• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หายใจดีมีสุข

 
เรื่อง “หายใจเพื่อสุขภาพ” โดย “รัก ธรรมชาติ” ในหมอชาวบ้าน ฉบับมกราคม 2524 ทำให้ผมคิดถึงเรื่องกายหายใจที่เคยทึ่งมาเมื่อหลายปีก่อน หลักเดียวกัน แต่ฝอยต่างกัน คิดว่าหากนำเสนอท่านผู้อ่านเพื่อสนับสนุนคุณ “รัก ธรรมชาติ” ก็น่าจะเกิดประโยชน์แต่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่เพียงใด ก็สุดแต่ท่านจะไตร่ตรองลองทำดู


ถ้าท่านอ่านแล้วเชื่อหรือไม่เชื่อ โดยไม่ลองทำ นอกจากจะผิดคำสอนพระพุทธเจ้าตามกาลามสูตรแล้ว ยังจะ “ไม่ได้เรื่อง”อย่างผมด้วย ผมลองหายใจยาวๆ ลึกๆ อยู่พักหนึ่ง แล้วก็หายเห่อลืมเลือนไป ถ้าผมจะไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นจอมคร้าน ทำอะไรจับจด (ไม่รู้จักจวก) ผมก็มีข้ออ้างว่า สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ แทนที่จะหายใจยาวๆ ลึกๆ บางทีกลับต้องกลั้นหายใจ หรือหายใจแขม่วๆ ด้วยเกรงจะได้รับ “มลากาศ (อากาศพิเศษ) ของเมืองเทวดามากเกินไป


เพื่อเป็นการผ่อนแรงให้บางท่านไม่ต้องเสียเวลาคิดมาก จึงขอเรียนว่าผมขโมยเรื่องนี้ของจอห์น เฟรเซียร์ จาก รีดเดอร์ส ไดเจสท์ฉบับกุมภาพันธ์ 2509 มา การเสนอเรื่องนี้ จึงมิใช่เป็นการ “โอ้อวดความรู้”ทั้งมิได้ อม หรือ คาย “ภูมิ” อย่างใดทั้งสิ้นเพราะเชื่อตามที่ราชบัณฑิตท่านว่าไว้ ภูมิ แปลว่า แผ่นดิน พื้นชั้น พื้นเพ ที่ดิน สง่าผ่าเผย โอ่โถง องอาจ สวยงาม

 

  


วิลเลียม พี.โนว์ลส์ แห่งลอนดอน ผู้มีอายุ 74 ปี (เมื่อ 2509) บอกว่า “สมัยผมยังหนุ่มเราหายใจกันดี เพราะเราทำงานหนัก….ทุกคนเดินมาก เราไม่ต้องหาวิธีออกกำลัง เพราะว่าเราจำต้องออกกำลังอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ เรานั่งกันมาก ฉะนั้นเราต้องรู้จักวิธีหายใจให้เหมาะกับความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป”

ในช่วง 30 ปี (ก่อน 2509) โนว์ลส์ “นักหายใจ” ได้สอนคนตั้งแสนให้รู้จักใช้ปอดอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่เป็นการสอนทางไปรษณีย์ แต่เขาก็มีสำนักงานแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เพื่อพบกับ “นักเขียน” ผู้มีปัญหายุ่งยาก จะได้ชี้แจงกันให้ชัดแจ้ง


เฟรเซียร์ไปหาโนว์ลส์เพราะแปลกใจที่มีผู้ยกย่องมาก แพทย์ผู้หนึ่งเขียนบอกว่า “วิธีการของท่านทำให้หลอดลมของผมไม่อัดเสบตลอดหน้าหนาว นับเป็นครั้งแรกใน 7 ปี” มีคำยืนยันทำนองเดียวกันนี้อีกมากราย

“หลักฐานต่างๆ ซึ่งยืนยันว่า ท่านได้ช่วยเหลือผู้ที่มีการหายใจบกพร่องมากเหล่านี้น่าชื่นชมจริงๆ “

เฟรเซียร์บอกโนว์ลส์ “สำหรับผู้ที่หายใจปกติล่ะ ? อย่างผมนี่ก็หายใจปกติดี ผมคิดว่างั้นนะ”

“อย่างคุณก็เห็นใช้ปอดราว 1 ใน 6 เท่านั้น” โนว์ลส์ตอบ ขณะจ้องดูเฟรเซียร์อย่างไตรตรอง

