• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อไรควรไปหาหมอ ไปที่ไหนดี ?


การเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเราทุกคนในโลก โดยไม่เลือกเพศ ฐานะ เวลา และสถานที่ เมื่อไม่สบาย ถ้าไม่ซื้อยาจากร้านขายยามากินเอง ก็คงต้องไปหากหมอ เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้อ่านจดหมายที่มีผู้เขียนไปลงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับ ความยุ่งยากในการเข้าคิวทำบัตร ที่แผนกผู้ป่วยนอกแล้ว ก็เกิดความรู้สึกอยากเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อแนะนำประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการไปหาหมอ วิธีเลือกสถานพยาบาลและการไปหาหมอแต่ละครั้ง เราน่าจะได้อะไรบ้าง (ที่ไม่ใช่เพียงยาเม็ดและยาน้ำเท่านั่น) ซึ่งหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่าน “หมอชาวบ้าน” ทุกคน

 

⇒ เมื่อไรที่เราควรจะไปหาหมอ
โดยทั่วไป เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกายหรือจิตใจ เราก็อยากไปหาหมอ เพื่ออปรึกษาหรือขอรับการตรวจรักษา ถ้าท่านผู้อ่านติดตาม “หมอชาวบ้าน” มาตลอด จะเห็นว่ามีความไม่สบายหลายอย่างที่เราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าเพียงแต่ให้ความสนใจ สังเกตตัวเองหรือเข้าใจธรรมชาติของความไม่ปกตินั้น ผู้เขียนขอเน้นโรคที่ผู้ป่วยมาตรวจรักษาบ่อยๆ ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น
2-3 โรค ดังนี้

1.โรคปวดหัว ทุกคนปวดหัวได้แม้แต่หมอเอง การปวดหัวอาจเกิดจากการใช้ความคิดมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานธนาคาร เกี่ยวกับบัญชี อาจเกิดจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นหรือเอียง อาจเกิดจากการคิดมาก นอนไม่หลับ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว หรือสามีไม่กลับบ้าน เป็นต้น โดยทั่วไป การปวดหัวที่มีสาเหตุความเครียดของประสาทนั้น เมื่อได้รับการพักผ่อนก็จะดีขึ้นเอง หรือบางครั้งอาจต้องกินยาแก้ปวดเม็ดสองเม็ดจึงหายโดยแก้ไขความเครียดที่เกิดจากการขุ่นมัวของจิตใจพร้อมกันไปด้วย ถ้าไม่หายหลังจากที่เราถามตัวเองและพิจารณาแล้วว่า ไม่ใช่เกิดจากความเครียดในการงานหรือจากปัญหาชีวิต เราจึงควรไปพบหมอเพราะอาการปวดหัวนั้นอาจเกิดจากโรคจริงๆซึ่งมีหลายอย่าง เช่นจากความดันโลหิตสูง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไซนัสอักเสบ เนื้องอกในสมอง เป็นต้น สรุปคือ ถ้าปวดหัว แล้วนอนพักไม่หาย ให้กินยาแก้ปวด (เช่น พาราเซตาม่อลหรือ แอสไพริน 2 เม็ด) ถ้าไม่หาย แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากความเครียดของประสาทและจิตใจ ก็ควรจะไปหาหมอ (ดูเรื่อง “ปวดหัว” ใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2)

2.โรคเจ็บหน้าอก สาเหตุของการเจ็บหน้าอกมีหลายอย่าง ตั้งแต่เจ็บกล้ามเนื้อเนื่องจากการใช้งานมากเกินไป จนเจ็บกระดูกซี่โครง เจ็บที่รอยต่อระหว่างกระดูกอกกับกระดูกซี่โครง เจ็บที่เยื้อหุ้มปอดและปอดบวม จนถึงการเจ็บหน้าอก เนื่องจากโรคหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน เป็นต้น

ทำอย่างไร เราถึงจะทราบว่า เจ็บหน้าอกแบบไหน จึงควรไปหาหมอ
ข้อแนะนำสำหรับอาการเจ็บหน้าอกที่ควรจะไปหาหมอ คือ

