• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อมูลสุขภาพกับโรคไข้หวัดใหญ่


กลายเป็นข่าวเด่นเบียดข่าวการเมืองจนเกือบตกขอบ สำหรับสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)  ซึ่งนอกจากข้อมูลจำเป็นที่ประชาชนควรจะรับรู้ เช่น วิธีป้องกัน การติดต่อ จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตแล้ว  การลงรายละเอียดชนิดเจาะลึกถึงตัวบุคคลจะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ คงเป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณากันอย่างถ้วนถี่  เพราะตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ มาตรา 7 ระบุไว้ว่า

ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้  เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

เรื่องนี้คงจะต้องตีความกันให้ชัดสำหรับภาษากฎหมาย แต่ในสถานการณ์ โรคระบาดเช่นนี้อาจไม่มีใครมานั่งใส่ใจว่าข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นความลับส่วนบุคคลของใครจะถูกเปิดเผยอย่างไร เพราะสถานการณ์ระบาดหนักไปทั่วโลก ยิ่งในเมืองไทยที่เตือนๆ กันไว้ว่าไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ยอดผู้ป่วยกลับพุ่งพรวดจนหลายคนตกใจ การได้รับรู้ว่าใครที่ไหนป่วย จึงดูเหมือนจะสร้างความปลอดภัยได้มากกว่า ซึ่งถ้าใครที่ว่านั้นเขายินดีเปิดเผยว่าตนเองป่วยอย่างไร นั่นคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเขาไม่ยินดีที่จะบอกให้ใครรู้ว่าตอนนี้เขาป่วยเป็นโรคระบาดนะ อันนี้สิดูจะเป็นปัญหาซึ่งผู้ที่เปิดเผยหรือบอกต่อก็ควรจะพิจารณาให้หนัก

เพราะหากบุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 7 นั้น ผู้กระทำการฝ่าฝืนอาจต้องรับโทษ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 มีสาระสำคัญว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษ     จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้

สถานการณ์สุ่มเสี่ยงเช่นนี้ คนไทยควรจะต้องรู้ทั้งสิทธิและหน้าที่ เพื่อจะปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและปลอดจากโรคระบาดด้วยเช่นกัน
 

ข้อมูลสื่อ

364-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552