ผู้ป่วยโรคสิวจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือไม่?
โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นรายที่สงสัยว่าจะเป็น
1. โรคสิวที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ผู้หญิงที่ขนดกดำ อ้วน ประจำเดือนผิดปกติเป็นประจำ เสียงห้าว ศีรษะล้านแบบผู้ชาย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางนรีเวชและต่อมไร้ท่อด้วย
2. โรคสิวจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ โดยทำการ เพาะเชื้อ
3. โรคสิวจากเชื้อยีสต์ หรือโรคสิวอักเสบที่ต้องการระบุชนิดของเชื้อ โดยทำการย้อมเชื้อด้วยสีและตรวจดูลักษณะของเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์
4. รอยโรคที่คล้ายสิว อาจต้องตัดผิวหนังที่เป็นเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
"เมื่ออายุย่างเข้าช่วงต้นของวัย 20 ปี สิวมักดีขึ้น แต่ก็มีบางรายที่สิวกำเริบจนถึงวัยผู้ใหญ่"
ผู้ป่วยโรคสิวเมื่อไปรักษากับแพทย์ แพทย์จะนัดมาดูอาการอย่างไร?
ทั่วไปแพทย์จะติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคสิวโดย
1. นัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำครั้งแรกใน 1-4 สัปดาห์ เพื่อสอบถามถึงวิธีการใช้ยา และผลข้างเคียง
2. ต่อไปอาจนัดผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อปรับขนาดยา
3. ดูผลการรักษาหลังรักษาอย่างต่อเนื่องกันแล้วอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าไม่ได้ผลหรือเลวลง จึงจะพิจารณาเปลี่ยนยา
4. หลังจากสิวยุบหมดแล้ว ควรให้ผู้ป่วยใช้ยาทาคุมไว้จนกว่าจะพ้นวัยที่เป็นสิว
เมื่อเป็นวัยรุ่นไม่เป็นสิว แต่ทำไมจึงมีสิวเมื่อเป็นผู้ใหญ่?
ส่วนใหญ่สิวเริ่มเป็นในวัยรุ่น เมื่ออายุย่างเข้าช่วงต้นของวัย 20 ปี สิวมักดีขึ้น แต่ก็มีบางรายที่สิวกำเริบ จนถึงวัยผู้ใหญ่ เช่น สิวหัวช้าง ที่นอกจากจะเป็นที่ใบหน้าแล้ว ยังเป็นที่หน้าอกและหลัง (มักพบในเพศชาย) และสิวที่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือนในเพศหญิง
ส่วนสิวที่เริ่มเป็นในสตรีที่พ้นวัยรุ่นมาแล้ว เชื่อว่าเป็นเพราะเมื่อสตรีมีวัยสูงขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้มีการกระตุ้นต่อมไขมันที่ผิวหนัง ทำให้เกิดสิวตามมา นอกจากนั้นเนื้องอกของรังไข่ และการตั้งครรภ์ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เกิดสิวเช่นกัน
สตรีบางรายเมื่อหยุดยาคุมกำเนิดสิวอาจกำเริบเพราะยาคุมกำเนิดคุมอาการสิวไว้ นอกจากนั้นการแต่งหน้าก็อาจทำให้เป็นสิวได้
- อ่าน 5,271 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้