• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลสุขภาพแบบประหยัด

"เมื่อก่อนผมเป็นโรคภูมิแพ้ ตื่นเช้ามีอาการเป็นหวัด จามทุกวัน ต้องคอยกินยาแก้แพ้อยู่เป็นประจำ 5 ปีมานี้ผมออกกำลังกายด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้งทุกวัน วันละ 5 กิโลเมตร โรคภูมิแพ้ก็หายไป ไม่ต้องพึ่งยาแก้แพ้อีกเลย..."

นั่นคือคำบอกเล่าของชายอายุ 60 กว่าปี สมาชิกหมอชาวบ้านท่านหนึ่ง ที่ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง "การดูแลสุขภาพแบบประหยัด" ที่สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2552งานนี้จัดขึ้นในโอกาส "หมอชาวบ้าน ครบรอบ 30 ปี" มีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 40 ท่าน หลายท่าน พากันมาทั้งครอบครัว ช่วงเช้าได้ร่วมกันฝึก "นวดดัดกายคลายปวด 21 ท่าดัดตน" โดยการสอนของอาจารย์พิศิษฐ เบญจมงคลวารี ปรมาจารย์แห่งการนวดไทย นักเขียนประจำของหมอชาวบ้าน

ช่วงบ่ายผมได้นำเสวนาในหัวข้อดังกล่าว โดยกล่าวถึงสาระสำคัญดังนี้

1. การดูแลสุขภาพตนเองแบบประหยัด ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง มิใช่มัวแต่พึ่งพาแพทย์และโรงพยาบาลเพียงถ่ายเดียว

2. การดูแลสุขภาพตนเองสามารถทำได้ทุกช่วงวัยของชีวิต เริ่มตั้งแต่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ไม่ให้เจ็บป่วย โดยเน้นที่พฤติกรรม 4 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และอันตราย (หรือสิ่งที่มีพิษมีภัยพึงหลีกเลี่ยง)

เมื่อเจ็บป่วยก็รู้จักแสวงหาบริการที่ถูกต้องควบคู่กับการปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง รวมทั้งรู้จักใช้ยาที่ปลอดภัย (ยามีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์)

เมื่อเจ็บป่วยถึงขั้นระยะสุดท้าย หมดทางเยียวยา ก็ต้องรู้จักปรับใจยอมรับ หลีกเลี่ยงการแสวงหา บริการที่สิ้นเปลืองและเปล่าประโยชน์ รวมทั้งเตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรีและประหยัดคือตายอย่างธรรมชาติ (หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ช่วยยืดการตาย) และอย่างอบอุ่นท่ามกลางญาติพี่น้อง

3. การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ จะต้องรู้จักบริโภคอาหารให้ได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยมีสัดส่วนที่เหมาะสมตามหลัก "ธงโภชนาการ" คือกินธัญพืชและอาหารที่ให้แคลอรี (เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว กล้วย) และ ผัก ผลไม้ เป็นหลัก กินโปรตีนพอประมาณ (ควรได้จากปลา ถั่ว เต้าหู้ เป็นหลัก ลดเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่) ลดการกินไขมัน น้ำตาล และของหวาน ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออาหารเสริมมาบำรุง

4. การออกกำลังกายและการบริหารจิต (อารมณ์) นั้นมีได้หลากหลายวิธี ควรศึกษาเรียนรู้ ทดลองปฏิบัติดู จนสามารถเลือกวิธีที่ชอบและได้ผล ข้อสำคัญต้องหมั่นขยันทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันหรืออย่างน้อยวันเว้นวัน จึงจะได้ผลอย่างต่อเนื่อง และมีผลดีต่อสุขภาพ กายและจิตในระยะยาว

วิธีบริหารอาจทำตามรูปแบบนิยม เช่น เล่นกีฬา วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เดิน จงกรม ทำสมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระ เป็นต้น หรือทำตาม ธรรมชาตินิยม เช่น ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ รดน้ำ ล้างรถ เจริญสติอยู่กับการเคลื่อนไหวหรือกิจวัตรประจำวัน (เช่น อาบน้ำ ล้างจาน กวาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า)

5. ส่วนเรื่องอันตรายก็คือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การเที่ยวกลางคืน อบายมุขต่างๆ มลภาวะ เป็นต้น

สมาชิกหลายท่านได้เล่าประสบการณ์ของตนเองและครอบครัวในการดูแลสุขภาพตนเอง

ท่านหนึ่งเล่าว่า ทุกวันนี้ได้ปรับพฤติกรรมในเรื่องอาหารการกิน (เน้นผัก ผลไม้ และโปรตีนจากปลาเป็นหลัก) การออกกำลังกาย (เดินเร็วๆ ทุกวัน ) การบริหาร อารมณ์ (สวดมนต์ ทำสมาธิ) รู้สึกสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยมาหลายปีแล้ว

อีกท่านหนึ่งเล่าว่า คุณแม่อยู่ถึงอายุ 82 ปี เป็นคนรูปร่างเล็ก กินน้อย ชอบกินผัก ผลไม้ กล้วย ปลา ถั่วต่างๆ ขยันทำงานบ้านทุกวัน (แม้ลูกหลานห้ามก็ไม่เชื่อ) เป็นคนอารมณ์เย็นสงบ ไม่เคยโกรธ ไม่เคยมีอารมณ์กับผู้ใด ใจบุญสุนทาน ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ประหยัด ก่อนเสียชีวิตเพียงวันเดียว ก็ยังมีสติแจ่มใส บอกลาลูกหลานทุกคนว่าจะขอไปแล้ว เพราะรู้สึกอยู่มานานเกินอายุขัย ไม่ขอรบกวนลูกหลานอีกต่อไปแล้ว

อีกท่านหนึ่งเล่าว่า มีความสุขอยู่กับการทำงานบ้าน (เช่น รีดผ้า) ทำไปก็รู้สึกเพลินไป
นี่คือตัวอย่างของการมีสติอยู่กับการทำงานบ้าน จึงได้สรุปให้ที่เสวนาฟังว่า ผู้ใดสามารถหาความสุขจากการทำงานบ้าน ผู้นั้นนับว่าเป็นผู้ที่โชคดี (มีบุญ) เหลือหลาย เป็นการหาความสุขที่ไม่ต้องเปลืองเงินเปลืองเวลา

ท้ายที่สุดผมได้ฝากคำขวัญเตือนใจให้หันมาปฏิบัติหลัก 4 อ. ดังนี้
อ. อาหาร : กินน้อยตายยาก กินมากตายง่าย
อ. ออกกำลังกาย : ขี้เกียจอายุสั้น ขยันอายุยืน
อ. อารมณ์ : อารมณ์ดีอยู่ยาว อารมณ์เน่าอยู่สั้น
อ. อันตราย : เสพพิษชีวิตหด งดพิษชีวิตยืด
 

ข้อมูลสื่อ

362-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