1. ก่อนเจ็บหน้าอก ท่านเป็นโรคเหล่านี้อยู่หรือไม่ คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โดยเฉพาะท่านที่สูบบุหรี่และสูงอายุการที่จะเป็นโรคเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตันเกิดได้ง่าย จึงควรระวังไว้ ถ้ามีอาการเจ็บอกขณะกำลังทำงาน หรือออกกำลังกาย ลักษณะเจ็บอก ปวดแน่น คล้ายมีคนเอามือไปบีบที่หัวใจ บางครั้งปวดร้าวไปที่แขนหรือคอ ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก อาจมีเหงื่อออก มือเท้าเย็นร่วม ถ้ามีอาการเหล่านี้จะต้องรีบปรึกษาหมอทันที (ดูเรื่อง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจขาดเลือด” ใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 12)

2. อาการเจ็บหนน้าอกที่เจ็บลึกอยู่ข้างใน ใช้มือคลำหาตำแหน่งที่เจ็บไม่ได้ (คือลองใช้นิ้วมือกดดูตามกล้ามเนื้อ,กระดูกซี่โครงแล้วไม่เจ็บ) บางครั้ง เจ็บร่วมกับการหายใจเข้าออกแรงๆ อาจมีไอและมีไข้ร่วม อาการที่กล่าวมานี้อาจเกิดจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ,การอักเสบของปอดหรือหลอดลมหรือมะเร็งของปอด ควรจะไปหาหมออาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากถูกกระแทรก ออกกำลังมากไปเกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการเจ็บของกล้ามเนื้อ และผิวหนังจากสาเหตุอื่นๆ (ลองทดสอบโดยการยกแขนขึ้นลง เอี้ยวตัวไปมา) อาจหายได้เอง โดยการพักการใช้งาน และลองกินยาแก้ปวด แอสไพริน หรือพาราเซตาม่อล ครั้งละ 2 เม็ดก่อน ถ้าไม่หายใน 2-3 วัน ค่อยไปหาหมอ

3. โรคปวดท้อง ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าเกี่ยวกับการใช้ภาษากันก่อน อาการเจ็บท้องประเภทหนึ่งที่มีการใช้คำเรียกผิดคือ อาการเจ็บท้องบริเวณลิ้นปี่บางครั้งมีคนเรียกว่า เจ็บยอดอก ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ระหว่างหมอกับคนไข้ วิธีที่ดีที่สุด กรณีที่แน่ใจว่าจะใช้ภาษาได้ถูกหรือไม่เวลาไปหาหมอ ควรเหล่าอาการพร้อมทั้งเอานิ้วชี้ไปยังตำแหน่งที่เจ็บให้หมอดูประกอบไปด้วย จะได้ไม่มีการเข้าใจผิด


ภายในช่องท้องมีอวัยวะอยู่หลายอย่าง เช่นกระเพาะอาหาร, ลำไส้, ตับ, ถุงน้ำดี ฯลฯ เมื่อมีแผลหรือการอักเสบเกิดขึ้นกับอวัยวะเหล่านี้ ก็แสดงออกมาเป็นอาการปวดท้องได้ทั้งสิ้น
โดยทั่วไป ถ้ามีอาการปวดท้อง ร่วมกับอาการไข้ คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้อง ร่วมกับอาการตัว, ตาเหลือง เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะต้องไปหาหมอทั้งสิ้นสำหรับคุณผู้หญิง อาการปวดบริเวณท้องน้อยร่วมกับอาการไข้ หรือขาดประจำเดือน หรือมีตกขาวกลิ่นเหม็น ล้วนเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรจะไปหาหมอ อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ก่อนหรือหลังอาหารร่วมกับอาการอืดแน่นท้องเรอหลังอาหาร ที่เรามักจะบอกว่ามีลมจุกเสียดแน่นขึ้น บางคนว่าแน่นไปถึงคอ หายใจไม่ออก เวลากินอาหารผิด หรือกินข้าวผิดเวลา
แล้วจะแสบท้องมาก อาการต่างๆ ดังกล่าว แสดงวามีการอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ส่วนต้น เราอาจลองช่วยเหลือตัวเองก่อนได้ โดยการกินอาหารให้เป็นเวลา อย่าให้ท้องว่าง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลมประเภทที่มีแก๊ส โดยดื่มนมแทน และกินยาลดกรด ดูก่อน (ดูเรื่อง “ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร” ในหมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 10) ส่วนใหญ่ของอาการดังกล่าวจะดีขึ้น แสดงว่าเราไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร ควรจะกินยาต่ออีกระยะหนึ่ง ร่วมกับการปฏิบัติตัวดังกล่าว แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่หายขาด จึงจะไปหาหมอ

 

⇒ การเลือกหมอหรือสถานพยาบาล
โดยทั่วไป โรคหรือความไม่สบายต่างๆ ที่เป็นกันอยู่เสมอ เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ หรืออาการปวดหัว ปวดตามตัว เจ็บท้อง ฯลฯ เป็นอาการเจ็บป่วยที่เราอาจช่วยเหลือตัวเองได้ หรือให้หมอตามสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านตรวจรักษาได้ และควรจะถือปฏิบัติตามนี้ เพราะเป็นการประหยัดค่ารถ และเวลากว่าการไปตรวจที่ีโรงพยาบาล หรือคลีนิคที่อยู่ไกลออกไป

ความเชื่อที่ว่า หมอคนนั้นเก่งกว่าหมอคนนี้ โรงพยาบาลใหญ่ดีกว่าโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลในกรุงเทพฯดีกว่าโรงพยาบาลต่างจังหวัดนั้น เป็นความเชื่อที่ค่อนข้างผิด เพราะว่า โดยลักษณะของการบริหารและงานที่รับผิดชอบของหมอแต่ละคน สถาน พยาบาลแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกัน และโรคหรืออาการต่างๆของคนไข้แต่ละคน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่นอาการปวดท้อง อาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในไต ไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ มะเร็งของลำไส้ ฯลฯ แต่มีอาการเหมือนกันคือปวดท้อง ฉะนั้นจึงไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า หมอคนนั้น หรือโรงพยาบาลนั้น รักษาโรคปวดท้องได้เก่งกว่าหมอคนนี้ หรือโรงพยาบาลนี้


สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย และคิดว่ามีอาการหนักจนถึงขั้นต้องหาหมอ คือไปหาหมอที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด อาจเป็น โรงพยาบาลอำเภอ, ศูนย์อนามัย, โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งส่วนมากของสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐบาล มักจะออกบัตรสำหรับผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงตั้งแต่เช้า ถ้าสถานพยาบาลแห่งนั้น เป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่มีคนไข้มาก เราก็ต้องไปเข้าคิวทำบัตรให้เช้าหน่อย แต่ในกรณีฉุกเฉิน เราย่อมสามารถไปขอพบแพทย์ได้ทุกเวลา

สรุป ข้อดีของการไปหาหมอหรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านคือ ประหยัดทั้งเวลา และเศรษฐกิจ ติดตามการรักษาได้ง่ายเพราะโรคหลายอย่าง รักษาครั้งเดียวไม่หาย หรือบางโรคเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น โรคที่ว่ามานี้ ต้องการการติดตามการรักษาที่สม่ำเสมอ จึงสมควรที่จะให้หมอ หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านดูแลรักษา

 

⇒ การไปพบหมอ
อย่างที่พูดมาก่อนแล้วว่า การที่เราจะไปพบหมอในแต่ละครั้งนั้น ในฐานะที่เป็นคนไข้ และมีความเจ็บป่วยที่ไม่สบายอยู่ ประวัติของโรค เป็นสิ่งที่สำคัญมากพอๆ กับหรือสำคัญกว่าตรวจร่างกาย ดังนั้น จงอย่าแปลกใจถ้าท่านจะถูกซักอย่างละเอียด
ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่มาหาหมอด้วยโรคปวดหัว คำถามที่หมอเกือบทุกคนจะถามท่าน คือ
-ปวดบริเวณไหนของศีรษะ
-เป็นมานานเท่าไร
-อาการตั้งแต่เริ่มเป็นถึงปัจจุบัน ปวดมากขึ้นหรือเท่าเดิม
-ก่อนหรือหลังปวดทุกครั้งมีอาการผิดปกติอื่นใดร่วมด้วย
-สายตาปกติดีหรือไม่
-เคยชักหรือไม่
-แต่ละครั้งที่ปวด ทำอย่างไรถึงจะหาย
-มีอาชีพอะไร
-กินยาอะไรอยู่
-ในครอบครัวมีใครเป็นแบบนี้บ้าง เป็นต้น
สรุป คำถามที่ท่านจะถูกถามอยู่เสมอ เมื่อไปหาหมอเกี่ยวกับโรคที่เป็น คือ
-เจ็บป่วยมานานเท่าใด
-การเปลี่ยนแปลงของโรคเป็นอย่างไร
-อาการนำมาก่อนการเจ็บป่วยมีหรือไม่
-มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ คือการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่น ปวดท้องทุกครั้ง ร่วมกับอาการตาเหลืองอาการตาเหลืองก็เป็นอาการร่วมนอกเหนือจากอาการปวดท้อง
-เคยไปตรวจรักษาที่ไหนบ้าง
-ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว และการเจ็บป่วยในอดีต
-อาชีพ
-สำหรับคุณผู้หญิง ประวัติเกี่ยวกับประจำเดือน เป็นสิ่งที่จะต้องถูกถามเสมอ

