• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุ

ข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงอายุ
การเกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมชาติ ทางการแพทย์เราสามารถให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเกิดและการเจ็บ ได้อย่างมากมาย แต่ความแก่และความตายนั้น ทางการแพทย์ช่วยไม่ได้มากนัก อันนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่เราควรเตรียมใจว่า วันหนึ่งข้างหน้า เราต้องแก่ชรา เจ็บ และต้องตายไปโดยที่เอาอะไรไปไม่ได้…สังขารเป็นของไม่เที่ยง”

คุณหมอศรีจิตรา ได้เอ่ยให้เราฟัง…เพื่อย้ำให้เราฝึกทำใจเสียจะได้ไม่ทุกข์…..ทำให้สติที่ลืมแก่ลืมตายของเรากลับมาอยู่ที่ตัว…. หลังจากนั้นเราก็ได้คุยกับท่านเกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ ว่า เอ…ทำไมคนสูงอายุถึงมีปัญหาอย่างนี้ ในที่สุด ก็ทำให้เรารู้ตัวเองขึ้นมาอีกว่า สุขภาพผู้สูงอายุไม่ใช่เกี่ยวข้องแต่ความเสื่อมตามอายุขัยอย่างเดียว ยังเกิดจากการไม่ได้ระมัดระวังรักษาตัวเองตั้งแต่เยาว์วัยอีกด้วย….เป็นจริงเช่นไร ก็เชิญท่านผู้อ่านติดตาม…….
 

ทำไมผู้สูงอายุไม่ชอบแสงสว่างมาก

คนสูงอายุโดยมากสายตาจะเริ่มเสื่อม และแก้วตาหรือเลนส์จะมัว ปกติไม่ที่มีแสงสว่างมากม่านตาจะหรี่เล็กลง สายตาที่เสื่อมอยู่แล้วของผู้สูงอายุจึงทำให้การเห็นภาพต่างๆ พร่ามัวมากขึ้น ในที่ไม่สว่างม่านตาขยายกว้างขึ้น ผู้สูงอายุจึงสามารถมองเห็นไดถนัดขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรจัดแสงในห้องให้สว่างจ้ามากนัก ให้สว่างกำลังดี

เรื่องเกี่ยวกับตานั้น ผู้สูงอายุมักเป็นต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของวัยตามธรรมชาติ ต้อกระจกมักไม่เป็นปัญหาถึงแก่ชีวิต สามารถแก้ไขได้ด้วยการรักษาโดยเอาเลนส์ที่ขุ่นเต็มที่ออกและใส่แว่นหรือเลนส์ช่วยเกี่ยวกับความเสื่อมของสายตาก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุบ่อย เช่น ทำให้สะดุดของหกล้มกระดูกหัก เป็นต้น
 

ทำไมผู้สูงอายุจึงกระดูกหักง่าย

เกิดจากความเสื่อมของกระดูก กระดูกมีการสร้างใหม่กับการสูญเสียเมื่อสูงอายุ หลายสิ่งหลายอย่างก็เสื่อมไป เราเชื่อว่า ฮอร์โมนเพศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างและการสูญเสียของกระดูก เมือฮอร์โมนเพศลดลง การสร้างกระดูกก็น้อยลง การสูญเสียมีมากขึ้น แคลเซี่ยมเป็นตัวสำคัญในการสร้างกระดูก กระดูกจะสูญเสียแคลเซี่ยม (หินปูน)ไป โดยจะเริ่มจากภายในทำให้กระดูกเปราะ เมื่อหกล้มก็เกิดกระดูกหักได้ง่าย จุดที่พบกระดูกมีปัญหาได้บ่อยก็คือกระดูกตะโพก กระดูกต้นขา กระดูกข้อมือ และกระดูกสันหลังที่ทำให้ปวดหลัง

ผู้สูงอายุไม่ควรดื่มเหล้า เพราะเหล้าจะทำให้สูญเสียแคลเซี่ยมได้มากทำให้กระดูกผุเปราะและเสื่อมเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามมีบางคนอายุสูงมาก รักษาตัวดี ระมัดระวังตัว ปัญหาเรื่องกระดูกก็น้อย
 

เหตุใดจึงว่า คนสูงอายุลืมบ่อย

อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นของธรรมชาติ ทุกอย่างย่อมเสื่อมไปตามวัย เพียงแต่เราจะระมัดระวังตัวให้เสื่อมเร็วหรือช้ากว่าที่ควรอย่างไร

เมื่อสูงอายุ เซลล์ของสมองก็เริ่มเสื่อม จำนวนเซลล์ลดลง เซลล์มันตายไปและไม่เกิดใหม่ นอกจากเซลล์บางส่วนตายแล้ว บางส่วนจะแฟบลงด้วย ทำให้สมองเสื่อม บางทีก็จำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะความจำที่ผ่านมาหยกๆ อ่านใหม่ๆ แต่ความจำเมื่อเก่าๆ เมื่อเด็กๆ แม่นมาก เล่าให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกได้
การที่จะไม่ให้สมองเสื่อมเร็วนั้น ผู้สูงอายุจึงควรมีกิจกรรม ไม่ควรแยกตัว ไม่ควรเก็บตัว ควรพยายามทำงานให้เป็นประโยชน์กับสังคม ควรมีการพบปะผู้ใหญ่ในอายุใกล้เคียงกันบ้าง การที่ได้มีโอกาสใช้สมองบ่อยๆ จะทำให้เพิ่มความจำได้
 

ที่ว่าคนสูงอายุมักมีปัญหาหัวใจและหลอดเลือดควรทำอย่างไร

ผู้สูงอายุมักมีหลอดเลือดแข็งได้ง่าย เมื่อหลอดเลือดแข็งตัวเลือดไปเลี้ยงสมองและส่วนต่างๆ ได้ไม่ดี หัวใจก็ต้องทำงานหนัก ทำให้หัวใจไม่ดีไปด้วย

เขาว่าเป็นเพราะพอสูงอายุขึ้นจะกินอาหารมาก ออกกำลังน้อย ทำให้ไขมันเพิ่มขึ้นและอ้วน

เรื่องอาหารนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ ถ้ากินอาหารน้อยไปก็จะขาดอาหาร กินมากไปก็จะทำให้อ้วนเกิน เราจึงควรระมัดระวังตั้งแต่เยาว์วัย อย่าให้อ้วนหนักเพราะทำให้เกิดโรคได้

พอสูงอายุก็ควรเลี่ยงอาหารพวกไขมันจากสัตว์และกะทิ พวกอาหารที่มีรสหวาน ควรกินข้าวที่สีไม่มาก พวกข้าวอนามัย หรือข้าวซ้อมมือ กินน้ำให้ได้ประมาณ 2 ลิตร ใน 1 วัน (รวมถึงน้ำที่อยู่ในอาหารด้วย) ถ้าไตเราปกติ ปลาเป็นที่มาของโปรตีนที่ดีจากสัตว์พวกถั่วเช่น เต้าหู้ น้ำถั่วเหลืองเป็นโปรตีนที่ดีจากพืช ไม่ควรกินอาหารรสจัด อาหารที่ย่อยยากเพราะระบบการย่อยในผู้สูงอายุจะไม่ค่อยดี ควรกินผักและผลไม้ที่ไม่หวานและมีกาก ถ้าเป็นน้ำผลไม้ไม่ควรหวานนัก ถ้ากินได้และฟันดี อยากแนะนำให้กินผลไม้พวกฝรั่ง เขาว่าจะไปทำให้กรดไขมันและกลูโคสดูดซึมเข้าลำไส้ได้น้อย

ต่อมาก็เรื่องการออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้หัวใจเต้นช้าลง และหัวใจบีบตัวส่งเลือดออกมาได้มากและแรงด้วย ที่ว่าหัวใจเต้นช้านั้นหมายความว่า หลังจากเราออกกำลังกายสม่ำเสมอจนอยู่ตัวแล้ว ชีพจรของเราจะเต้นช้าลงกว่าเมื่อก่อนที่เราไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะมีส่วนส่งเสริมให้สามารถออกกำลังได้ดีเมื่อถึงวัยสูงอายุ ถึงแม้เมื่อสูงอายุจะออกกำลังกายได้น้อยลงเพราะความเสื่อมตามวัย แต่หัวใจและหลอดเลือดยังทำงานได้ดี นอกจากนั้นการออกกำลังยังเป็นการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ เป็นการป้องกันโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือด การออกกำลังยังช่วยในการขับถ่ายได้ดีด้วยเช่น ท่านอนยกขาขึ้นแบบถีบจักรยานบนอากาศ จะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องดีขึ้น ลดปัญหาเรื่องท้องผูก
 