โนว์ลส์ร่างสูงใหญ่ แข็งแกร่ง ดูหนุ่มกว่าอายุจริงสัก 10 ปี เขาชี้แจงว่าแทบทุกคนหายใจตื้นๆราวนาทีละ 14-18 ครั้ง ส่วนเขาหายใจลึกๆ เพียงนาทีละ 4 ครั้ง และถ้าท่านทำตามที่เขาแนะ ไม่ช้าท่านก็จะหายใจเพียงนาทีละ 8 ครั้ง   

อ้าปาก หายใจออกให้มากที่สุด” เขาบอกเฟรเซียร์ “ทีนี้” เขาแนะต่อไป เมื่อลมหายใจเฟรเซียร์ใกล้หมด “ห่อริมฝีปากเป่าลมออกมา” เฟรเซียร์ทำตามแล้วก็เห็นจริงว่ามีลมค้างอยู่ในปอดอีกไม่น้อย “ที่เหลือค้างอยู่นั่นแหละ ลมหมักหมม มันทำให้เปลืองเนื้อที่ปอดไปเปล่าๆ ทำให้เนื้อเยื่อแถวที่มันเข้าไปหมักอยู่ขาดอ๊อกซิเจน ปอดจุอากาศได้เกือบ 3 ลิตร คนทำงานที่นั่งอยู่บนโต๊ะหายใจได้ราวครั้งละครึ่งลิตร หมายความว่า 5 ใน 6 ของปอดไม่ได้ทำงาน

”เขาบอกว่า การใช้ปอดให้ทำงานเต็มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ไม่ค่อยอ่อนเพลียนอนหลับสบาย ตื่นก็ง่ายไม่งัวเงีย และเมื่อฝึกให้หายใจดีแล้วจะช่วยลดการสูบบุหรี่ หรือเลิกได้เลย


การสูบบุหรี่ เป็นสิ่งทดแทนการหายใจอย่างหนึ่ง ถ้าผู้สูบบุหรี่หาใจเข้าน้อยก็จะทำให้อยากสูบบุหรี่มากถ้าการหายใจดีขึ้นก็จะลดการสูบบุหรี่ลง นักเรียนของผมร้อยละ 80 เลิกสูบบุหรี่หรือไม่ก็ลดการสูบลงมาก”
 

  


ขั้นแรกในการฝึกของเขาก็คือ ให้ลองทำดูว่าท่านสามารถร่นสะบักเข้าชิดกันได้มากเพียงใด ไม่ใช่ทำให้อกแอ่นหรือโปร่งออกมาได้มากแค่ไหน เขาเชื่อว่าน้ำหนักส่วนใหญ่ของปอดกดลงบนกะบังลมไม่ค่อยขยับขึ้นลงตามจังหวะการหายใจ การรั้งให้สะบักเลื่อนเข้าหากันจะทำให้ช่องอกขยายตัวทันที
วิธีที่จะรู้ความยาวของการหายใจออก คือหายใจเข้าให้เต็มที่แล้วอ่านออกเสียง จะใช้คำว่า “หมอชาวบ้าน” นี้ก็ได้ ลองดูว่าวันแรกหายใจหนหนึ่งอ่านได้แค่ไหน วันต่อไปทำอีก ค่อยๆ อ่านเพิ่มจำนวนบรรทัดโดยไม่หายใจเข้าเพิ่มเติม
วิธีลองพลังลมหายใจออก คือหายใจเข้าให้ลึก แล้วอ้าปากกว้าง (ไม่ใช่ห่อปาก) ปล่อยลมตรงไปที่ไม้ขีดติดไฟซึ่งถือไว้ห่างริมฝีปาก 3 นิ้วฟุต ถ้าไฟไม่ดับแสดงว่าปอดอ่อนแอ
เขาย้ำว่า การหายใจออกให้มากไม่เพียงจะระบายอากาศเสียออกจากปอดเท่านั้น ยังช่วยให้การหายใจเข้าลึกง่ายขึ้นด้วย

 


 

วิธีฝึกอย่างหนึ่ง คือ เวลาหายใจเข้าให้นับถึง 4 แล้วหายใจออกให้ยาวจนนับได้ถึง 12 แล้วค่อยๆ หายใจให้ยาวขึ้นๆ จนเวลาหายใจเข้านับได้ถึง 7 เวลาหายใจออกนับได้ถึง 21 ให้ทำขั้นละ 3 ครั้ง
คือหายใจเข้ายาวนับถึง 4 หายใจออกยาวนับถึง 12 สามครั้ง
เข้ายาวนับถึง 5 ออกยาวนับถึง 15 สามครั้ง
เข้ายาวนับถึง 6 ออกยาวนับถึง 18 สามครั้ง
เข้ายาวนับถึง 7 ออกยาวนับถึง 21 สามครั้ง

เฟรเซียร์ตระเวนลอนดอนทดลองกลเม็ดของโนว์ลส์ไปพลางและเห็นจริงคือ
-หายใจเข้าไห้เต็มที่แล้วกลั้นไว้เมื่อยกของหนัก จะรู้สึกว่าเบาขึ้น

-เมื่อขึ้นบันได ให้หายใจเข้าระหว่างขึ้นสองขั้น แล้วหายใจออกเมื่อขึ้นอีกสองขั้นต่อไป จะเหนื่อยน้อยลง

-ถ้าเหนื่อยจนหอบ ก็อย่ายับยั้ง หอบเข้า ครู่เดียวก็หายเหนื่อย

-ถ้าหนาวก็ทำอย่างเดียวกัน จะช่วยให้อุ่นขึ้น

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงพลังจากการหายใจ นักกีฬารู้จักแหล่งพลังสำรองที่นำมาใช้เมื่อเล่นกีฬาหนักๆ คือการหายใจลึกๆ แทนการหายใจตื้นๆ ความมุ่งหมายในการหายใจให้ลึกเป็นจังหวะก็เพื่อจะทำให้มีพลังสำรองนี้ไว้ใช้ได้เสมอ

 

   


เรื่องที่เขาสอนนี้เขาได้มาจากการเรียนรู้ของจริง เมื่อครั้งยังหนุ่ม หลังจากเป็นกะลาสีอยู่ 3 ปีก็มีอาการไอเรื้อรัง แพทย์ที่เมืองแมนเซสเตอร์แนะให้ไปอยู่ถิ่นที่อากาศไม่ชื้น เขาไม่มีเงินจะไปพักรักษาตัวในถิ่นที่เหมาะสมได้ เลยไปอยู่กับป้าที่มอนทรีออลในแคนาดา

ป้าบอกให้ไปหาหมอชื่อฮานิช (O.Z. Ha-nish) หมอบอกว่าเขาคงหายใจไม่ถูกวิธี

เขาแย้งว่า เขาหายใจปกติตามธรรมชาติเหมือนกับที่หัวใจเต้น

หมอชี้แจงว่า ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เราควบคุมการเต้นของหัวใจไม่ได้ แต่ควบคุมปอดได้และเราก็อาจใช้ปอดอย่างผิดๆ ได้เท่าๆ กับที่เราอาจใช้มันอย่างถูกต้อง

เจ้าหนุ่มฝึกหายใจลึกตามคำแนะนำของหมอ แล้วอาการไอก็หายไป


เขาเชื่อว่า การหายใจที่ถูกวิธีช่วยแก้ไขความไม่สบายที่เกิดจากโรคของทางเดินลมหายใจได้ มีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนความเชื่อของเขาอยู่มากเหมือนกัน

 

แต่เขาไม่ใช่หมอ แม้จะได้ช่วยคนจำนวนมากให้พ้นความทรมานจากโรค เขาก็ยัง ไม่คิดว่าตนเป็นหมอ ไม่ได้คิดจะสอนไม่ให้คนพึ่งแพทย์ กลับบอกว่า ผู้ป่วยด้วยโรคที่ทำให้การหายใจขัดข้องถ้าจะฝึกการหายใจ ต้องไปให้แพทย์แนะนำและดูแล

เขาพบจากเหล่านักเรียนของเขาว่า การหายใจถูกวิธีช่วยให้โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังทุเลาได้เกี่ยวกับโรคถุงลมปอดพอง เขาบอกว่า “ผมทราบว่าผู้ฝึกการหายใจกับผมซึ่งรวมทั้งแพทย์หลายสิบคน ได้ผลดีมาก ผู้ทำงานไม่ไหวหลายคนกลับทำงานได้ตามเดิม” นพ.อัลเบอร์ท ฮาสส์ แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ก็ได้รับรายงานการฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมปอดพองที่ทำงานไม่ไหวว่าได้ผลดีกว่าสองในสาม การฝึกหายใจมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการรักษาของเขา


เขาพูดน่าคิดว่า เราสนใจดูแลเครื่องยนต์ให้อากาศเข้าเพียงพอสำหรับการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ แต่กลับไม่ค่อยสนใจให้ร่างกายของตนเองได้รับอากาศดีและเพียงพอที่จะช่วยให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเราสดชื่นแข็งแรงเราสามารถหายใจให้เราอยู่ดีมีสุขได้


 

ข้อมูลสื่อ

28-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 28
สิงหาคม 2524
อื่น ๆ
สุมน ผลกานนท์