• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตราย... ยาลดความอ้วน

"พ.ต.ท. สว.จร. .ใช้ปืนยิงภรรยา  เพราะเครียดจากการกินยาลดความอ้วน"
พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓

จากพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เป็นข่าวอาชญากรรมที่สามีซึ่งเป็นตำรวจระดับสารวัตรใช้ปืนยิงใส่ภรรยาของตนเอง โดยมีเหตุโยงใยกับการใช้ยาลดความอ้วน จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดแล้วก่อเหตุสยอง ชักปืนขึ้นมาทำร้ายร่างกายภรรยาของตนเองได้

 

ยาลดความอ้วน เป็นต้นเหตุของความเครียด... จริงหรือ?

จากกรณีตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้ามีการใช้ยาลดความอ้วนจริงๆ ก็น่าจะใช้ "ยาลดความอ้วนชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง" โดยยานี้จะไปทำให้รู้สึกไม่หิว หรือรู้สึกอิ่ม ดังนั้นเมื่อใช้ยากลุ่มนี้จึงไม่อยากกินอาหาร เมื่อหยุดกินอาหาร หรือกินอาหารลดน้อยลง น้ำหนักตัวและความอ้วนก็จะลดลงตามมา

แต่ยาลดความอ้วนชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อสมองนี้ นอกจากทำให้รู้สึกไม่หิว หรือรู้สึกอิ่มแล้ว ยังมีฤทธิ์กระตุ้นสมอง หัวใจ และส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย โดยในส่วนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองจะทำให้รู้สึกไม่ง่วงนอน ในขณะที่มีผลกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงและเต้นเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงปากแห้ง และคอแห้ง ทำให้ผู้ที่ใช้ยาลดความอ้วนชนิดนี้ รู้สึกไม่ง่วงนอน ขยัน อยู่เฉยไม่ได้ ตื่นตัวอยู่เสมอ นอนไม่หลับ ใจสั่น กระวนกระวาย ปากแห้ง คอแห้ง ฯลฯ

นอกจากนี้ เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ก็จะส่งผลต่อจิตและประสาทของผู้ใช้ยา ทำให้เหม่อลอย หลงๆ ลืมๆ ตกใจง่าย หวาดระแวงง่าย หงุดหงิดง่าย และเกิดความเครียดได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับพาดหัวข่าวข้างต้นที่เกิดเหตุสยองดังกล่าวขึ้น

ที่สำคัญถ้ามีการใช้ยาติดต่อกันนานๆ ก็ส่งผลให้เกิดการติดยาได้ในลักษณะของการติดยาเสพติด ถ้าไม่ได้ยาก็จะเกิดอาการผิดปกติทางจิตและประสาท เช่น โมโหง่าย เครียด หงุดหงิด เหม่อลอย ขี้ลืม กระวนกระวาย เป็นต้น ในลักษณะเดียวกันกับการเสพติดยาบ้า ทั้งนี้เพราะยากลุ่มนี้เป็นอนุพันธ์ของยาแอมเฟทามีน (amphetamine) หรือยาบ้า ที่มีการเสพติดระบาดอยู่ทั่วไป

 

"ถ้าหุ่นดี แต่เสียสุขภาพ" จะเอาไหม?

คงต้องยอมรับว่านอกจากยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่สมองทำให้รู้สึกอิ่มหรือไม่หิวแล้ว ยังมียาลดความอ้วนกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น ยาลดความอ้วนที่ยับยั้งการย่อยไขมัน

ทั้งนี้เพราะในภาวะปกติไขมันที่กินเข้าไปในร่างกายจะถูกย่อยสลายให้มีโมเลกุลขนาดเล็ก จึงจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ยากลุ่มที่ ๒ นี้จะออกฤทธิ์ลดการย่อยสลายไขมันในทางเดินอาหาร ทำให้ไขมันมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ ไขมันเหล่านี้จึงเหลือทิ้งมากับอุจจาระ ทำให้อุจจาระเป็นไขน้ำมันปะปนออกมา และอาจทำให้ท้องอืดได้ ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินชนิดที่ละลายได้ดีในไขมัน ได้แก่ วิตามิน เอ ดี อี และเคได้
 

นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้ยังมีผลลดน้ำหนักได้ไม่มาก เพราะลดการดูดซึมเฉพาะไขมันและส่งผลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีผลต่อโปรตีน แป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่จะไปสะสมให้เกิดความอ้วนได้เช่นเดียวกับไขมันอีกด้วย

นอกจากยาทั้ง ๒ กลุ่มนี้แล้ว ในวงการแพทย์มีการนำยาชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลดความอ้วนโดยตรงมาใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยให้ลดความอ้วนได้ดียิ่งขึ้น หรือช่วยลดผลเสียหรือผลข้างเคียงของยาลดความอ้วนทั้ง ๒ กลุ่ม ตัวอย่างยาเหล่านี้ ได้แก่

► ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาโรคคอพอกจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อนำมาใช้ในคนปกติ ยานี้จะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และช่วยลดความอ้วนได้บ้าง แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเรื่อง ใจสั่น เหนื่อยง่าย ขี้ร้อน หิวน้ำบ่อย และจะไปรบกวนระบบฮอร์โมนของร่างกาย ทำให้เสียสมดุล และเกิดอันตรายได้

 ►ยาระบาย จะช่วยให้ระบายหรือถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น แต่ไม่มีผลต่อความอ้วนโดยตรง เมื่อใช้ยานี้ไปนานๆ อาจทำให้เกิดการพึ่งหรือติดยาระบายได้ ถ้าไม่ได้ใช้ยานี้ร่างกายจะไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เอง ต้องใช้ยาระบายถึงจะถ่ายอุจจาระได้ หรืออาจเกิดการดื้อยาระบาย เพราะร่างกายเราเคยชินกับยานี้ ถ้าใช้ในขนาดเดิมอาจไม่ได้ผล ต้องใช้ขนาดสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายถ่ายอุจจาระเหมือนปกติ

