• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กะเทยก็เป็นกรรมพันธุ์

กะเทยเทียมเพศชายมีหลายชนิด
ย้ำอีกทีนะครับว่า กะเทยเทียมเพศชายต้องมีโครโมโซมวายและต้องมีอัณฑะ

คนปกติเมื่อมีอัณฑะ อัณฑะก็หลั่งฮอร์โมนเพศชายมาทำให้อะไร ๆ ของผู้ชายมันฝ่อหดหายไป ทำให้มีอวัยวะเป็นผู้ชายอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่นั่นแหละ

คนที่เป็นกะเทยเทียมเพศชาย เกิดจากกลไกความผิดปกติมากมายหลายแบบ พอจะจัดกลุ่มได้เป็น 7 กลุ่มครับ

กลุ่มแรก เกิดจากอัณฑะมันดื้อ คือการที่อัณฑะจะหลั่งฮอร์โมนเพศชายได้ดีต้องมีฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งมากระตุ้น คนธรรมดาเมื่ออัณฑะโดนฮอร์โมนที่ว่ากระตุ้น ก็จะหลั่งฮอร์โมนเพศชายออกมา ทำให้อวัยวะเพศชายออกมาเติบโตเป็นผู้ชาย และท่อตัวผู้เจริญเติบโต แต่คนที่อัณฑะมันผิดปกติ มันดื้อต่อฮอร์โมน การสร้างฮอร์โมนก็จะน้อยลง ผลก็คือ อวัยวะเพศชายเจริญเติบโตไม่ค่อยดี กลายเป็นกะเทยเทียม

                                                       
                                               

กลุ่มที่สอง
เกิดจากมีความผิดปกติในขั้นตอนการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศชาย การสังเคราะห์เทสโตสเตอโรน นี้ ต้องอาศัยปฏิกิริยาเคมี หลายขั้นตอนและแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยเอ็นซัยม์มาเร่งปฏิกิริยา เอ่ยชื่อเอ็นซัยม์ทีไรนักพันธุศาสตร์รู้ทันทีนะครับว่ายีนหรือพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องแล้ว หากมีความบกพร่องทางพันธุกรรมของเอ็นซัยม์ตามขั้นตอนการสร้างเทศโตสเทอโรน ก็จะสร้างเทศโตสเตอโรนได้น้อย กลายเป็นกะเทยเทียม กะเทยเทียมกลุ่มที่ 2 นี้มีถึง 5 ชนิด เกิดจากความบกพร่องของเอ็นซัยม์ 5 ตัว

กลุ่มที่สาม เกิดจากเนื้อเยื่อดื้อต่อฮอร์โมนเพศชาย ก็เป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อทำให้เนื้อเยื่อที่มันไม่เอาไหน ฮอร์โมนกระตุ้นเท่าไร ๆ ก็ไม่ได้ผล ผลลัพธ์หรือครับ ก็เหมือนกับเนื้อเยื่อร่างกายไม่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศชายเลย อวัยวะเพศก็เป็นหญิงไป ตัวอย่างของกะเทยเทียมกลุ่มนี้ก็คือ “หญิงมีอัณฑะ” ที่เล่าแล้วใน หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 31 โน่นแหละครับ

สาเหตุที่เนื้อเยื่อของร่างกายมันไม่เอาไหนนี้ก็เกิดจากความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ คือ คนปกติมียีนอยู่บนโครโมโซมเอ็กซ์ ทำหน้าที่สร้าง “จุดจับฮอร์โมนเพศชาย” ซึ่งจะมีอยู่บนเซลล์ทุกเซลล์ของคนเรา ทีนี้ถ้ายีนที่ว่านี้มันบกพร่อง “จุดจับฮอร์โมนเพศชาย” ก็ผิดปกติ จับฮอร์โมนเพศชายไม่ได้ ผลก็คือ ฮอร์โมนเพศชายแม้จะมีตามปกติ ออกฤทธิ์ไม่ได้ “ผู้ชาย” คนนั้นก็กลายเป็นหญิงมีอัณฑะไปตามระเบียบ

ในกลุ่มที่ 3 นี้ยังมีแจกแจงปลีกย่อยออกไปอีกครับ บางแบบเนื้อเยื่อไม่ถึงกับดื้อบริสุทธิ์ โดนฮอร์โมนนี้จุดยังเจ็บๆ คันๆ อยู่บ้าง ก็ยังมีลักษณะของเพศชายบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็มี แต่ก็เข้ากลุ่มทั้งนั้นแหละครับ เป็นกะเทยเทียมเพศชาย

                             

