• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหน้าร้อน

โรคหน้าร้อน

 

 

หน้าร้อนมาถึงแล้ว โดยเฉพาะเดือนเมษายน ดูเหมือนจะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดแห่งปีเลยทีเดียว แสงแดดแผดจ้าเผาผิวอันบอบบางของสาวๆให้ไหม้เกรียมเอาได้ง่ายๆ หลายๆคนชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายพากันหลบร้อนไปสุขสำราญตามหาดทรายชายทะเล ให้สายลมลูบไล้คลายความร้อนและความเครียด บางคนก็ไปเที่ยวป่า ขึ้นภูเขา แต่อยู่ใต้ฟ้าเมืองไทยแล้วไหนเลยจะหนีพ้นแสงแดดไปได้
อากาศร้อนมากๆ อุณหภูมิและมีความชื้นสูงในหน้าร้อนอย่างนี้ อาจเป็นผลให้บางคนได้รับอันตรายจากสภาพอากาศร้อน หรือเป็นโรคที่เกิดจากความร้อนขึ้นมาได้ ก็ลองมาศึกษาดูกันว่ามีอะไรบ้าง และเตรียมตัวป้องกันเอาไว้


⇒ การแลกเปลี่ยนความร้อน
ความร้อนอาจถูกแลกเปลี่ยนได้ โดยการนำ การพา และการแผ่รังสี ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- เวลาเราดื่มน้ำเย็นๆ อุณหภูมิในร่างกายจะลดลงได้เพราะการนำเอาความร้อนในร่างกายไปใช้ในการอุ่นน้ำเย็นนั้นให้มีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิในร่างกาย

- ความร้อนจากแสงแดดที่แผดอยู่เหนือหัวโดยการพา อาจลดลงได้โดยเข้าไปในที่ร่ม สวมหมวก หรือให้ลมโกรก

- คลื่นความร้อนจากการแผ่รังสีของตัวอาคารหรือพื้นถนน อาจเพิ่มอุณหภูมิในตัวเราขึ้นไปอีก

เมื่ออุณหภูมิของอากาศต่ำกว่าอุณหภูมิของผิวหนัง (ซึ่งเท่ากับ 32 องศาเซลเซียส) 70 เปอร์เซ็นต์ของความร้อนที่ออกจากร่างกายจะเป็นไปโดยการนำ การพา และการแผ่รังสี ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จะออกไปโดยการระเหยของเหงื่อ หากอุณหภูมิรอบตัวเราสูงเกินกว่า 32 องศาเซลเซียส ร่างกายเราจะรับความร้อนเข้ามา (แทนที่จะถ่ายออกไป) ในกรณีเช่นนี้ การระบายความร้อนโดยการระเหยของเหงื่ออาจไม่ทันกับปริมาณความร้อนที่ร่างกายได้รับ

 

⇒ อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิดอันตรายจากความร้อน
อุณหภูมิของอากาศ ความชื้นและแสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดอันตรายจากความร้อน
ปกติอุณหภูมิของอากาศและแสงแดดมีส่วนสำคัญในบ้านเรา เพราะอุณหภูมิกลางแดดและในร่มแตกต่างกันได้มากๆ นอกจากนี้ความชื้นของอากาศก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเหงื่อจะระเหยได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความชื้นของอากาศ ถ้าความชื้นสูงเหงื่อจะระเหยได้น้อย และอันตรายจากความร้อนจะเกิดขึ้นได้ง่าย ดังมีตัวอย่างผู้เป็นลมแพ้ร้อนจนถึงแก่ความตาย ในอากาศที่มีอุณหภูมิเพียง 18 องศาเซลเซียส แต่ทว่ามีความชื้นสูง

บ้านเราเมื่อถึงหน้าร้อนก็มักจะทั้งร้อนและชื้นด้วย โดยเฉพาะบ้านเมืองที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น ชลบุรี ระยอง ระนอง แต่ถ้าไปไกลจากทะเล เช่น น่าน แพร่ เชียงราย ที่นั่นอากาศร้อนแต่ความชื้นจะต่ำ ซึ่งจะทำให้การระเหยของเหงื่อเป็นไปได้ดี นอกจากจะเป็นด้วยอิทธิพลของอุณหภูมิ ความชื้น และแสงแดดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของเฉพาะบุคคล เช่น มีการออกกำลังกายเหมาะสมกับอากาศหรือไม่ หรือการแต่งกายเหมาะกับอากาศหรือไม่ หรือการแต่งกายเหมาะกับอากาศหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาร่วมด้วย

