• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รูมาตอยด์ โรคปวดข้ออะไรเอยที่ไม่ได้เป็นแต่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็น

     


โรคปวดข้ออะไรเอ่ย ที่ท่านไม่ได้เป็น แต่มักจะถูก (ท่านหรือคนอื่น) เข้าใจผิดว่าเป็น

คำตอบก็คือ โรครูมาตอยด์ นี่เอง

ท่านผู้อ่านจำนวนมากอาจจะเคยได้ยินชื่อโรครูมาตอยด์ มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยปวดข้อหรือมีญาติพี่น้องคนรู้จักเป็นโรคปวดข้อ แล้วมักจะมีใครสักคนบอกท่านว่า เป็นโรครูมาตอยด์ และต่อด้วยความว่า เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย (ฟังแล้วก็ใจหาย) อย่าเพิ่งใจหายกับโรคนี้และคำพยากรณ์น่าหดหู่เลย ขอให้ท่านสงบใจชั่วครู่และตั้งใจอ่านบทความนี้ต่อไป เพราะเมื่ออ่านจบแล้ว ท่านอาจดีใจ โล่งใจมากจนอยากจะร้องตะโกนดัง ๆ ว่า “ไชโย! หายจากโรครูมาตอยด์แล้ว” (ก็เพราะที่จริงแล้วไม่ได้เป็นโรคนี้สักหน่อย หนอยแน่หลงเข้าใจผิดคิดกังวลอยู่ได้ตั้งนาน) หรือ “ไม่ยักรู้ว่าโรคนี้รักษาได้และหายได้ด้วยแฮะ พบความหวังใหม่แล้ว น่าดีใจจริงๆ”

ความรู้เกี่ยวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในคนไทยนั้น เพิ่งจะมีการศึกษาวิเคราะห์วิจัยกันมาภายใน 10 ปีมานี้เอง ซึ่งปราฏว่าโรคนี้สำหรับบ้านเราไม่ได้ร้ายแรงน่ากลัวเหมือนกับเมืองนอกเมืองฝรั่งเขาหรอก ดังนั้นความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่เกิดจากการอ่านตำราหรือเอกสารจากเมืองนอกที่เกี่ยวกับโรคนี้จึงมีมากทั้งในหมู่แพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยและญาติมิตรและประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจกับโรครูมาตอยด์กันให้ดีเถิด เพื่อจะได้ลดหย่อนผ่อนคลายความเครียดหรือโรคประสาท อันเกิดจากโรคชื่อนี้โดยทั่วกัน

ข้อเท้าความถึงโครงสร้างของกระดูกและข้อ (ที่ได้กล่าวไว้แล้วในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 57 ประจำเดือนมกราคม 2527) ว่าข้อต่อที่มีความสำคัญเกี่ยวกับโรคปวดข้อนั้นมี 2 ชนิด คือข้อต่อที่มีเยื่อบุข้อซึ่งสามารถสร้างน้ำหล่อข้อหรือไขข้อได้ และข้อต่อที่ยึดด้วยกระดูกอ่อนไฟบรัสหรือพังผืดซึ่งได้แก่หมอนกระดูกสันหลังของเรา

รูมาตอยด์ : เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรครูมาตอยด์นั้นมีสภาพการเกิดโรคที่สำคัญก็คือ เกิดการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อชนิดที่มีเยื่อบุข้อพร้อม

กันหลาย ๆ ข้อทั่วร่างกาย โดยเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของคนนั้น มีการตอบสนองความผิดปกติต่อสารพิษบางชนิด ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัสบางอย่างเชื้อโรค หรือสารเคมีบางชนิดในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แน่นอนไม่พบ โดยมีปัจจัยร่วมทางกรรมพันธุ์เกี่ยวข้องด้วย ผลก็คือทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งในร่างกายพร้อม ๆ กัน และอักเสบยืดเยื้อนานติดต่อกันเป็นเดือน ๆ หรือหลาย ๆ ปีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้ออีกด้วย
จากการศึกษาของหน่วยไขข้ออักเสบและรูมาติสซั่มของโรงพยาบาลศิริราช ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 600 ราย เพศหญิงจะเป็นมากกว่าเพศชาย โดยมีอัตราส่วนประมาณ 4-5 เท่าต่อหนึ่ง อายุที่เป็นกันมากได้แก่ช่วง 20-50 ปี แต่โรคนี้เป็นได้ในผู้ป่วยทุกเพศและอายุ ตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือน จนถึงคนแก่อายุ 80 ปีเศษ

รูมาตอยด์ : เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็น

อาการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ข้อที่เริ่มมีการอักเสบก่อน มักจะเป็นข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วเท้า ถัดมาคือข้อไหล่ ข้อศอก โดยมีลักษณะจำเพาะคือเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน ในที่สุดอาจเป็นหมดทุกข้อทั่วร่างกายตั้งแต่ข้อขากรรไกรสองข้าง ลงมากระดูกข้อต้นคอ ข้อกระดูกไหปลาร้า ข้อไหล่ข้อศอก ข้อนิ้ว นิ้วมือ ฯลฯ บางรายจะมีเสียงแหบและเจ็บที่คอหอย เนื่องจากข้อต่อของกระดูกกล่องเสียงก็อักเสบด้วย

สภาพของผู้ป่วยจึงน่าสงสารมาก เพราะตอนเช้าตื่นนอนขึ้นก็จะรู้สึกปวดร่างกาย ฝืดไปหมดทุกข้อ บางรายเล่าว่า  “ข้อฝืด แข็ง บังคับให้เคลื่อนไหวไม่ได้เลยจนคิดว่าตนเองเป็นอัมพาตเสียแล้ว เมื่อฝืนขยับทีละข้อ จะปวดข้อมากจนเกือบร้องไห้ นิ้วมือกำไม่ได้เหยียดไม่ออก แขนขาขยับไม่ไหว กล้ามเนื้อปวดล้าไปหมด เหมือนร่างกายถูกประทุษร้ายทุบตีมาร้อยครั้ง ครั้นจะร้องขอความช่วยเหลือ พอขยับปากข้อขากรรไกรก็ปวดมากจนร้องไม่ออกอีก...”


ข้อที่ปวดจะมีลักษณะอักเสบชัดเจน คือมีการบวมช้ำ จับดูอุ่น ๆ ขยับข้อจะปวดมากทุกทิศทาง และบางรายผิวหนังบริเวณข้อจะมีสีแดงเรื่อ ๆ อีกด้วย อาการปวดข้อจะรุนแรงมากในตอนเช้าหรือช่วงที่มีอากาศเย็นพอตอนสายหรือตอนบ่าย ๆ จะทุเลาลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพอช่วยเหลือตนเองได้ภายหลังจากฝืนขยับข้อต่าง ๆ อยู่พักใหญ่ ๆ เช่น 10-30 นาที ผู้ที่มีอาการมากอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะลุกก้าวลงจากเตียงได้ การหยุดพักนาน ๆ แล้วลุกขึ้น ข้อจะปวดฝืดมากอีก อาการจะเป็นเช่นนี้ อยู่ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกสัปดาห์ นานติดต่อกันเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี โดยบางระยะอาการปวดอาจทุเลาลงเองได้ แต่จะไม่หายสนิทจนถึงขนาดเดิน วิ่ง ได้ตามปกติถ้าไม่รักษา


อาการร่วมที่พบบ่อยก็คือ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ยิ่งในคนที่มีอาการข้ออักเสบรุนแรง จะนอนหลับไม่สนิท เพราะการขยับส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย จะปวดข้อมากจนต้องตื่น ยิ่งทำให้ร่างกายและจิตใจทรุดโทรมมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีน้ำหนักลดลงได้รวดเร็วมาก ตั้งแต่ 5-15 กิโลกรัมภายในเวลา 3-6 เดือน จนเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งร้ายแรงต่าง ๆ หากข้ออักเสบเป็นรุนแรงและเรื้อรังอยู่หลาย ๆ ปี จะเกิดการทำลายของข้อและกระดูก จนเกิดข้อพิการผิดรูปใช้งานไม่ถนัด หรือถึงขนาดพิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยก็มี

  

