• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดรอบเดือนไม่ต้องใช้ยาก็หายได้


หากคุณเข็ดขยาดกับช่วงเวลาในรอบเดือน ซึ่งก่อความไม่สะดวกสบายให้คุณ ลองบริหาร ร่างกายในท่าง่าย ๆ ต่อไปนี้ เพื่อช่วยขจัดอาการปวดให้หมดไป

“ดีสมีนอเรีย ” (Dysmenorrhea) คือชื่อทางการแพทย์ของอาการปวดในรอบเดือน แต่แพทย์ยังหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดนี้ไม่ได้ และไม่สามารถตอบได้ว่าเหตุใดผู้หญิงบางคนจึงปวดมากกว่าคนอื่น ที่แน่ๆ ก็คือทุก ๆ เดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ต่อเนื่องกันขึ้นในร่างกายผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงนี้คือจุดเริ่มในขั้นตอนการทำให้ไข่สุก โดยการปล่อยไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมพันธุ์จากรังไข่ หากไม่มีการผสมพันธุ์หรือการตั้งครรภ์ เนื้อเยื่อที่ผนังมดลูกซึ่งรอรับไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จะถูกขับออกมาเป็นประจำเดือนซึ่งถึงแม้ว่าจะดูเหมือนมีแต่เลือด ที่จริงคือเศษของผนังมดลูก เลือด และเนื้อเยื่อจากปากมดลูก

เป็นที่เชื่อกันว่าอาการปวดบริเวณท้องน้อยซึ่งผู้หญิงแทบทุกคนประสบมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่กรณีนั้น คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใจมดลูกขณะเตรียมการรับไข่ที่ผสมแล้ว เนื่องจากมดลูกประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่เป็นกล้ามเนื้อหลายชั้น อาการปวดในรอบเดือนส่วนมากมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเหล่านั้น
อาการก่อนประจำเดือนจะมา จะแตกต่างกันออกไปไม่แน่นอน และเข้าใจได้ยากว่าอาการปวดขณะมีประจำเดือน (ซึ่งอาจเป็นอาการทางจิตใจและทางร่างกาย)

ผู้หญิงหลายคน ซึ่งไม่เคยปวดท้องขณะมีประจำเดือน อาจมีอาการบวม มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง ปวดเมื่อยและซึมเศร้า ก่อนประจำเดือนจะมา แต่สำหรับผู้หญิงส่วนมากแล้วมักจะเป็นทั้งสองอย่าง คือมีอาการผิดปกติก่อน ประจำเดือนจะมา และปวดท้องในระหว่างมีประจำเดือน
อาการที่คุณรู้สึกก่อนประจำเดือนจะมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนในร่างกาย เพื่อเตรียมรับการตั้งครรภ์ โดยปกติระยะนี้ของรอบเดือนจะเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายสูงมาก และไม่ว่าคุณจะต้องการตั้งครรภ์หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของคุณจะเกิดขึ้นทุก ๆ 28 วัน (อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงตัวเลขโดยเฉลี่ย ผู้หญิงบางคนอาจมีรอบเดือนที่สั้นหรือยาวกว่านี้ หรือบางคนก็มาไม่สม่ำเสมอ แต่นี่คือรอบเดือนโดยปกติ)

การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกายอย่างกะทันหันก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในอารมณ์ อาการบวม อาการปวดหัว ปัญหาทางผิวหนัง และระบบการย่อย นอกจากนี้หมอและนักค้นคว้าทางการแพทย์ เชื่อว่าอารมณ์เฉื่อยชา หงุดหงิด และซึมเศร้า คือผลของการที่โซเดียมและน้ำในร่างกายไม่ได้ถูกขับออก

 

การบริหารช่วยได้อย่างไร
เมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้หญิงมักจะนอนพักผ่อนเมื่อเริ่มมีสัญญาณการมาของประจำเดือน
การฝึกกายบริหารถือเป็นเรื่องอันตราย และไม่งามสำหรับกุลสตรี
แต่ทุกวันนี้ เรารู้กันแล้วว่า การฝึกกายบริหารเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับผู้หญิง และอาจเป็นวิธีแก้อาการปวดระหว่างรอบเดือน และความไม่สบายก่อนรอบเดือน วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
วิธีบริหารกล้ามเนื้อและฝึกการหายใจดังที่จะอธิบายต่อไปนี้ เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย และกระตุ้นการหมุนเวียนของเส้นโลหิตในการสูบฉีดออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ
 