 

⇒ ชนิดของอันตรายจากความร้อน
เมื่อร่างกายไม่สามารถจัดการกับความร้อนที่เกิดขึ้นเองภายใน หรือที่ร่างกายรับเข้ามาได้ทัน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ
- หมดสติแพ้ร้อน (Heat Syncope, Heat Collapse)
- เพลียหน้าร้อน (Heat Exhaustion)
- ลมแพ้ร้อน (Heat Stroke)
สำหรับ 2 อาการแรก ได้สรุปเป็นตารางให้พิจารณาคร่าวๆ ส่วนอาการลมแพ้ร้อนถือว่า เป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง จึงได้นำมาอธิบายโดยละเอียด

 

⇒ ภาวะเป็นลมแพ้ร้อน
ภาวะนี้แม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นอันตรายจากความร้อนที่รุนแรงที่สุด ถ้าให้การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยอาจตายได้ อาจเกิดกับคนที่ออกกำลังกายหรือยืนกลางแดดนานๆก่อนที่จะเกิดลมแพ้ร้อนมักมีอาการนำมาก่อน เช่น ร้อนอึดอัดเหมือนมีไฟสุมอยู่ในอก และในกล้ามเนื้อ หายใจขัดและหอบถี่ ปากแห้งผาก สายตาฝ้ามัว และคลื่นไส้อาเจียน บางครั้งมีความคิดประหลาดๆ และเอะอะอาละวาด ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่า สมองได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่พอ

ถ้าหากการออกกำลังกายหรือการได้รับความร้อนยังคงดำเนินต่อไป จะเกิดเป็นลมแพ้ร้อนโดยจะมีอาการโซเซ และหมดสติในที่สุด ผิวหนังขณะนั้นจะแห้ง (เพราะเหงื่อหยุดไหล) และร้อน แต่บางครั้งผิวหนังอาจเย็นชืดได้ (จากการที่เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดตัว) อุณหภูมิในร่างกายจะร้อนจัด (41 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า) อาจมีชักกระตุกร่วมด้วย ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะเกิดอาการช็อคตามมา เนื่องจากการเสียน้ำไปมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอ
อาการของลมแพ้ร้อนเกิดขึ้นเมื่อมีความร้อนสะสมอยู่ในร่างกายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะเสียการทำงานไปชั่วคราว และผลจากการขาดน้ำร่วมกับหัวใจวายชนิดผลงานสูง (high output failure) อาจทำให้การผลิตเหงื่อหยุดชะงักลง ซึ่งกลับทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอีก

หมดสติแพ้ร้อน(Heat Syncope, Heat Collapse)

สาเหตุ :
- ร่างกายได้รับความร้อนมาก เช่น การยืนตากแดด นักกีฬาหรือออกกำลังกายเวลาอากาศร้อนมากๆ
- หลอดเลือดบริเวณใกล้ผิวหนังขยายตัวเพื่อขับความร้อนออกไป
- เสียน้ำทางเหงื่อมาก
- ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะภายในลดลง

อาการ :
- วิงเวียน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย เป็นลม
- ชีพจรเบาและเร็ว
- ความดันโลหิตต่ำ
- ขาบวม (ในคนที่ยืนนานๆ)

การรักษา :
นอนพักในที่ร่ม
- ยกขาสูง
- เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น
- ให้น้ำดื่ม

หมายเหตุ :
แยกจากลมแพ้ร้อนโดยการวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก ถ้ามากกว่า 40°C มักจะเป็นลมแพ้ร้อน (Heat stroke)