เมื่ออ่านถึงตอนนี้ ขออย่าเพิ่งท้อใจเสียก่อน ที่เล่ามาเพื่อต้องการให้ท่านผู้ที่ไม่ได้เป็นโรครูมาตอยด์ สามารถจะแยกอาการของท่านออกจากโรครูมาตอยด์ที่แท้จริงได้ ดังนั้นผู้ที่ปวดข้อจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรงขนาดนี้ จงโล่งอกได้แล้วว่าท่านไม่ได้เป็นโรครูมาตอยด์ อย่าไปหลงเชื่อหรือคิดว่าเป็นโรคนี้อีก ซึ่งจะทำให้ท่านหลงรับการรักษาที่ผิด ๆ สิ้นเปลืองเวลา เงินทอง และสุขภาพจิตไปเปล่า ๆ แล้วท่านเป็นโรคอะไรกันแน่ ส่วนใหญ่แล้วท่านมักเป็นโรคอยู่ในจำพวกไม่ร้ายแรง หรือท่านอาจนะเป็นโรคเก๊าท์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง “โรคปวดจำพวกไม่ร้ายแรง” ได้ใน “หมอชาวบ้าน”
ฉบับที่ 57 และเรื่อง “โรคเก๊าท์” ได้ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 49)

สำหรับผู้ที่เป็นหรือมีญาติหรือคนรู้จักเป็นโรครูมาตอยด์ โปรดให้ความสนใจอ่านต่อไปนะคะข่าวดี ๆ ค่ะ โรคทุกข์ทรมานเช่นนี้รักษาให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้ และมีทางหายได้ด้วย

รูมาตอยด์ : รักษากันอย่างไร

การรักษาโรครูมาตอยด์ ก็โดยอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้าในปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามียาระงับข้ออักเสบชนิดนี้มากมายหลายสิบอย่างบวกกับความรู้สะสมเกือบร้อยปีในการรณรงค์กับโรคนี้ของชาวต่างประเทศ และก็ความรู้ที่ผู้เขียนได้มาใหม่เอี่ยมจากการวิเคราะห์ดูแลรักษาผู้ป่วย รูมาตอยด์ในเมืองไทยอีกประมาณ 700 คน พอจะสรุปเป็นหลักใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

1.การใช้ยา

การใช้ยาระงับปวดข้อและข้ออักเสบ แม้ว่าอาการของข้ออักเสบรูมาตอยด์ในคนไทย จะไม่แตกต่างกันกับของชาวตะวันตกหรือพวกฝรั่ง แต่ความรุนแรงมักจะมีน้อยกว่า กล่าวคือความพิการเกิดขึ้นน้อยกว่า และเกิดช้ากว่า การรักษาก็ง่ายกว่า

ยาที่ใช้ระงับข้ออักเสบที่ดีมากก็คือ ยาแอสไพรินนี่เอง ซึ่งเป็นยาเก่าแก่ที่ใช้กันมาหนึ่งร้อยปีแล้ว แต่ต้องกินในขนาดที่ถูกต้องและนานพอ ยาที่ใช้ได้ผลดีมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ต้องกินยาขนาดประมาณ 60-80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและกินร่วมกันกับยาน้ำลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะอะลั่มมิลด์ (Alummilk) 1-2 ช้อนโต๊ะต่อครั้ง เมื่อกินติดต่อกันทุกวันภายใจสัปดาห์แรก จะพบว่าอาการปวดข้อทุเลาลง ผู้ที่มีอาการไข้ก็จะหายไป พอเริ่มสัปดาห์ที่สอง อาการบวม ตึง หรือระบมของข้อต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ตอนเช้าจะขยับข้อได้ดีขึ้นหรือข้อฝืดน้อยลง กว่าอาการจะทุเลาได้ 70-80% ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นจึงต้องกินยาติดต่อกันไปเรื่อย ๆ นานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ

ขณะเดียวกันต้องพยายามฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหรือลีบไป หรือเส้นเอ็นที่ฝืดหรือยึดให้คืนสู่สภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เมื่อรู้สึกแข็งแรงจนเป็นปกติแล้ว จึงค่อย ๆ หยุดยาแอสไพรินได้ หากหยุดแอสไพรินไปแล้ว โรคกำเริบอีกก็ต้องรีบกลับมากินยาในขนาดเดิมอีก หลักการรักษาโรคนี้ก็คือ ขอให้ข้อไม่เจ็บปวด ร่างกายไม่พิการ ยาอาจจำเป็นต้องกินอยู่ประจำ

