ต้องถือว่าเสี่ยงโดยไม่ได้กำไร

หรือในกรณีของกระดูกที่หักแล้ว ชิ้นหักไม่เคลื่อนหลุดง่าย หรือไม่ต้องให้เข้าที่พอดี รอยหักก็สามารถหายได้เองง่ายๆ อยู่แล้ว เช่น กระดูกหักไม่เข้าข้อในเด็ก เป็นต้น

ถ้าอุตริไปผ่าตัดยึดตรึงมันก็ถือว่าเป็นการเสี่ยงลงทุน ที่ได้ผลไม่คุ้มค่า แถมบางทีอาจขาดทุนเพราะไปรบกวนการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้ยาวหรือสั้นกว่าปกติได้ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า "ผ่าไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" ครับ
 

ข้อมูลสื่อ

55-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 55
พฤศจิกายน 2526
โรคกระดูก
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม