• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสามเดือนถึงสี่เดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

                                   


 

สภาพผิดปกติ

 

 

112. ไข้สูง
เด็กอายุ 3 เดือน ตามปกติมักจะไม่มีไข้สูง ถ้าไข้สูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส ก่อนอื่นให้นึกถึงโรคหูอักเสบ ในกรณีที่เด็กเป็นโรคนี้ เช้าวันรุ่งขึ้น ที่หูข้างใดข้างหนึ่งจะเปียก แสดงว่า เยื่อแก้วหูขาด (เยื่อแก้วหูของเด็ก ถ้าขาดจะกลับติดกันไม่ได้ ไม่เป็นไร) มีน้ำใสๆ ไหลออกมา แต่ถ้าแห้งไปแล้วคุณแม่มักไม่เห็น ในระยะแรก น้ำที่ออกมามักจะยังไม่เห็นเป็นน้ำหนองสีเขียวๆ เหลืองๆ

โรคที่เด็กมักเป็นแล้วมีไข้สูงรองจากโรคหูอักเสบคือ ต่อมน้ำเหลืองใต้คางอักเสบ ถ้าเด็กเป็นโรคนี้บริเวณใต้คางจะบวมแข็ง เด็กจะไม่หันคอ ส่วนใหญ่ไข้จะสูงประมาณ 38 องศา โรคนี้ถ้าให้ยาปฏิชีวนะเร็วก็ไม่ต้องผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่มักลุกลามเร็วต้องผ่าโรคนี้ผ่าตัดรักษาไม่ยาก ถึงลูกคุณเป็นก็ไม่ต้องตกใจ
บางครั้งบริเวณทวารหนักของเด็กเกิดมีปุ่มขึ้นแข็ง บวมแดง ทำให้เด็กมีไข้ สังเกตได้จากการที่เด็กร้องเวลาถ่ายอุจจาระ ไข้จะสูงประมาณ 38 องศา แต่เวลามีไข้ จะให้คุณแม่ดูที่ทวารหนักเองคง

สำหรับ โรคส่าไข้ (Roseolar infantum) ซึ่งจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในภายหลังนั้น ตามปกติจะเป็นกับเด็กอายุ 7เดือนขึ้ึนไป แต่บางครั้งก็เป็นกับเด็กอายุ 3-4 เดือนได้ ถ้าเด็กอายุเท่นี้เป็น จะไม่มีไข้ถึง 3 วัน ไข้จะมีเพียงวันเดียว และเมื่อไข้ลดจะมีผื่นขึ้นเต็มตัว ลักษณะจะคล้ายผื่นของโรคหัด ถ้าเป็นในช่วงอากาศร้อน มักจะนึกว่าเป็นผด และเมื่อผื่นขึ้นโรคก็จะหายเอง

ดังนั้น ถึงคุณแม่จะคิดไปว่าเป็นผด ก็ไม่เป็นไร ถ้าเด็กมีไข้สูงติดต่อกันถึง 4 วัน จะต้องตรวจปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะขุ่นข้นมากแสดงว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่มีเด็กน้อยรายที่จะเป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงอากาศร้อนและเป็นมากในเด็กหญิง ถ้าเด็กเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ ควรให้หมอตรวจดูด้วยว่าเป็นโรคกรวยไตอักเสบหรือเปล่า

 

 

 

 


113. ร้องกวนกลางคืน
นิสัยร้องกวนกลางคืนจะเกิดขึ้นได้กับทารกทุกวัย ถ้าเป็นเร็ว จะเริ่มตั้งแต่อายุ 2-3 อาทิตย์ เมื่อเริ่มร้องจะไม่ยอมหยุดง่ายๆ เด็กจะออกแรงร้องจนหน้าแดงทำให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกคงเจ็บที่ไหนสักแห่งถึงร้องงอหายอย่างนั้น

เมื่อลูกร้องไม่หยุดลองอุ้มเขย่าเบาๆ สักพักเด็กมักจะหยุดร้อง คุณย่าคุณยายอาจห้ามไม่ให้อุ้ม บอกว่าอุ้มบ่อยๆ เดี๋ยวจะติดมือ แต่เด็กที่ต้องอุ้มบ่อย จนถูกหาว่าติดมือนั้น ไม่ใช่เพราะอุ้มบ่อยจึงติดมือ แต่เป็นเพราะร้องบ่อยจึงต้องอุ้มต่างหาก บางครั้ง ถึงจะอุ้ม เด็กก็ยังร้องไม่ยอมหยุด ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย(อายุเกิน 1 เดือนขึ้นไป) คุณพ่อคุณแม่พาขึ้นรถยนต์ขับวนสักรอบ เด็กจะหยุดร้องอย่างน่าแปลกใจทีเดียว

ในบางกรณี เด็กอาจร้องเพราะมีแก๊สในลำไส้ทำให้กากอาหารผ่านไม่ได้ชั่วขณะ ถ้าสวนทวารให้แล้ว เด็กหยุดร้อง แสดงว่า สาเหตุที่ร้องอาจเป็นเพราะเรื่องนี้ เรารู้ว่าเด็กไม่ได้ร้อง เพราะหิว เพราะเด็กที่กินเก่ง น้ำหนักเพิ่มดีที่มีนิสัยชอบร้องกวนตอนกลางคืนก็มีไม่น้อย

จากประสบการณ์ กล่าวได้ว่า เด็กจำนวนมากที่มีนิสัยร้องกวนตอนกลางคืน มักมีคุณแม่ที่มีการศึกษาสูง บางคนก็ว่าเป็นเพราะคุณแม่ประเภทนี้เมื่อลูกร้องกวนตอนกลางคืนจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่โตพาไปหาหมอ หมอเองมักไม่ชอบคุณแม่ที่มีการศึกษาสูง คุณแม่ประเภทนี้จะห่วงแต่เรื่องงานจนไม่ค่อยพาลูกเดินเล่น เพราะคิดว่าเสียเวลา เมื่อเด็กเที่ยวเล่นไม่พอจะร้องกวนตอนกลางคืน

กว่าจะรู้ว่าเด็กร้องตอนกลางคืนเป็นนิสัยของเด็กคุณพ่อคุณแม่คงเป็นห่วงว่าลูกป่วยเป็นอะไรอยู่หลายวัน สิ่งที่คุณควรทำเมื่อลูกมีนิสัยชอบร้องกวนกลางคืนคือ พาออกเดินเล่นให้มาก จัดห้องให้โปร่งและอากาศถ่ายเทสะดวก เวลาให้นมระหวังอย่าให้ดูดอากาศเข้าไป หลังให้นมต้องจับเรอ ถ้าสวนทวารให้แล้วหยุดร้องก็สวนทวารให้ ในช่วงอากาศหนาวอย่าห่มผ้าให้มากเกินไปหรืออย่าปล่อยให้หนาวเกินไป ฤดูร้อนให้นอนหมอนน้ำแข็ง


อาการร้องตอนกลางคืนมักเป็นเรื่องของนิสัย แต่ถ้าเด็กไม่เคยร้องมาก่อนเลย พออายุได้ 3 เดือน อยู่มาวันหนึ่งเกิดเริ่มนิสัยนี้ขึ้นมา คืนแรกที่ลูกร้องมาราธอน คุณพ่อคุณแม่คงเป็นห่วงไม่เป็นอันนอน ถ้าเด็กไม่มีไข้ แสดงว่าไม่เป็นโรคหูอักเสบ หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ในกรณีที่เด็กเป็นโรคลำไส้กลืนกันหรือลำไส้ติดค้าง เด็กจะร้องงอหายเหมือนกัน แต่ลักษณะการร้องจะแตกต่างกัน ถ้าเด็กร้องเป็นนิสัย
เวลาร้องจะร้องติดต่อกันเรื่อยไปไม่หยุด แต่ถ้าเป็นโรคลำไส้อุดตัน เด็กจะร้องแล้วหยุดเป็นช่วงๆ ประมาณช่วงละ 5 นาที และเด็กจะอาเจียนเมื่อให้นม เมื่อเด็กเริ่มนิสัยร้องกวนกลางคืน คืนแรก คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เห็นลูกร้องอย่างรุนแรง มักจะทนดูอยู่ไม่ได้ต้องพาไปหาหมอ ภายหลังจึงทราบว่าไม่ได้ป่วยเป็นอะไร

 

 

 

 


114. มีขี้ตา
เด็กอายุประมาณ 3 เดือน บางครั้งตื่นเช้าขึ้นมาอาจมีขี้ตาติดอยู่เล็กน้อยที่หัวตาหรือหางตา และมักจะมีน้ำตาเยิ้มอยู่ในลูกตาเสมอ ลองดูที่ตาเด็กให้ดีๆ จะเห็นขนตาด้านล่างหลุบเข้าด้านในแยงลูกตาอยู่ เมื่อกระจกตาได้รับการกระตุ้น น้ำตาจะไหลและมีขี้ตาเหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะเด็กอายุ 3-4 เดือน แก้มจะยุ้ยโปร่งขึ้นจนทำให้ขนตาล่างหันเข้าด่านในพออายุ 5 เดือน เด็กหน้ายาวขึ้น แก้มจะยุบและขนตาหันออกตามปกติ อาการมีขี้ตาจะหายไปเอง

เมื่อลูกมีขี้ตาเพราะสาเหตุนี้ ถ้าพาไปหาหมอตา บางคนอาจแนะนำให้ผ่าตัด แต่คุณแม่อย่ายอมให้ผ่าตอนอายุ 3-4 เดือนนี้ เพราะเมื่อผ่าตัด เด็กจะต้องถูกปิดตา เด็กอายุไม่ถึงขวบ ถ้าถูกปิดตานานเกินกว่า 3 วันขึ้นไป จะทำให้สายตาเลวลงมาก ถ้าจำเป็นต้องปิดตา ควรปิดไม่เกิน 1 วัน ดังนั้น คุณแม่เพียงแต่ให้หมอถอนขนตาที่แยงลูกตาออกเสียก็พอ ในเมื่อเด็กโตขึ้น อาการนี้จะหายไปเองตามธรรมชาติ เราก็ปล่อยให้หายเองเป็นดีที่สุด

อาการมีขี้ตาของเด็กไม่ใช่มีเพียงสาเหตุเรื่องขนตาแยงลูกตาอย่างเดียว บางครั้งเด็กมีขี้ตาเพราะเยื่อตาอักเสบอย่างเฉียบพลัน จะเห็นมีเลือดคั่งบริเวณตาขาวหรือที่เรียกว่าตาแดง เด็กจะมีขี้ตามาก บางทีตอนเช้าตื่นขึ้นมา ขี้ตาติดจนลืมตาไม่ขึ้น โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้หมอตรวจ เอายามาหยอด 2-3 ครั้งก็หาย

 

 

 

 


115. โรคกระดูกอ่อน
โรคกระดูกอ่อนเกิดจากการขาดวิตามินดี เด็กคลอดก่อนกำหนดมักขาดวิตามินดีได้ง่าย แต่ในปัจจุบันถ้าคลอดที่โรคพยาบาลทางโรคพยาบาลจะให้ยาวิตามินรวมมากิน เด็กที่เป็นโรคกระดูกอ่อนจึงมีน้อยลง การกินวิตามินดี ควรระวังอย่าให้มากเกินกำหนด ไม่ควรเกินวันละ 400 หน่วยสากล เพราะวิตามินดี ถ้ากินมากเกินไปจะมีผลข้างเคียง ทำให้เบื่ออาหาร ปัสสาวะมากและคอแห้งมากผิดปกติ

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผง ในนมมีวิตามินดีผสมอยู่แล้ว จึงไม่เป็นโรคกระดูกอ่อน นอกจากนั้นแสงแดดยัง
ช่วยสร้างวิตามินดี คุณแม่ควรพาลูกถูกแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้าและเย็นจะช่วยป้องกันโรคกระดูกอ่อน

 

 

 

 


116. ตาเข (ตาเหล่)
บางครั้งเราจะสังเกตเห็นเด็กอายุ 3-4 เดือน ทำตาเข เด็กที่ตาเขมากๆ อาจเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเพิ่งมาเห็นเมื่ออายุ 3-4 เดือน มักตาเขเป็นบางครั้งเท่านั้น การที่เด็กทำตาเขเพราะยังไม่สามารถมองของสิ่งเดียวด้วยตาสองข้างพร้อมกันได้ เด็กทารกจะมีความสามารถนี้เมื่ออายุเกิน 6 เดือนไปแล้ว ดังนั้นถ้าคุณแม่เห็นลูกอายุ 3-4 เดือนทำตาเขเป็นบางครั้ง ก็อย่าทึกทักว่าลูกเป็นเด็กตาเหล่ และคุณแม่ยังไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้โตขึ้นก่อน ถ้าอายุเกิน 6 เดือน แล้วตาที่ยังไม่หายเข ค่อยพาไปปรึกษาหมอตา

 

 

 

 


117. กระดูกต้นขาหลุดจากข้อต่อตะโพกมาแต่กำเนิด

คนเรายืนได้ก็เพราะมีกระดูกต้นขารองรับกระดูกตะโพก (กระดูกเชิงกราน) อยู่ ตรงข้อต่อระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกตะโพกเราเรียกว่า ข้อต่อตะโพก (Hip joint) ถ้าหัวกระดูกต้นขาไม่เข้าไปอยู่ในจาน
กระดูกตะโพกอย่างเรียบร้อย เวลายืนขาจะเป๋โรคกระดูกต้นขาหลุดมาแต่กำเนิด คือ ข้อต่อตะโพกไม่เรียบร้อยมาแต่กำเนิด ทำให้กระดูกต้นขาหลุดจากกระดูกตะโพก

โรคนี้พบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายถึง 5 เท่า โรคนี้มักจะพบเมื่อพาเด็กไปตรวจร่างกายหมอจะจับเด็กนอนหงาย เปลือยกายท่อนล่างแล้วงอขาดูโดยจับเท้าทั้งสองข้างดันขึ้นไปให้ขาแยกจากกัน ถ้าข้อต่อปกติ ขาจะกางแยกจากกันได้เต็มที่ แต่ถ้าข้อต่อหลุดขาข้างที่หลุดจะไม่ค่อยแยกออก และเมื่อลองหมุนขาข้างนั้นดู จะได้ยินเสียงดังป๊อก คือ เสียงของหัวกระดูกต้นขาหลุดเข้าไปในจานกระดูกตะโพก

ตามปกติ หมอจะฉายเอ็กซเรย์ ดูว่าข้อต่อหลุดหรือเปล่า ถ้าพบว่าข้อต่อหลุดเมื่อตอนเด็กอายุประมาณ 3-4 เดือน หมอจะรักษาให้หายได้ก่อนเด็กจะเดิน โรคนี้ยิ่งพบเร็วก็ยิ่งรักษาให้หายเร็ว แต่เราจะไม่ฉายเอ็กซเรย์บริเวณนี้ให้เด็กอายุก่อน 3 เดือน เพราะจะมีผลต่อลูกอัณฑะหรือรังไข่ของเด็ก หมอที่ระวังมากๆ จะไม่ให้เด็กอายุก่อน 3 เดือนถ่ายเอ็กซเรย์
ดังนั้นถ้าคุณพบว่าลูกของคุณกางขาค่อนข้างลำบาก ควรใส่ผ้าอ้อมรูปสามเหลี่ยมให้ขากางออกจนกระทั่งอายุ 3 เดือน ถึงแม้เด็กจะอายุเกิน 3 เดือนแล้ว เราก็ไม่ควรฉายเอ็กซเรย์โดยไม่ป้องกันบริเวณอัณฑะและรังไข่ระหว่างที่ทำการรักษาข้อต่อตะโพกท จะต้องถ่ายเอ็กซเรย์เพื่อดูผล แต่ไม่ควรถ่ายเกิน 1 ครั้งใน 1 เดือน เพราะการถ่ายเอ็กซเรย์มากไป นอกจากมีผลต่ออวัยวะเพศแล้วยังทำให้เกิดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวอีกด้วย

โรคกระดูกต้นขาหลุดมาแต่กำเนิดนี้ จะมีคนเป็นประมาณ 4-5 คนในพันคนถ้าลูกคนแรกซึ่งเป็นหญิงเป็นโรคนี้โอกาสที่ลูกหญิงคนที่ 2 จะเป็นโรคนี้มีประมาณ 5% ถ้าเป็นชายประมาณ 1% ถ้าลูกคนแรกซึ่ง
เป็นชายเป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกชายคนที่ 2 จะเป็นมี 3% ถ้าเป็นหญิง 7%


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 


 

ข้อมูลสื่อ

25-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 25
พฤษภาคม 2524