ที่ผ่านมาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีลักษณะเป็นการตั้งรับที่โรงพยาบาลเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้ไปถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแล้ว
การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล หมายถึง การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรุนแรงจากจุดเกิดเหตุมาส่งโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้บาดเจ็บรุนแรงได้แก่ผู้ประสบอันตรายในขั้นที่เป็นอันตรายถึงกับชีวิต หรือในระดับที่แพทย์ต้องรับตัวไว้รักษา ณ ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินหรือรับไว้สังเกตอาการ
การแพทย์ฉุกเฉิน หมายความว่า การปฏิบัติการ ฉุกเฉิน การศึกษา การฝึกอบรม การค้นคว้า และการวิจัยเกี่ยวกับการประเมิน การจัดการ การบำบัดรักษา ผู้ป่วยฉุกเฉิน และการป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นฉุกเฉิน
ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการและการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้น
ปฏิบัติการฉุกเฉิน หมายความว่า การปฏิบัติการ ด้านการแพทย์ฉุกเฉินนับแต่การรับรู้ถึงภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินจนถึงการดำเนินการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบำบัดรักษาให้พ้นภาวะฉุกเฉินซึ่งรวมถึงการประเมิน การจัดการ การประสานงาน การควบคุม ดูแล การติดต่อสื่อสาร การลำเลียงหรือขนส่ง การตรวจวินิจฉัย และการบำบัดรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งนอกสถานพยาบาลและในสถานพยาบาล
หน่วยปฏิบัติการ หมายความว่า หน่วยงานหรือองค์กรที่ปฏิบัติการฉุกเฉิน
ผู้ปฏิบัติการ หมายความว่า บุคคลที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินตามที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด
เรื่องราวของการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้บาดเจ็บในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นองค์กรช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุนอกโรงพยาบาลถือว่าสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ซึ่งจัดตั้งวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2536 เป็นองค์กรที่เริ่มต้นให้การช่วยเหลือพยาบาลบรรเทาทุกข์ ผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาล จากกรณีพิพาทระหว่าง สยามกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แต่เป็นการให้บริการเฉพาะผู้บาดเจ็บจากสงคราม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภากาชาดไทย
สำหรับการช่วยเหลือในลักษณะสังคมสงเคราะห์และการกู้ภัย ควบคู่กับการเก็บศพผู้เสียชีวิตตามมาด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นต้นและลำเลียงนำส่งโรงพยาบาลกลับมีองค์กรเพื่อการกุศลอื่นเข้ามามีบทบาทชื่อป่อเต็กตึ๊ง ปรับเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลและการกู้ภัย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2480 และมูลนิธิร่วมกตัญญู ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2513
การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นต้นมา มี ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้บทบาทการช่วยผู้บาดเจ็บบนท้องถนนของมูลนิธิต่างๆ ในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีมากขึ้นจนเป็นภาพที่เคยชินและยอมรับว่าอาสาสมัครทำงานแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
อาสาสมัครของมูลนิธิมีระบบเครือข่ายวิทยุสื่อสารของอาสาสมัครซึ่งได้รับการกำกับดูแลจากเครือข่ายของตำรวจ จำนวนอาสาสมัครของมูลนิธิขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีระบบควบคุมคุณภาพที่ชัดเจน มีปัญหาการขโมยทรัพย์สินของผู้บาดเจ็บ การบาดเจ็บซ้ำของอาสาสมัครและผู้ป่วยที่รับการช่วยเหลือ จากกรณีที่ รถมูลนิธิขับขี่โดยขาดความระมัดระวัง พื้นที่นอกเขตเมืองไม่สามารถขยายทีมอาสาสมัครออกไปให้บริการให้ครอบคลุมได้ ขาดการกำกับดูแลเชิงนโยบายของรัฐส่งผลให้ขาดทิศทางการพัฒนา ไม่มีการประเมินมาตรฐานคุณภาพในเรื่องต่างๆ ทั้งบุคลากร รถและอุปกรณ์ การสนับสนุนทั้งงบประมาณ ความรู้และทรัพยากรต่างๆ ล้วนเป็นการดิ้นรนของกรรมการมูลนิธิแต่ละที่
ต่อมา พ.ศ.2523กรมตำรวจได้ตั้งศูนย์รถพยาบาลขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ร้องขอมาทางโทรศัพท์และวิทยุ และได้รวมศูนย์รถพยาบาลเข้ากับศูนย์ส่งกลับ พ.ศ.2529 กรมการแพทย์ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนให้จัดทำระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลราชวิถีตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ได้เปิดศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถีอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2538 ถือเป็นต้นแบบหนึ่งของหน่วยกู้ชีพ ที่ดำเนินการภายใต้การดูแลกำกับจากโรงพยาบาล เริ่มก่อตั้งระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในภูมิภาคที่จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีหน่วยกู้ชีพขึ้น แต่ละจังหวัดเริ่มมีการแบ่งพื้นที่ดำเนินการ
แพทยสภาได้อนุมัติหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Physician) เริ่มฝึกอบรม พ.ศ.2547 ขณะเดียวกันศูนย์นเรนทรได้กำหนดประเภทของหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินอื่นๆ ได้แก่ อาสากู้ชีพ (First Responder) สำหรับหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินขั้นต้น ฝึกปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายขั้นพื้นฐาน
เวชกรฉุกเฉินสำหรับหน่วย EMS ขั้นพื้นฐานแบ่งย่อยเป็น เวชกรฉุกเฉินระดับพื้นฐาน (EMT-B)เวชกรฉุกเฉินระดับกลาง (EMT-I) เน้นการช่วยฟื้นคืนชีพ ขั้นพื้นฐานและเป็นทีมปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง พยาบาลกู้ชีพ
สำหรับหน่วย EMS ขั้นสูง ฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพนั้น มีการพัฒนาศูนย์สั่งการขึ้นทั่วประเทศ มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขานุการ ภายใต้งบประมาณด้านการเงินการคลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ล่าสุดคือการสามารถผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551ขึ้น จึงเกิดสำนักงานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นองค์กรที่แยกออกมาจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถแจ้งเหตุได้หมายเลขเดียวทั่วประเทศคือ 1669 มีสโลแกนว่า เจ็บเมื่อไหร่ก็โทรมา ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ รวมถึงอุบัติเหตุจราจร ความเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ภาวะฉุกเฉินทางสมอง หรือระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ได้รับสารพิษหรือสารเคมีต่างๆ รวมทั้งอุบัติภัยอื่นๆ หรือภัยพิบัติต่างๆ
สัญญาณแจ้งเหตุ 1669 จะไปติดที่ศูนย์สั่งการที่จังหวัดนั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์สั่งการจะสอบถามผู้แจ้งถึงลักษณะเหตุที่เกิด ความรุนแรงและสถานที่เกิดเหตุ เพื่อจะได้มีคำสั่งแจ้งไปยังชุดปฏิบัติการที่มีขีดความสามารถ เพียงพอ และใกล้จุดเกิดเหตุ เช่น รถพยาบาลระดับสูงสุด (Advance life support - ALS) มักจะเป็นรถของโรงพยาบาล รถพยาบาลระดับกลาง (Basic life support - BLS) หรือชุดปฏิบัติการระดับต่ำสุด (First responder - FR) ชุดหลังนี้มักจะเป็นอาสาสมัคร หรือมูลนิธิเพื่อการกุศลต่างๆ ซึ่งผ่านการอบรมแล้ว การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุและกระบวนการนำส่งผู้ป่วยโดยไม่ถูกวิธีอาจเพิ่มความพิการหรือสูญเสียได้
ปัจจุบันนี้ชุดปฏิบัติการกู้ชีพจะไปถึงจุดเกิดเหตุเร็วกว่าในอดีตมาก ผู้ประสบเหตุเพียงโทรศัพท์ไปยังหมายเลข 1669 ครับ
- อ่าน 11,028 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้