• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความสงสัยของนิพนธ์

หากจะกล่าวถึงวิชาต่างๆ ที่เราได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กจนถึงระดับปริญญา จะพบว่าวิทยาศาสตร์เป็น วิชาหรือศาสตร์ที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งหลังๆ เรามักจะพูดกลับกันว่า สิ่งที่พิสูจน์ได้นั้นเป็นวิทยาศาสตร์

ช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์มีมากมาย ถ้านำมาบอกกล่าวคงไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมด แต่ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าและมีคนค้นพบมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ก็มีหลายๆ เรื่องที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้

สิ่งที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้มีการพูดคุยไต่ถามกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบ หลายๆ คนพอจะรู้คำตอบแล้วว่าผมน่าจะพูดถึงเรื่องอะไร

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงความตาย และชีวิตหลังความตาย ที่ผมต้องยกเรื่องนี้มาพูด ไม่ใช่เพราะว่าผมรู้อะไรมากกว่าคนอื่นๆ หรอก ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่บังเอิญมีคนมาถามผม แล้วต้องการให้ผมให้คำตอบด้วยว่าชีวิตหลังความตายของแม่เขาจะเป็นอย่างไร

เมื่อผมถูกถามแล้วผมจะไปถามใครล่ะ ก่อนที่จะถามใครคงจะต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร

วันหนึ่งขณะที่ผมไปประชุมที่ต่างจังหวัด ก็ได้รู้จักกับเพื่อนร่วมวิชาชีพท่านหนึ่งเป็นเภสัชกรชื่อนิพนธ์ นิพนธ์มีความสนใจด้านการปฏิบัติธรรม เคยไปปฏิบัติธรรมหลายครั้ง เหตุที่ผมได้รู้จักกับนิพนธ์ก็เพราะว่าระหว่างการประชุม ผมได้มีโอกาสโม้ เอ้ย! พูดในที่ประชุมเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา ที่เรียกว่าไม่ได้รักษาด้วยยากิน ยาฉีด หรือยาทา แต่ผมให้คำแนะนำ การปรับความคิด มุมมอง หรือที่ผมเรียกของผมเองว่ายาใจ

หลังจากที่ได้พูดคุยทำความรู้จัก ผมก็เริ่มรู้ว่านิพนธ์มีอะไรที่อยากพูดคุยและถาม หรือปรึกษาผมแต่คงยังไม่กล้าเพราะเพิ่งรู้จักกันใหม่ๆ แต่เมื่อกินอาหารกลางวันเสร็จ ทั้งนิพนธ์และผมก็เริ่มที่จะพูดคุยกันมากขึ้น ผมจึงเริ่มล้วงควักความในใจของนิพนธ์ และนิพนธ์ก็รู้สึกยินดี และเต็มใจให้ผมล้วง (ความลับ) ได้
นิพนธ์เริ่มเล่าด้วยใบหน้าที่เริ่มเศร้า เสียงสั่นๆ เบาๆ ว่า เขาเคยไปปฏิบัติธรรมหลายครั้ง ซึ่งจะไปตามวัดหรือสถานที่สงบๆ ต่างๆ และมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีการจัดอบรมปฏิบัติธรรม ซึ่งจัดที่สถานที่คล้ายรีสอร์ต จึงได้ชวนคุณแม่ไปปฏิบัติธรรมด้วย

ด้วยเหตุอันใดไม่ทราบ อาจจะเป็นด้วยโรคประจำตัวของแม่นิพนธ์ หรือความรู้สึกดีใจที่รู้สึกได้จากการปฏิบัติธรรมกับลูกชายสุดที่รักก็ไม่ทราบ แม่ของนิพนธ์เสียชีวิตลงระหว่างการปฏิบัติธรรมครั้งนั้นเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้แหละครับที่เป็นเรื่องในใจของนิพนธ์ตลอดเวลา ไปไหนแบกไปด้วยรวมถึงวันที่พบกับผม ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้ หลังจากที่แม่นิพนธ์เสียชีวิตไม่กี่วัน พระที่เป็นวิทยากรในการอบรมปฏิบัติธรรมได้อธิบายและพยายามตอบคำถามความในใจของนิพนธ์ ที่นิพนธ์สงสัยว่า "แม่ของเขาเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติธรรม แม่ของเขาจะไปดีหรือไปสู่สุคติหรือไม่"Ž