กลุ่มที่สี่ เกิดจากความบกพร่องในการเสริมพลังฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโตสเตอโรนน่ามักจะคึกคุกกระปรี้กระเปร่า ต้องมีการเสริมพลังหนุ่มเหมือนกันนะครับ คือจริง ๆ แล้วฮอร์โมนเพศชายเมื่อเข้าไปในเซลล์ก่อนจะออกฤทธิ์จะต้องมีการเสริมพลัง การเสริมพลังทำโดยเอ็นซัยม์ครับ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ของเอ็นซัยม์เสริมพลังหนุ่ม ฮอร์โมนเพศชายก็ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี กลายเป็นกะเทยเทียมเพศชาย กลุ่มนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบด้อยออโตโสมัล ความผิดปกติที่สำคัญ คือ อวัยวะเพศชายเล็กมากและมีช่องคลอด ช่องเปิดของท่อปัสสาวะเปิดที่โคนอวัยวะเพศ ดูเผิน ๆ คล้ายกับเด็กเป็นผู้หญิง แต่เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว ลักษณะของเพศชายจะเด่นชัดขึ้น เต้านมไม่โต

กะเทยเทียมชายกลุ่มนี้ตอนเด็กมักถูกเลี้ยงเป็นผู้หญิง แต่พอโตขึ้นเขาจะเปลี่ยนตัวเองเป็นชายโดยอัตโนมัติ เพราะเกิดการเปลี่ยนลักษณะต่าง ๆ ของร่างกายเป็นชายชัดเจนขึ้น ตอนเป็นหนุ่มดังกล่าวแล้ว

กลุ่มที่ห้า เกิดจากอัณฑะเจริญเติบโตไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากเนื้อเยื่อเป็นเนื้อเยื่อ “ลูกครึ่ง” คือ บางเซลล์ก็มีโครโมโซมเพศ เอ็กซ์วาย ปกติแต่บางเซลล์ไม่มีโครโมโซมวาย (มีโครโมโซมเอ็กซ์อันเดียว) หรืออาจเกิดจากโรคไตบางชนิดก็ได้

กลุ่มที่หก เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับสารที่มาให้ท่อตัวเมียฝ่อ ได้เล่าแล้วนะครับว่า อัณฑะนอกจากสร้างฮอร์โมนเพศชายแล้ว ยังสร้างสารที่ทำให้ท่อตัวเมียฝ่อด้วย ถ้าเกิดความผิดปกติ ทำให้สร้างสารนี้ไม่ได้ หรือสร้างได้แต่ออกฤทธิ์ไม่ได้ ท่อตัวเมียก็จะไม่ฝ่อ ผลก็คือคนนั้นจะเป็นผู้ชายที่มีมดลูกด้วย ตำราบอกว่าเคยมีคนรายงานกะเทยเทียมเพศชายแบบนี้ประมาณ 80 ราย นอกจากมีมดลูกแล้วกะเทยเทียมแบบนี้บางคนอัณฑะยังอยู่ในท้อง ไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ กะเทยเทียมกลุ่มนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบด้อยเกี่ยวโยงกับเพศ หรือ แบบด้อยออโตโสมัล แต่แสดงลักษณะผิดปกติเฉพาะในชาย

กลุ่มที่เจ็ด กลุ่มสุดท้ายแล้วละครับ เกิดจากตอนแม่ตั้งครรภ์ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะถ่ายทอดไปยังทารกเพศชาย ในครรภ์ มีผลต่อต้านฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย ทำให้อวัยวะเพศชายเติบโตไม่ดี ลักษณะที่พบบ่อยก็คือ รูเปิดของท่อปัสสาวะ แทนที่จะเปิดที่ปลายลำอวัยวะ เพศชายตามปกติ ก็จะเปิดที่โคนอวัยวะบ้าง กลาง ๆ ลำบ้าง

                                         
                                            

ที่จริงการแบ่งกะเทยเทียมเพศชายออกเป็น 7 กลุ่มนี้ ก็เป็นการจัดกลุ่มตามกลไกการเกิดเท่านั้น กะเทยเทียมเพศชายที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่แน่ว่าจะอยู่ในกลุ่มไหนก็ยังมี และยังมีลักษณะอีก 2 ลักษณะครับที่หากใครมีก็คล้าย ๆ กับกะเทยเทียมเพศชายอย่างอ่อน ๆ ลักษณะแรกก็คือ รูเปิดของท่อปัสสาวะไม่เปิดที่ปลายลำอวัยวะเพศ ลักษณะนี้ภาษาอังกฤษเขามีศัพท์เทคนิคว่า hypospadias อีกลักษณะหนึ่งคือ ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนมาอยู่ในถุงอัณฑะ ไม่ว่าจะไม่เคลื่อนเม็ดเดียวหรือสองเม็ดก็ตาม ลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ แสดงว่าชายคนนั้นดูจะอ่อนโหวงเฮ้งความเป็นชายไปสักหน่อย แต่อย่าเข้าใจผิดนะครับ ว่าผู้ชายมีเม็ดเดียว (ทองแดง) พลังเพศจะไม่ฟู่ฟ่า ส่วนคนที่ไม่มีสักเม็ดนั้นบอกได้แน่ ๆ ว่าไม่ฟู่หรอกครับ มีแต่ฟุบ

ก็เป็นอันจบเรื่องกะเทยเทียมเพศชายเสียที แต่ยังไม่จบเรื่องกะเทยหรอกครับ เพราะยังจะต้องเล่ากะเทยเทียมเพศหญิงอีก

 

ข้อมูลสื่อ

56-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 56
ธันวาคม 2526
นพ. วิจารณ์ พานิช