ก่อนที่จะไปตรวจทุกครั้ง มีสิ่งที่ควรปฏิบัติอยู่ 2-3 อย่างคือ
1.เสื้อที่สวมใส่ควรเป็นเสื้อแขนสั้น ซึ่งจะสะดวกเวลาวัดความดันโลหิต และได้ผลที่ถูกต้อง

2.สำหรับคุณผู้หญิง เสื้อและกระโปรงควรเป็นคนละท่อนกัน เพราะว่า ถ้าเป็นเสื้อกระโปรงติดกัน มักมีปัญหาเวลาตรวจ หน้าท้อง

3.เสื้อควรจะเป็นเสื้อติดกระดุม หรือซิปด้านหน้า สะดวกสำหรับการปลดเวลาที่จะมีการตรวจหัวใจ

 

⇒ ท่านจะได้อะไรบ้าง จากการไปตรวจแต่ละครั้ง
สิ่งที่ท่านควรจะได้ คือ คำวินิจฉัยโรค หรือคำอธิบายที่หมอหรือพยาบาลตัดสิน หลังจากการซักประวัติและตรวจร่างกายท่าน (ในบางกรณีอาจต้องตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือตรวจเพิ่มเติมอย่างอื่นก่อน) ท่านมีสิทธิ์ที่จะถามเพื่อจะได้รู้ว่าการเจ็บอก ปวดหัว ปวดท้อง ของท่านนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุคืออะไร ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร อาหารชนิดไหนที่ควรงด สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าได้หรือไม่ ยาอะไรที่ไม่ควรจะกินเอง โรคที่เป็นอยู่ติดต่อหรือไม่กรณีถ้าโรคติดต่อกันได้ ท่านในฐานะคนไข้จะต้องปฏิบัติ
ตัวอย่างไรจึงจะไม่เป็นการแพร่โรคให้แก่คนอื่น เป็นต้น เมื่อได้รับยามาควรจะถามให้แน่ว่า ยาแต่ละชนิดใช้กิน หรือทา หรือเหน็บ (ทางทวารไหนด้วย) ถ้าลืมใช้หรือไม่กินหรือทาตามเวลากำหนด จะให้ทำอย่างไรกินเพิ่มขึ้นหรือว่างดไปในมื้อนั้นๆ ยาแต่ละชนิดอาจมีผลเสียทำให้เกิดอันตรายได้หรือไม่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้สารต่างๆ ง่าย อาจเคยแพ้ยาเพนนิซิลลินมาก่อน ก็ควรจะบอกให้หมอทราบก่อน จะได้หลีกเลี่ยงยาประเภทนั้นๆ ไป และคำถามสุดท้ายคือ กินยาแล้วทั้งหายหรือไม่หาย จะให้มาพบอีกหรือไม่ นัดวันเวลาไว้ด้วย จะเป็นการดีมาก และจำไว้เสมอว่า การรักษากับหมอหรือสถานพยาบาลเดิมที่เคยดูแลรักษามาตลอดจะดีที่สุด เพราะในสถานพยาบาลแห่งนั้น จะมีบันทึกการเจ็บป่วยและการรักษาทั้งหมดอยู่ กรณีที่จำเป็นเช่น ย้ายที่ทำงานไปอยู่ต่างจังหวัด หรือต้องการเปลี่ยนหมอก็ควรจะขอจดหมายหนังสือส่งตัว หรือบันทึกเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการตรวจ การรักษาที่หมอ หรือสถานพยาบาลเดิมทำไว้ติดไปด้วย เพื่อที่หมอในสถานพยาบาลแห่งใหม่ที่เราจะไปติดต่อจะได้
ทราบถึงโรคและการเปลี่ยนแปลงที่เคยเป็นอยู่ก่อน และให้การรักษาต่อเนื่องได้ ไม่ต้องเริ่มต้นกันใหม่


หวังว่า การเจ็บป่วยคราวต่อไปของท่านจะได้รับความสะดวกในการไปติดต่อกับหมอและสถานพยาบาลดีกว่าที่เคยผ่านมา
 

ข้อมูลสื่อ

25-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 25
พฤษภาคม 2524
อื่น ๆ
นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