⇒ การรักษา
จุดใหญ่ของการรักษาอยู่ที่การทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง และทำให้ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนมีเพียงพอ โดยวางผู้ป่วยในท่าแก้ช็อก คือ ให้หัวต่ำ และยกเท้าสูง ราดน้ำลงบนตัวผู้ป่วย จะเป็นน้ำอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือ ถ้าเป็นน้ำเย็นได้ยิ่งดี หากมีก้อนน้ำแข็งก็ให้ใช้ถูบนผิวหนัง หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว กันคนที่มุงออกไป เปิดบริเวณรอบตัวผู้ป่วยให้โล่ง และพยายามให้มีลมโกรกถูกตัวผู้ป่วย การใช้พัดลมเป่าจะช่วยได้มาก ควรจะลดอุณหภูมิในร่างกายผู้ป่วยให้เหลือ 39 องศาเซลเซียสภายในหนึ่งชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวดีขึ้นแล้ว ควรให้ดื่มน้ำที่มีสารละลายเกลือแร่ (ไม่ใช่น้ำดื่มเกลือแร่ที่โฆษณากันทางโทรทัศน์ประเภทชู 2 นิ้ว หรือเอ็ม 500 ฯลฯ) เช่น น้ำส้มคั้น น้ำผลไม้อื่นๆ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทนน้ำ และเกลือแร่ที่สูญเสียไป

ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นใหม่ๆ อย่าเพิ่งวางใจ ให้เฝ้าดูอาการต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้นถ้าหากหมดสติไปอีก คือเริ่มบ่นปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน หรือมีอาการเลอะเลือน ให้ทำการเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิซ้ำอีกครั้งหนึ่ง อาการต่างๆดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงว่า อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นไปอีก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นซ้ำๆกันได้หลายหนถ้าให้การรักษาเบื้องต้นแล้วผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5-10 นาที หรือมีอาการช็อกต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 


เพลียแพ้ร้อน  (Heat Exhaustion) ชนิดต่างๆ 

ชนิดขาดเกลือ

ชนิดขาดน้ำ

ชนิดเกลือเกิน

สาเหตุ

- เกิดกับคนที่ไม่ชินกับอากาศร้อน เช่น ฝรั่งมาเมืองไทยใหม่ๆ เสียเกลือทางเหงื่อมาก

- คนที่กินน้ำมากๆ เวลาท้องเสีย

 

- เสียน้ำมากทางเหงื่อ

- ท้องเสีย อาเจียน

- ชนิดนี้พบน้อยที่สุด

 

- เกิดจากการกินเกลือเม็ด (Salt tablet) โดยเข้าใจผิดคิดว่าจำเป็นสำหรับการออกกำลังกาย

อาการ

- เกิดในช่วง 3-5 วันแรกของการออกกำลังกาย

- อุณหภูมิใกล้เคียงกับปกติ

- อ่อนเพลีย

- ปวดศีรษะ

- คลื่นไส้อาเจียน

- ท้องเสีย ท้องผูก

- เป็นตะคริว

- ผิวหนังชื้นเย็นชืด

- ไม่กลายเป็นลมแพ้ร้อน

(Heat stroke)

- การตายพบน้อยมาก

 

- เกิดขึ้นเฉียบพลัน

- อุณหภูมิสูง ชีพจรและหายใจเร็ว

- ผิวหนังเหี่ยวขาดความยืดหยุ่น

- แก้มตอบ ขอบตาลึก

- กระวนกระวาย มือไม้สั่น

- กระหายน้ำมาก

ถ้าเป็นมาก

- ความดันโลหิตต่ำ

- ระบบไหลเวียนล้มเหลว

- ไตวาย

- เขียว

- ลุกลามเป็นลมแพ้ร้อน

- โคม่า

- ตายได้

 

- อาการใกล้เคียงกับ 2 ชนิดแรก

การรักษา

- รับประทานน้ำที่มีเกลือแกง 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 ลิตร อาจผสมน้ำชาหรือน้ำผลไม้ เพื่อเพิ่มโพแทสเซียม

- ถ้าต้องการให้น้ำทางเส้น ให้ใช้น้ำเกลือชนิดนอร์มัล (NSS)

 

- ให้น้ำเกลือและโพแทสเซียมทดแทน เพราะในบางครั้ง เพลีย แพ้ร้อน มีทั้งเกิดจากขาดเกลือและขาดน้ำร่วมด้วย

 

- ให้น้ำที่มีโพแทสเซียม เช่นน้ำส้มคั้น

- งดการกินเกลือเม็ด

การป้องกัน

- ระมัดระวังการออกกำลังกายในภาวะอากาศร้อน

- ดื่มน้ำที่มีเกลือป่

 

- ดื่มน้ำมากๆ เวลาออกกำลังกาย

 

- ไม่ควรใช้เกลือเม็ดไม่ว่ากรณีใดๆ


⇒ ข้อควรจำ

อาการลมแพ้ร้อนนี้ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. เป็นลมแพ้ร้อนแบบฉบับ พบในผู้สูงอายุ หรือจากการกินยาบางอย่าง
2. เป็นลมแพ้ร้อนจากการออกกำลังกาย
โดยทั่วไป คนที่เป็นลมแพ้ร้อนได้ง่ายมักจะพบในผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีประวัติการกินยาต่างๆ มาก่อน เช่น เบาหวาน หัวใจวายล้นคั่ง พิษสุรา โรคของหลอดเลือดในสมองยาต่างๆที่ทำให้ไวต่อการเป็นลมแพ้ร้อน เช่น ยาขับปัสสาวะ แอมเฟตามีน ยาแก้แพ้ (แอนติฮิสตามีน) ฯลฯ

 

⇒ การป้องกัน
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การกินน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลังกาย ควรสอนให้นักกีฬากินน้ำโดยที่ยังไม่รู้สึกหิว เพราะว่ากว่าจะรู้สึกหิวน้ำ ร่างกายอาจจะเสียน้ำไปมากแล้ว (โดยเฉพาะในคนสูงอายุ) การกินน้ำตามความหิวจะทำให้ร่างกายได้น้ำเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการเท่านั้นเอง อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากรู้ว่าจะต้องไปออกกำลังกายในช่วงที่อากาศร้อน ควรจะดูว่าแต่งตัวอย่างไรจึงจะเหมาะกับสภาพอากาศร้อน ไม่ใช่ ใส่ชุดวอล์มทั้งชุด แขนยาว คอปิด หรือมีหมวกคลุมปิดหมด ซึ่งจะทำให้ร่างกายระบายความร้อนไม่สะดวก ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ ลมโกรกได้หรือใส่เสื้อผ้าที่สีขาวๆ จะช่วยสะท้อนความร้อนออกไปได้ดี

ปกติคนที่ออกกำลังกายจะได้เกลือจากอาหารในปริมาณที่เพียงพอ แต่ควรจะกินอาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น น้ำผลไม้ หรือผลไม้ต่างๆ เป็นประจำด้วย เพื่อกันการขาดโพแทสเซียมคนที่ท้องร่วงหรืออาเจียน ควรงดออกกำลังกายจนกว่าจะหายดีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการออกกำลังกาย ทำให้เกิดลมแพ้ร้อนได้ง่าย เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายขาดน้ำเช่นเดียวกับผู้ที่กินยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดันเลือด ซึ่งจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากในการออกกำลังกายคนทั่วไปมักเข้าใจผิดกันว่า ระหว่างการเล่นกีฬาไม่ควรจะกินน้ำมาก เพราะจะทำให้จุก แต่ความจริงแล้วในระหว่างการเล่นกีฬา สิ่งที่ร่างกายต้องการจริงๆก็คือน้ำ เพราะระหว่างเล่นเหงื่อจะออกมาก จึงเสียน้ำและเกลือแร่ไปบ้าง ร่างกายจึงต้องการได้รับน้ำไปทดแทนให้เพียงพอ กะกันคร่าวๆว่า ระหว่างการเล่นกีฬา ควรจะดื่มน้ำแก้วขนาดปานกลางให้ได้ระหว่าง 6-8 แก้ว น้ำหนักที่ลดไป 1 ปอนด์ (ประมาณเกือบครึ่งกิโลกรัม) ต้องกินน้ำเข้าไป 2 แก้วใหญ่ๆ จึงจะเพียงพอกับน้ำหนักที่ลดจากการเสียน้ำ

สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้ออกกำลังกาย โอกาสที่จะเป็นลมแพ้ร้อนนั้นเป็นไปได้น้อย ยกเว้นแต่ว่าเป็นผู้ที่ร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง ก็อาจจะเกิดอาการเพลียร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็อาจไม่ถึงขั้นเป็นลมแพ้ร้อนหมดสติ คนธรรมดาที่มีโอกาสจะเป็นลมแพ้ร้อน โอกาสเดียวที่จะเป็นไปได้ เช่น การยืนตากแดดนานๆ อย่างเอานักเรียนไปยืนตากแดดเข้าแถวรับใครเป็นเวลานาน เพราะต้องยืนนิ่งเฉยๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เลือดจะไหลมาที่ขามาก นอกจากนี้พวกที่ต้องเสียน้ำอยู่เรื่อยๆ เช่น ท้องร่วง อาเจียน อาจมีโอกาสจะเป็นลมแพ้ร้อนได้
ในหน้าร้อนอย่างนี้ ควรจะดื่มน้ำผลไม้เป็นประจำ เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับเหงื่อ และการอาบน้ำเย็นก่อนการออกกำลังกายในอากาศร้อน ก็จะช่วยให้ทนต่อภาวะอากาศร้อนได้ดีขึ้น

