• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียงของผู้สูงอายุ

 

 

 

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเสียงจะต่างจากเดิมอย่างไร

ผู้สูงอายุเสียงอาจจะสั่นพร่าและค่อยลง จนบางครั้งทำให้ความชัดเจนของคำพูดลดลงได้

 

การเปลี่ยนแปลงของเสียงในวัยสูงอายุ เกิดจากอะไร

ส่วนใหญ่จะเกิดจาก
1. การเสื่อมหน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง (Physiological Involution of Central Nervous System)

2. การเปลี่ยนแปลงของกล่องเสียงและหลอดลม กล้ามเนื้อและเยื่อเกี่ยวกับพันจะเหี่ยวลง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ช่องคอหรือหลอดคอหรือคอหอย (pharynx) จะใหญ่ขึ้นและตัวกล่องเสียง หรือ หลอดเสียง (Larynx) จะอยู่ต่ำลงมา

3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวเคมีของกล่องเสียง

4. การเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน

5. การเปลี่ยนแปลงของปอด หลอดลม และบริเวณเหนือกล่องเสียง
คนสูงอายุมีความยืดหยุ่นของโครงสร้างต่างๆ ที่ประกอบเป็นกล่องเสียงและทรวงอกลดลง เพราะถูกกระดูกอ่อนของกล่องเสียงและทรวงอกจะกลายเป็นกระดูกแข็ง ทำให้ระดับเสียงพูดต่ำลง

การกลายเป็นกระดูกแข็งของโครงสร้างของกล่องเสียงในผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างกันมาก คือในผู้ชายจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 16 ปี ส่วนผู้หญิงอาจช้ากว่าเล็กน้อย

   

การกลายเป็นกระดูกแข็งของกล่องเสียงเริ่มที่ขอบหลังของกระดูกอ่อนธัยรอยด์รวมทั้งด้านบนและด้านหลังของกระดูกอ่อนไครคอยด์ด้วย ต่อมาก็ขยายตัวไปที่ขอบด้านล่างและด้านหน้าของกระดูกอ่อนธัยรอยด์ นั่นคือการกลายเป็นกระดูกแข็งของกระดูกอ่อนธัยรอยด์และกระดูกอ่อนไครคอยด์จะเริ่มจากด้านหลังมายังด้านหน้า และในขณะเดียวกันกระดูกอ่อนอรีทีนอยด์จะกลายเป็นกระดูกแข็งด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนในผู้สูงอายุ จะมีผลต่อเสียงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เสียงจะห้าวขึ้น

ส่วนทางด้านปอดนั้น ความจุหายใจ (vital capacity) จะลดลงและมีปริมาตรอากาศที่เหลืออยู่ (residual volume) เพิ่มขึ้น คนสูงอายุจะหายใจเร็วขึ้น อัตราส่วนของเวลาระหว่างการหายใจเข้า ต่อ การหายใจออก จากเดิม 1 ต่อ 1 ถึง 1.5 ก็จะเปลี่ยนไปด้วย

จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเหล่านี้ ทำให้ขอบสายเสียง (vocallips) หย่อนลง บางรายจะมีการอ่อนแรง (atrophic change) ของสายเสียงด้วยก็ได้ เส้นเสียงอาจจะหย่อนไปบางส่วน โดยเฉพาะบริเวณ 1 ใน 3 ของส่วนท้ายของสายเสียง เนื่องมาจากการทำงานของกล้ามเนื้อสายเสียงหย่อนลง เสียงพูดจึงแหบพร่า แบบเสียงเหนื่อยหอบ (breathiness) บางทีเสียงก็จะสั่นแบบอ่อนแรง ระดับเสียงจะต่ำลง จะเปลี่ยนระดับเสียงพูดให้สูงขึ้นหรือต่ำลงไม่ได้มาก ความก้องกังวานในกล่องเสียงและช่องคอเปลี่ยนไป ทำให้ความหนักแน่นของน้ำเสียงความกังวานของเสียงและความยาวของประโยคคำพูดลดลง

นอกจากนี้ การที่คนสูงอายุหายใจเร็วขึ้น จึงทำให้คนสูงอายุพูดได้เสียงสั้นๆ และค่อย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของกล่องเสียงของผู้สูงอายุแต่ละคนมีเกณฑ์ปกติของการเปลี่ยนแปลงต่างกันไปได้

 

ด้านอารมณ์และจิตใจ มีผลต่อเสียงพูดหรือไม่

มีผลต่อเสียงพูด เช่น ความเศร้าโศก ว้าเหว่ ผิดหวัง หรือสภาพว่างงานหลังจากครบเกษียณอายุทำให้ผู้สูงอายุพูดเสียงต่ำๆ หรือการพยายามคงสภาพเสียงที่ตัวเองชอบไว้เช่น ผู้ชายก็พยายามที่จะใช้เสียงห้าวเพื่อแสดงอำนาจหรือความเป็นลูกผู้ชาย และผู้หญิงก็พยายามใช้เสียงต่ำๆ กระซิกกระซี่ (sexy voice) ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นสำหรับวัยนี้แล้ว เหล่านี้ ทำให้ผู้สูงอายุเค้นเสียงลึกๆ ในลำคอ (throaty) และเหนื่อยง่าย หรือเสียงสั่น ไม่มีเสียงได้

 

ถ้าเสียงเปลี่ยนเกิดจากอารมณ์และจิตใจจะทำอย่างไร

ผู้สูงอายุควรได้รับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด เพื่อให้สามารถปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสียงพูดที่เหมาะสมกับเพศและวัยได้อย่างสบาย ช่วยให้ไม่เกิดความตึงเครียดอันจะนำไปสู่โรคทางกายได้

 

จะแก้ไขรักษาเสียงของผู้สูงอายุได้หรือไม่

ได้ การแก้ไขรักษาในกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคใดๆ ก็ต้องใช้วิธีการฝึกเสียงพูดให้ถูกต้อง
ในกรณีที่มีอาการของโรคเช่น ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ต้องอาศัยการรักษาในด้านหน้าที่การทำงานของปอดด้วย

การให้การรักษาทางยา เช่น ไวตามิน หรือฮอร์โมนนั้น ยังไม่ทราบผลแน่นอน
การใช้อุลตร้าซาวด์ (ultra sound) ในการกระตุ้นความตรึงตึงตัวของกล้ามเนื้อในผู้ที่มีเส้นเสียงอ่อนแรง (atrophic cord) เป็นครั้งคราว อาจช่วยให้เสียงที่ผิดปกติดีขึ้นได้บ้าง

 

ความผิดปกติของเสียงพูดที่เกิดจากโรคมีไหม

มี เช่น เสียงแหบจากโรคมะเร็งของกล่องเสียง หรือเสียงสั่นจากโรคพาร์กินสัน ควรได้รับการรักษาโดยตรงจากแพทย์
 

ข้อมูลสื่อ

36-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 36
เมษายน 2525
อื่น ๆ