• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งและสารก่อมะเร็ง

 
 

อะไรทำให้เกิดมะเร็ง ?

มะเร็งมีแตกต่างมากมายหลายชนิด และเกิดจากสาเหตุต่างๆ กันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา สารที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ เรารวมๆ เรียกว่า “สารก่อมะเร็ง”

 

สารก่อมะเร็งได้แก่อะไรบ้าง ?

ได้แก่สารบางชนิดทั้งที่พบได้ในธรรมชาติและที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น รวมทั้งไวรัสบางชนิดและรังสีชนิดต่างๆ เราจะพบปะปนอยู่ทั่วไปในอากาศ น้ำ และอาหาร ทำให้มีโอกาสได้รับเข้าไปโดยการสัมผัสทางผิวหนัง การกิน หรือถูกฉีดเข้าในร่างกาย (ยารักษาโรคบางชนิด จัดเป็นสารก่อมะเร็งได้) แต่อย่างไรก็ดี อย่าวิตกกังวลจนเกินไปว่าสารทุกชนิดจะทำให้เกิดมะเร็งไปหมด และการที่จะหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งนั้น เป็นสิ่งสุดวิสัยที่จริงแล้วมีสารเป็นจำนวนน้อยเท่านั้นที่จัดเป็นสารก่อมะเร็ง สารเคมีส่วนใหญ่จะไม่มีฤทธิ์เป็นสารก่อมะเร็ง แม้จะอยู่ในสารพิษที่มีอันตราย

 

จะป้องกันการเกิดมะเร็งได้หรือไม่ ?

ได้ ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าทำให้เกิดมะเร็งในคน

 

ถ้าได้รับสารก่อมะเร็งเข้าไป นานเท่าไรจึงจะเกิดมะเร็งขึ้น ?

มะเร็งของคนเกิดได้ช้า ส่วนใหญ่กินเวลาราว 5 ถึง 40 ปี ภายหลังได้รับสารก่อมะเร็งแล้วจึงเกิดเป็นมะเร็งขึ้น ระยะเวลาที่นานเช่นนี้ทำให้เป็นการยากที่จะตรวจหาว่า สารใดบ้างเป็นสารก่อมะเร็งในคน

 

เรามีวิธีตรวจอย่างไรว่า สารใดทำให้เกิดมะเร็งได้ในคน ?

เป็นการยากที่จะทดสอบโดยตรง ส่วนใหญ่เราใช้ทำในสัตว์ทดลอง โดยให้สารที่สงสัยว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์และพบว่าต่อมาสัตว์นั้นๆ เกิดเป็นมะเร็งขึ้นจำนวนมาก แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับสารนั้น สำหรับในคนเราใช้สถิติที่พบว่าคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเหล่านั้นมานานปี จะเกิดมะเร็งขึ้นตาม
อวัยวะต่างๆ แตกต่างชัดเจนจากกลุ่มที่ไม่ได้รับสารนั้น อาศัยทั้ง 2 วิธีนี้ร่วมกันเราจึงสรุปได้ว่า ในขณะนี้มีสารอยู่เกือบ 30 ชนิด ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ในคน และมีอีกกว่า 200 ชนิด ที่มีหลักฐานแน่นอนว่าทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ แต่ในคนยังไม่พบหลักฐานชัดเจน

ช่วยยกตัวอย่าง สารก่อมะเร็งในคนที่สำคัญ พร้อมทั้งที่มาและชนิดของมะเร็งที่ทราบด้วย
ดูจากตารางที่ 1 และ 2 

ตารางที่1  ตัวอย่างสารก่อมะเร็งในคน ที่สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติยอมรับ 

  สารก่อมะเร็ง

ที่มา 

 ทางได้รับ

 อวัยวะที่เกิดมะเร็ง

ก.ที่ได้จากอาหารหรือยา

 

1. สารพิษอะฟล่าหรืออะฟล่าท้อกซิน (Aflatoxin) 

 

 

 

อาหารที่มีราบางชนิดขึ้นที่พบมากได้แก่ ถั่วลิสงบด , ข้าวหมาก, เนย, ถั่วเหลือง ,พริกแห้ง หัวหอมและกระเทียมแห้งที่มีราดำขึ้น

 

 

 

กิน, หายใจ

 

 

 

 

 

ตับ

2.ไนโตรซามีน( Nitrosamine) 

อาหารที่มีสารไนเตรท ไนไตรท์ปนอยู่มาก เช่น อาหารหมักดองหรือใส่ดินประสิว, แหนม ไส้กรอก ,กุนเชียง, หมูยอ ปลากระป๋อง และเนื้อกระป๋อง ในผักผลไม้ที่ใส่ปุ๋ยไนเตรตมากๆ  

 กิน

 ตับ,ปอด,ลำไส้

 3.ไซโคลฟอส( Cyclophospamind)

ยารักษามะเร็งหรือโรคไตบางชนิด  

กิน ,ฉีด 

 

กระเพาะปัสสาวะ 

 

 4.เมลฟาแลน( Melphalan) 

ยารักษามะเร็ง 

กิน ,ฉีด 

อวัยวะสร้างเลือด  

5.ไดเอลธิลสติลเบสตรอล(Diethyl stibestrol) 

ฮอร์โมนที่เติมให้หญิงในหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการแท้งบุตร(ขณะนี้เลิกใช้แล้ว) 

 กิน

มดลูกและช่องคลอด

ข.ได้รับจากงานอาชีพ,โรงงานอุตสาหกรรมและหรือปนมาในสิ่งแวดล้อม

 

1. สารประกอบที่มีสารหนู
( Arsenic compound)

 

 

 

 

 

 

โรงงานที่เกี่ยวข้อง,ยาฆ่าแมลงและวัชพืชบางชนิด,โรงงานกลั่นน้ำมัน

 

 

 

 

 

หายใจ,กิน,ผิวหนัง

 

 

 

 

 

ผิวหนัง,ปอด,ตับ

2.แอสเบสตอส( Asbestos) 

โรงงานที่ทำสารนี้,โรงทอผ้า,ใยแก้วกันความร้อน,อู่ต่อเรือ 

หายใจ,กิน 

 ปอด,ลำไส้

3.เบนซิดีน (Benzidine) 

โรงงานผลิตสี,ผลิตยาง,โรงทอผ้า.โรงย้อมผ้า 

กิน,หายใจ,ผิวหนัง 

กระเพาะปัสสาวะ 

 

4.สารเคมีแนฟธิลามีน
( 2-Naphthylamine) 

โรงงานผลิตสี,ผลิตยาง,โรงทอผ้า.โรงย้อมผ้า 

กิน 

กระเพาะปัสสาวะ 

5.สารเคมี NN-Bis( 2-chloroethyl)
-2 Naphthylamine

โรงงานผลิตสี,ผลิตยาง,โรงทอผ้า.โรงย้อมผ้า 

หายใจ,ผิวหนัง,กิน 

กระเพาะปัสสาวะ 

6.สารเคมี
Bis chloromethyl ether 

โรงงานสังเคราะห์สารโพลิเมอร์ สารเคมีดังกล่าว, สาร(พลาสติค ),สารเรซิน

หายใจ 

ปอด 

7.สารเคมี 
Chloromethyl-methyl ether

โรงงานสังเคราะห์สารโพลิเมอร์ สารเคมีดังกล่าว, สาร(พลาสติค ),สารเรซิน 

 หายใจ

 ปอด

8.แก๊ซมัสตาด 
Mustard gas

โรงงานอุตสาหกรรม 

หายใจ 

 ปอด-หลอดเสียง

9.ไวนิล คลอไรด์
( Vinyl chloride)

โรงงานสังเคราะห์พลาสติค( polymer) 

หายใจ,ผิวหนัง 

ตับ-สมอง-ปอด 

10. เขม่า( Soot)

      น้ำมันดิน( tar)

      น้ำมันเครื่อง(Oil)

คนงานปั๊มน้ำมัน,ราดยางถนน,เหมืองแร่หรือถ่านหิน,โรงถลุงแร่,โรงงานกลั่นน้ำมัน,โรงทอผ้า,คนงานคุมเครื่องจักรต่างๆ 

