• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นๆ หายๆ ฝีคัณฑสูตร

มารดาพาบุตรอายุ 14 ปีมาหา บอกว่าเป็นฝีที่ก้น เป็นๆ หายๆ มาปีกว่าแล้ว โดยเล่าให้ฟังว่าจะมีหัวฝีเล็กๆเกิดที่ข้างทวารหนัก มีอากรเจ็บๆ คันๆ เป็นมากก็ปวด พอฝีแตกหนองไหลออกมาแล้วก็หายไป แต่หายไม่ขาด ประมาณ 2-3 เดือนก็เป็นอีก เป็นตรงที่เก่าที่เป็นมา 3-4 ครั้งแรกจึงพามาหาหมอ


แพทย์ตรวจดู พบว่าฝีเพิ่งจะแตกและหายไปใหม่ๆ ยังมีหนองไหลออกมาทางรูที่แตกเพียงซึมๆ อาการอักเสบและเจ็บปวดหายไปเกือบหมดแล้ว หมอใช้เหล็กปลายทู่แยงดู พบว่าทะลุเข้าทวารหนัก และมีทางติดต่อมาจากทวารหนัก (รูปที่ 1)


 

 

อีกคนหนึ่ง พี่น้องพากันมาหลายคน เป็นหนุ่มใหญ่ อายุ 27 ปี เป็นฝีที่ข้างทวารหนักมา 3-4 วันแล้ว วันนี้ปวดมาก จะนั่งจะยืนหรือจะเดินก็ไม่ถนัด จึงพามาหาหมอ
แพทย์ตรวจดูพบว่ามีฝีอยู่ข้างทวารหนัก หัวฝีนิ่ม กดเจ็บ (รูปที่ 2)

ที่ยกตัวอย่างมาสองเรื่องนี้เป็นฝีเรื้อรังที่เกิดใกล้กับบริเวณทวารหนัก บางทีมีหัวเดียว บางทีก็มีหลายหัว แตกออกมาเป็นหนอง ทั้งเจ็บทั้งคัน ชาวบ้านเรียกรวมๆ กันว่าเป็นฝีคัณฑสูตร ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดหรือมีอาการปรากฏมาให้เห็นอย่างไร สาเหตุของโรคนี้มีต้นตอมาคล้ายกัน

 

 


ìสาเหตุ
โดยมากเกิดจากท้องผูก อุจจาระแข็ง เยื่อบุลำไส้ส่วนล่างอาจเป็นแผลจากสาเหตุอะไรก็ตาม ทำให้เศษอุจจาระและเชื้อเข้าไปแทรกอยู่ได้ และการอักเสบก็เกิดขึ้น เชื้อโรคอาจลุกลามไปตามต่อมขับน้ำมูกของเยื่อบุผนังลำไส้ส่วนล่างนี้ ตราบใดที่หนองยังระบายออกมาได้ การอักเสบก็จะไม่รุนแรง ถ้าทางระบายปิด เช่น ปากแผลหาย แต่กลับแผลยังมีเชื้อโรคอยู่ ฝีก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น และค่อยๆ ลามออกมาที่ผิวหนัง เพราะเป็นส่วนที่มีแรงต้านการขยายตัวของฝีน้อยที่สุด ถ้าเกิดในส่วนลึก กว่าจะขยายตัวออกมาทางผิวหนังก็กินเวลานาน และมีความเจ็บปวดทรมานมาก ฝีมักจะใหญ่ ผู้ป่วยก็มักจะมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร ร่วมกับการเจ็บปวดบริเวณทวารหนักและก้น

ถ้าฝีเกิดในส่วนตื้นคือปากทวารความเจ็บปวดจะรุนแรง เพราะผิวหนังมีประสาทรับความรู้สึกเจ็บมาก และเป็นอยู่ไม่นาน ผู้ป่วยก็ต้องรีบมาหาแพทย์


ในรายที่ไม่ได้มาหาแพทย์ เนื่องจากไม่กล้ามาก็ดี หรือไม่มีแพทย์จะให้หาก็ดี ฝีอาจแตกออกเอง เมื่อหนองไหลออกมาเสียได้ การเจ็บปวดก็ทุเลาลง และถ้าหนองออกหมดโรคก็หายแต่กว่าจะหมดก็ทรมานอยู่หลายวัน โรคชนิดนี้ปล่อยให้ฝีแตกเองมักหายไม่ขาด เพราะเมื่อหนองออกหมดปากแผลที่ผิวหนังก็ปิด แต่แผลอีกปากหนึ่งที่อยู่ในทวารหนักยังไม่เปิด เชื้อโรคและสิ่งสกปรกก็เข้ามาได้เรื่อยๆ ต่อมาไม่ช้าไม่นานอาการดังกล่าวก็อาจเกิดซ้ำอีกได้ เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ ไป บางคนปากแผลภายนอกไม่มีวันปิด กลายเป็นรูให้หนองไหลเรื้อรังอยู่เป็นแรมเดือนหรือแรมปี( รูปที่3 )

 

 


ìเมื่อเป็นแล้วจะทำอย่างไร ?
ถ้าเป็นฝีที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังในรายที่สองนั้น คงหนีการผ่าเอาหนองออกไม่พ้น พูดถึงการผ่า ผู้ที่เป็นคงสะดุ้งโหยง ลำพังแต่ฝีก็เจ็บจะตายอยู่แล้ว นี่ยังโดนผ่าอีก แล้วการผ่าฝีนั้น บางคนก็คว้าน คือเอาครีมแยงเข้าไปควักเอาหนองออก บางคนเคล้น คือบีบไล่หนองออก เสร็จแล้วก็ไม่พ้นยัดหมุดตอนนี้แหละสำคัญ คือการเอาผ้าก็อซผืนยาวๆ ยัดเข้าในโพรงฝี เท่านั้นยังไม่พอ วันรุ่งขึ้นต้องกลับมาดึงเอาผ้าก๊อซออก น้ำตาร่วงเลย หลายคนจนร้องคับห้องทำแผล แพทย์ปัจจุบันนี้ไม่ทำอย่างนั้นแล้ว ก่อนผ่าตัดต้องทำให้หมดความรู้สึกเสียก่อน เช่น ฉีดยาชา หรือถ้ามีความจำเป็นในบางกรณีก็วางยาสลบกันเลย การพ้นด้วยน้ำยาเอซิล คลอไรด์ ซึ่งสมัยหนึ่งนิยมใช้กัน สมัยนี้เลิกแล้ว เพราะพบว่าไม่ได้ช่วยอะไร การฉีดยาชาบริเวณที่มีการอักเสบ ต้องมีเทคนิคและข้อควรระวังหลายอย่าง คงไม่เหมาะที่จะกล่าวละเอียดในที่นี้ เมื่อชาหรือหมดความรู้สึกแล้ว ผู้ป่วยจะค่อยสบายขึ้นมาก พูดจาพอรู้เรื่องขึ้น ถ้าแพทย์ไม่รีบร้อนจนเกินไป จะทำอะไรได้สบายเลย ก่อนผ่าตัดควรจะลองใช้ปากคีบจับดูที่หัวฝีว่าผู้ป่วยไม่เจ็บแล้วจริงๆ จึงจะกรีดมีดลงไป ควรกรีดจากใกล้รูทวารออกมาด้านนอกให้ลึกจนถึงถุงหนอง ให้กว้างตลอดหัวฝี เมื่อทำดังนี้แล้วหนองจะไหลออกมาเอง โดยมากหนองจะมีกลิ่นเหม็นมากไม่ควรใช้อะไรไปแยงหรือถ่าง หรือรีด เคล้นเอาหนองออก ถ้าฝีหัวใหญ่อาจใช้สายยางสวนขนาดเล็ก (นัมเบอร์ 8 หรือ 10) สอดเข้าไปในโพรงหนองและใช้กระบอกฉีดยา ฉีดน้ำยาฮัยโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ 10 วอลลูม เปอร์เซ็นต์ เข้าไปล้างเอาหนองออกให้มากที่สุดหรือจนสะอาด ไม่ยัดหมุดยัดก็อซอะไรทั้งสิ้น อาจใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก็อซปิดไว้ ถ้าเป็นผู้หญิงอาจคาดผ้าอนามัยได้ สะดวกดี โดยมากเมื่อหนอง
ออกแล้ว และแพทย์ไม่ได้แยงไม่ได้เคล้นให้ซ้ำมาก อาการปวดจะหายไปเกือบหมด แทบไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดหรือยาอื่นใดเลย ฝีที่ผ่าไว้จะหายวันหายคืน ความสำคัญอยู่ที่การรักษาความสะอาด

