• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหน้าอก-เจ็บหัวใจ

เมื่อเอ่ยถึงอาการยอดฮิตอีกอย่างหนึ่ง คือ "เจ็บอก" หรือ "เจ็บแน่นหน้าอก" เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยมีอาการเช่นนี้บ้าง ไม่ว่าจะเจ็บกล้ามเนื้อจากการทรงตัวผิดท่า เจ็บจากกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบ เจ็บจากเส้นประสาทอักเสบเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงเจ็บหน้าอกจากความผิดปกติของหัวใจ

บางคนอาจบอกว่า "ผมก็เป็นบ่อยนะ เจ็บจี๊ดเข้าไปถึงหัวใจเวลาอกหักนะครับ แหะ แหะ" อย่างนี้ไม่ใช่การป่วยไข้ ไม่ต้องพึ่งหมอให้ปวดหัวหรอก เพราะคงไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเอง

อาการเจ็บหน้าอกนี้พบได้บ่อยๆ และเกือบทั้งหมดมักจะไม่ใช่โรคหัวใจ แต่ก็ทำให้คนที่เป็นรู้สึกวิตกกังวลได้ง่ายเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ เพราะแยกแยะไม่ได้ว่าแบบไหนเป็นอาการเจ็บอกแบบธรรมดาไม่มีอันตรายหรือว่าเป็นสัญญาณ บ่งบอกความผิดปกติของหัวใจกันแน่

คนส่วนใหญ่มักจะไปหาหมอ บางครั้งก็เสียเงินเสียทองมากมายเพื่อการตรวจรักษาที่เกินจำเป็น เช่น นอกจากตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วยังต้องไปวิ่งสายพานเพื่อบันทึกลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บางคนต้องใช้เครื่องมือพิเศษอย่างคลื่นเสียงความถี่สูง (เอคโค่คาร์ดิโอกราฟฟี่) หรือบางครั้งถึงขั้นต้องฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม การตรวจพิเศษต่างๆ นี้ ต้องมีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องทำในกรณีที่สงสัยเกี่ยวกับหัวใจ และหมอต้องอธิบายเหตุผลว่าทำเพื่ออะไร จำเป็นแค่ไหน ทำแล้วจะดีอย่างไร ผู้ป่วยก็ต้องหัดซักถามให้เข้าใจก่อนทำ ไม่ใช่เอาแต่เกรงใจหมอจนลืมนึกถึงสิทธิของตนเอง

อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว อาการมีดังนี้
1. เจ็บอกด้านซ้าย บางครั้งร้าวไปที่คอ แขนซ้ายด้านรักแร้ หลัง หรือท้องส่วนบน
2. เจ็บแน่นๆ ในอก รู้สึกอึดอัด
3. ถ้าลองเอามือกดจะไม่เจ็บมากขึ้น หรือแม้แต่การไอ จาม หายใจแรงๆ หรือเอี้ยวตัวก็ไม่ทำให้เจ็บมากขึ้น
4. อาการเจ็บจะสัมพันธ์กับการออกกำลังหรือรู้สึกตื่นเต้นมากๆ แต่เวลาพักจะเจ็บลดลง
5. เป็นอยู่หลายนาที (ส่วนใหญ่ประมาณ 10-20 นาที) ไม่ใช่เจ็บอยู่ตลอดเวลา
6. บางครั้งมีเหงื่อแตก หน้ามืด เป็นลม

ส่วนอาการเจ็บหน้าอกแบบธรรมดาที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร เช่น กดเจ็บหน้าอกเพราะกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบเล็กน้อย เจ็บจี๊ดๆ แปลบๆ เพราะเส้นประสาทถูกระคายเคือง หรือเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกเพราะผิดท่าผิดทาง เป็นต้น

อาการเหล่านี้มักจะรู้สึกเจ็บตื้นๆ อยู่บนผนังหน้าอก บางครั้งก็กดเจ็บบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เมื่อเคลื่อนไหวตัวแรงๆ เช่น หายใจแรงๆ ไอ จาม เอี้ยวตัว ก็จะเจ็บมากขึ้น อาการเจ็บจะไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังหรือใช้แรง เช่น เดินขึ้นบันไดหลายขั้นก็ยังเจ็บเท่าเดิม แม้จะนั่งพักก็เจ็บเหมือนเดิม อย่างนี้เรียกเจ็บอยู่ตลอดเวลา จะนั่งจะนอนจะเดินอย่างไรก็เจ็บ หนักบ้างเบาบ้าง โดยที่ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย

คนที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ใช่เกิดจากหัวใจนี้ถือว่าไม่ร้ายแรง ให้ลองสังเกตอาการดู จะพบว่าไม่กี่วันก็หายได้เอง แต่บางคนทนไม่ไหวหรือไม่อยากทนก็สามารถกินยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบธรรมดา เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน ก็ได้

นอกจากนี้ จะต้องสังเกตตัวเองให้ดีๆด้วย ถ้าสงสัยว่าอาการเหมือนหลอดเลือดหัวใจตีบก็ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที อย่าไปเสียเวลาอยู่ตามคลินิกต่างๆ เพราะเครื่องมืออุปกรณ์ไม่พร้อม เดี๋ยวจะไม่ทันการณ์ เพราะถ้าเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตันจนเจ็บหน้าอกนั้นจะต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือซีซียู (บางแห่งก็ใช้ไอซียู) เนื่องจากต้องดูแลเป็นพิเศษ และพร้อมต่อการรักษาอย่างทันท่วงที

ก่อนที่จะไปโรงพยาบาลนั้น แนะนำว่าอย่าตกใจจนเกินเหตุ พยายามสงบสติอารมณ์ อย่าตื่นเต้น ให้นิ่งสงบเหมือนกบจำศีล อย่าเคลื่อนไหวมาก และขอความช่วยเหลือคนอื่นเป็นธุระพาไปโรงพยาบาลทันที

ข้อมูลสื่อ

361-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 361
พฤษภาคม 2552
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์