• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาระบาย


แหม ! อึดอัดจังเลย ไม่ถ่ายมาตั้ง 3 วันแล้ว”

“เฮ้อ ! กลุ้มใจ๊ กลุ้มใจ ท้องผูกทั้งปี”

“ท้องผูกอีกแล้ว แถมยังเป็นริดีดวงด้วย”

หลายท่านคงเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาบ้างแล้ว และคงซาบซึ้งกับ “อาการท้องผูก” เป็นอย่างดี เพราะท้องผูก นอกจากจะทำให้อึดอัด, แน่นท้อง, อุจจาระแข็ง ทำให้ลำบากต้องออกแรงเบ่งมากแล้ว ถ้าเป็นเรื้อรังยังอาจทำให้เกิดริดสีดวงทวารได้ด้วย


⇒ อะไรที่เรียกว่า “ท้องผูก”
โดยทั่วๆ ไป คนเราจะถ่ายอุจจาระวันละครั้ง แต่ถ้าคุณเคยถ่ายทุก 2 หรือ 3 วันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่ต้องวิตกกังวลไป ถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ ไม่ต้องไปขวนขวายหายาระบายมากิน เพียงแต่พยายามดื่มน้ำให้มาก อย่าปล่อยให้อุจจาระแข็ง และถ่ายตามปกติอย่างที่เคยทำต่อไป แต่เมื่อไรก็ตามที่เราไม่ถ่ายตามปกติอย่างที่เราเคยถ่าย มิหนำซ้ำอุจจาระยังแข็ง ต้องออกแรงเบ่งมาก และมีการจุกเสียดแน่นท้องด้วย แสดงว่าอาการท้องผูกได้ถามหาคุณเข้าแล้ว


⇒ ถ้าเกิดอาการท้องผูกแล้วเราจะทำอย่างไรกันดีล่ะ
การหายาระบายมากินทันทีมันก็ง่ายอยู่หรอก เพราะยาระบายนั้นมีขายกันอยู่ทั่วไป และราคาไม่แพงนัก (ถ้าใช้ไปนานๆ ก็หลายสตางค์เหมือนกัน) แต่นั่นไม่ใช่การแก้ไขที่ถูกต้องเลย
การแก้ไขประการแรกที่ควรจะทำคือ หาสาเหตุที่ทำให้ท้องผูก เช่น กินอาหารที่มีกากมากเกินไป ดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้อุจจาระแห้งแข็ง มีเรื่องวิตกกังวลมากจนไม่อยากถ่าย หรือบางทีอาจจะกำลังกินยาบางอย่างที่ทำให้ท้องผูกได้เช่น ยาอะโทรปีน ยาลดอาการเกร็งของลำไส้, ยาแก้ท้องเสียบางตัว ถ้ากินมากเกินไปก็ทำให้ท้องผูกได้ เช่น โลโมติล, อิโมเดียม เป็นต้น
การรักษาที่ถูกวิธีคือ การแก้ไข้ที่ต้นเหตุ

 

⇒ เมื่อไรเราจึงควรใช้ยาระบาย
ยาระบายควรใช้ในกรณีต่อไปนี้
ท้องผูกขณะตั้งครรภ์
เป็นริดสีดวงทวาร
คนชราที่กล้ามเนื้อท้องอ่อนแรง
คนไข้ที่ไม่สามารถกินอาหารพวกผัก, ผลไม้
- ใช้ร่วมกับยาถ่ายพยาธิ เพื่อช่วยให้ขับพยาธิออกมาได้หมด

ถ้าถึงคราวจำเป็นที่จะต้องกินยาระบายแล้ว ควรใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อหายแล้วต้องเลิกยาทันที
ไม่กินยาพร่ำเพรื่อ เพราะจะติดเป็นนิสัย แม้แต่ยาระบายที่เราคิดว่าเป็นยาประจำบ้านนั้น ก็อาจเป็นอันตรายได้เหมือนกันถ้าใช้ไม่เป็น

ยาระบายที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีอยู่หลายประเภท ควรเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของแต่ละคน เราสามารถแบ่งตามสรรพคุณการออกฤทธิ์ ได้ดังนี้

1. ยาประเภทเพิ่มปริมาณอุจจาระ
ถ้าอาหารที่เรากินมีกากน้อย หรือในกรณีที่ไม่สามารถกินอาหารที่มีกากได้มากนัก ขอแนะนำให้กินวุ้น, เม็ดแมงลัก (ที่ทำเป็นขนมใส่กะทิ) หรืออาจจะกินมะละกอในปริมาณมากๆ พวกนี้จะทำให้อุจจาระมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แล้วไปกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวอยากถ่าย ยากลุ่มนี้ใช้ปลอดภัยกว่าอย่างอื่น ทำให้ถ่ายเหมือนธรรมชาติ จะออกฤทธิ์อย่างนุ่มนวล แต่ช้าหน่อยต้องใช้เวลา 1-2 วัน จึงจะเห็นผล
ขณะนี้มีข่าวว่าจะมีการผลิตเม็ดแมงลักออกมาเป็นยาระบายโดยตอกเป็นเม็ด (มียาของต่างประเทศที่ออกฤทธิ์คล้ายเม็ดแมงลัก แต่ราคาแพงกว่ามาก จึงไม่แนะนำให้ใช้)


2. ยาประเภทหล่อลื่นทำให้อุจจาระนุ่ม

ถ้าอุจจาระแข็งมากและแห้ง ควรกินยาประเภทนี้ เช่นยาระบายพาราฟิน, ยาพวกนี้ไม่มีผลต่อลำไส้โดยตรง แต่จะทำให้อุจจาระเหลวขึ้น และช่วยหล่อลื่นทำให้ถ่ายง่าย ควรกินยาก่อนนอนจะดีที่สุด ไม่ควรกินยาหลังอาหารและไม่ควรกินประจำ เพราะจะทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน คือ วิตามินเอ, ดี, อีและเค นอกจากนี้ยาอาจสำลักเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบได้ จึงต้องระวัง ไม่ควรให้เด็กเล็กๆ กินยานี้เพราะอาจสำลักยาได้ง่าย
ขนาดใช้ ยาระบายพาราฟิน 1-2 ช้อนโต๊ะ ก่อนนอน
 

3. ยาถ่ายพวกเกลือ
เกลือนี้ไม่ใช่เกลือแกงที่เราใช้ปรุงอาหาร แต่เป็นพวกโซเดียมซัลเฟต (ดีเกลือไทย), แมกนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือฝรั่ง), มิลค์ ออฟ แมกนีเซียม (Milk of Magnesia) และยาสวนทวารที่เป็นน้ำเช่น ฟลีท เอนนีมา (Fleet enema) ยาพวกนี้เมื่อกินแล้วจะดูดซึมน้อย มักจะอยู่ในลำไส้ แล้วดูดน้ำไว้ใกล้ๆ ตัว ทำให้มีน้ำในลำไส้มากกระตุ้นอยากให้ถ่าย ยาพวกนี้ไม่ควรใช้กับคนไข้โรคไตและโรคหัวใจ เมื่อกินยาแล้วควรดื่มน้ำตามมากๆ
ขนาดใช้
ดีเกลือไทย ครั้งละ 5-15 กรัม
ดีเกลือฝรั่ง ครั้งละ 10-30 กรัม
มิลค์ ออฟ แมกนีเซียม ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ
และดื่มน้ำตามมากๆ

 

4. ยากระตุ้นลำไส้โดยตรง
ยาพวกนี้ไประคายเคืองแลพกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวน้ำและเกลือแร่จะถูกขับออกมามาก ทำให้อ่อนเพลียได้ง่าย

ยาพวกนี้ได้แก่ น้ำมันละหุ่ง, ใบและฝักมะขามแขก, เนื้อในฝักคูน, ใบและดอกชุมเห็ดเทศ, ยาฝรั่งได้แก่ บิซาโคดิล มีชื่อการค้าว่า ดัลโคแลกซ์ (Dulcolax) และฟีนอล์ฟทาลีน (ที่มีขายตามร้านเช่น บรุ๊คแลกซ์) ยาจะขับถ่ายอุจจาระออกมาจนหมดตลอดลำไส้ใหญ่ทำให้หลังจากนั้นอีก 1-3 วันจะยังไม่มีอุจจาระมา บางคนอาจเข้าใจผิดว่าท้องผูกอีก ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่

ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ลำไส้ไม่ทำงานตามปกติ จนเกิดติดเป็นนิสัยต้องใช้ยาถ่ายอยู่เรื่อย จึงควรใช้เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ เท่านั้น และควรหยุดใช้เมื่อหายแล้ว ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์, คนที่ลำไส้อุดตัน, มีแผลในลำไส้หรือเป็นริดสีดวงทวาร
ขนาดใช้
มะขามแขก ใช้ใบหรือฝัก ต้มเอาน้ำดื่ม
น้ำมันละหุ่ง กอนครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ยานี้อกฤทธิ์เร็ว ประมาณ 2-6 ซม.
เนื้อในฝักคูณ ใช้ประมาณ 4 กรัม หรือ 1 ฝัก ต้มใส่เกลือดื่มก่อนนอน
ใบชุมเห็ดเทศ ใช้ครั้งละ 12 ใบย่อย ต้มกับน้ำดื่ม 1 แก้ว
ดอกชุมเห็ดเทศ ลอกกินกับน้ำพริก ระบายท้องดี
บิซาโคดิล ผู้ใหญ่ 2 เม็ด (เม็ดละ 5 มก.) เด็ก 1 เม็ด (เม็ดละ 5 มก.) ยาออกฤทธิ์ภายใน 6-8 ชม.
ยาเหน็บกลีเซอรีน มีทั้งขนาดของผู้ใหญ่และของเด็ก ยาออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาที


การจะเลือกใช้ยาระบายชนิดใด ขึ้นกับลักษณะอาการท้องผูกที่เราเป็นและสุขภาพร่างกายรวมทั้งโรคที่กำลังเป็นในขณะท้องผูกประกอบด้วย ยาระบายทุกชนิด ไม่ควรใช้เมื่อมีอาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ และพึงจำไว้เสมอว่า อย่าใช้ยาระบายโดยพร่ำเพรื่อ มิฉะนั้น ท่านจะต้องเป็นทาสยาระบายไปตลอดชีวิต
 

ข้อมูลสื่อ

36-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 36
เมษายน 2525
ยาน่าใช้
ภก.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี