• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปรียบเทียบการรักษาแผนจีน-แผนปัจจุบัน (ตอนที่ 11)ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับโรค " เวินปิ้ง" ของแพทย์แผนจีน (2)

 
แพทย์แผนจีนเป็นระบบการแพทย์ที่มีทฤษฎีและระบบการตรวจวินิจฉัย การป้องกัน การรักษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งครอบคลุมเนื้อหา

" มนุษย์กับฟ้า (ธรรมชาติ) เป็นหนึ่งเดียว" 

" สืบค้นสภาพอาการ (เจิ้ง) เพื่อสาเหตุ" 

"การวินิจฉัยแยกแยะสภาพโรคและผู้ป่วย (เปี้ยน-เจิ้งลุ่นจื่อ) เพื่อวางแผนการรักษา "

นอกจากนี้ยังใช้หลักทฤษฎียิน-หยาง (ทฤษฎีปัญจธาตุ  ทฤษฎีฉางเซี่ยง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ภายนอกและอวัยวะภายใน ทฤษฎีเส้นลมปราณ ทฤษฎีการเกิดโรคจากปัจจัยภายนอกทั้ง 6  ทฤษฎีเหตุทั้ง 3 หลักการวินิจฉัยทั้ง 8 (ปากังเปี้ยนเจิ้ง)

 

แนวคิดในการป้องกันและรักษาโรค

" หมอที่เก่งไม่รักษาเมื่อเกิดโรค แต่ป้องกันโรค (รักษาเพื่อไม่ให้เกิดโรค) และไม่รักษาต่อเมื่อภาวะรุนแรงแล้ว แต่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะรุนแรง"

"เจิ้งชี่ภายในยังดำรงอยู่ เสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ก็ไม่อาจทำอะไรได้"

"คนที่เป็นโรคแสดงว่า พลังชี่อ่อนแอ"

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคที่ค้นพบใหม่หรือโรคที่ค่อนข้างรักษายาก มีความสลับซับซ้อน แพทย์แผนจีนก็ยังมีทางออกในการสืบค้นหาความเสียสมดุล และปัจจัยก่อโรคทางกายภาพที่มีลักษณะโดดเด่น โดยใช้หลักการตรวจวินิจฉัยที่เรียกว่า เปี้ยนเจิ้งลุ่นจื่อ  และใช้ยาจีน สมุนไพร อาหาร การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสร้างภาวะสมดุลของร่างกายขึ้น พยุงเจิ้งชี่ ขับเสียชี่ หรือสร้างภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อเสียชี่ในการก่อโรคได้


ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในทัศนะแพทย์จีนจัดอยู่ในหัวข้อโรคเวินปิ้งประเภทเวินยี่  แพทย์จีนมีประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในการรักษาโรคในกลุ่มนี้มานานนับร้อยปี เช่น ราชวงศ์หมิงหวู่โย่วเข่อ เขียนหนังสือชื่อ เวินอี้ลุ่น 

ราชวงศ์ชิง  - เย่เทียนซื่อ  เขียนตำราชื่อ เวินเหร่อลุ่น

                   - อู๋จวีทง เขียนตำราชื่อ เวินปิ้งเถียวเปี้ยน

โรค " เวินปิ้ง " ตามความหมายของแพทย์แผนจีนมีความหมายกว้าง แต่มีลักษณะร่วมที่สำคัญคือ

1.ปัจจัยก่อโรค เรียกว่า เวินเสีย จะโจมตีและเข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูกและผิวหนัง
2.ทำให้เกิดไข้
3. อาการของโรคจะรุนแรง
ซึ่งเทียบกับโรคทางแผนปัจจุบัน คือ โรคที่ทำให้เกิดไข้ (Febrile disease) แพทย์แผนจีนแบ่งโรคเวินปิ้งเป็น 9 ประเภท ประเภทที่แพร่กระจายติดต่อระบาดง่าย เรียกว่า เวินอี่


เวินเสีย คือปัจจัยก่อโรคของเวินปิ้งจะเกี่ยวข้องกับอากาศในฤดูกาลต่างๆ เช่น ลม ความร้อน ความชื้น ความแห้ง ความหนาวเย็น ดังนั้น เป็นสาเหตุให้โรคระบาดเป็นไข้หวัดใหญ่ โรค SARS ที่มีการระบาดในแต่ละฤดูกาล อาจจะมีรายละเอียดที่ต่างกัน แต่ไม่ใช่ปัญหาในการจำแนก ทุกโรคมีลักษณะร่วมกัน คือกระทบจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงภายนอก ติดต่อง่าย อาการคล้ายคลึงกัน
 
การอธิบายกลไกการเกิดโรค อี่ปิ้ง
อี่ตู๋  กระทบจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูก ผิวหนัง ทำให้มีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ไอแห้งๆ หายใจลำบาก ฯลฯ

กลไกการเกิดโรค คือพิษสะสมที่ปอด เสมหะ ความชื้น เลือดอุดกั้น พลังปอดถูกปิดกั้น พลังพร่องและยินพร่อง

การเกิดโรคและพัฒนาของโรครวดเร็ว รุนแรง เปลี่ยนแปลงฉับไว ตำแหน่งที่เกิดโรคอยู่ที่ปอดและลุกลามถึงหัวใจ ไต ม้าม กระเพาะอาหาร ฯลฯ

การลุกลามถึงปอดทำให้เกิดปอดบวม การลุกลาม ถึงเยื่อหุ้มหัวใจทำให้หมดสติ (กระทบสมอง) เป็นข้อสรุปจากตำรา " เวินเหร่อลุ่น " ที่ว่า เวินเสียเข้าสู่ด้านบน แทรกซึมโจมตีปอด แล้วย้อนเข้าทำลายเยื่อหุ้มหัวใจ (สมอง)

 

แผนการป้องกันและรักษาตามแผนปัจจุบัน-แผนจีน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ ไวรัส 1-3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดอักเสบตามมา รวมถึง หัวใจวาย และอาจจะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งโรคแทรกซ้อนนี้สามารถคร่าชีวิตได้ หากผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และติดยาเสพติด เป็นต้น

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีอัตราการแพร่ระบาดมากกว่าโรคซาร์ส และไข้หวัดนก แต่อัตราการเสียชีวิตมีน้อยกว่า

วัคซีนสำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ อาจไม่สามารถ ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ แต่ก็ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลได้ ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลผสมกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จนกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าเดิม โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันโรคได้ร้อยละ 60-90 หรือหากเป็น    ขึ้นมา อาการของโรคก็จะไม่รุนแรงนัก

 

การรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือกินยารักษาตามอาการ  เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

- ยาต้านไวรัส-ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส  คือยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วยจะให้ผลการรักษาดี

- ต้านจุลชีพ-กรณีติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

- แก้ไขเยียวยาตามอาการ


 
การรักษาด้วยแผนจีน
พิจารณาการขับพิษ ขับร้อน ขับชื้น เพิ่มพลังเจิ้งชี่  ปรับสมดุลยิน-หยาง-เลือด พลังของร่างกายไปพร้อมๆ กัน โดยแยกแยะปัญหาหลัก ปัญหารอง

ตัวอย่างการรักษาด้วยแผนจีน กรณีตัวอย่างไข้หวัดใหญ่ SARS
1. ระยะแรก  ธรรมดา-ไม่รุนแรง
 หลักการรักษา
 ขับร้อนกระจายปอด
 กระจายการไหลเวียนภายนอกของเส้นลมปราณ 
 บางรายเสริมการขับร้อนขับชื้นให้เสียชี่ออกสู่ภายนอก 
 ยาพื้นฐานที่ใช้ เช่น
 จินหยินฮวา     20   กรัม
 ต้าชิงเย่           20   กรัม
 เก๋อเกิน           15   กรัม
 ซูเย่                 12   กรัม


2. ระยะรุนแรง มักมีไข้สูง อ่อนเพลีย  (ขาดน้ำ) 
 หลักการรักษา 
 ขับร้อน ขับพิษ 
 กระจายปอดดึงพลังลงล่าง 
 ปรับซ่าวหยาง บำรุงชี่และยิน 
 ยาพื้นฐานที่ใช้
 ยวีชิงเฉ่า   45     กรัม
 หวงฉิน      15     กรัม
 ซิ่งเหริน     15     กรัม
 ไฉหู           15     กรัม
 สือเกา        30     กรัม


