• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การวัดปรอท

นอกจากความไม่สมดุลระหว่าง จำนวนบุคลากรทางการแพทย์กับจำนวนประชาชนแล้ว ภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้บริการของสถานพยาบาลได้ทุกครั้ง การดูแลตนเอง หรือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีความผิดปกติบางอย่าง จึงมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือบรรเทาภาวะวิกฤตก่อนที่จะไปสถานพยาบาลได้ และปัญหาบางอย่างต้องการเพียงพยาบาลในบ้าน

การมีไข้ เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งที่ทำให้ทราบว่าร่างกายมีความผิดปกติ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด เด็กทุกวัย ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ สาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ มีได้หลายประการคือ

1.เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างพลังงานเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ ด้วยการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น

2.มีการฉีกขาดหรือถูกทำลายของเนื้อเยื่อ เช่น จากการมีบาดแผล การกระทบกระแทก ตลอดจนเมื่อได้รับการผ่าตัด

3.มีสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายเช่น เมื่อได้รับวัคซีนป้องกันโรคชนิดต่าง ๆ การรับประทานยาบางชนิดและการแพ้ยา

4.จากการสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินความจำเป็น ทำให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้ตามปกติ พบได้ในเด็กเล็ก ๆ

โดยทั่วไปผู้เป็นแม่หรือบุคคลอื่นๆ ส่วนใหญ่ จะทราบว่ามีไข้ จากการใช้หลังมือแตะบริเวณหน้าผากหรือแก้มในเด็กเล็ก ๆ แม่จะบอกได้ว่าลูกตัวร้อนเพราะปากที่อมหัวนมร้อน แต่ถ้าจะให้ทราบแน่นอนว่า มีไข้จริง และไข้สูงมากเท่าไร ควรใช้วิธีวัดอุณหภูมิของร่างกายด้วยเทอร์โมมิเตอร์ หรือที่รู้จักกันว่า การวัดปรอท นั่นเอง
 

  


⇒ ชนิดของปรอทวัดไข้

มีอยู่ 2 ชนิด คือชนิดที่ใช้วัดทางปากหรือรักแร้ กับชนิดที่ใช้วัดทางทวารหนักซึ่งทั้ง 2 ชนิด มีรูปร่างที่แตกต่างกันเพื่อให้เหมาะสมกับอวัยวะที่ใช้วัด

วัดทางปาก ใช้กับผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี พูดรู้เรื่อง ไม่กัดปรอทเวลาอม

วัดทางรักแร้ วิธีนี้ใช้น้อยเพราะได้ค่าไม่แน่นอน โดยเฉพาะเวลาจำเป็น เช่น ในผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก หุบปากไม่ได้ ในเด็กเล็กที่มีอาการท้องเดิน เป็นต้น

วัดทางทวารหนัก ใช้กับทารกตั้งแต่แรกเกิด จนถึงเด็กวัย 5 ปี หรือเด็กที่พูดไม่รู้เรื่องอาจกัดปรอทแตกถ้าวัดทางปาก

 

⇒ วิธีใช้ปรอท
1.ก่อนใช้ปรอทวัดไข้ทุกครั้ง ให้สลัดปรอท เพื่อให้สารปรอทลงไปอยู่กระเปาะส่วนปลายทั้งหมดก่อน โดยถือปรอทให้ส่วนที่เป็นกระเปาะอยู่ด้านล่าง แล้วจึงสลัด

 

2.ถ้าวัดทางปาก นำปรอทสอดไว้ใต้ลิ้น หุบปากสนิท นาน 1-2 นาที

 

 

 

 

 

ถ้าวัดทางรักแร้ : ให้หนีบปรอทไว้ที่ซอกรักแร้ (เช็ดรักแร้ให้แห้งสนิทก่อน) นาน 3-4 นาที

 

 



  

ถ้าวัดทางทวารหนัก: ให้หล่อลื่นปลายตุ่มด้วยวาสลินหรือครีมก่อนเพื่อป้องกันการเสียดสีกับทวารหนักซึ่งเด็กจะเจ็บ ท่าที่ใช้วัดอาจนอนคว่ำบนเตียง บนตัก นอนหงาย หรือนอนตะแคง แหวกทวารหนักออก ค่อย ๆสอดปรอทอย่างเบามือและช้า ๆ สักประมาณ 1/2 นิ้ว หรือให้พ้นปลายตุ่มนาน 2 นาที

 

⇒ วิธีอ่านปรอท
เมื่อวัดปรอทเสร็จแล้ว ใช้สำลีหรือกระดาษชำระแห้งเช็ดคราบน้ำลายหรืออุจจาระที่อาจติดอยู่ออก แล้วอ่านปรอทว่ามีไข้หรือไม่ โดยถือปรอทในระดับตา สังเกตระดับสารปรอทที่เห็นเป็นแถบสีเงิน
เริ่มจากกระเปาะว่าไปสิ้นสุดทีเลขจำนวนใด ตรงนั้นจะเป็นค่าอุณหภูมิ อ่านค่าเป็นองศา ซึ่งมีอยู่ 2 มาตรา (แล้วแต่บริษัทที่จำหน่าย)คือ องศาเซลเซียส (C หรือ ซํ) กับองศาฟาเรนไฮด์ (F หรือ ฟํ)

 

⇒อุณหภูมิเท่าไรจึงเรียกว่า “มีไข้”
ถ้าปกติ อุณหภูมิของร่างกายเฉลี่ยประมาณ 37 ซ หรือ 98.6 ฟ
มีไข้ต่ำ ๆ คืออุณหภูมิระหว่าง 37.5-37.9 ซํ
มีไข้สูง คืออุณหภูมิตั้งแต่ 38.5ซํ ขึ้นไป

ค่าของอุณหภูมิที่วัดแต่ละทางจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือถ้าวัดทางรักแร้จะต่ำกว่าวัดทางปากประมาณ 1 ฟาเรนไฮต์ และถ้าวัดทางทวารหนักจะสูงกว่าวัดทางปากประมาณ 0.6 ฟาเนไฮต์
การทำความสะอาดปรอท หลังใช้ปรอทแล้ว ล้างด้วยสบู่และน้ำธรรมดาให้สะอาด เช็ดให้แห้ง สลัดให้สารปรอทลงไปอยู่กระเปาะ เก็บเข้าที่

 

⇒ข้อควรระวัง
1.ไม่ควรวัดปรอทหลังจากทีวิ่งมาใหม่ ๆเพราะอุณหภูมิของร่างกายจะสูงกว่าปกติ

2.ถ้าวัดปรอททางปากไม่ควรวัดหลังดื่มของร้อนหรือของเย็นจัด เพราะค่าอุณหภูมิที่ได้จะไม่เป็นความจริง

3.ไม่ล้างปรอทด้วยน้ำร้อนเพราะจะทำให้ปรอทแตก
 

ข้อมูลสื่อ

71-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์