พระวิทยากรก็ตอบว่าแม่ของนิพนธ์ไปดีไปสุคติ เพราะเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติธรรมพร้อมยืนยันว่าไปดีแน่นอน

คำตอบดังกล่าวหาช่วยให้นิพนธ์คลายความสงสัยลงได้มากนัก นิพนธ์ยังคาใจเรื่องดังกล่าวตลอดเวลา
นิพนธ์จึงเอ่ยถามผมว่า ผมจะช่วยให้คำตอบได้ไหม เพราะเห็นผมโม้ เอ้ย! ผมมีประสบการณ์มาพอสมควร

เมื่อผมถูกนิพนธ์รุก จนเกือบตกกระดานหมากถอย เพราะผมต้องถอยมาตั้งหลักจนเกือบตกกระดาน ผมจึงต้องหาคำตอบจาก google.com โชคยังเข้าข้าง ผมได้พบคำตอบจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง แนะนำดังนี้

ผมเสียใจที่คุณสูญเสียคุณแม่ไป แต่ก็ยังดีใจอยู่บ้างที่ก่อนจะเสียชีวิต คุณแม่ได้เข้าอบรมปฏิบัติธรรม การจากไปก็เหมือนการเดินทางแต่เพียงผู้เดียว เพื่อไปสู่จุดหมายที่ดี คือ สุคติ หรือไม่ดี คือ ทุคติ รวมเรียกว่าไปดีกับไปไม่ดี ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็ขึ้นกับการกระทำของคุณแม่คุณเอง หรือเรียกว่ากรรมของแต่ละบุคคล

การที่คุณมัวแต่คิดว่าคุณแม่ของคุณไปดี หรือไปไม่ดีนั้น มันทำให้อะไรๆ ดีขึ้นไหม นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้ว ความกังวล สงสัย ยังทำให้คุณจิตใจหม่นหมองเศร้าเป็นทุกข์

ถ้าคุณแม่ไปดี แล้วกลับมาเห็นคุณเศร้าโศก เสียใจ คุณแม่จะพลอยเป็นทุกข์

ถ้าคุณแม่ไปไม่ดี ก็ไม่รับรู้อะไร แล้วก็จะไม่ได้รับอะไรจากคุณด้วย

แต่หากคุณไม่มัวมาคิดสงสัย แล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศล หรือคุณได้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดี ตั้งใจทำงานด้วยความซื่อตรง บริการประชาชนโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หรืออามิสสินจ้าง ทุ่มเทตามกำลังความสามารถที่มี เพื่อให้เกิดผลดีกับผู้รับบริการ และท้องถิ่น ไม่ว่าคุณแม่ไปดีหรือไม่ดี แม่ของคุณก็จะได้รับส่วนกุศลผลบุญที่คุณได้กระทำขึ้นมาแล้วส่งไปให้

คุณจะมัวมาคิดว่าแม่ไปดีหรือไม่ดีไปทำไม เสียเวลาเปล่า แทนที่จะเอาเวลาที่คิดมาทำความดี เพื่ออุทิศเป็นส่วนกุศลให้กับคุณแม่

ถ้าแม่ไปดี ก็จะดียิ่งขึ้น เพราะแม่เห็นว่าคุณทำดี และได้รับผลบุญ

ถ้าแม่ไปไม่ดี ก็จะได้รับผลบุญกุศลที่คุณได้อุทิศให้ จะไปทอนส่วนไม่ดีลง

นี่แหละคือสิ่งที่ลูกที่ดีอย่างคุณควรกระทำ
ผมตอบไปแบบนี้ แล้วคุณล่ะเห็นด้วยไหม ถ้าเห็นด้วย ขอคารวะมิตรที่ประเสริฐคนนั้นด้วยความเคารพอย่างสูง

ข้อมูลสื่อ

361-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 361
พฤษภาคม 2552
อื่น ๆ
นพ.ปรีชา สิริจิตราภรณ์