• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนรู้เรื่องฝ้า (ตอนที่ 2) รักษาฝ้าใช้ยาอะไรทา?


การรักษาฝ้าส่วนใหญ่ใช้ยาทาให้ฝ้าจางลง ซึ่งมีทั้งยาที่ผ่านการศึกษาและนำมาใช้กันแพร่หลาย และยาทากลุ่มใหม่ที่กำลังวิจัยและทดลองใช้

ยาทารักษาฝ้า

ยาทารักษาฝ้าที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่

1. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)

เป็นยาทาฝ้ากลุ่มยาลดการสร้างเม็ดสี เป็นยารักษาฝ้าที่ใช้บ่อยที่สุด ทำให้สีผิวจางลงชั่วคราว มีอยู่ทั้งในรูปครีม และในรูปสารละลายในแอลกอฮอล์ ใช้ทาฝ้าบางๆ วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งการใช้ยาตัวนี้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น
สำหรับสตรีมีครรภ์ยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัย ของการใช้ยาไฮโดรควิโนน
ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าไฮโดรควิโนนทุกระดับความเข้มข้นจัดเป็นยา ต้องให้แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น อีกทั้งมีการเพิ่มประสิทธิภาพของยาโดยมียาทาฝ้าสูตรผสมที่เพิ่มกรดวิตามินเอ และสเตียรอยด์ลงไป

ข้อควรระวัง ก่อนใช้ยาอาจทดสอบโดยทาผิวที่ไม่มีรอยแตก หากเกิดอาการคัน มีตุ่มน้ำใส และ/หรือผิวอักเสบแดง ไม่ควรใช้ยา การทายาทุกครั้งต้องระวังไม่ให้สัมผัสนัยน์ตา นั่นคือให้ใช้เฉพาะใบหน้า คอ มือ หรือแขน

ห้ามใช้ยาเพื่อป้องกันผิวไหม้แดด มีบางราย (พบน้อย) ฝ้าอาจเข้มขึ้นเป็นสีดำและน้ำเงิน ก็ให้หยุดยาทันทีเช่นกัน  ผลแทรกซ้อนของยาทาฝ้าตัวนี้คือทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส ปฏิกิริยาแพ้แสงแดด ที่อาจมีผื่นผิวหนังเป็นรอยดำหลังการอักเสบตามมา และที่พบได้ยากคือฝ้าถาวร ซึ่งพบในคนดำที่ใช้ยาความเข้มข้นสูงทาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
การใช้ยาทาฝ้าสูตรนี้ติดต่อกันนาน 4-6 เดือน ถ้า ฝ้าไม่จางลงให้หยุดทายาทันที ห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมของ monobenzyl ether of hydroquinone และ monomethyl ether of hydroquinone เพราะทำให้เกิดรอยด่างถาวร

นอกจากนั้นห้ามใช้สารปรอทแอมโมเนียรักษาฝ้า สารเหล่านี้มักตรวจพบในเครื่องสำอางปลอม พิษสะสมทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง และเกิดพิษสะสมของปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ

2. กรดวิตามินเอ (Tretinoin) 

ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ผิวหนัง เร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีเม็ดสีเมลานินหลุดลอก การใช้ในสตรีมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย               

3. กรดอาซิเลอิก (Azelaic acid)

ยาทาฝ้ากลุ่มสารปฏิชีวนะ แรกเริ่มสังเคราะห์จากเชื้อยีสต์ การใช้ให้ทาบางๆ วันละ 2 ครั้ง การใช้ในสตรีมีครรภ์ทั่วไปจัดว่าน่าจะปลอดภัย

4. สเตียรอยด์อย่างเดียว

ยาตัวนี้ทำให้ฝ้าจางได้โดยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่ถ้าใช้นานๆ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผิวบาง หลอดเลือดฝอยขยาย เป็นสิว และขนใบหน้าดก

ยาทารักษาฝ้ากลุ่มใหม่ๆ

ปัจจุบันมีการพัฒนายาและเทคนิคเสริมใหม่ๆ เพื่อใช้รักษาฝ้า เช่น กรดโคจิก วิตามินซี สารสกัดชะเอมเทศ และเทคนิคเสริมในการรักษาฝ้า ซึ่งยาและเทคนิคเสริมใหม่ๆ เหล่านี้ บางอย่างผลการรักษาคงต้องติดตาม (อ่านรายละเอียดตอนที่ 3 ฉบับหน้า)      

สุขศึกษาที่ผู้เป็นฝ้าควรรู้

1. หลีกเลี่ยงแสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาฝ้า

2.การทาครีมรักษาฝ้าให้ทาเฉพาะตรงที่เป็นฝ้าเท่านั้น ไม่ต้องทาทั่วหน้า   

3.การรักษาฝ้าใช้เวลานาน ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าฝ้าจะค่อยๆ ดีขึ้น

4.แพทย์มักแนะนำให้สตรีมีครรภ์คลอดบุตรก่อนแล้วจึงรักษาฝ้าให้ (ฝ้ามักจะดื้อต่อการรักษา ซึ่งมีปัจจัยจากฮอร์โมน)

สตรีมีครรภ์ไม่มีความจำเป็นต้องรักษาฝ้า เพราะส่วนใหญ่หลังคลอดฝ้าจะจางลงเอง อีกทั้งยารักษาฝ้าหลายตัวยังไม่ปลอดภัย หรือไม่ระบุความปลอดภัยหากใช้ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

 

ข้อมูลสื่อ

365-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร