• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็ก...กับปัญหาการเรียน พ่อแม่ ครู แพทย์ และเด็ก แก้ไขได้

ลูกเรียนไม่เก่ง พยายามเร่งก็ไม่ทันเพื่อน ขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองทำไม่ได้ ไม่อยากไปโรงเรียน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าถึงปัญหาที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง มักจะประสบกับลูกหลานของตนเอง
เด็กที่พ่อแม่ ผู้ปกครองพามาพบแพทย์เร็วหรือช้า ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของปัญหา ความกังวลของพ่อแม่ ปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาอารมณ์หรือพฤติกรรมที่พบร่วมด้วย ส่วนใหญ่เด็กมาพบแพทย์ที่อายุน้อยเมื่อเด็กมีพัฒนาการช้าหลายด้าน พ่อแม่มีความกังวลสูง มีญาติหรือคนในครอบครัวมีปัญหาการเรียน หรือเด็กมีปัญหาทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรมร่วมด้วย หรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด มีโรคประจำตัวอื่น เป็นต้น

สาเหตุของปัญหาการเรียน
ปัญหาการเรียนของเด็กเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวเด็กเอง และสภาพแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดูทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ซึ่งหากเกิดจากหลายปัจจัยผสมผสานกันระหว่างเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน จะยิ่งทำให้ปัญหาการเรียนแย่ลง เช่น เด็กมีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ อยู่กับครอบครัวที่ยากจนและพ่อแม่หย่าร้าง รวมทั้งเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ จะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ในทางกลับกัน ถ้าเด็กมีความบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน เช่น มีปัญหาเรื่องคำนวณหรือการเขียน แต่สติปัญญาฉลาด ไม่มีปัญหาทางอารมณ์ ปรับตัวได้ดี มีฐานะดี ถ้าหากได้รับการศึกษาที่เหมาะสมจะช่วยแก้ปัญหาการเรียนให้ดีขึ้นได้

ปัญหาการเรียนที่เกิดจากตัวเด็ก
1. ความผิดปกติทางเชาวน์ปัญญา

เด็กมีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์มากๆ มักจะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่วัยทารกหรือวัยก่อนเรียน ส่วนเด็กที่สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ไม่มาก มักได้รับการวินิจฉัยช้ากว่าคือเมื่อเด็กเริ่มเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมต้น จะเรียนไม่ทันเพื่อน หรือสอบตกซ้ำชั้น แต่ก็จะสามารถเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 4-6 ได้ ถ้าได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม 

2. ประสาทการรับรู้ผิดปกติ
เด็กที่หูตึงหรือหูหนวก จะมีปัญหาการสื่อสารและการพูด ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ เด็กจะมีปัญหาด้านการอ่าน คำนวณ รวมทั้งอาจมีปัญหาการปรับตัว และปัญหาพฤติกรรมตามมา
ส่วนเด็กที่มีการมองเห็นผิดปกติ เช่น ตาสั้น ตาเอียง หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็ก
เด็กที่มีปัญหาการมองเห็นอย่างมาก เช่น ตาบอด จะมีพัฒนาการล่าช้าในหลายๆ ด้าน ทั้งการเคลื่อนไหว การพูดและการใช้ภาษา การเล่นและการเข้าสังคม 

3. ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง
ประมาณ 1 ใน 4 ถึง 2 ใน 3 ของเด็กที่เจ็บป่วย เรื้อรังจะมีปัญหาการเรียนร่วมด้วย จากหลายปัจจัย เช่น
โรคที่เป็นอยู่อาจมีผลกระทบต่อสมองโดยตรง เช่น โรคลมชัก หรือมีความพิการของสมอง ทำให้มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ หรือความเจ็บปวดที่ได้รับจากโรค อาจรบกวนสมาธิในการเรียน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีโมฟิเลีย มีเลือดออกในข้อบ่อยๆ จะจำกัดการเคลื่อนไหวและมีความเจ็บปวดทรมานขณะเคลื่อนไหว ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ขาดเรียนบ่อย ส่งผลให้ความคาดหวังของครูและผู้ปกครองลดลง
ยาที่ใช้ เช่น ยากันชัก ยาลดน้ำมูก อาจทำให้เซื่องซึมหรือง่วงนอน ยากันชักบางตัว (เช่น ฟีโนบาร์บิทาล) อาจทำให้สมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง ยาบางตัวอาจทำให้อ่อนเพลีย (เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง)

4. ภาวะทางอารมณ์ผิดปกติ
ปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีปัญหาการเรียนหรืออาจเป็นผลตามมาจากการที่เด็กมีปัญหาการเรียนอยู่ก่อนแล้วก็ได้
ประมาณร้อยละ 30-80 ของเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์จะมีปัญหาทางด้านการเรียนร่วมด้วย
ถ้าเด็กมีปัญหาพฤติกรรมที่แสดงออกชัดเจน เช่น ก้าวร้าว ต่อต้าน หรือรบกวนการเรียนการสอนของครูและเพื่อนในชั้น มักจะถูกส่งมาปรึกษาแพทย์เร็วกว่าเด็กที่มีปัญหาอารมณ์ที่เก็บกดไว้ภายใน เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เพราะฉะนั้นการประเมินเด็กที่มาด้วยปัญหาการเรียนจะต้องประเมินปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ด้วยเสมอ

5. การเรียนรู้ด้อย
คำว่าการเรียนรู้ด้อย (Learning disability หรือ LD) หมายถึง ภาวะที่เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากการทำงานของสมองผิดปกติ ทำให้เรียนไม่ได้เต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยอาจแสดงออกถึงความบกพร่องเรื่องการฟัง คิด อ่าน พูด เขียน หรือคำนวณ ซึ่งการเรียนรู้ด้อยเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อนหรือปัญหาทางอารมณ์ (คนตาบอด หูหนวก หรือปัญญาอ่อน อาจมีสภาวะการเรียนรู้ด้อยร่วมด้วยได้) โดยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะต่ำกว่าระดับสติปัญญา หรือศักยภาพที่มีอยู่อย่างน้อย 2 ปีหรือมากกว่า

ส่วนใหญ่จะไม่รู้สาเหตุของการเรียนรู้ด้อย แต่พบได้เพิ่มมากขึ้นในครอบครัวที่เคยมีเด็กการเรียนรู้ด้อย รวมถึงเด็กที่มีประวัติแม่ใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เด็กคลอดก่อนกำหนด ขาดออกซิเจนหรือสมองมีการทำงานผิดปกติ จากการติดเชื้อ อุบัติเหตุหรือได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว
ถึงแม้การวินิจฉัยปัญหาการเรียนรู้ด้อยจะทำในเด็กที่เข้าเรียนแล้ว แต่เด็กวัยก่อนเรียนอาจมีลักษณะของเด็กที่การเรียนรู้ด้อยให้สังเกตเห็น เช่น เป็นเด็กเลี้ยงยาก หรือซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น ไม่ทำตามคำสั่ง เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า คือพูดช้า พูดไม่ชัด เรียนรู้คำใหม่ๆ ได้ช้า เลือกใช้คำไม่เหมาะสม มีปัญหาการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเลข ตัวอักษร และเวลา เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นอาจมีปัญหาการเรียนรู้ด้อย จึงต้องเฝ้าระวัง สังเกต ติดตาม และหาทางช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ

6. สมาธิสั้น
สมาธิสั้นเป็นปัญหาทางพฤติกรรมที่พบได้ บ่อยของเด็กวัยเรียน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง การวินิจฉัยนั้นแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่มคือ ขาดสมาธิ และซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ทำก่อนคิด
เด็กบางคนมีปัญหาขาดสมาธิอย่างเดียว บางคนปัญหาส่วนใหญ่คือซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น  และเด็กบางคนมีทั้งขาดสมาธิและซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่นร่วมกัน มักพบว่ามีอาการก่อนอายุ 7 ขวบ และต้องมีอาการอยู่อย่างน้อย 6 เดือน โดยอาการเหล่านี้ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็กวัยเดียวกัน พบได้เกือบตลอดเวลาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นมักมีปัญหาพฤติกรรมอื่นร่วมด้วย เช่น ปัญหาการเรียน การพูด และการใช้ภาษา ปัญหาการปรับตัวเข้าสังคม ต่อต้าน ไม่ร่วมมือ ชอบทำผิดระเบียบ เครียด กังวล เป็นต้น
การรักษาใช้การปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนร่วมไปกับการใช้ยาในผู้ป่วยบางราย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ลดปัญหาการเรียนและปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากสมาธิสั้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

7. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
บางคนเรียกว่าเด็กอัจฉริยะ เด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีพรสวรรค์พิเศษ คือเด็กที่มีความสามารถมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ โดยเด็กอาจจะมีพรสวรรค์พิเศษด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษา กีฬา ดนตรี หรือการเป็นผู้นำ
เด็กที่มีความสามารถพิเศษพบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของเด็ก ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถพิเศษของเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตนเองและมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนรู้ เพราะเด็กที่มีพรสวรรค์ พิเศษจะรู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้น เข้าใจบทเรียนได้รวดเร็ว และประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมาได้ต่างจากเพื่อน และอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายชั้นเรียนและระบบการเรียนการสอนจนกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาการเรียนและปัญหาพฤติกรรม


ปัญหาการเรียนที่เกิดนอกตัวเด็ก
1. ปัญหาครอบครัวและสังคม

ปัญหาภายในครอบครัวที่พบได้บ่อยๆ คือความขัดแย้งภายในครอบครัว พ่อแม่แยกกันอยู่ หย่าร้าง มีการกระทำทารุณต่อเด็ก ทอดทิ้งปล่อยปละละเลย หรือพ่อแม่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ
ส่วนปัญหาทางสังคม เช่น ฐานะยากจน พ่อแม่ตกงาน ติดยาเสพติด ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เพราะเครียดกังวลกับปัญหาภายในครอบครัว อาจซึมเศร้า ก้าวร้าว ต่อต้าน หรือมีปัญหาพฤติกรรมอื่นตามมา
นอกจากนี้ ความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีมากเกินไป หรือการละเลยไม่เอาใจใส่และไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ล้วนส่งผลต่อการเรียนของเด็กทั้งสิ้น

2. ปัญหาที่โรงเรียน
การจัดการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก หลักสูตรของโรงเรียนที่เข้มงวดเร่งรัดมากเกินไป หรือปล่อยปละละเลย
อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน สื่อต่างๆ ไม่ได้คุณภาพหรือไม่เหมาะสม
คุณภาพของครู ความสามารถและเทคนิคของ ครูผู้สอนในการสร้างแรงจูงใจในการเรียน รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน

จำนวนนักเรียนที่มากเกินไปในแต่ละห้อง อัตราส่วนของครูและนักเรียนไม่เหมาะสม เช่น ครู 1 คน ต่อเด็กนักเรียน 60-70 คน

กฎระเบียบและวิธีการลงโทษเมื่อเด็กทำผิด การให้คำชมเชยและให้กำลังใจเมื่อเด็กมีความพยายาม หรือทำได้สำเร็จ มีส่วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักเรียน อาจเป็นแรงเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็กด้วยเช่นกัน เช่น เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะถูกเพื่อนแกล้งหรือล้อเลียนบ่อยๆ เป็นต้น

การประเมินเด็กที่มีปัญหาการเรียน
เด็กที่มีปัญหาการเรียนจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครู กุมารแพทย์ หรือแม้กระทั่งตัวเด็กด้วย
1. กุมารแพทย์
สามารถบอกชนิดและความรุนแรงของปัญหา เพื่อหาว่ามีปัญหาด้านสุขภาพที่อาจทำให้เกิดปัญหาการเรียนหรือไม่ เช่น โรคลมชัก หอบหืด เป็นต้น
นอกจากนี้แพทย์ต้องประเมินสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก  สร้างความไว้วางใจและประสานให้เกิดความร่วมมือของพ่อแม่ ครู และตัวเด็ก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเรียนของเด็กได้อย่างดี

2.  พ่อแม่
การร่วมมือกันแก้ไขปัญหานั้น พ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญมากๆ แพทย์ต้องประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความเข้าใจต่อปัญหาของพ่อแม่ว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีต่อเด็ก ซึ่งปัญหาอาจเกิดมานานจนเป็นความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับเด็ก พ่อแม่อาจวิตกกังวล ผิดหวังในตัวลูก เครียด โกรธที่ไม่ได้ดังใจ ทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกเสียไป ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้พ่อแม่จะต้องเปิดเผย เช่น
เด็กมีปัญหาพฤติกรรมอื่น นอกจากปัญหาการเรียนหรือไม่ เช่น ต่อต้าน ก้าวร้าว
มีคนในครอบครัวที่มีปัญหาการเรียนหรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง
สภาพชีวิตความเป็นอยู่ในบ้าน เวลาที่ให้กับลูกและกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
ปัญหาของพ่อแม่เอง เช่น ติดเหล้า ยา ซึมเศร้า หย่าร้าง ยากจน ตกงาน มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำผิดกฎหมาย รวมถึงทัศนคติและค่านิยมของพ่อแม่ต่อการเรียน ให้ความสำคัญต่อการเรียนของลูกมากน้อยแค่ไหน

3. ครู
ข้อมูลที่ได้จากครูก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก เช่น วิชาที่มีปัญหา ความสนใจ ความตั้งใจ ลายมือ ความสม่ำเสมอในการมาเรียน ผลการเรียนในอดีต (สมุดพก สมุดจดงาน) ความประพฤติในห้องเรียน ความช่วยเหลือหรือการทดสอบที่เคยทำไปแล้ว

4. เด็ก
ข้อมูลจากตัวเด็กตามลำพังมีความสำคัญต่อการช่วยเหลือเด็กด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าเด็กคิดอย่างไรกับปัญหาและเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนของปัญหาการเรียน เช่น สอบตก หนีเรียน หรือมีวิชาใดบ้างที่เป็นปัญหา
ความสัมพันธ์ในครอบครัว หย่าร้าง ย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจทำให้เด็กเครียดและกังวล ไม่มีสมาธิในการเรียน มีกิจกรรมอะไรบ้างที่ชอบทำ วิชาที่ชอบเรียน

มีการใช้ยา สารเสพติด และแอลกอฮอล์ร่วมด้วยหรือไม่ (โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น) ซึ่งจะทำให้เด็กมีผล      การเรียนตกต่ำลงหรือหนีเรียน

ขาดเรียนบ่อยหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นจากโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ เช่น ฮีโมฟิเลีย ต้องหยุดเรียนเพื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โรคลมชัก หูน้ำหนวกเรื้อรัง สารตะกั่วเป็นพิษ เลือดจางจากการขาดเหล็ก เป็นต้น รวมทั้งยารักษาโรคบางตัวที่อาจมีผลต่อสมาธิ (เช่น ฟีโนบาร์ บิทาล ทีโอฟิลลีน สูโดอีฟีดรีน)

การตรวจร่างกาย
สังเกตอารมณ์ บุคลิกทั่วไป เช่น กังวล ซึมเศร้า ซนอยู่ไม่นิ่ง
เด็กวัยรุ่นบางคน โดยเฉพาะเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า จะมีปัญหาการเรียนได้มากกว่าเด็กหญิงที่เข้าวัยรุ่นช้าเนื่องจากปัญหาการปรับตัว
ปัญหาการได้ยิน การใช้สายตา เช่น หูตึง สายตาสั้น
ตรวจร่างกายตามระบบต่างๆ
ตรวจทางระบบประสาท
ตรวจระดับสติปัญญา ตรวจประเมินความสำเร็จในการเรียน โดยนักจิตวิทยา

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียน
เป้าหมายที่สำคัญคือให้ประสบความสำเร็จในการเรียน รักษาความบกพร่องที่พบร่วมด้วย และป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่อาจตามมา ต้องให้การช่วยเหลือทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยทำงานเป็นทีม กับสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างพ่อแม่ ครู กุมารแพทย์ และมีการติดต่อประสานงานกันสม่ำเสมอ

1. การให้คำปรึกษา และสร้างความมั่นใจ
อธิบายให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจถึงผลการตรวจ และให้มีความมั่นใจต่อการช่วยกันแก้ปัญหา และเข้าใจถึงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่จะเป็นประโยชน์กับเด็ก รวมทั้งสถานศึกษาที่จัดการเรียนร่วมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ผู้ปกครอง สามารถไปติดต่อได้

2. วางแผนการศึกษา
การปรับเปลี่ยนโปรแกรมการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละราย มีเป้าหมายชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาจทำได้หลายวิธี เช่น

ให้เรียนซ้ำชั้นเดิม ถ้าสาเหตุเป็นจากการเข้าเรียนเร็วกว่าวัย เช่น เข้าเรียนอนุบาลเมื่ออายุน้อยเกินไป เด็กยังไม่พร้อม ข้อเสียของการให้ซ้ำชั้น คือเด็กจะขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่ดีต่อตนเอง ซึ่งพ่อแม่ช่วยได้โดยการให้กำลังใจและให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีค่า

ให้เด็กเรียนร่วมกับเด็กปกติ และให้แยกมาเข้าชั้นเรียนพิเศษในบางวิชา ซึ่งจะมีข้อดีคือในชั้นเรียนพิเศษจะมีอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนน้อย ครูดูแลได้ทั่วถึงกว่าชั้นเรียนปกติ ส่วนวิชาที่ไม่มีปัญหาก็ให้เด็กได้เรียนร่วมในชั้นเรียนปกติเพื่อให้ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กปกติ

เด็กที่มีปัญหามาก อาจจำเป็นต้องแยกเรียนในโรงเรียนพิเศษหรือชั้นเรียนพิเศษทุกชั่วโมง ส่วนวิธีการสอนนั้นอาจใช้การสอนซ่อมเสริม เพื่อเพิ่มทักษะในส่วนที่เด็กบกพร่อง หรือสอนโดยชดเชย โดยใช้ทักษะที่เด็กทำได้ดีไปแก้ไขส่วนที่บกพร่อง เช่น เด็กที่ขาดทักษะการเขียน ครูสอนเสริมโดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เด็กเขียนได้ดีขึ้น และชดเชยให้เด็กตอบคำถามด้วยปากเปล่าแทนการเขียนใส่กระดาษคำตอบ

3. ฝึกทักษะการเข้ากลุ่มและสังคม
เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและรู้สึกว่าตนเองมีค่า จะช่วยป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่อาจตามมา ต้องมองหาว่าเด็กมีจุดเด่นหรือมีความสามารถด้านอื่นอะไรบ้าง เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ชอบช่วยเหลือ ชอบทำกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออก เกิดความมั่นใจและภูมิใจในตนเอง โดยมีครู หรือพ่อแม่เป็นผู้ให้กำลังใจ ให้คำชมเชย และให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจต้องได้รับการฝึกพูด หรือทำกายภาพบำบัด หรือฝึกการใช้มือ
พ่อแม่ ครู แพทย์ จะต้องประสานงานกันเป็นระยะๆ สม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนวิธีการตามปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จนกว่าเด็กจะจบการศึกษา

ปัญหาการเรียนของเด็ก เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจากตัวเด็กเอง รวมทั้งสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู การเรียนการสอน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน กุมารแพทย์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจ ประเมิน แก้ไขและรักษาสาเหตุ รวมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้ป่วย และให้มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ระหว่างครู ผู้ปกครอง และบุคลากรสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวได้ เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ประสบความสำเร็จในการเรียน ลดและป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่อาจเกิดตามมา และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์