วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็น "วันเบาหวานโลก"
คอลัมน์ "สารานุกรมทันโรค" ฉบับนี้ได้เขียนเกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างละเอียดลออ
คาดว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 4-6 ตามโรงพยาบาลต่างๆ จึงมีผู้ป่วยเบาหวานมารับบริการอย่างล้นหลาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ จะมีผู้ป่วยมารอคิวตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตั้งแต่ตี 4 ตี 5 และมีเวลาพบแพทย์เพียง 2-3 นาที
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะคุมน้ำตาลไม่ได้ตามเป้าหมายอันพึงประสงค์ คือปล่อยให้น้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์ปกติอยู่เรื่อยๆ
เนื่องจากภาระงานมาก (แพทย์น้อย ผู้ป่วยมาก) และมีเวลาดูผู้ป่วยเพียง 2-3 นาที แพทย์จึงมักจะประเมินดูค่าน้ำตาลที่ตรวจพบในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ถ้าพบว่าค่าน้ำตาลสูงก็มักจะสอนแนะให้ผู้ป่วยคุมอาหาร (อย่ากินโน่นกินนี่) ถ้าพบว่ายังสูงซ้ำซาก แพทย์ก็มักจะดุว่าหรือขู่ว่าต่างๆ นานา ("ถ้าไม่คุมน้ำตาลให้ดีๆ เดี๋ยวก็จะเป็นโรคหัวใจ อัมพาต...เดี๋ยวจะต้องล้างไต...เดี๋ยวจะต้องถูกตัดขา...")
ผู้ป่วยบางคนเรียนรู้ว่าถ้าคุมอาหารให้เข้มสัก1-2 วัน ก่อนไปตรวจเลือดตามนัด ค่าน้ำตาลจะลดลงสู่ปกติ แพทย์ก็จะพอใจ จึงตั้งใจคุมอาหารก่อนพบแพทย์เพียง 1-2 วัน แต่ก่อนหน้านั้นทั้งเดือนก็ยังคงกินตามใจปาก วิธีนี้เหมือนกับหลอกหมอเพื่อเอาตัวรอด (ไม่ต้องถูกต่อว่า)
ในปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งสามารถส่งตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA 1 C) ซึ่งใช้ประเมินว่าค่าน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ต่างจากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ซึ่งสะท้อนค่าน้ำตาลเพียงช่วงในวันนั้นๆ เท่านั้น
ผู้ที่มีพฤติกรรมหลอกหมอเอาตัวรอด เมื่อแพทย์ส่งตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมก็จะพบว่ามีค่าสูงเกินปกติ สะท้อนว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจคุมอาหารอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรคแต่อย่างใด
เหตุที่แพทย์ให้ความสำคัญกับค่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ก็เนื่องเพราะโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถนำน้ำตาลไปเผาผลาญในเซลล์ ทำให้มีน้ำตาลคั่งในเลือด แล้วท้นออกมาในปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาในระยะยาว ทำให้เกิดความพิการและอายุสั้น
ถ้าผู้ป่วยสามารถคุมน้ำตาลได้ดีอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และสามารถมีชีวิตที่ปกติสุขและยืนยาวเท่าคนปกติทั่วไป
แพทย์จึงมีความ "เอาเป็นเอาตาย" กับค่าน้ำตาลของผู้ป่วย รวมทั้งปัจจัยร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความดันเลือด ไขมันในเลือด ภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุราจัด ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย)
แต่เนื่องจากเบาหวานมีธรรมชาติที่แปลกไปจากโรคทั่วไป คือ เป็นโรคที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้สึกสุขสบาย ไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ต่างจากไข้หวัด ที่มีอาการไข้ เป็นหวัด ไอ หรือ ไส้ติ่งอักเสบที่มีอาการปวดท้องรุนแรง ทำให้ต้องรีบไปรับการรักษาพยาบาล
แต่เบาหวานเป็นโรคที่แพทย์กำหนดไว้ว่า ใครก็ตามที่มีระดับน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง) ตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นเบาหวานแล้ว จำเป็นต้องรับการดูแลรักษา และควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ระหว่าง 70-130 มก./ดล. (เต็มที่อนุโลมให้ไม่เกิน 150) จะปลอดภัยดี
ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ผู้ป่วยที่มีค่าน้ำตาลระหว่าง 10-200 มก./ดล. จะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด
อาการปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำบ่อยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีค่าน้ำตาลตั้งแต่ 200 ขึ้นไป
ผู้ป่วยไม่ตระหนักว่า แม้รู้สึกสบายดีก็ยังมีโรคเบาหวานและอันตรายจากโรคนี้แอบแฝงอยู่ รวมทั้งไม่สามารถประเมินจากอาการ (ความรู้สึก) ได้ว่าควบคุมโรคได้ดีเพียงใด นอกจากการตรวจน้ำตาลในเลือด (ซึ่งจำเป็นต้องตรวจทุกวันหรือทุกสัปดาห์ ไม่ใช่ทุก 1-2 เดือนดังที่ปฏิบัติกัน)
ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยบางคนมีค่าน้ำตาลสูงนิดๆ (ไม่เกิน 200) มักจะรู้สึกสุขสบาย แต่ถ้าคุมให้เหลือ 70-130 ตามเป้าหมายอันพึงประสงค์กลับรู้สึกอ่อนเพลีย มึนงง ไม่สุขสบาย หรือถ้าเคยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการเป็นลมแทบจะขาดใจตาย ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉียดตายอันน่าสะพรึง ผู้ป่วยก็จะพยายามรักษาระดับน้ำตาลให้สูงไว้ มากกว่าคุมให้ต่ำ บางคนก็จะแอบปรับขนาดยาเองตามอำเภอใจ (ความรู้สึกสุขสบายหรือไม่สุขสบาย) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย
การประเมินผลการรักษาด้วยตนเอง (จากอาการแสดงหรือความรู้สึก) ของผู้ป่วย จึงสวนทางกับแพทย์โดยสิ้นเชิง (ที่เน้นค่าน้ำตาลเป็นหลัก)
ธรรมชาติของเบาหวานอันแตกต่างจากโรคทั่วไปดังกล่าว จึงจัดว่าเบาหวานเป็น โรคภัยเงียบ หรือเพชฌฆาตมืด (silent killer)
ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และครอบครัว ควรหาทางสื่อสารกันให้เข้าใจในธรรมชาติของความเป็นภัยเงียบของโรคนี้
เมื่อเกิดความตระหนักและรู้แจ้งในธรรมชาติดังกล่าว ผู้ป่วยก็ย่อมจะเห็นความจำเป็นของการตรวจน้ำตาลให้บ่อยขึ้น และสามารถปรับพฤติกรรมให้ถูกต้องจากค่าน้ำตาลที่ประเมินได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อการควบคุมโรคในที่สุด
- อ่าน 8,409 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้