อารมณ์มีผลอย่างไรต่อผู้สูงอายุ

อารมณ์ เช่น โกรธ เกลียด เครียด กังวล มีผลต่อร่างกาย เมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น จะมีฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตออกมา ทำให้ใจสั่น ใจเต้น หน้าซีด หน้าแดง หน้าเขียว ฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงด้วย นอกจากนั้นความเครียดยังมีผลเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น
 

ทำไมถึงว่าผู้สูงอายุต้องระวังเบาหวาน

อันที่จริงไม่ใช่สูงอายุแล้วค่อยระวัง ต้องระวังตั้งแต่เยาว์วัยเลยเช่น ถ้าเรามีพันธุกรรมเบาหวานอยู่ คือ พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ญาติใกล้ชิดใครคนใดคนหนึ่งเป็นเบาหวาน เราจะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ ในกรณีนี้เราจึงควรรักษาสุขภาพไม่ให้อ้วนเกินไป และหลีกเลี่ยงของหวานไว้เป็นดี และก็อย่ามีลูกมาก 2 คนก็พอ เพราะตอนตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนออกมาทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ในต่างประเทศได้ศึกษาว่า เมื่ออายุสูงขึ้น น้ำตาลจะสูงขึ้นตามลำดับทั้งนี้เพราะเนื้อเยื่อไม่สามารถที่จะตอบสนองฮอร์โมนที่เรียกว่า อินซูลิน ที่ออกจากตับอ่อนได้เพียงพอ อินซูลินนั้นมีหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นสารกลัยโคเจน เพื่อเก็บไว้ตามกล้ามเนื้อ ตามตับ ที่ไต(เป็นจำนวนน้อย) แล้วเก็บไว้ใช้ในยากยาก เมื่อเนื้อเยื่อไม่ตอบสนองต่ออินซูลินจึงทำให้น้ำตาลสูงในเลือด
 

ทำไมคนสูงอายุมักลุกแล้วหน้ามืดเป็นลม

อันนี้เกี่ยวกับการปรับตัวของความดันโลหิต
เราใช้วิธีความดันเลือดขณะนอนและขณะยืนได้ ถ้าขณะที่นอนราบแล้วลุกขึ้นยืน ความดันตัวบนลดลงกว่าเดิม 30 หรือตัวล่างลดลงกว่าเดิม 20 ตัวอย่างเช่น

ถ้านอนอยู่วัดความดันได้
ตัวบน 180
ตัวล่าง 90

เมื่อนั่งหรือยืนวัดความดันได้
ตัวบน 150
ตัวล่าง 70
ให้ถือว่าเกิดความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่า ให้ระมัดระวัง

จะแก้ความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่าได้อย่างไร

ก็ขอให้นอนอย่าราบนัก เวลานอนหนุนหมอนให้หัวสูงขึ้น หรือยกหัวเตียงให้สูงขึ้น
เวลาลุกขึ้นฝรั่งเขาแนะนำว่าให้ลุกขึ้นนั่ง 2 นาที แล้วค่อยเอาเท้าลงยืน 2 นาที แล้วค่อยๆ ก้าวเดิน เพื่อให้ทุกอย่างปรับตัวให้เข้าที่ก่อน

ถ้าเราต้องมาจับเวลาว่ากี่นาทีจึงจะลุกจะยืนคงประสาทกิน เราใช้กำหนดจิตดีกว่า เหมือนพระพุทธเจ้าท่านว่า “เราทำอะไรอยู่ ให้รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่” แล้วค่อยๆ ทำช้าๆ รู้ตัวไว้ ผู้สูงอายุบางคนบอกว่าร่างกายไม่ทำตามความคิดเลย ใจมันจะก้าว ยังไม่ทันเตรียมมันเวียนหัวก็จะล้ม เมื่อล้มก็กระดูกหัก อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะขาดการออกกำลังกาย ถ้าหากได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ เรื่องความดันตกจะไม่เกิดขึ้นเพราะเท่ากับได้ฝึกฝนอยู่เสมอ
 

ผู้สูงอายุชายและหญิงบางคนมีปัญหาเรื่องปัสสาวะบ่อย ถ่ายไม่หมดเป็นเพราะอะไร

ในชายโดยมากมักเป็นเพราะต่อมลูกหมากโต
ในหญิงมักเป็นเพราะมดลูกหย่อน
ที่ว่าทำไมผู้ชายต่อมลูกหมากโตนั้น ยังหาสาเหตุไม่พบ เพียงแต่เชื่อว่าฮอร์โมนเพศมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ต่อมลูกหมากโต

อาการปัสสาวะบ่อยและไม่หมดนั้น เป็นเพราะต่อมลูกหมากที่โตมาเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้ถ่ายปัสสาวะลำบาก จึงมีปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้กระเพาะปัสสาวะและไตอักเสบได้

สำหรับหญิงที่มดลูกหย่อนนั้นโดยมากมักเป็นผู้ที่มีลูกมาก
เมื่อมดลูกหย่อนจะดึงให้กระเพาะปัสสาวะหย่อนไปด้วย ทำให้มีปัญหาปัสสาวะบ่อยและมีปัสสาวะค้าง ถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้กระเพาะปัสสาวะและไตอักเสบได้เช่นเดียวกันจึงควรไปปรึกษาหมอและตรวจเสีย หากมีอาการดังกล่าวเรื้อรังผิดสังเกต
 

ในหญิงสูงอายุบางคนเป็นโรคที่ต้องผ่าตัดมดลูกกับรังไข่ออกจะมีผลอย่างไรต่อสุขภาพ

ถ้าเป็นผู้สูงอายุแล้วไม่มีผลอย่างไรต่อสุขภาพ เพราะเมื่อหมดประจำเดือนรังไข่และมดลูกก็ไม่มีระโยชน์อะไร โดยเฉพาะมดลูกมักเป็นเนื้องอกทำให้เกิดปัญหาด้วยซ้ำ

แต่หากก่อนถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วเป็นโรคที่ต้องตัดรังไข่ (ตามปกติตัดรังไข่ก็จะตัดมดลูกออกด้วย) ทำให้บางครั้งเกิดอาการร้อนวูบวาบตามเนื้อตามตัว บางครั้งเหมือนมีอะไรไต่ตามตัว อารมณ์ซึมเศร้า ความคิดอ่านอาจไม่สดใสได้ เพราะขาดฮอร์โมนเพศไปทันที
 

ระยะเปลี่ยนวัยของผู้ชายและผู้หญิงคืออะไร

อันที่จริงคนเรามีระยะเปลี่ยนวัยอยู่หลายครั้งตามธรรมชาติตั้งแต่เกิดแล้ว จากทารกเป็นเด็ก จากเด็กเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ

แต่ระยะเปลี่ยนวัยของผู้ใหญ่ที่กล่าวนี้คือ ระยะที่ฮอร์โมนเพศเริ่มลดลง ในผู้หญิงก็คือระยะใกล้หมดประจำเดือนราวๆ อายุ 45 ปี ในผู้ชายนั้นค่อยๆ เสื่อมลงโดยขึ้นกับแต่ละบุคคล

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ แต่ถ้ามีสภาพจิตที่รับสภาพต่างๆ ได้ดี ก็จะรู้สึกเรื่อยๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ให้เห็นได้ชัด ช่วงเวลาการปรับตัวนั้นยากที่จะบอก บางคนอาจไม่ต้องปรับ บางคนอาจต้องใช้เวลาปรับตัวหนึ่งถึงสองปี

ถึงแม้ระดับฮอร์โมนเพศจะลดลง แต่ความรู้สึกทางเพศก็ยังคงมีปกติ สำหรับผู้หญิงแล้วโดยมากจะเป็นคนใจน้อยมากขึ้น จำเป็นที่ทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งลูกหลานต้องทำความเข้าใจจุดนี้ของผู้ใหญ่เหมือนกัน
เรื่องของจิตใจเป็นของสำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับบุคคล พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ในหญิงชายเราควรเตรียมไว้ก่อนที่จะสูงอายุ เตรียมป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยากด้วย
 

ฝากถึงผู้อ่านสักนิด

ขอให้ช่วยกันคงความเป็นไทยในสังคมไทยของเราด้วยการอยู่กันอย่างพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายาย อย่าทิ้งกันอย่างชาติที่เจริญแล้ว เอาใจใส่ซึ้งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 


 

ข้อมูลสื่อ

36-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 36
เมษายน 2525
อื่น ๆ
พญ.คุณหญิงศรีจิตรา บุนนาค