• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอน วิ่งหนีโรคหัวใจ


หมู่นี้มีเสียงพูดกันหนาหู เรื่องคนตายจากโรคหัวใจในระหว่างการวิ่งทำเอาหลายๆคนชัก ขยาด ไหนว่าการวิ่งดีต่อหัวใจ ทำไมคนโน้น คนนี้ถึงตายจากโรคหัวใจในขณะวิ่ง หรือทั้งๆ ที่วิ่งได้เล่า
ผู้เขียนคิดว่า บางทีการวิ่งอาจได้รับการโฆษณาเกินไปหน่อย จนคนเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าการเป็นนักวิ่งแล้วจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน ในขณะเดียวกันก็มีคนฟังได้ศัพท์ จับเอาเรื่องคนที่ตายในขณะวิ่ง ไปคิดว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีอัตราเสี่ยงสูง

วันนี้เรามาลองดูกันว่า วงการแพทย์เขารู้อะไรเกี่ยวกับการวิ่งในแง่ของหัวใจบ้าง เผื่อจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า น่าจะวิ่งออกกำลังดีหรือไม่

 

โรคหัวใจไม่ได้เป็นไปอย่างปุบปับ
ก่อนอื่น ขอยกเรื่องหัวใจมาพูดเป็นอันดับแรก
ตรงข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป โรคหัวใจมักจะมีอาการนำมาก่อนเสมอ ในรายที่ไม่เชื่อฟังอาการนำหรือมีอาการแล้วยังไปฝืนทำเข้า นั้นแหละถึงจะเกิดการเป็นลม หรือตายอย่างปัจจุบันทันด่วน
อาการนำที่ว่า มักได้แก่การเจ็บหรือแน่นหน้าอก ในบางรายอาจเป็นแถวลำคอ หรือบริเวณหลัง
ในประสบการณ์ของหมอ จอร์จ ชีแฮน ซึ่งเป็นแพทย์โรคหัวใจและนักวิ่ง คนไข้ว่าส่วนมากที่เป็นโรคหัวใจจะมีอาการนำมาก่อน บางคนที่ตื่นจากหลับกลางดึกด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกคืนแล้วคืนเล่า แต่ก็ทนเอาโดยไม่ปริปาก เล่าให้ใครฟังแม้กระทั่งหมอ มารู้เอาเมื่อโดนโรคหัวใจเล่นงานเสียแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีนักวิ่งบางคนที่โทรศัพท์มาคุยกับหมอ ชีแฮน โดยเล่าว่าเขามีอาการเจ็บหน้าอกในช่วง 3-10 นาทีแรกของการวิ่ง พอเขาลดความเร็วลง หรือบางทีฝืนวิ่งต่อไป อาหารเจ็บเหล่านั้นก็หายไปจนจบการวิ่ง เกือบร้อยทั้งร้อยของนักวิ่งเหล่านี้ ไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน
นี่แหละ คือลักษณะที่น่ากลัวของคนไข้โรคหัวใจ ประมาณครึ่งหนึ่งจะปฏิเสธอาการที่ตนมีอยู่ ไม่ยอมรับรู้ว่างั้นเถอะ

ในการศึกษาของนายแพทย์ ทิมอธี่ โน๊คส์ แห่งประเทศอัฟริกาใต้ ก็พบรายงานคล้ายคลึงกัน
นักวิ่งอุลตร้ามาราธอน (คือ พวกที่วิ่งยาว ๆ เป็นร้อย ๆ กิโลเมตร ) 2 นาย ซึ่งตายจากโรคหัวใจในระหว่างวิ่ง ทั้งคู่มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอกในระหว่าวงการฝึกซ้อม นอกไปจากบันทึกลงในปูมการวิ่งแล้ว นักกีฬาทั้ง 2 ไม่เคยปริปากบอกเรื่องนี้แก่ใครเลยจนกระทั่งตาย

 

⇒โรคหัวใจมักเป็นในคนบางกลุ่ม
คนที่อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจสูง ได้แก่ คนที่น้ำหนักตัวเกินขนาด มีไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่จัด มีประวัติคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นโรคหัวใจ และมีความเครียดในชีวิตประจำวันมาก ใครที่มีหลายปัจจัยในที่กล่าวมา ก็โชคร้ายหน่อยโดยเฉพาะสาเหตุที่เชื่อว่าสำคัญมาก คือ ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

การศึกษาที่มลรัฐยูท่าห์ โดยใช้ตารางการสืบเชื้อสายของพวกมอร์มอน( มอร์มอนเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิดมีการแต่งงานกันในหมู่เครือญาติมาก ) พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้โรคหัวใจเกิดขึ้นเฉพาะบางตระกูล คิดสัดส่วนเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของตระกูลทั้งหมด

 

⇒จะตายได้ต้องเป็นขนาดหนัก
คนที่ตายอย่างปัจจุบันทันด่วนในระหว่างวิ่ง เป็นผู้ที่มีโรคหัวใจขนาดหนัก ชนิดว่าเวลาผ่าศพออกตรวจ จะพบเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลงอย่างมาก จนเลือดแทบจะผ่านไปไม่ได้ และส่วนใหญ่จะมีร่องรอยของหัวใจขาดเลือดของครั้งก่อน ๆให้เห็น ชนิดเป็นทีเดียวแล้วตายเลยนั้นไม่ค่อยพบ

 

⇒ผลการวิ่งต่อหัวใจ
เมื่อเราพอรู้แล้วว่า โรคหัวใจเกิดกับใคร และอย่างไร เรามาลองดูกันบ้างว่า การวิ่งมีผลอย่างไรต่อหัวใจและโรคหัวใจเขาพบว่า การวิ่งมีผลอย่างสำคัญต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนี้
การศึกษาที่ทำจากเมืองซีแอตเติ้ลพบว่า ในคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีโอกาสตายอย่างปัจจุบันทันด่วนจากโรคหัวใจน้อยลง กล่าวคือ ในกลุ่มที่ออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ อาทิตย์ละกว่า 2 ชั่วโมง จะมีอัตราการเสี่ยงของการตายจากโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่นั่งๆ นอนๆ ถึงครึ่งหนึ่ง

นายแพทย์ราล์ฟ พาฟเฟนบาร์เก้อร์ทำการศึกษาในกลุ่มศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ก็ได้ผลคล้ายคลึงกัน เขาพบว่า ในกลุ่มคนที่ได้ทำการศึกษานี้ ระดับการออกกำลังกายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการมีอายุยืนยาว “ คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่ได้ออก คนที่จำพวกเอาแต่นั่งๆ นอน ๆ มีอุบัติการณ์ของโรคหัวใจสูงกว่า
หมอพาฟเฟนบาร์เกอร์พบว่าในคนที่ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 2,000 แคลอรี่ (เทียบเท่ากับการวิ่ง 32 กิโลเมตร) จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย กลุ่มหลังตายจากโรคหัวใจมากกว่ากลุ่มแรกถึง 2 เท่า

 

⇒วิ่งช่วยให้อย่างอื่นดีขึ้น
อย่างไรก็ดี เป็นการยากที่จะหาหลักฐานทางการแพทย์มาสนับสนุนผลดีของการวิ่งมาอย่างโดดๆ เพราะการวิ่งมีผลกระทบในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างอื่นๆลงไปด้วย เป็นต้นว่า การสูบบุหรี่ นักวิ่งที่เคยติดบุหรี่ เมื่อวิ่งๆไปจะลด หรือเลิก บุหรี่
หรือในเรื่องของน้ำหนัก นักกีฬามักสนใจควบคุมอาหาร และควบคุมน้ำหนักไปด้วย
โรคนอนไม่หลับเกือบไม่ปรากฏในหมู่นักวิ่ง เช่นเดียวกับความเครียดที่ผ่านมาในชีวิตประจำวัน จะได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ไม่เก็บสะสมไว้ เหล้าก็ไม่กินจนเกินไป ฯลฯ


สรุปแล้วการวิ่งช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างพอดี ๆ ซึ่งไปลดอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจลงมาหลาย ๆอย่าง จึงไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่า ที่โรคหัวใจลดลง เป็นเพราะการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
พูดถึงตรงนี้ อยากทำความเข้าใจว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลของการศึกษาเป็นกลุ่ม แน่นอนที่ว่าจะเอามาใช้กับทุกคนไม่ได้เช่น ว่าเราอาจวิ่งไม่น้อยไปกว่าคนอื่น แต่ทำไมจึงเกิดเป็นโรคหัวใจ หรือบางคนวิ่งเท่าไหร่อาจลดบุหรี่ลงไม่ได้สักตัวเดียวหรือน้ำหนักตัวมีแต่จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น เราแต่ละคนเป็นอย่างที่หมอชีแฮนบอกว่า “ มีความเป็นเอกภาพของตัวเอง” เราคงต้องพลิกแพลงไปเพื่อให้อะไรๆมันลงตัวสำหรับเรา

โรคหัวใจมีสาเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่นเดียวกับวิธีรับมือ หรือป้องกันโรคหัวใจก็มีหลายชนิด การวิ่งและการใช้ชีวิตแบบนักวิ่ง เป็นเพียงวิธีการพื้นฐาน เราคงต้องเรียนรู้วิธีระบายความเครียด รู้ว่าเมื่อใดควรเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอน เวลาใดที่ควรหลีกเลี่ยงจากการเผชิญหน้า คือ ถ้าจะหลีกเลี่ยงจากโรคหัวใจ ต้องไม่ใช่แต่หัดวิ่งออกกำลังกาย แต่ต้องหัดวิ่งหนีความเครียดด้วย

 

⇒หมายเหตุ
ในตอนหน้าเราจะพูดกันถึงอาการของโรคหัวใจโดยละเอียด บวกกับวิธีการตรวจหาโรคหัวใจที่ซ่อนเร้นอยู่ ว่าวิธีไหนเชื่อถือได้อย่างไร ควรทำเมื่อไร และแปลผลอย่างไร.

 

ข้อมูลสื่อ

72-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
วิ่งกับหัวใจ
นพ.กฤษฎา บานชื่น