สรุปได้ว่า การบริหารที่ถูกวิธีจะช่วยหมุนเวียนของเส้นโลหิต ป้องกันการหายใจตื้น ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเจ็บปวดและอาการเกร็ง ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง และช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ท่าบางท่าต่อไปนี้จะลดอาการปวดรุนแรง อาการเกร็ง และอาการบวมในทันที ในขณะที่บางท่าจะกินเวลามากหน่อย ก่อนจะเห็นผลเช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ ทั่วๆไป ผลที่จะได้รับย่อมขึ้นอยู่กับการฝึกปฏิบัติที่ต่อเนื่องกันทุกวัน

การหายใจเพื่อผ่อนคลาย

ไม่ว่าคุณจะมีอาการปวดรุนแรงหรือปวดเรื่อย ๆ อย่างน่ารำคาญก็ตาม การหายใจเพื่อผ่อนคลายจะช่วยบรรเทาอาการปวดเป็นระยะ (ซึ่งเกิดจากการขยายและหดตัวของมดลูก)

การหายใจเพื่อผ่อนคลายแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นตอนที่หนึ่ง แล้วไปขั้นตอนที่สอง และสาม
หากอาการปวดทวีขึ้น จงอยู่ในท่าเดิม และหลีกเลี่ยงการเกร็งกล้ามเนื้อ

ขั้นที่ 1
หายใจเข้าทางจมูกตามปกติ และออกทางปาก ทำเช่นนี้ 6 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 30 วินาที

ขั้นที่ 2
เพิ่มจำนวนครั้งเป็น 10 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 30 วินาที คราวนี้หายใจเข้าและออกทางปากและทางจมูกพร้อมกัน โดยหายใจออกให้แรงกว่าหายใจเข้า

ขั้นที่ 3
เพิ่มจำนวนครั้งเป็น 20 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 30 วินาที ถ้ารู้สึกเหมือนได้ยินเสียงหรือคำพูดอยู่ในลำคอ ให้พูดคำหรือเสียงนั้นออกมาดัง ๆ
ขั้น 3 นี้ลมหายใจจะสั้นและอ่อน ต้องหายใจเอาอากาศเข้าไปให้มากขึ้น เพื่อรับปริมาณออกซิเจนที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ขั้นที่ 3 นี้จึงไม่ควรทำเกิน 30 วินาที

ท่าบริหาร คลายปวด ประจำเดือน
ท่าบริหารเหล่านี้จะช่วยขจัดหรือบรรเทาอาการปวดบริเวณท้องน้อย เนื่องจาการบีบตัวของมดลูก อาการปวดเนือยๆ ช่วงล่างของหลัง และอาหารเหนื่อยและเฉื่อยชาซึ่งผู้หญิงหลายคนประสบในช่วงมีฤดู

ท่าบริหารเหล่านี้ไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวมาก บางท่าเป็นเพียงฝึกการกำหนดลมหายใจ หรือท่าง่ายๆ หรือสบายๆ แต่ถึงแม้ว่าท่าบริหารเหล่านี้จะไม่ต้องออกแรงมากก็อย่าได้มองเมิน เพราะท่าเหล่านี้แหละจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้มากที่สุด

ท่าที่ 1 ท่าเบื้องต้น
ท่าแรกคือการผ่อนคลาย การเกร็งตัวในขณะที่มีอาการปวดท้องในรอบเดือน จะทำให้อาการปวดทวีขึ้น คุณอาจจะติดนิสัยที่ไม่ดีมาเช่น ขดตัวเป็นลูกบอล กัดฟัน ไขว้ขา และหายใจตื้นๆ เมื่อคุณรู้สึกปวด ถ้าเป็นเช่นนี้คุณจะต้องเริ่มแก้กลับนิสัยเหล่านี้ โดยการฝึกท่า “ ปวดคลาย “ ทุกเดือน

                           

ท่า 1 ก.
ท่าเบื้องต้นที่ควรฝึกปฏิบัติเมื่อมดลูกบีบตัวอย่างแรง คือ นอนหงายราบพื้น เหยียดขาทั้งสองให้ตรง และสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย โดยพาดไว้กับเก้าอี้เหยียดแขนทั้งสองข้างๆลำตัว

 

 

ท่าที่ 2 ท่าแมว
ท่าปวดคลายท่า 2 นี้ ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงพร้อมๆกัน

                                      

 ท่า 2 ก.
เริ่มด้วยการนั่งคุกเข่า แขนทั้งสองเหยียดตรงยันพื้น ขาแยกกันพอสมควร ศีรษะเงยขึ้น คลายกล้ามเนื้อท้อง ( เหมือนท่าเด็กคลาน )

                                 

 ท่า 2 ข.
ก้มศีรษะช้า ๆ โก่งหลังพร้อมกับแขม่วท้อง นิ่งอยู่ในท่านี้ นับ 1-6 อย่างช้า ๆ คลายหลังและท้องอย่างช้า ๆ แล้วกลับไปอยู่ท่าแรก ทำเช่นนี้ 8-10 ครั้ง

 

 

ท่าที่ 3 ท่าแมวดัดหลัง
ท่านี้ควรทำต่อจากท่าแมว ท่านี้ใช้กล้ามเนื้อเดียวกับท่าแรก แต่ในลักษณะที่แตกต่างจากท่าแรก คุณจะรู้สึกผ่อนคลายมาก เริ่มต้นด้วยท่าคุกเข่า เช่นเดียวกับท่าแมว 

                                     

                 
ท่า 3 ก.
ยืดตัวไปข้างหน้าช้าๆ เพื่อให้ลำตัวอยู่เหนือแขนทั้งสอง

 

                                 


ท่า 3 ข.
โก่งหลังและแขม่วท้องช้า ๆ จนก้นแตะส้นเท้า โดยวางแขนที่เหยียดตรงออกไปข้างหน้าบนพื้น นิ่งอยู่นับ 1-6 ช้าๆ ทำเช่นนี้ 8-10 ครั้ง

 

 

ท่า 4 ท่าคลายท้อง
ท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่น่ารำคาญ ซึ่งอาจมีอยู่จนถึงวันสุดท้ายของรอบเดือน

 

             

 


ท่า 4 ก.
นอนหงายราบกับพื้นเหยียดขาตรง

ท่า 4 ข.
งอเข่าขวา ประสานมือต่ำกว่าเข่าขวาเล็กน้อย

ท่า 4 ค.
ดึงเข่ามาทางศีรษะช้าๆ จนแตะหน้าผาก ถ้าเข่าแตะหน้าผากไม่ได้อย่าฝืน สำหรับบางคนท่านี้อาจจะต้องฝึกหลายอาทิตย์กว่าเข่าจะแตะหน้าผากได้สลับข้างทำเช่นนี้ 8-10 ครั้ง

 

 

ท่าที่ 5 ท่าเด็ก
คุณจำได้ไหมว่า ชีวิตในช่วงวัยเด็กของคุณนั้นง่ายขนาดไหน ท่านี้จะช่วยคลายตึงเครียดของโลกผู้ใหญ่และเป็นท่าที่คุณสามารถฝึกได้ในขณะที่มีรอบเดือน

 

                               


ท่า 5 ก.
เริ่มจากการนั่งบนส้นเท้า ก้มลงช้าๆ จนหน้าผากแตะพื้นแขนวางข้างลำตัว คลายทุกส่วนของร่างกาย หลีกเลี่ยงการโก่งหลังและเกร็งกล้ามเนื้อคอ หลับตา หายใจช้า ๆ ลึก ๆ อย่างสม่ำเสมอ อยู่ในท่านี้จนกว่าคุณจะรู้สึกผ่อนคลาย แล้วค่อยๆลุกขึ้นนั่งสักพัก.

 


 

ข้อมูลสื่อ

71-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528
อื่น ๆ