• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้ (2)

เลือดยังเป็นสิ่งจำเป็นที่คนจะมอบให้คนอื่นเพื่อช่วยเยียวยาชีวิต แม้ว่าปัจจุบันจะมีสารประกอบที่ใช้แทนเลือดได้  แต่ในบางกรณีเลือดจากคนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นและมีประสิทธิภาพต่อการรักษาพยาบาลที่สุด การจัดหาเลือดด้วยกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้เลือดที่ปลอดภัยสำหรับคนไข้ในประเทศไทยเรานั้น เป็นกระบวนการที่ดีได้มาตรฐานระดับองค์การอนามัยโลก
 

การให้เลือดที่ปลอดภัย

การให้ยาและเลือดที่ปลอดภัย (blood safety) ซึ่งองค์การอนามัยโลกและศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้กำหนดแนวทางไว้
1. นำนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับบริการโลหิตไปสู่การปฏิบัติ

2. รับโลหิตเฉพาะจากผู้บริจาคซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ

3. ตัวอย่างโลหิตบริจาคทุกถุง จะต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานตามนโยบายระดับชาติ  เพื่อหาร่องรอยการติดเชื้อ ได้แก่ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี (HbsAg) ไวรัสตับอักเสบซี (anti-HCV) ไวรัสเอดส์ (anti-HIV 1/2 และ HIV antigen) อย่างน้อยด้วยวิธี EIA (ถ้าใช้วิธี NAT ไม่จำเป็นต้องตรวจ HIV antigen) ได้รับการทดสอบหมู่โลหิต และตรวจหาแอนติบอดีต่อเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ

4. เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากโลหิตที่ได้รับบริจาค ควรแยกโลหิตออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ การเตรียมส่วนประกอบของโลหิตจะต้องทำโดยเทคนิค เครื่องมือ และน้ำยาที่ปราศจากเชื้อ

5. มีการใช้โลหิตและทางเลือกอื่นๆ อย่างเหมาะสม เพื่อลดการใช้โลหิตที่ไม่จำเป็น

6. การให้เลือดแก่คนไข้อย่างปลอดภัย

7. มีระบบคุณภาพและการติดตามผลการดำเนินงาน ที่ครอบคลุมกระบวนการเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกผู้บริจาค ไปจนถึงการติดตามผลจากผู้รับโลหิต
 

กระบวนการรักษาพยาบาลที่ปลอดภัย

ในเรื่องนี้จะมีรายละเอียดการปฏิบัติดังนี้
. เกี่ยวกับการระบุตัวคนไข้ 
. การสื่อสารระหว่างทีมผู้ให้การรักษาพยาบาลเกี่ยวกับสภาวะของคนไข้ 
. การสื่อสารผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการที่มีค่าวิกฤติ 
. การรับคำสั่งการรักษาด้วยวาจาหรือทางโทรศัพท์  
. การใช้ชื่อย่อ สัญลักษณ์
. การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องทันเวลา 
. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การป้องกันแผลกดทับ
. การป้องกันคนไข้พลัดตกหกล้ม
ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างในเรื่องการระบุตัวคนไข้

 

การระบุตัวคนไข้

องค์การอนามัยโลก (WHO Collaborating Center for Patient Safety Solution) ได้จัดทำแนวทางการระบุตัวคนไข้ (Patient Identification) ไว้ดังนี้
1. เน้นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการในการตรวจสอบการระบุตัวคนไข้ ก่อนที่จะให้การดูแล

2. ส่งเสริมให้มีการใช้ตัวบ่งชี้อย่างน้อย 2 ตัว (เช่น ชื่อ นามสกุล และวันเกิด) ของคนไข้เพื่อยืนยันตัวบุคคลเมื่อแรกรับ หรือเมื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น และก่อนที่จะให้การดูแล ไม่ควรใช้หมายเลขเตียงหรือห้องเป็นตัวบ่งชี้

3. กำหนดให้มีการบ่งชี้คนไข้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร เช่น ใช้ป้ายข้อมือสีขาวซึ่งมีรูปแบบมาตรฐาน ที่สามารถเขียนข้อมูลเฉพาะลงไปได้