การรักษาความสะอาดในตอนนี้ดีที่สุดคือ การแช่ก้นในน้ำอุ่นที่
ใส่ด่างทับทิมไว้พอให้เป็นสีบานเย็น นอกจากจะช่วยให้สะอาดแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวด, ทำให้แผลหายเร็ว และลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี การใช้ยาใส่ไม่ว่าจะเป็นยาอะไร ถูกแพงขนาดไหน ไม่ได้ทะให้แผลหายเร็วขึ้นดีขึ้นกว่าวิธีที่กล่าวมานี้เลย ควรแช่วันละ 2 ครั้ง และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที

ปากแผลที่ผ่าตัดจะค่อยๆ แคบและก้นแผลจะตื้นและหายไปภายในเวลาเพียง 4-5 วัน เท่านั้น พวกนี้มักจะไม่กลับมาเป็นอีก เพราะแพทย์จะผ่าเป็นบริเวณกว้าง เชื้อหนองออกมาได้หมด แต่ในบางรายปากแผลปิดก่อนที่เชื้อจะออกมาหมด หรือยังมีช่องทางให้เชื้อโรคเข้าได้จากภายในทวารหนักอยู่ จะเกิดฝีอย่างเดียวกันนี้ขึ้นมาใหม่อีกได้ อาจหัวเล็กกว่าเก่า เนื่องจากมีทางระบายหนองออกไปบ้างจากการผ่าคราวที่แล้ว หรือมีช่องทางติดต่อกับรอยผ่าเก่า ซึ่งยังปิดไม่สนิทดี ทำให้มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมาเป็นที่น่ารำคาญ รูเปิดของน้ำเหลืองนี้บางทีก็หายไปนานเป็นเดือนแล้วกลับพุแตกออกมาอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


ìการรักษา
การรักษา คงรักษาเองลำบาก เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วคงต้องมาหาแพทย์ แพทย์จะทำอะไรให้ได้บ้าง แพทย์จะดูว่าช่องทางจากปากแผลที่เปิดให้หนองไหลนั้นมีทาติดต่อกับทวารหนักหรือไม่ ทำได้โดยใช้ลวดปลายทู่ค่อยๆ สอดเข้าไป บางทีทำได้ยาก เพราะช่องทางมักไม่ตรง ปลายลวดมักจะไปติดระหว่างทางไม่ถึงก้นแผล หรือไม่เข้าทวารหนัก ถ้าลวกเข้าถึงทวารหนักได้ก็รักษาสะดวก เพราะเพียงใช้มีดกรีดเปิดช่องทางดังกล่าวก็หายได้แล้ว

ถ้าไม่สามารถสอดลวดเข้าไปวนถึงก้นได้ แพทย์อาจฉีกสีที่มีลักษณะเหมือนน้ำหมึก อาจเป็นเมธิลีน บลู หรือเจนเซียล ไวโอเลท ก็ได้ เข้าไปตามช่องทางเสียก่อน สีก็จะติดช่องทางไปตลอดจนถึงก้นแผล แล้วศัลยแพทย์ก็จะผ่าตัดตามช่องทางนี้ลงไป เพื่อจะได้ตัดเอาเนื้อที่เชื้อโรคฝังตัวอยู่ออกให้หมด ปิดทางไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาในเนื้อดีได้อีก หลังผ่าตัดแพทย์จะไม่เย็บปากแผลให้ปิด เพราะถ้าเย็บปากแผลปิด แม้จะดูสวยดีในตอนแรก แต่จะทำให้เกิดโรคขึ้นมาใหม่ได้ เพราะเชื้อโรคถูกฝังในไว้ในแผลที่เย็บปิดนั้นเอง ถ้าเปิดแผลให้กว้าง เนื้อดีที่ออกมาจนเต็มจะดันเชื้อโรคออกไปจากแผล การเปิดแผลไว้ ทำให้แผลหายช้า แต่เมื่อหายแล้วจะไม่กลับเป็นขึ้นมาอีก

การปฏิบัติตัวก็เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวไว้แล้ว เช่น การรักษาความสะอาด การรับประทานอาหารให้สมดุล เพื่อให้อุจจาระได้สะดวก และการหัดนิสัยถ่ายสม่ำเสมอ เป็นต้น
 

ข้อมูลสื่อ

34-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 34
กุมภาพันธ์ 2525
โรคน่ารู้
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์