• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมองฝ่อ


สมองเป็นอวัยวะของร่างกายที่ทุกคนมักจะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โรคที่เกี่ยวกับสมองมีมากมาย ล้วนแล้วแต่สร้างความกลัวและวิตกกังวลอย่างมากแก่ผู้ป่วยหรือแม้แต่คนปกติเองที่สงสัยว่าอาจมีอาการทางสมอง ยิ่งในปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ต้องหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง มีสติในการรับรู้ข่าวสาร และอย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุ

ความเสื่อมของร่างกายนั้นเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยชรา ไม่เพียงแต่สมองเท่านั้นที่เสื่อมลง อวัยวะอื่นๆ ก็เสื่อมด้วย เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก ผมร่วง ฟันโยกคลอน ตาฝ้าฟาง หูตึง เป็นต้น คนแก่บางคนไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วผลออกมาว่ามี "สมองฝ่อ" ตอนนี้ใจเลยฝ่อตาม กลัวไปสารพัด หมอจะรักษาอย่างไรก็เอาหมด

อยากให้ทำความเข้าใจว่า"สมองฝ่อ" นั้น หมายถึงการที่เนื้อสมองสูญหายไปจำนวนหนึ่ง มักเกิดกับคนชรา ที่จริงแล้วไม่ใช่โรคแต่เป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย คนแก่บางคนอายุมากแล้วสมองยังไม่ฝ่อก็มี

ส่วนกรณีที่เกิดสมองฝ่อแล้วไม่มีอาการอะไรก็ไม่ต้องไปวิตกกังวล ยกเว้นว่าจะมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ความจำเสื่อม หลงลืม เชาวน์ปัญญาลดลง อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงเหมือนถอยหลังกลับไปเป็นเด็ก อย่างนี้ถึงจะจัดว่าเป็นโรคทางสมอง ต้องไปหาหมอ ซึ่งสาเหตุก็มีหลายอย่าง แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ "โรคอัลไซเมอร์"
ดังนั้น อย่าสับสนเพราะ "ความจำเสื่อม" กับ    "สมองฝ่อ" มันคนละเรื่องกัน

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดโดยจะมีการเสื่อมของเซลล์สมอง ผู้ป่วย จะมีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม อารมณ์และพฤติกรรม แปลกๆ มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษา สติปัญญาและทักษะต่างๆ ลดลง สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยสนับสนุน (เช่น กรรมพันธุ์) รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการดำรงชีวิต (ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สารพิษ การติดเชื้อ เป็นต้น)

ส่วนอาการ"ขี้หลงขี้ลืม" นั้น ต้องแยกแยะให้ดี เพราะเกิดขึ้นกับคนแก่เกือบทุกคนหรือแม้แต่วัยกลางคน (บางคน) ส่วนมากมักไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์ แต่เป็นเรื่องปกติของคนที่มีเรื่องราวสะสมในหัวมาก เมื่อเรื่องมากก็ต้องลืมง่ายเป็นธรรมดา โดยเฉพาะคนแก่มักลืมเหตุการณ์ใหม่ๆ แต่ไม่ยอมลืมความหลังครั้งเก่าอย่างที่มักพูดกันว่า "คนแก่ชอบคุยกันถึงอดีต" ซึ่งอาการขี้ลืมนี้จะยังไม่มากถึงขั้น "หลงลืม " จนทำให้คนอื่นผิดสังเกต เช่น กินข้าวแล้วแต่บอกว่ายังไม่ได้กิน สติปัญญาลดลงจนผิดสังเกต รวมทั้งมีอาการผิดปกติอื่นๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ความเสื่อมตามธรรมชาตินั้นเราไม่สามารถที่จะหยุดยั้งไว้ได้ แต่ก็ยังมีคนพยายามหาวิธีที่จะมาชะลอความเสื่อมตามวัย บางอย่างก็ได้ผล บางอย่างก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การจะใช้ยาอะไรต้องไม่ลืมว่าคนแก่นั้นก็เหมือนรถเก่า ย่อมมีความเสื่อมอยู่หลายที่ ไม่สบายหลายอย่าง บางอย่างก็ไม่ใช่โรค และบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะไม่คุ้มเสี่ยง ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ

สำหรับวิธีการชะลอความเสื่อมที่เป็นที่ยอมรับและ ได้ผลดีตามวิถีธรรมชาติ ก็คือหลัก 5 อ ได้แก่ อาหารดี อากาศดี ออกกำลังกายดี อุจจาระ (ขับถ่ายดี) และอารมณ์ (จิตใจ) ดี หลายคนก็รู้ดีแต่ปฏิบัติไม่ค่อยได้  

ปัจจุบันกระแสของการแพทย์เพื่อชะลอวัยกำลังมาแรง คนไทยสนใจกันมากขึ้น ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเสริมสวยหรือศัลยกรรมเพื่อความงาม แต่ยังหมายถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพ การตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกาย การดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลัก  ๕ อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม เป็นต้น   

ถ้ากระแสการดูแลสุขภาพจากภายในนี้มาแรงจริง อีกหน่อยเราคงได้เห็นคนไทยส่วนใหญ่อายุยืน แข็งแรงและดูอ่อนกว่าวัยกันถ้วนหน้า

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์