 

⇒ โรคอื่นๆที่มากับหน้าร้อน
นอกจากอาการที่เนื่องมาจากอากาศร้อนโดยตรงแล้ว ในหน้าร้อนอย่างนี้ยังเป็นฤดูที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด และอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ เช่น
1. อหิวาตกโรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อโดยการกินอาหารหรือกินน้ำที่มีเชื้อเข้าไป อาการที่สำคัญคือ ท้องร่วง อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยครั้ง จนกระทั่งอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว มีอาการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย หายใจลึก ผิดปกติชีพจรเต้นเร็วจนถึงช็อคหมดสติ อาจตายในเวลาอันรวดเร็ว ถ้ารักษาไม่ทัน

2. โรคบิด
เกิดจากเชื้อบิด ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้ออะมีบาก็ได้ ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อเข้าไป อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อาจเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดมีไข้และปวดท้องแบบปวดเบ่งร่วมด้วย

3. โรคอุจจาระร่วง
อาจเกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ติดต่อได้โดยกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเข้าไป

4. ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์
เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อได้โดยกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อเข้าไป อาการสำคัญคือ มีไข้ติดต่อกันหลายวัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ซึม บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจท้องเดินหรือท้องผูก
โรคดังกล่าวข้างต้นมีการติดต่อคล้ายคลึงกัน คือ โดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อเข้าไป เช่น ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด อาหารมีแมลงวันตอม เพราะฉะนั้นก่อนจะจับต้องหรือกินอาหารต้องล้างมือให้สะอาด น้ำดื่มต้องให้แน่ใจว่าสะอาดจริง เช่น ดื่มน้ำต้ม หรือน้ำประปา นอกจากนี้ก็ควรจะงดอาหารประเภทเสาะท้อง เช่น มะยมดอง ฝรั่ง มะม่วงดอง เพราะในระยะนี้ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก

5. โรคพิษสุนัขบ้า
 เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดได้ทั้งกับคนและสัตว์ ติดต่อได้โดยสัตว์ที่เป็นโรคมากัด เป็นแล้วไม่มีโอกาสรักษาหาย วิธีป้องกันก็คือ ต้องนำสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง ถ้าหากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงกัด ให้กักสัตว์นั้นไว้สัก 10 วัน เพื่อดูอาการ อย่าไปด่วนฆ่ามันทิ้งเสียก่อน ถ้าไม่แน่ใจก็ให้รีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

⇒ สรุป
อากาศร้อน ความชื้นสูง และแสงแดด อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว อันตรายนั้นอาจเป็นเพียงหมดสติไปชั่วครู่ เพลียแพ้ร้อน ตลอดจนถึงเป็นลมแพ้ร้อน ซึ่งอาการหลังนี้ ถ้าได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีผู้ป่วยอาจตายได้ ผู้ป่วยที่ออกกำลังกายภายใต้สิ่งแวดล้อมอย่างที่กล่าวมา มีโอกาสเป็นอันตรายได้มากกว่าคนที่อยู่นิ่งๆ โดยเฉพาะในคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง นักกีฬาที่ยังไม่ชินกับสภาพความร้อน และผู้ที่กินยาบางอย่าง
นอกจากนี้ ในหน้าร้อนยังเป็นฤดูแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น อหิวาตกโรค บิด อุจจาระร่วง หรือพวกอาหารเป็นพิษอื่นๆ ซึ่งติดต่อโดยการกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อหรือไม่สะอาด ดังนั้น เวลาจะเลือกกินอาหารจึงควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ อาจจะต้องระวังให้มากในช่วงอากาศร้อน เพราะการทำงานของหัวใจจะหนักขึ้น ร่างกายอาจจะอ่อนเพลียง่าย และคนที่เป็นโรคความดันโลหิตก็อาจจะต้องให้ความเอาใจใส่กับสุขภาพเป็นพิเศษ
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

96-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 96
เมษายน 2530
โรคน่ารู้
นพ.กฤษฎา บานชื่น