4. จัดให้มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการบ่งชี้คนไข้ ซึ่งไม่มีตัวบ่งชี้และเพื่อแยกแยะคนไข้ที่มีชื่อซ้ำกัน รวมทั้งแนวทางการบ่งชี้คนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวหรือสับสนที่ไม่ใช้การซักถาม

5. ส่งเสริมให้คนไข้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการบ่งชี้คนไข้

6. ส่งเสริมให้มีการเขียนฉลากที่ภาชนะสำหรับให้เลือดและสิ่งส่งตรวจอื่นๆ ต่อหน้าคนไข้

7. จัดให้มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการรักษา การบ่งชี้สิ่งส่งตรวจของคนไข้ ตลอดกระบวนการตรวจวิเคราะห์ทุกขั้นตอน

8. จัดให้มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการสอบถาม เมื่อผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับประวัติหรือสภาวะทางคลินิกของคนไข้

9. จัดให้มีการตรวจสอบซ้ำและทบทวนเพื่อป้องกันการบันทึกข้อมูลซ้ำอัตโนมัติ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์

 

การดูแลอุปกรณ์สายและท่อต่างๆ ที่สอดใส่เข้าไปในร่างกายคนไข้

องค์การอนามัยโลกได้จัดทำแนวทางปฏิบัติซึ่งมีสาระที่สำคัญ ได้แก่
1. กำหนดวิธีปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น เน้นย้ำกับผู้ช่วย คนไข้ และครอบครัวว่า ไม่ควรถอดหรือต่ออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อมีปัญหาควรขอความช่วยเหลือจากพยาบาล กำหนดให้ผู้ดูแลตรวจสายทุกเส้นจากต้นทางถึงปลายทางด้วยความละเอียด ก่อนให้ยาหรือเวชภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น

2. บรรจุการฝึกอบรมเกี่ยวกับอันตรายของการต่อท่อและสายผิดพลาด

3. ส่งเสริมให้จัดซื้ออุปกรณ์ท่อและสาย ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการต่อผิด

 

การตอบสนองภาวะวิกฤติ

องค์การอนามัยโลกได้จัดทำร่างแนวทางเรื่องการตอบสนองผู้ป่วยที่เกิดภาวะทรุดลง (Response to the Deteriorating Patient) ขึ้น และอยู่ระหว่างการขอความเห็นจากผู้ใช้ ซึ่งมีสาระสำคัญบางประการ ได้แก่
1. เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยสามารถขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษตลอดเวลา ในกรณีอาการของคนไข้ทรุดลง

2. กำหนดเกณฑ์สำหรับการร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอาการของคนไข้ หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ คนไข้ และครอบครัวรู้สึกต้องการความช่วยเหลือ

3. สร้างความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ให้การดูแลคนไข้ที่มีการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีความรู้  ความสามารถที่จำเป็นในการติดตาม วัด แปลความหมาย และตอบสนองโดยทันทีอย่างเหมาะสม

4. ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่อาจจะต้องขอความช่วยเหลือและผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับนโยบายและวิธีปฏิบัติ


ตัวอย่างเกณฑ์สำหรับขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
1. เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลคนไข้รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับอาการของคนไข้
2. อัตราการเต้นของหัวใจ ช้ากว่า 40 ครั้ง/นาที หรือเร็วกว่า 130 ครั้ง/นาที
3. ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวน้อยกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
4. อัตราการหายใจช้ากว่า 8 ครั้ง/นาที หรือเร็วกว่า 28 ครั้ง/นาที
5. ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (O2 Saturation) น้อยกว่าร้อยละ 90 ทั้งที่ให้ออกซิเจน
6. การเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว
7. ปริมาณปัสสาวะน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร ใน 4 ชั่วโมง
แม้ว่าโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลในภาครัฐจะขาดแคลนทรัพยากร ทั้งกำลังคน งบประมาณ อุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยี เมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ ความหลากหลายและความรุนแรงของโรคภัยไข้เจ็บในยุคโลกาภิวัตน์ ต่างพยายามยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อคนไข้ ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล


 

ข้อมูลสื่อ

368-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์