เรื่องเห่อของใหม่นี้คนไทยเราไม่น้อยหน้าใคร ถ้ามีอะไรใหม่ๆ มาเป็นต้องขอลองดูเสียหน่อย แม้กระทั่งยาใหม่ที่ทั้งหมอและผู้ป่วยหลายคนก็เห่อเช่นกัน
อย่าลืมว่ายังไงยาก็คือสารเคมีที่มีผลต่อชีวิตและสุขภาพ มีทั้งคุณและโทษแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอื่นๆ การใช้ยาไม่ว่าจะเป็นยาเก่า (ไม่ใช่เก่าเก็บ แต่หมายถึงยารุ่นแรกๆ) หรือแม้แต่ยารุ่นใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้น ก็ต้องใช้ดุลยพินิจให้ดี
การใช้ยาชนิดใดๆ ก็ตาม อย่างน้อยต้องรู้ทั้งคุณและโทษ ยิ่งรู้รายละเอียดอื่นได้อีกยิ่งดี (โดยเฉพาะหมอ) เช่น รู้องค์ประกอบของยา กลไกการออกฤทธิ์ การดูดซึม การกระจายไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย การสลายและขับถ่ายออกจากร่างกาย ฤทธิ์ข้างเคียงของยา ปฏิกิริยาระหว่างยากับสารอาหารหรือกับยาอื่น ถ้ารู้ราคายาด้วยก็ยิ่งดี บางครั้งอาจต้องรู้ลึกถึงการผลิตตั้งแต่เหตุผลในการผลิตไปจนถึงกระบวนการผลิตโน่นเลย
สาเหตุที่ต้องรู้ลึกอย่างนั้นก็เพราะมียาใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยที่มีเหตุผลการผลิตเพื่อการค้ามากกว่าประโยชน์ทางการแพทย์ หากไม่รู้เท่าทันก็จะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
จำไว้ว่า "ของใหม่ไม่จำเป็นต้องดีกว่าของเก่าเสมอไป"
ยกตัวอย่างกรณีของคนที่ใช้ "รถ" ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือกระทั่งรถยนต์ ถ้าเปรียบเทียบดีๆ ถึงสมรรถภาพและคุณสมบัติบางอย่างแล้ว บางทีของใหม่ยังสู้ของเก่าไม่ได้ เข้าข่าย "สวยแต่รูป จูบไม่หอม" นั่นแหละ รถเก่าบางรุ่นใช้ทนทานมากแต่ตลาดไม่เดิน ในขณะที่รถใหม่ๆ บางรุ่น สวย พังเร็ว ตลาดเดินดี ทำให้บริษัทผู้ผลิตได้กำไรมาก
การสร้างนวัตกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องแน่ใจว่าของใหม่ที่ผลิตขึ้นมานั้นได้คงความดีของแบบเก่าไว้ด้วย จึงจะถือว่าเป็นของใหม่ที่ดีจริง ยาก็เช่นเดียวกัน มีหลายขนานถูกคิดค้นและผลิตขึ้นมาแทนยาเก่าเพราะเหตุผลที่ว่า "ตลาดไม่เดิน" ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีคู่แข่งมาก หมดลิขสิทธิ์ ผลิตมานานจนดูน่าเบื่อ เป็นต้น
สรุปก็คือ เมื่อขายไม่ดี ขายไม่ได้ราคา ก็ต้องหาวิธีผลิตยาใหม่มากระตุ้นตลาด และมีจำนวนไม่น้อยที่ใช้วิธีง่ายๆ คือนำของเก่ามาดัดแปลงเล็กน้อยแล้วจดลิขสิทธิ์ใหม่ ขายราคาใหม่แพงขึ้น ทั้งที่สรรพคุณก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ หากไม่ฉลาดซื้อไม่ฉลาดใช้ก็จะเสียเงินมากเกินจำเป็น
วิธีที่เลวร้ายกว่านั้น (ผู้เขียนชอบเรียกแรงๆ ว่าวิธีอุบาทว์) คือทำลายยาเก่า จะเรียกว่าตอกฝาโลงหรือเผาตลาดเก่าก็ได้ ขั้นตอนคือหาจุดอ่อนหรือข้อเสียของยาเก่าแล้วเขย่าให้สะเทือนเลื่อนลั่นประดุจยาพิษ ปล่อยข้อมูลไม่ดีของยา (ทีตอนแรกทำไมผลิตออกมาขายอยู่ได้ตั้งหลายปี) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลทางธุรกิจนั่นแหละ เพราะยาบางอย่างที่เคยขายได้เม็ดละ 50 บาท ราคาตกลงมาไม่ถึง 5 บาท หรือเคยขายเม็ดละ 5 บาท ตกลงมาเหลือไม่ถึงบาทก็มี อย่างนี้ก็เลยต้องเผาทิ้ง แล้วสร้างตัวใหม่ที่ตั้งราคาใหม่ได้ ขณะเดียวกันเป็นการขยี้คู่แข่งเดิมที่กำลังแรลลี่กันอยู่ให้จำเป็นต้องลดหรือเลิกผลิตยาเก่า หันมาซื้อลิขสิทธิ์ยาใหม่หรือไม่ก็ต้องรอไปจนหมดลิขสิทธิ์
เรื่องนี้เขียนขึ้นมาเพื่อเตือนสติผู้ใช้ยาเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของธุรกิจยาที่แข่งขันกันสูง โดยเฉพาะหมอซึ่งเป็นผู้จ่ายยาจำเป็นต้องตระหนักให้มาก เพราะถ้าหมอสั่งจ่ายยาอะไร ผู้ใช้ก็คือผู้ป่วยที่จำต้องกินยานั้น ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดี มันจะแพงคุ้มค่าหรือไม่ บางครั้งก็ต้องจ่ายเงินค่ายาที่แพงเกินจำเป็นเหมือนถูกมัดมือชก
สำหรับตัวผู้ป่วยเองมีสิทธิ์ที่จะสอบถามถึงยาที่จะได้รับ โดยเฉพาะเมื่อหมอเปลี่ยนยาให้ หรือบอกว่ายาตัวใหม่ดีกว่า ก็สอบถามได้ว่าดีกว่าอย่างไร ราคาแพงขึ้นมากไหม มีประสิทธิภาพดีและคุ้มค่ากว่าเดิมหรือไม่ และที่สำคัญตัวหมอเองก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วยนะครับ
- อ่าน 3,072 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้