พบว่าผู้ป่วยไทยประมาณร้อยละ 70 ข้ออักเสบจะดีขึ้นมากหลังจากการกินยาแอสไพรินวิธีนี้เพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่กินแอสไพรินแล้วมีอาการระคายกระเพาะ แสบท้อง ปวดท้อง ควรพยายามกินยาลดกรดเพิ่มขึ้น อาการระคายกระเพาะจะน้อยลงภายหลังจากกินยานาน ๆ แม้ว่าในปัจจุบันมียาระงับการอักเสบหลายสิบชนิดก็จริง แต่ก็ยังไม่มียาตัวไหนที่มีฤทธิ์ระงับอักเสบได้ดีกว่าแอสไพรินเลย และยานี้ก็ใช้ได้ปลอดภัยมากในระยะยาว เช่นผู้ป่วยรูมาตอยด์ที่ต่างประเทศ บางคนกินแอสไพรินขนาด 16-18 เม็ดทุกวันเป็นเวลานาน 20-30 ปีก็ยังไม่เป็นอะไร นอกจากนี้ยังเป็นยาที่ถูกที่สุดในบรรดายาระงับข้ออักเสบทั้งหลายด้วย ขณะที่ยาอื่นๆ มีราคาแพงกว่าหลายเท่าจนถึงหลายสิบเท่า แถมยังมีผลข้างเคียงบางอย่างที่อาจมีลักษณะรุนแรงและคาดคิดไม่ถึงอีกด้วย

2.การใช้กายภาพบำบัด

การรักษาทางกายภาพบำบัดเป็นหัวใจของการรักษาโรครูมาตอยด์สำคัญรองจากยาระงับอาการอักเสบ เพราะการที่ผู้ป่วยจะฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ดีที่สุดเพียงใดอยู่ที่ส่วนนี้ ซึ่งผู้ป่วยหรือผู้ดูแลสามารถจะทำได้ที่บ้าน เช่นการประคบน้ำอุ่น การแช่หรืออาบน้ำอุ่น จะช่วยลดความเจ็บปวดและความฝืดของข้อได้ โดยใช้เวลาประคบประมาณ 15 นาที ต่อจากนั้นก็ต้องให้ผู้ป่วยพยายามกัดฟันขยับข้อต่าง ๆ ที่ปวด หรือบวมอย่างช้า ๆ แม้ว่าครั้งแรก ๆ ข้อจะปวดมากเวลาขยับ แต่เมื่อเคลื่อนไหวให้สุดความสามารถแล้ว (เช่นมือกำเต็มที่และเหยียดเต็มที่) สัก 3-5 ครั้ง ความฝืดและความเจ็บปวดจะค่อย ๆ ลดลง ผู้ป่วยควรพยายามขยับข้อต่าง ๆ อย่างช้า ๆท่าละ 10 ครั้ง แล้วทำซ้ำใหม่ทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดทรมานในระยะยาวได้ดีมาก

การฝึกท่ากายบริหาร ควรเริ่มทำภายหลังจากเริ่มกินยาแอสไพรินไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ (ดูรายละเอียด “การฝึกท่ากายบริหารได้ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 58) ท่าการฝึกกายบริหารที่ได้กล่าวถึงนี้ ท่าใดที่ทำไม่ได้ก็งดไว้ก่อน พยายามทำเฉพาะท่าที่พอทำได้ แล้วไปทำเพิ่มทีหลังเมื่อข้อต่าง ๆดีขึ้นแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อมากในตอนเช้าจึงขอแนะนำให้พยายามอาบน้ำอุ่นจัด ๆ หรือแช่น้ำอุ่นในตอนเช้า ซึ่งจะทำให้ทุเลาความฝืดและเจ็บปวดได้มาก จะสามารถเคลื่อนไหวข้อได้รวดเร็วขึ้น ไม่ควรให้ผู้อื่นนวดและดัดข้อ เพราะการดัดอาจจะใช้แรงมากเกินไปทำให้ข้ออักเสบมากขึ้น หรือเส้นเอ็นฉีกขาดจนข้อพิการอย่างถาวรได้

3.การกำหนดการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม

การกำหนดเวลาพักผ่อนและทำงานหรือออกกำลังกายให้พอเหมาะจากอาการที่ปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อทั่ว ๆ ไป จะทำให้ผู้ป่วยพยายามไม่เคลื่อนไหวร่างกายตามธรรมชาติ ผลก็คือข้อต่าง ๆ จะยึดติดหรืออยู่ในท่าผิดรูปหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากจนขยับข้อไม่ไหว เมื่อข้อยิ่งอยู่น่านิ่ง ๆ นานมากเท่าใด เวลาเคลื่อนไหวจะปวดทรมานมากเท่านั้น ผู้ป่วยก็จะยิ่งไม่ยอมเคลื่อนไหว เพื่อตัดวงจรนี้ ผู้ป่วยต้องมีความกล้าหาญ อดทนฝืนข้อต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ดังกล่าวไว้ในข้อ 2 รวมทั้งฝืน นั่ง ยืน เดิน หรือทำงานเล็ก ๆ น้อยๆ ตามแต่อัตภาพ แต่กล้ามเนื้อและข้อที่อักเสบต้องการการพักผ่อนด้วย ดังนั้นเมื่อทำอะไรไปสักพักหนึ่งแล้ว รู้สึกอ่อนเพลียหรือเมื่อยมาก ควรรีบหยุดพักทันทีประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงค่อยทำงานนั้นต่อ การรู้จักหยุดพักบ้างและทำงานออกกำลังกายบ้างสลับกันไป จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และป้องกันความพิการได้ ตลอดจนลดความเจ็บปวดทรมานที่เกิดจากการพักข้อนานเกินไปโดยไม่จำเป็น โรคนี้จะดีขึ้นได้ก็โดยความพยายามเคลื่อนไหวของตัวผู้ป่วยเอง ญาติผู้ดูแลควรส่งเสริมผู้ป่วยให้ช่วยตนเองมากที่สุด การตามใจหรือช่วยทำงานทุกอย่างแทนผู้ป่วยโดยปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ จะทำให้ผู้ป่วยพิการไปตลอดชีพ


 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่กินเพร็ดนิโซโลนมา 10 กว่าปีจนหน้าบวมฉุ ตาเป็นต้อกระจกคอสั้นมากเนื่องจากกระดูกต้นคอผุและทรุดผู้ป่วยรายนี้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาเนื่องจากกระดูกคอทรุดหักจนไปกดทับถูกไขสันหลัง

  
 

 

 

 


หลัก 3 ข้อนี้ ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์กว่าร้อยละ 70 จะสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ และกว่าร้อยละ 50 สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ แม้แต่อาชีพหนัก ๆ เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นต้น แต่มีข้อแม้ว่าผู้ป่วยจะต้องกินยาแอสไพรินขนาดเดิมติดต่อกันนานเป็นปี ๆ เพื่อแลกกับการมีชีวิตเหมือนคนปกติ นั่นคือเราสามารถรักษาให้โรคข้ออักเสบหายได้ คือข้อไม่ปวด ไม่อักเสบอีก และไม่พิการจนเป็นภาระแก่ตนเองและผู้อื่น มีผู้ป่วยหลายรายที่โรครูมาตอยด์หายสนิทเป็นปี ๆ จนสามารถหยุดกินยาแอสไพรินไปได้หลาย ๆ ปี แต่การฝึกกายบริหารให้ร่างกายแข็งแรงยังคงต้องทำอยู่เสมอ

ดังนั้นกล่าวโดยทั่วไป โรครูมาตอยด์ในเมืองไทยไม่ใช่โรคสิ้นหวัง หรือรักษายากเหมือนโรคในประเทศอื่นแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือของผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้น ที่โรคเป็นค่อนข้างรุนแรง ต้องอาศัยยาชนิดอื่นนอกเหนือจากแอสไพรินดังกล่าว ซึ่งควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาต่อไป

ข้อควรระวัง...ระวังให้ดี

1.การกินยาแก้ปวดข้อ
ควรใช้ยาเม็ดแอสไพรินชนิดที่มีแต่แอสไพรินเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่ควรใช้สูตรเอพีซี หรือยาผสมแอสไพรินชนิดอื่นใด มิฉะนั้นส่วนที่เป็นยาผสมในแอสไพริน เมื่อกินจำนวนมากและระยะยาวจะทำให้เกิดอันตรายต่อไต หรือตับ หรือระบบประสาทได้

2.ไม่ควรซื้อยาชุดแก้ปวดเมื่อยหรือปวดข้อ ยาคลายเส้น ฯลฯ กินเด็ดขาด
เนื่องจากในยาชุดมักจะมียาอันตรายจำพวก สเตียรอยด์ หรือ เพร็ดนิโซโลน เป็นส่วนประกอบ กินตอนแรกอาการปวดจะหายรวดเร็วมาก ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นยาเทวดา เมื่อซื้อมากินบ่อย ๆ เข้าจะเกิดติดยา คือต้องกินทุกวันหยุดไม่ได้ หยุดแล้วจะปวดข้อมากกว่าเก่าร้อยเท่า และมักต้องกินเพิ่มขึ้น ๆ คล้ายกับคนติดเฮโรอีน จนเกิดผลข้างเคียงของยาสารพัดอย่างเช่น กระดูกผุกร่อนรวดเร็วขึ้น ข้อผิดรูป พิการรุนแรงกว่าที่ควรเป็น หน้าบวมฉุ ๆ และอ้วนตามลำตัวผิดส่วนมีหนวดขึ้น เป็นโรคเบาหวาน และติดเชื้อได้ง่าย กระเพาะอาหารเป็นแผล เลือดออกหรือทะลุ ปวดกระดูกไปหมดทุกชิ้น

นอกจากนี้ในยาชุดอาจจะมียากลุ่มเฟนิลบิวตาโซน ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคไขกระดูกฝ่อไม่สร้างเลือด หรือแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ เกิดโรคแทรกซ้ำเติมบนโรคเดิมที่ทรมานมากอยู่แล้ว ให้ยิ่งต้องรับทุกข์ทรมานมากเป็นทวีคูณเหมือนตกนรกทั้งเป็น อยากจะให้สังวรไว้ว่า ยาชุดแก้ปวดข้อ ซึ่งคล้ายกับยาเทวดาในวันนี้ คือยาปีศาจหรือยมบาลสำหรับท่านในวันหน้า และกว่าท่านจะรู้ถึงความร้ายกาจของยาชุด มักจะสายเกินแก้แล้ว

3.อย่าเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ว่าวิธีหรือยาวิเศษสามารถรักษาโรครูมาตอยด์ให้หายได้ใน 3 วัน 7 วันหรือในเวลาอันรวดเร็ว
เพราะนั้นหมายถึง การใช้ยาอันตรายพวกสเตียรอยด์จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้อาการหายทันทีแบบชั่วคราว แต่ผลระยะยาวจะไม่แตกต่างจากยาชุดดังกล่าวไว้ในข้อ 2 และจะเกิดรวดเร็วและรุนแรงกว่าด้วย

4.การฉีดยาเข้าข้อในโรคนี้ จะบรรเทาอาหารปวดและอักเสบได้ชั่วคราวเท่านั้น
หากฉีดบ่อย ๆ จะเกิดการทำลายของข้อที่ถูกฉีดยาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อพิการถาวร แถมยังเกิดภาวะแทรกซ้อนคล้ายข้อ 2 และ 3 อีกด้วย

ก่อนจากฝากสักนิด

ข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่รักษาได้ ความพิการของข้อส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้
การรักษาโรคนี้ต้องอาศัยการกินยาสม่ำเสมอนานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ร่วมกับความอดทนและมีกำลังใจในการหมั่นฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ แข็งแรงอยู่เสมอไม่มีวิธีหรือยาวิเศษใด ๆ ในโลกนี้ขณะนี้ที่จะทำให้โรคหายได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

 

         

                             ภาพของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์รายหนึ่ง

                                               

 

 

 

 

 

 

ภาพซ้ายและภาพขวา  ก่อนการรักษาข้อนิ้วมือที่บวมอักเสบจนกำมือไม่ถนัด

  

 

 

 

 

  

 

ภาพซ้ายและภาพขวา หลังการรักษาถ่ายเมื่อ 5 ปีต่อมาข้อต่างๆหายอักเสบนิ้วไม่มีลักษณะผิดรูปเลย และผู้ป่วยกำมือได้เหมือนคนปกติ 

    

ข้อมูลสื่อ

65-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527
อื่น ๆ