• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้สมุนไพร


มนุษย์เรารู้จักใช้พืชมาแต่โบราณกาล โดยใช้เป็นอาหาร เชื้อเพลิง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือในการดำรงชีพ ที่พักอาศัย และการบำบัดรักษาโรค นอกจากนั้นพืชยังช่วยดูดกรองอากาศพิษได้ด้วย ประเทศเราเป็นประเทศกสิกรรมมีพืชพันธุ์ธัญญาหารมากมาย ซึ่งพืชเกือบทุกชนิดมีฤทธิ์ทางการรักษามากบ้างน้อยบ้าง เราจึงน่าที่จะเลือกพืชบางชนิดง่ายๆ มาใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาอาการของโรคพื้นๆ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ท้องผูก หรืออื่นๆ แต่ถ้าเป็นโรคร้ายแรงก็ควรรีบไปหาหมอ


สมุนไพรส่วนมากมีฤทธิ์อ่อนไม่ค่อยเป็นพิษหรือมีอาการข้างเคียงมากเช่นยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรมีราคาถูกกว่ายาแผนปัจจุบันมาก หาง่าย ใกล้บ้าน ไม่ต้องซื้อ เพราะสมุนไพรเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่แล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะนำมาใช้เป็นประโยชน์


ก่อนที่เราจะรู้ว่าสมุนไพรชนิดใดรักษาโรคใด จะขอเสนอแนะวิธีการใช้สมุนไพรให้ทราบกันดังนี้

1.ควรเก็บสมุนไพรใช้ให้ถูกต้น เนื่องจากสมุนไพรมีชื่อพ้อง (ซ้ำ) กันมาก นอกจากนั้นยังมีชื่อท้องถิ่นที่เรียกแตกต่างกันออกไปอีกมากทำให้สับสนได้ การนำสมุนไพรมาใช้ผิดต้นนอกจากจะไม่มีผลทางการรักษาแล้ว บางชนิดยังอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ด้วย

2.ถ้าเป็นยารับประทาน ต้องใช้ให้ถูกขนาด ขนาดที่ใช้มีความสำคัญมากเพราะถ้าใช้ผิดขนาดอาจเกิดพิษได้

3.ส่วนที่นำมาใช้ ต้องใช้ให้ถูกส่วน เช่น ราก ต้น ใบ ผลแก่ ผลอ่อน หรือเปลือกเหล่านี้เป็นต้น

4.ต้องใช้ให้ถูกวิธี ตัวอย่างเช่น บางชนิดต้องใช้ต้นสด บางชนิดต้องใช้ต้ม เป็นต้น การนำมาใช้ผิดวิธีนอกจากจะไม่มีผลทางการรักษาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้

5.ต้องใช้ยาให้ถูกกับโรค เป็นต้นว่า ถ้าเกิดอาการท้องผูกต้องใช้ยาที่ช่วยระบายหรือถ่ายท้อง ถ้าไปใช้ยาที่มีฤทธิ์ฝาดสมานจะยิ่งทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น

6.ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความสะอาดของสมุนไพรที่ใช้ ตลอดจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการเตรียม ถ้าไม่สะอาดแล้วอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

7.ถ้าเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ต้องระมัดระวัง เช่น โรคผิวหนัง บิด ต้องระมัดระวังการติดต่อ ถ้าเป็นโรคผิวหนังต้องระมัดระวังความสะอาดของเสื้อผ้า ร่างกาย และห้ามใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นโรค สำหรับอาการท้องเดิน ควรระมัดระวังแมลงวันที่มาตอมอุจจาระซึ่งสามารถเป็นพาหะนำเชื้อได้ เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับวัณโรคหรือหวัดให้ระวังการไอ การจาม หรือเสมหะของคนไข้ตลอดจนอาหารและเสื้อผ้าของคนไข้เพราะสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้


สมุนไพรที่น่าใช้

1.ยาระบาย, ยาถ่าย
ชุมเห็ดเทศ
(ชุมเห็ดใหญ่)
ใช้ดอก 2-3 ข้อ ต้มจิ้มน้ำพริกเป็นยาระบาย (ถ้าธาตุอ่อน หรือช่อดอกใหญ่มากก็ใช้เพียง 1-2 ช่อ)

มะขามแขก
ใช้ฝัก 4-5 ฝัก (2 กรัม) ถ้าใช้ส่วนของใบก็ใช้ 1 หยิบมือ (2 กรัม) ต้มกับน้ำหนึ่งแก้วให้งวดเหลือครึ่งแก้วใช้กินเป็นยาระบายเหมาะกับคนสูงอายุ

สมอไทย (มะนะ, ม่าแน่, หมากแน่ะ)
ใช้ผลสุก 5-6 ผลต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ใช้น้ำประมาณ 1 ถ้วยแก้ว จะถ่ายหลังจากกินแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง

สมอพิเภก (สมอแหน, แหน, แหนต้น, แหนขาว, ลัน, ชิปะดู้)
ใช้ผลอ่อนจำนวน 2-3 ผล ต้มกับน้ำประมาณ 1 แก้วใส่เกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ


(ฉบับหน้าพบกับสมุนไพรที่เป็นยา เช่น ยาถ่ายพยาธิ, ยาแก้ท้องขึ้น-อืดเฟ้อ, ยาแก้ท้องเดิน ฯลฯ)


 

ข้อมูลสื่อ

27-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 27
กรกฎาคม 2524
ศ.ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