• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อะเบท ทรายปราบยุง

 
“อะเบท” เป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดแมลงประเภทออร์แกนโนฟอสฟอรัส คอมปาวนด์พวกหนึ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้นำสารเคมีนี้ในรูปของทรายอะเบท คือ สารเคมีเคลือบบนเม็ดทรายละเอียด 1% (ทรายหนัก 99 กรัม มีตัวยาอยู่ 1 กรัม) มาใช้สำหรับควบคุมลูกน้ำยุงลายตามบ้านของประชาชน

 

⇒ ทำไมจึงต้องใช้อะเบท ?
เพราะต้องการกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือยุงกลางวัน ซึ่งเป็นตัวนำไข้เลือดออก ยุงเหล่านี้เพาะพันธุ์อยู่ตามตุ่มน้ำ และที่รองขาตู้กันมด ซึ่งยากที่จะป้องกันให้ยุงลงไปไข่ได้

 

⇒ถ้าไม่ใช้อะเบท จะกำจัดยุงกลางวันนี้ได้อย่างไร?
ต้องล้างภาชนะเหล่านี้ทุก 10 วัน เพื่อมิให้ลูกน้ำมีโอกาสออกมาเป็นตัวยุงและแพร่เชื้อไวรัสได้

 

⇒ มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะกำจัดลูกน้ำยุงกลางวัน ?
วิธีอื่นก็มี เช่น
1.ใส่เกลือแกงลงในขาตู้ในขนาด 2 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว
2.ใช้น้ำร้อนเดือด ใส่ลงในจานรองขาตู้ทุก 10 วัน
3.ปิดฝาตุ่มให้มิดชิดด้วยขาตุ่มที่มีขนาดพอดีกับปากตุ่ม และหมั่นตรวจดูทุกสัปดาห์ ถ้าพบลูกน้ำให้ล้างทิ้ง ถ้าจะเก็บน้ำฝนไว้นานๆ ให้ใช้พลาสติกคลุมและรัดปากตุ่มให้แน่น

 

⇒ อะเบท ดีอย่างไร ?
มีข้อดีหลายอย่าง คือ
1.เมื่อใส่ไปแล้ว จะป้องกันมิให้มีลูกน้ำเกิดขึ้นในภาชนะนั้นๆ นานประมาณ 3 เดือน โดยใช้ภาชนะนั้นๆ ใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำตามปกติ

2.สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่าการพ่นเคมีเฉลี่ยบ้านละประมาณ 125 กรัม ทุก 3 เดือน ปีละ 500 กรัม ตกราคาค่าเคมีประมาณ 25 บาทต่อปีต่อบ้าน

3.เป็นเคมีที่มีอันตรายน้อย ถ้าใช้ในขนาดที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้คือ ทรายอะเบท 1% ปริมาณ 1 กรัมในน้ำ 10 ลิตร หรือ 10 กรัม น้ำ 100 ลิตร ใส่ในน้ำดื่มน้ำใช้ จะไม่เป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์เลี้ยงแต่ประการใด

 

⇒ อะเบทมีข้อเสียหรือไม่ ?
มี อาทิ เช่น
1.เคมีนี้มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย เมื่อใส่แล้วปิดฝาไว้จะมีกลิ่น ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนแต่ถ้าเปิดฝาภาชนะไว้สัก 2 วันกลิ่นก็จะหายไปเอง

2.เคมีนี้ไม่ได้ฆ่าตัวยุง (ฆ่าแต่ลูกน้ำ) ดังนั้น ขณะที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ใช้เคมีนี้จะไม่ทันการต้องใช้เคมีอื่นพ่นจึงจะทำลายตัวยุงที่มีเชื้อไวรัสได้

3.แม้จะมีราคาถูก ถ้าเปรียบเทียบกับการพ่นแต่ถ้าเปรียบเทียบกับเคมีกำจัดลูกน้ำด้วยกันแล้ว“อะเบท” นับว่าเป็นเคมีที่แพง แต่ก็เป็นเคมีชนิดเดียวที่ปลอดภัย ใช้กับน้ำดื่มได้

 

⇒ มีเคมีอื่นที่ใช้แทนอะเบทหรือไม่ ?
มีเคมีอื่นซึ่งปลอดภัยมาก ราคาค่อนข้างแพงกำลังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยอยู่

 

⇒ จะซื้ออะเบทได้ที่ใดบ้าง ?
ปัจจุบันยังไม่มีวางขายในท้องตลาด แต่ท่านที่สนใจจะขอได้ที่สำนักงานกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโรคติดต่อและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ เทศบาลในจังหวัดนั้นๆ ตามแหล่งผู้มีรายได้น้อยทาง
กรุงเทพมหานครได้ส่งคนไปใส่ให้ตามบ้าน บางครั้งแจกให้กับเจ้าของบ้านแต่เป็นที่น่าเสียดายที่บางท่านไม่รู้จักคุณค่าของๆ นี้ จึงโยนทิ้งลงคลองไปก็มี

 

 

ข้อมูลสื่อ

26-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 26
มิถุนายน 2524
อื่น ๆ
พญ.บุญล้วน พันธุมจินดา