หายใจ,ผิวหนัง 

ปอด-ผิวหนัง 

 

ตารางที่ 2

ตัวอย่างสารก่อมะเร็งอื่นๆที่พบแน่นอนว่าทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ สำหรับในคนแม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนแต่ก็สมควรจะหลีกเลี่ยง 

สารก่อมะเร็ง 

 ที่มา

 ทางได้รับ

 อวัยวะที่เกิดมะเร็ง

 1.สีผสมอาหาร
( Aze dyes)

สีบางชนิดที่นอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุขยอมรับ 

กิน 

ตับ,ต่อมน้ำเหลือง 

2.สารพิษในลูกปรง
( cycasin) 

พืชดังกล่าว 

 กิน

ตับ,ไต 

3.ดี.ดี.ที 

มีปะปนในอาหาร พืช ผัก ผลไม้ 

 กิน

ตับ 

4.อาหารเผาไหม้เกรียม

( Pyrolyate product) 

อาหารที่ปิ้งเกรียม,ทอดหรือย่างจนไหม้ไฟ 

กิน,หายใจ 

ตับ 

5.บุหรี่ 

สารอินทรีย์หลายชนิดที่เกิดมีอาการขณะเผาไหม้ 

กิน,หายใจ 

ปอด 

6.สารกัมมันตรังสี 

อาชีพ,การงาน,อุบัติเหตุ 

ผิวหนัง 

มะเร็งเม็ดเลือดขาว 

7.หมาก( พลู,ยาสูบ,ปูน) 

จากสารดังกล่าว 

ผิวหนัง,เยื่อบุ 

อวัยวะในช่องปาก 

8.สีย้อมผมหลายชนิด 

อาชีพ,การย้อมผมบ่อยๆ 

ผิวหนัง 

 ผิวหนัง

 

สารก่อมะเร็งทำให้เกิดมะเร็งได้อย่างไร ?

นี่เป็นเรื่องทีซับซ้อนและมีอยู่หลายทฤษฎีที่เชื่อถือกันอยู่ในปัจจุบันโดยสรุปเข้าใจว่า สารก่อมะเร็ง ซึ่งอาจจะเป็นชนิดที่ออกฤทธิ์ก่อมะเร็งโดยตรง (direct carcinogen) หรือ ออกฤทธิ์โดยอ้อม (indirect carcinogen or procacinogen) คือสารที่อยู่นอกร่างกายไม่มีฤทธิ์ก่อมะเร็งใดๆ แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนแปลงหรือปลุกฤทธิ์โดยขบวนการเคมีในร่างกายให้มีฤทธิ์ก่อมะเร็งขึ้น สารทั้ง 2 พวกนี้ จะไปทำปฏิกิริยาโดยตรงกับอณูของ ดี เอ็น เอ (DNA เป็นสารถ่ายทอดกรรมพันธุ์ อยู่ใน
เซลล์ของร่างกาย
) ทำให้โครงสร้างและหรือการทำงานของดี เอ็น เอ เปลี่ยนแปลง มีผลให้การควบคุมและถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์เสียไป ทั้งหมดนี้จะร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกร่างกายของแต่ละบุคคล เกิดผลลัพธ์ทำให้มีเซลล์ผิดปกติแบ่งจำนวนขึ้นมาอย่างมากมายกลายเป็นมะเร็งไปในที่สุด

 

สารก่อมะเร็ง ถ้าได้รับจำนวนน้อยมากๆ จะยังเกิดมะเร็งได้ไหม ?

ได้ แต่พบในอัตราที่ต่ำลงไป จากการศึกษาในขณะนี้พอตอบได้ว่า ถ้าได้รับสารก่อมะเร็งจำนวนมาก หรือได้เข้าไปรวมๆ กันหลายชนิด จะมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงมาก สรุปได้ว่า ทุกขนาดของสารก่อมะเร็ง แม้จะน้อยที่สุดก็ตาม จะมีฤทธิ์ก่อมะเร็งได้เสมอ

 

จะมีทางหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งได้อย่างไร ?

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีความรู้ก่อนว่า สารก่อมะเร็งนั้นจะพบจากที่ใดบ้าง ถ้าดูจากตารางสารก่อมะเร็งแล้วจะพบว่าทางได้รับมี 2 ทางใหญ่ๆ คือ โดยปะปนมาในอาหารและยาบางชนิด ซึ่งถ้าทุกคนตระหนักว่าอาหารประเภทใดมีสารก่อมะเร็งปะปนอยู่มาก การหลีกเลี่ยงก็คงจะทำได้ง่ายขึ้น เช่น ควรงดอาหารที่มีผงเชื้อราบางชนิดมาก (ตัวอย่างอาหารดูในตารางที่ 1 ก.)อาหารหมักดองหรือใส่สีอันตรายเจือปน, อาหารปิ้ง เผาไหม้เกรียมอยู่นานๆ รวมทั้งงดบุหรี่ด้วย

อีกทางหนึ่งได้จากงานอาชีพ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมเคมี เครื่องจักรต่างๆ ในหัวข้อนี้ต้องการความร่วมมือหลายๆ ฝ่ายตั้งแต่ระดับรัฐบาล, ชุมชน, เจ้าของโรงงานนั้น จนถึงระดับบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสกับสารก่อมะเร็งเหล่านี้ ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อหามาตรการป้องกันที่ปลอดภัยแก่ส่วนรวมและส่วนบุคคลโดยเข้มงวด

 

นอกจากหลีกเลี่ยงแล้ว จะมีทางกำจัดสารก่อมะเร็งได้หรือไม่ ?

ได้ ถ้าสารเหล่านั้นตรวจพบนอกร่างกาย เราอาจทำลายได้โดยขบวนการเคมีหรือฟิสิคส์ต่างๆ จนหมดฤทธิ์ก่อมะเร็งได้ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งแก่เรา ก็คือการลดฤทธิ์หรือทำลายสารก่อมะเร็งที่ร่างกายบังเอิญได้รับเข้ามาแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งขึ้น วิธีการดังกล่าวยังไม่มีใครอธิบายได้แน่ชัดลงไปพอพูดรวมๆ ได้ว่าเกิดจาก

ก. ภูมิต้านทานของร่างกายต้องปกติ มีภาวะโภชนาการที่ดี กินอาหารถูกส่วน รวมทั้งไวตามินครบถ้วน

ข. สารทำลายสารก่อมะเร็งและสารต่อต้านสารมะเร็ง

ปัจจุบันมีการศึกษาสารทั้ง 2 กลุ่มอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้ พบว่ามีสารสกัดในพืชและผักหลายชนิดรวมทั้งไวตามินบางตัว (เช่น เอ,บี, ซี, อี) สามารถทำลายฤทธิ์ของสารก่อมะเร็งได้ แม้จะเป็นการศึกษานอกร่างกาย แต่ก็เป็นความหวังว่า ในอนาคตเราอาจค้นพบสารที่จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้


การป้องกันการเกิดมะเร็ง กำลังได้รับการศึกษาและวิจัยอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นการคุ้มค่าอย่างที่สุด ถ้าเราสามารถป้องกันคนสุขภาพดี มิให้เป็นโรคมะเร็งขึ้นมาได้ การตรวจพบสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ พร้อมทั้งรายละเอียดเพื่อให้เราทราบวิธีหลีกเลี่ยงได้นั้น นับเป็นก้าวหนึ่งของความสำเร็จในการที่จะป้องกันการเป็นมะเร็งได้อย่างแน่นอนต่อไป อย่าได้หมดกำลังใจไปเสียก่อนว่า อะไรๆ ที่อยู่รอบตัวเรานี้ทำให้เกิดมะเร็งไปเสียหมดเพียงแต่เราพยายามหลีกเลี่ยงหรือลดจำนวนสารก่อมะเร็งที่อาจได้รับในแต่ละวันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่านก็จะมีโอกาสอยู่ห่างจากโรคมะเร็งได้ไกลแสนไกล และขออวยพรให้ทุกท่านที่สนใจและปฏิบัติตามจงประสบโชคดีตลอดไป

ข้อมูลสื่อ

30-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 30
ตุลาคม 2524
อื่น ๆ
ผศ.พญ.นีโลบล เนื่องตัน