• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะผอมกันไปถึงไหน?


" ความอ้วน " กับผู้หญิง หรือแม้แต่ผู้ชายบางคน สมัยนี้มักจะถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ต้องสรรหาสารพัดวิธีมาลดน้ำหนักกัน มีบ้างที่สำเร็จ แต่ก็ไม่น้อยเลยที่ล้มเหลว บางคนท้อแท้ บางคนสติแตกประชดชีวิตด้วยการกินจนอ้วนหนักกว่าเดิมก็มี

หลานสาววัยรุ่นคนหนึ่งของผู้เขียนเองก็เช่นกัน เดี๋ยวอ้วน เดี๋ยวผอม จนตอนนี้ชักจะผอมเกินไปแล้ว คงเนื่องมาจากค่านิยมที่อยากผอมบางอ้อนแอ้น เหมือนดารานางแบบที่นับวันจะมีแต่ผอมแห้งแรงน้อยกันทั้งนั้น แม้แต่นักร้องเพลงป๊อบชื่อก้องโลกที่เพิ่งเสียชีวิตไป ตามข่าวยังบอกว่ากินข้าวมื้อเดียวเพื่อควบคุมน้ำหนัก หลานสาวของผู้เขียนเองก็ผอมมากจนกลัวว่าลมพัดแล้วจะปลิวได้แต่ถึงจะผอมแล้วก็ยังมีปัญหามาปรึกษาอยู่ เช่น

 " ลุงหมอคะ ทำไมเวลาหนูเผลอกินอะไรที่คนอื่นเขากินกันปกติ น้ำหนักจะขึ้นพรวดพราดเลย " หรือ

 " กินอะไรหน่อยก็ไม่ได้ค่ะ สงสัยเผาผลาญไม่ดีเลยอ้วนง่าย "

จากที่กล่าวมานี้แสดงว่าลดน้ำหนักแบบหักโหมและไม่ถูกวิธีเพราะ อดอาหารจนไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ  ร่างกายจะปรับตัวเพื่อการอยู่รอดโดยมีการเผาผลาญน้อยลงประกอบกับมีมวลกล้ามเนื้อลดลงทำให้ตัวช่วยในการเผาผลาญลดลงด้วย คนเหล่านี้จะเกิดปัญหากินแล้วอ้วนง่ายกว่าคนอื่น ก็เลยใช้ชีวิตแบบอดอาหารไปเรื่อยๆ จนร่างกายทรุดโทรม


กรณีนี้จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมใหม่ ช่วงแรกอาจต้องยอมกินอาหารเพื่อสร้างน้ำหนักและสร้างมวลกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกาย เมื่อร่างกายแข็งแรงมีกล้ามเนื้อเพียงพอในการช่วยเผาผลาญพลังงาน การควบคุมน้ำหนักก็จะง่ายขึ้น


คนอ้วนพยายามลดน้ำหนักเป็นเรื่องดี แต่บางคนก็จริงจังมากจนกลายเป็นโรค เช่น
โรคอนอร์เร็กเซีย คือการปฏิเสธอาหาร กินน้อยมาก บางคนยังออกกำลังกายอย่างหนักด้วย น้ำหนักจะลดลงฮวบฮาบ เป็นโรคขาดสารอาหาร กล้ามเนื้อลีบ ซูบผอม ถ้ารุนแรงอาจถึงตายได้

อีกโรคหนึ่งคือโรคบูลีเมีย ซึ่งจะไม่ปฏิเสธอาหาร แต่จะกินมาก     บางคนควบคุมการกินไม่ได้ แต่จะรู้สึกผิดหลังกิน เลยใช้การล้วงคอให้อาเจียน ใช้ยาระบาย เป็นต้น โรคเหล่านี้อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อใช้ยา ใช้การบำบัดทางจิต รวมทั้งปรับพฤติกรรมการกิน


การลดความอ้วนอย่างถูกวิธีนั้นไม่ยากแต่ต้องตั้งใจจริง หลักการที่ปลอดภัยและยั่งยืนคือ ลดปริมาณอาหาร จำกัดอาหารพวกที่มีพลังงาน (แคลอรี) สูง และออกกำลังกาย
การที่จะปฏิบัติได้ดีตามนี้นั้น เราควรทราบปริมาณ แคลอรีที่มีอยู่ในอาหารแต่ละประเภท ซึ่งปัจจุบันหาข้อมูล กันได้ง่ายตามอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ กินไปบวกลบแคลอรีกันไปก็สนุกดีเหมือนกัน และยังเป็นการควบคุมการกินของตัวเองได้ด้วย


บางคนอาจสงสัยว่า " แล้วต้องกินปริมาณแค่ไหนถึงจะเพียงพอ และลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย "
สำหรับคนปกติทั่วไป พลังงานที่ร่างกายควรได้รับ (ที่ร่างกายต้องใช้) ต่อวัน คือประมาณ 30-35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คนที่แทบไม่ได้ใช้พลังงานเลยใช้เกณฑ์ 20-25 ส่วนคนที่ต้องใช้แรงงานหนักๆ ใช้เกณฑ์ 40-45)
หลักการลดน้ำหนักคือพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปต้องน้อยกว่าที่ร่างกายใช้ เช่น ถ้าพลังงานที่ควรได้รับคือ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ก็ให้ลดลงเป็น 1,500      กิโลแคลอรีต่อวัน น้ำหนักก็จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป


นอกจากนี้ก็มีเทคนิคอื่นๆ เช่น กินให้ครบ 3 มื้อ เน้นมื้อเช้าเบามื้อเย็น ใช้จานเล็กๆ ดื่มน้ำก่อนกินข้าว กินผลไม้แทนขนม ซื้อขนมห่อเล็กกินพอหายอยาก อย่าตุนของในตู้เย็น เลี่ยงอาหารบุฟเฟ่ต์ หาเวลาออกกำลังกาย ขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ทำงานบ้านเอง สร้างแรงจูงใจ เช่น เขียนข้อความติดตู้เย็น เอาชุดสวยๆ มาแขวนไว้ดู หรือเข้าไปพูดคุยในเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการลดความอ้วน
สิ่งสำคัญที่สุดคือ " การเดินสายกลาง " ต้องไม่อ้วนและไม่ผอมจนเกินไป อย่ามุ่งมั่นที่จะ " ลดน้ำหนักเพื่อความผอม " แต่ให้ตั้งใจว่าต้องมี  " น้ำหนักที่เหมาะสมและสุขภาพดี "

แต่ไม่ว่าจะพูดอย่างไร หากเรายังมีค่านิยม " ผอมแล้วสวย-หล่อ...ผอมแล้วดูดี " ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดในเรื่องน้ำหนักที่เหมาะสมได้ เว้นแต่ว่าโลกจะเปลี่ยนกระแสมาเป็นนิยม  " คนอวบ " เมื่อนั้นเราคงมีความสุขกันมากขึ้นอย่างน้อยก็ความสุขในการกินแหละครับ

ข้อมูลสื่อ

365-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์