► ยาขับปัสสาวะ เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกาย ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน จะเพิ่มการขับปัสสาวะหรือน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น จะไปรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

 ►ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับ อาจใช้ร่วมกับยาลดความอ้วน เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดความอ้วน ซึ่งมักมีอาการเหนื่อย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ถ้าใช้ยาลดความกังวลหรือยานอนหลับติดต่อกันอาจทำให้ติดยานอนหลับได้

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใยอาหาร สมุนไพร วิตามิน และยาบางชนิดเพื่อช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการดูดซึมอาหาร ดักจับไขมัน กากอาหาร ช่วยให้อิ่มท้อง ช่วยระบาย หรือบำรุงร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า ได้ผลดีในการลดความอ้วน ประกอบกับราคาค่อนข้างแพง และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงพิจารณาเฉพาะเท่าที่จำเป็นและที่ได้ผลดีอย่างชัดเจนเท่านั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณา หรือผลการรักษาจากคำบอกเล่าของคนบางคนบางกลุ่ม ซึ่งมุ่งผลทางการค้ามากกว่าเรื่องสุขภาพ

 

"โยโย่" ผลของการใช้ยาลดความอ้วน

ผลอีกประการหนึ่งที่เกิดจากการใช้ยาลดความอ้วน ก็คือ "โยโย่" (Yo Yo effect) ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์หลังการใช้ยาลดความอ้วนแล้วหยุดยา น้ำหนักจะกลับมาเพิ่มมากขึ้นจนเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมได้

ทั้งนี้เพราะในช่วงลดน้ำหนักจะต้องข่มใจอดอาหาร พอเลิกลดน้ำหนักจึงรู้สึกอยากอาหารเป็นอย่างมาก ก็จะกินอาหารเป็นจำนวนมาก น้ำหนักตัวก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม เหมือนการเล่นลูกดิ่งที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้ เช่นเดียวกับน้ำหนักที่ขึ้นๆ ลงๆ สลับกันระหว่างที่หยุดยาและใช้ยา โดยปรากฏการณ์ "โยโย่" นี้เกิดขึ้นได้กับการใช้ยาลดความอ้วนทุกชนิด

 

สูตรเด็ดการลดความอ้วน คือ... "๓ อ"

สูตรเด็ดหรือเคล็ดไม่ลับในการลดความอ้วน คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย
เริ่มต้นด้วยการเลือกชนิดของอาหารให้หลากหลาย เน้นผักและผลไม้ ไม่เน้นไขมัน ข้าว แป้ง และน้ำตาล แต่ให้มีได้บ้างไม่มากเกินไป

ตามด้วยรักษาอารมณ์ให้สดชื่น พักผ่อนให้เต็มที่ ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด
ตบท้ายด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๓๐ นาทีขึ้นไป

นี่คือสูตรเด็ดส่งเสริมสุขภาวะของเจ้าของร่างกาย เป็นแบบ "หุ่นดี สุขภาพดี" แถมด้วยอารมณ์ดีอีกด้วย

 

การลดความอ้วน เป็นเรื่องความสวยความงามและธุรกิจ มากกว่าสุขภาวะ

ในปัจจุบันการเสริมสร้างความสวยความงาม ซึ่งรวมถึงการลดความอ้วนให้หุ่นดีจัดเป็นเรื่องธุรกิจที่เฟื่องฟู เป็นที่ต้องการของคนหมู่ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและ/หรือวัยทำงาน ที่ต้องการการยอมรับ พยายามเสาะแสวงหายาและ/หรือกรรมวิธีต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้หุ่นดีเป็นสำคัญ โดยนึกว่า เงินจะซื้อยาวิเศษที่ช่วยลดความอ้วนได้อย่างเห็นผลทันตา (ซึ่งไม่มีจริง แถมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตได้)

อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ค้า แพทย์ ร้านเสริมสวย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากไปเสาะแสวงหายา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร มานำเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเหล่านี้  จะมุ่งเน้นแต่เรื่องผลกำไรเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียในระยะยาวที่อาจจะเกิดแก่ผู้บริโภคได้

ถึงแม้ว่ายาลดความอ้วนจะเป็นยาต้องห้ามที่ห้ามขายในร้านขายยา เพราะมีอันตรายค่อนข้างสูง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว และทางกฎหมายจัดเป็นยาประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และจ่ายได้ด้วยแพทย์เท่านั้น แต่ก็มีการนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือผลิตยาปลอม หรือผลิตยาเลียนแบบ จนทำให้สามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป

ฉะนั้น ไม่ควรเชื่อคำโฆษณาของผู้ประกอบการต่างๆ ถึงสรรพคุณของยากลุ่มนี้ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ความกระจ่างถึงผลดีผลเสียของการใช้ยาลดความอ้วน และแนะนำขั้นตอนหรือกระบวนการลดความอ้วนที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย ตลอดจนความพร้อม ความเข้าใจ และความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม มีความพอประมาณ ใช้ยาด้วยเหตุผล ไม่มากหรือน้อยเกินไป ใช้เมื่อจำเป็น จะได้เกิดสุขภาวะของประชาชนเป็นที่ตั้งและเป้าหมายสูงสุด
 

ตัวอย่างยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ที่สมองทำให้รู้สึกอิ่มหรือไม่หิว ได้แก่ phentermine, fenfluramine, dexfenfluramine, methamphetamine, phenylpropanolamine, silbutramine เป็นต้น

ตัวอย่างยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการย่อยสลายไขมันในลำไส้ ได้แก่ orlistat
 

ข้อมูลสื่อ

371-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด