เมื่อเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขึ้นแล้ว แน่นอนหลายๆ คนจะนึกถึงการรักษาเป็นอย่างแรก และเมื่อรักษาหายแล้ว การทำงานยังคงเป็นแบบเดิม รูปแบบเดิมๆ ระดับความหนักเดิมๆ หรือแม้กระทั่งพบกับความเครียดเดิมๆ แน่นอนโรคเดิมก็จะกลับมาถามหาอีกแน่
เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดการโรคจึงไม่ใช่การรักษาอย่างเดียว หากแต่ต้องคำนึงถึงการป้องกันอันได้แก่การปรับเปลี่ยนให้งานเหมาะสมกับคน และการส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นเพื่อรองรับกับความหนักของงานได้ และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนพฤติกรรมของการทำงานและการดำรงชีวิตในแต่ละวัน
หลายคนมีปัญหาของโรค เช่นปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสิ้นหวังกับการรักษา ท้อถอยกับการดำรงชีวิต เหตุการณ์เช่นนี้อย่าให้ได้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ที่ป่วยไข้ ขอให้ทำความรู้สึกเสมอว่ายังมีหวัง เมื่อยังมีหวังก็จะไม่สิ้นหวัง
หาเหตุได้ ก็มีหวัง
อาการเจ็บ ปวด ตึง เมื่อย ที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ กระดูก และเอ็น อันเนื่องมาจากการทำงาน อาจเป็นอาการที่แสดงออกมาเพื่อให้ร่างกายได้รับรู้ว่าขณะนี้มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว ร่างกายต้องการความสนใจจากเจ้าของว่าต้องดูแลรักษาแล้วนะ อาการเจ็บปวดส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นว่าหากปวดที่ตำแหน่งนั้นแล้ว ต้นกำเนิดของอาการจะต้องมาจากอวัยวะที่เรารู้สึกปวด
"ต้องให้ผู้ป่วยมีความหวังก่อน โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ป่วยและเจ้าของหรือหัวหน้างาน"
เนื่องจากอาการที่ปวดอาจเป็นอาการที่ร้าวมาจากที่อื่น หรือเป็นอาการที่ร่างกายมีการปรับตัวเพื่อให้ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้ เช่น
• การมีอาการปวดที่แขนหรือขา อาจมีต้นกำเนิดของอาการอยู่ที่คอ หรือหลังได้
• การมีอาการที่หลัง อาจเป็นปัญหามาจากการเปลี่ยนรองเท้าใหม่ แล้วรองเท้ากัดเท้า ทำให้การลงน้ำหนักของเท้าเปลี่ยนไป ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานไม่สมดุล กล้ามเนื้อหลังข้างหนึ่งเกร็งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง ทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลามาพบแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด ผู้ป่วยอาจได้รับการซักถามอาการที่นอกเหนือจากอาการหรือตำแหน่งที่ผู้ป่วยมีอยู่ ก็เพื่อเป็นการตรวจให้แน่ชัดว่า ปัญหานั้นมาจากที่ใด และเพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการเพราะเมื่อมารับการตรวจร่างกายแล้ว จะได้ตอบคำถาม หรือบอกให้กับแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดได้ครบ และถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง
จะมีหวังที่กลับไปทำงานเดิมได้ไหม
เมื่อต้องกลับไปทำงาน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือจะต้องกลับไปเผชิญกับสภาพงานเดิมๆ ที่เป็นต้นเหตุทำให้บาดเจ็บ หากร่างกายไม่พร้อม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นมาอีก จนบางครั้งเกิดการท้อถอย ลาออกจากงานหรือสิ้นหวัง กลายเป็นคนที่มีปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจ
การรักษาที่เหมาะสมคือ ต้องให้ผู้ป่วยมีความหวังก่อน โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ป่วยและเจ้าของหรือหัวหน้างาน การรักษาต้องอาศัยงานเข้ามาเป็นตัวประเมิน ซึ่งการรักษาลักษณะนี้แตกต่างจากการรักษาที่พบเห็นกันทั่วไป
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ การรักษาทั่วไปจะทำการรักษาเพื่อแก้ไขความบกพร่องของร่างกายด้วยระยะเวลาที่จำกัด ประมาณ 45 นาที ถึง 2 ชั่วโมงต่อครั้ง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และแต่ละครั้งผู้ป่วยจะกลับบ้านไปพักหรือไปทำงานตามปกติ
การรักษารูปแบบนี้ จะเห็นว่าร่างกายได้รับการรักษาเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เวลาที่เหลือร่างกายต้องเผชิญกับงานที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้อีก
ขณะที่หากเรามองรูปแบบการรักษาอีกมุมหนึ่ง โดยการทำให้ทุกช่วงเวลาเป็นการรักษา รู้ตัวว่าเมื่อไหร่จะมีอาการ รู้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นอาการ จะทำให้มีช่วงเวลาการรักษามากขึ้น อาจถึงวันละ 8 ถึง 10 ชั่วโมง ดังนั้นการหายจากโรค หรือการสามารถกลับเข้าทำงานเดิมย่อมมีโอกาสเป็นไปได้
การรักษาต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหัวหน้างานและผู้ป่วย หัวหน้างานต้องเข้าใจไม่คาดหวังว่า ในช่วงการรักษาผู้ป่วยจะทำงานได้เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป
ผู้ป่วยต้องทดสอบสมรรถภาพของร่างกายด้วยการทำงานเดิมที่เคยทำอยู่ แล้วให้สังเกตว่าอาการจะเริ่มมีเมื่อไหร่ หรือเมื่อความหนักเท่าไร เช่น ทำงานประมาณ 15 นาทีแล้วมีอาการ หรือเมื่อยกของ 3 กิโลกรัม จำนวน 10 ครั้งแล้วมีอาการ ระยะเวลาหรือน้ำหนักที่ทำได้ถือว่าเป็นเป้าหมายของผู้ป่วยคนนั้น เมื่อทำงานก็ไม่ควรทำเกินกว่าความสามารถที่ทำได้ นั่นหมายความว่าถ้าทำงานจริง ผู้ป่วยไม่ควรทำงานเกินกว่า 15 นาที หรือยกของหนักถึง 3 กิโลกรัม เกิน 10 ครั้ง
หากต้องทำงานมากกว่านั้น งานที่ทำต้องเบากว่าน้ำหนักที่ทดสอบ หากสามารถทำได้ ย่อมหมายความว่างานไม่ได้กระตุ้นให้อาการของโรคเกิดขึ้น
การรักษาอาจทำการจัดทำเป็นโปรแกรมการทำงาน ด้วยการผสมผสานระหว่างงาน การพัก และการออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น ทำงานไป 15 นาที แล้วพัก ระหว่างพักให้ทำการผ่อนคลาย ยืดกล้ามเนื้อ หรือออกไปเดินพักผ่อน แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ แต่หากไม่สามารถพักได้อาจทำการเปลี่ยนจากงานนั้นแล้วไปทำงานอย่างอื่นที่มีรูปแบบการทำงานแตกต่างจากงานที่ทำอยู่ เพื่อให้มีการเปลี่ยนการทำงานของกล้ามเนื้อหรืออวัยวะจากตัวหนึ่งไปเป็นตัวอื่น
การรักษาต้องมีการปรับเป้าหมายไปเรื่อยๆ โดยทำการประเมินตัวใหม่ทุกๆ สัปดาห์ เพื่อหาเป้าหมายใหม่ โดยเดิมที่ทำได้ 15 นาทีแล้วต้องพัก อาจได้เป้าหมายใหม่เป็น 20 นาที ทำการขยับเป้าหมายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถทำงานได้เหมือนปกติ
นอกเหนือไปจากนั้นต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เพราะนอกเหนือจากงานแล้ว งานบ้านหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เราทำเป็นประจำอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหรือการบาดเจ็บได้
การรักษารูปแบบนี้ เป็นการรักษาเสริมจากการรักษาปกติที่ได้รับอยู่ และให้ถือว่าการออกกำลังกายเป็นการรักษาหลักที่จะผลักดันให้ร่างกายต่อสู้กับระดับความหนักของงานได้
มีตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องมารับการรักษาอยู่อย่างต่อเนื่อง จากอาการปวดหลัง มีสาเหตุเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนล่างกดทับเส้นประสาท ทุกครั้งที่ทำการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่เมื่อต้องเดินทางกลับไปที่พัก ก็เริ่มมีอาการกลับมา และหากต้องไปทำงาน จะทำงานได้ประมาณไม่ถึงครึ่งวัน ก็ไม่สามารถทนกับอาการปวดได้ หากให้ออกกำลังกายแม้เบาๆ เช่น การพลิกตัวไปมาอยู่กับเตียง ก็สามารถกระตุ้นอาการของโรคขึ้นมาได้ ผู้ป่วยรู้สึกท้อถอยและสิ้นหวังกับชีวิต การดำรงชีวิตเปลี่ยนไป ไม่สามารถทำงานบ้าน หรืองานประจำได้
ผู้เขียนแนะนำเรื่องการปรับเปลี่ยนงาน แต่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ ดังนั้นทางเลือกจึงเหลือน้อยลง
อย่างไรก็ตาม การกดทับของหมอนรองกระดูกไม่มากนัก การอ่อนแรงเนื่องจากระบบประสาทยังไม่ชัดเจนมาก แต่อาการเจ็บและความรู้สึกท้อถอยของผู้ป่วยมีมากกว่า
จากการพูดคุยตกลงกับผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นต่ออาการของผู้ป่วยให้มากที่สุด ขณะเดียวกันได้ทำการปรึกษากันระหว่างแพทย์ที่ทำการดูแลผู้ป่วย ตัวผู้ป่วยเอง และที่ทำงานผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยหยุดงานเป็นระยะเวลา 1 เดือน สาเหตุเนื่องจากการเดินทางไปทำงาน และการทำงานเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการของโรคได้อย่างชัดเจน และผู้เขียนต้องการให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการปวดของตนเองได้
ระยะเวลา 1 เดือนนั้น ผู้ป่วยทำการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงแรกต้องมีการออกกำลังกายภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด มีการวัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจตลอด เมื่อออกกำลังกายเสร็จ ก็ทำการรักษาอาการปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย
ผู้ป่วยทำการรักษาทุกวันอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาที่ไม่ได้รับการรักษา ก็หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระตุ้นของอาการ และทำการยืดกล้ามเนื้อรักษาตนเองไปด้วย
เมื่อเวลา 1 เดือนผ่านไประดับความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้เริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ สู้กับการเดินทางไปที่ทำงาน หรือความหนักของงานได้ ถึงแม้ว่าจะมีอาการอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงมาก การรักษายังคงดำเนินต่อไป ด้วยการออกกำลังกาย และการกลับไปทำงาน โดยให้ผู้ป่วยรู้ตัวและหลีกเลี่ยงต่อตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ
ปัจจุบัน ผู้ป่วยยังคงออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาระดับสมรรถนะภาพของร่างกายให้สูงกว่าความหนักของงาน
ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ผู้ป่วยท้อถอยและหมดหวังกับอาการที่ตนเองเป็นอยู่ และการรักษาทั่วไปไม่สามารถทำให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ เชื่อว่าหลายคนที่มีอาการปวดอยู่ คงได้ประโยชน์ ไม่ท้อถอยและนำไปประยุกต์ใช้เพื่อกลับไปสู่การทำงานและชีวิตที่ดีขึ้น
- อ่าน 8,399 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้