3. ระยะฟื้นฟู ช่วงลดยาสเตียรอยด์ (เนื่องจากมีการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ SARS)
 หลักการรักษา 
 บำรุงพลัง-เสริมยิน  
บำรุงปอด เสริมม้าม  
ขับชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ 
 ยาพื้นฐานที่ใช้
  หวงฉี        45     กรัม
  กันเฉ่า       30     กรัม
  ถาวเหริน   30     กรัม
- ยา 3 ตำรับสามารถปรับลดตามสภาพ    ผู้ป่วยได้
- 1 ห่อ กิน 1 วัน

 
ผลการวิจัย ยาสมุนไพรจีน ป่านหลานเกิน

พบว่ามีฤทธิ์รบกวนการจับตัวของกรดนิวคลิอิก (nucleic acid) ของไวรัสทำให้ไม่สามารถสร้างอาร์เอ็นเอ (RNA) ได้ เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถแบ่งตัวขยายแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว แต่การใช้ป่านหลานเกิน ล้วนเดี่ยวๆ จะกระทบการทำงานของระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องอืด อ่อนเพลีย แขนขาเย็น ใจสั่น โดยเฉพาะคนที่มีภาวะหยางพร่อง
สรรพคุณของป่านหลานเกิน คล้ายสมุนไพรฟ้าทะลายโจรของไทย
 
ยาสมุนไพร ซีหยางเซินและหวงฉี
มีฤทธิ์ในการยกระดับภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มระดับของเม็ดเลือดขาวประเภทที-เซลล์ (T-cell lymphocyte)
 
การป้องกันสำหรับผู้ที่อ่อนแอ
ใช้ยาเสริมภูมิคุ้มกัน เสริมพลังเว่ยชี่หรือพลังปกป้องผิว เช่น ตำรับยา ยวี่-ผิง-เฟิง-ซ่าน  ป้องกันการรุกรานของเสียชี่ 

 
สรุป
การรักษา โรคไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสที่มีการระบาดรุนแรง แผนจีนยังเน้นการขับพิษ ขับร้อน ขับชื้น เพิ่มพลังเจิ้งชี่ ปรับสมดุลยิน-หยาง-เลือด-พลังของร่างกาย ปรับสมดุลกลไกพลัง โดยอาศัยทฤษฎีการวินิจฉัยแบบ เปี้ยนเจิ้งเป็นหลัก ตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

การป้องกัน ให้ความสำคัญของพลังเจิ้งชี่และการ ป้องกันไม่ให้เป็นโรค แต่ถ้าได้รับปัจจัยก่อโรคก็รีบขับออกจากร่างกาย ไม่ให้รุกรานสู่ภายใน ด้านหนึ่งสร้างเงื่อนไขไม่ให้โรคก่อตัวหรือพัฒนา อีกด้านหนึ่งสร้าง ความสมดุลของร่างกายควบคู่กันไป โดยไม่ได้แยกแยะตัวเชื้อไวรัสว่าเป็นชนิดไหนเป็นหลัก ไม่สนใจว่าเป็นเชื้อใหม่ เชื้อเก่าชนิดไหน สนใจที่อาการและสภาพสมดุลของร่างกาย จึงมีลักษณะทั่วไป ข้อด้อยคือไม่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงในการป้องกันรักษาแต่ละโรค

การใช้วัคซีนป้องกันโรคให้ตรงกับเชื้อถือว่าดีที่สุด มีลักษณะจำเพาะเจาะจง แต่การผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา อย่างน้อย 5-6 เดือน เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง และต้องพัฒนาวัคซีนตลอด เวลา วัคซีนที่ผลิตใหม่อาจจะล้าหลัง เพราะเชื้อมีการปรับเปลี่ยนทางกรรมพันธุ์ตลอดเวลา
สำหรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เชื้อดื้อยาเร็วขึ้น หรือเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ต่อไปเชื้อจะพัฒนาตัวเองทำให้ดื้อยา

ข้อด้อยของแผนปัจจุบันคือมุ่งที่ตัวเชื้อไวรัสเป็น หลัก ไม่ให้ความสำคัญในการปรับสภาพสมดุลของ ร่างกาย จึงต้องพัฒนาวัคซีนและยาตามหลังเชื้อไวรัสตลอดเวลา

การใช้แนวคิดการแพทย์จีนหรือแผนไทย สู่การประยุกต์ใช้ทางคลินิก ถือเป็นทางเลือกที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษาและนำสู่การแก้ปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน

ข้อมูลสื่อ

365-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
แพทย์แผนจีน
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล