• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะอารมณ์ดี สไตล์ปู่พีระ

                         

                     ทำไป พักไป ฟังเพลงบ้าง หัวเราะบ้าง และอย่าลืม...ยิ้มในหน้า

 'ยิ้มในหน้า' คำที่ปู่พีระ หรือคุณพีระ บุญจริง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ผู้ว่าคนแรกที่รณรงค์เรื่องโรคเอดส์และสนับสนุนให้ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อหลายสิบปีก่อน พูดถึงบ่อยที่สุดเมื่อคุยถึงเรื่องโยคะ
 ด้วยกิจวัตรและกิจกรรมที่ปู่พีระทำอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเล่นโยคะ ว่ายน้ำ หรือแปลหนังสือ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปู่พีระเป็นผู้สูงอายุอารมณ์ดี ไม่หงอยเหงา ซึมเศร้าตามวิสัยผู้สูงอายุบางคนที่ต้องอยู่เฉยๆ นิ่งๆ

แม้ปัจจุบันจะอยู่ในวัย 79 ปีแล้วแต่ทุกวันนี้ปู่พีระยังคงเดินทางจากจังหวัดราชบุรี มาที่มูลนิธิชีวิตพัฒนา (เขตตลิ่งชัน) เพื่อทำหน้าที่ครูสอนโยคะให้แก่ผู้สนใจในทุกๆ วันเสาร์ คนที่มาเรียนมีหลายรุ่น หลายวัย มีทั้งคนที่สนใจมาเรียนจริงๆ และคนที่เจอกันแค่ครั้งเดียวก็หายหน้าไปเลย

"ผมไม่สนใจว่าใครเป็นใคร ใหญ่โตยังไง บางคนไม่ได้สนใจจริงๆ กลับไปก็ไม่ได้ฝึกต่อ เรารู้ว่าเขาไม่ได้กลับไปทำเพราะกลับมาอีกทีตัวก็ยังแข็งอยู่เลย ใครจะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่ แต่ผมจะทำหน้าที่สอนให้ดีที่สุด"


จากการพบเจอลูกศิษย์หลากหลายแบบทำให้ปู่พีระพบเหตุผลว่าทำไมคนจึงไม่ค่อยติดโยคะ
1.โยคะไม่สนุกเหมือนแอโรบิก

2.โยคะเป็นลักษณะของการแพทย์แผนโบราณที่ต้องทำ (ด้วยตัว) เอง แต่คนเราชอบสบาย หากมีคนทำให้จะดีกว่า (เช่น การนวดแผนต่างๆ)

3.หากไม่ป่วย ไม่ทำ อย่างภาษิตจีนที่ว่า ไม่หิวน้ำก็ไม่ขุดบ่อ (ทำนอง ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา)

"เดี๋ยวนี้คนเรามุ่งทำงานกันอย่างเดียว ทำงานหาเงิน ไม่สนใจที่จะพัก ถึงเวลาได้พักอีกทีคือตอนป่วยต้องไปหาหมอ"

 

หากย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน ปู่พีระเองก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในประเด็น ไม่ป่วย ไม่ทำ
"ตอนนั้นเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท เลยไปนวด นวดบ่อยมาก (ทุกวัน) จนรู้สึกว่ากระดูกไม่จับกับเอ็นแล้ว จึงต้องหาวิธีอื่นช่วยแก้ไขอีกที จนได้ไปเรียนโยคะที่สุนีย์โยคะสถาน ซึ่งเพิ่งเปิดบริการในซอยรางน้ำ เขาสอนและแนะนำว่าท่าไหนที่สามารถลดความเจ็บปวดที่เราเป็นได้ หลังจากไปเรียนแล้วก็ซื้อหนังสือโยคะมาทำเอง ทำแล้วรู้สึกดีขึ้น ทำแล้วชอบ จึงเริ่มแปลหนังสือเพื่อถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ด้วย"

จากความชอบ กลายมาเป็นการพยายามศึกษาจริงๆ จังๆ จนมีโอกาสไปครอบครูโยคะที่ประเทศอินเดีย เรียกได้ว่ามีความรู้พอสมควรที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้ ...ปู่พีระพบว่าจริงๆ แล้วมีคนนิยมโยคะพอสมควรแต่ปัญหาคือขาดคนถ่ายทอด ขาดผู้รู้จริงที่ถ่ายทอดเป็น

"อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้โยคะเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียน และสร้างครูที่ถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้อง"

หลายครั้งที่เราเคยได้ยินคำว่า 'โยคะไม่ใช่การออกกำลัง' หรือ 'โยคะไม่ใช่กายบริหาร'
ปู่พีระให้นิยามโยคะว่า โยคะเป็นการสร้างสมดุลแก่ร่างกาย เสริมสร้างและผสมผสานสิ่งที่ขาด โยคะไม่ใช่กายบริหาร เพราะกายบริหารทั่วไป (เช่น แอโรบิก) เน้นให้หัวใจเต้นเร็ว แต่โยคะเน้นการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ หายใจช้าๆ ฝึกจิตให้นิ่ง ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ การฝึกจิตให้นิ่งเพื่อให้ปราณะ (ลมปราณ) สมดุล ธาตุทั้ง 4 ก็จะสมดุลด้วย ทำให้เลือดลมไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ดี ...การหายใจเร็ว หากเปรียบไปแล้วก็เหมือนการตายเร็ว เหมือนการหายใจเฮือกสุดท้าย หายใจช้า ให้หัวใจเต้นช้าไว้เป็นดี หายใจช้าแบบเต่า ช้าง จระเข้ ก็จะอายุยืนแบบเต่า ช้าง จระเข้ เช่นกัน


พื้นฐานของโยคะจริงๆ คือการเตรียมตัว (และเตรียมใจ) สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ท่าทาง แต่อยู่ที่การได้ยืด เหยียด ก้มหน้า เงยหน้า การหายใจเข้า-ออก ท่าทางไม่จำเป็นต้องโลดโผน หรือยากมากมาย เน้นที่การประสานกายและใจ ให้การหายใจสัมพันธ์กับจิต ให้ในทุกๆ ท่าทำแล้วรู้สึกว่าได้ผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องทำติดต่อกันนาน ทำไปพักไปได้ ไม่ต้องมุ่งมั่นมากไปจนกลายเป็นเครียด ทำแต่ละท่าให้ยิ้มในหน้าไปด้วย ช่วยสร้างอารมณ์ที่ดี


การพักระหว่างการฝึกโยคะคือการเสริม แทรกกิจกรรมเข้าไประหว่างการฝึก ช่วยให้การเรียนการสอนโยคะไม่เครียด แต่อยู่ในบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกสบาย ไม่สร้างความกดดันแก่ผู้เรียน "ผมไม่ได้สอนตามระบบ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ท่าที่หนึ่ง แล้วไปสอง สาม แต่สอนตามความรู้สึกนึกคิดที่นึกได้ เน้นการผ่อนคลายเป็นหลัก ทำโยคะไป ทำไป พักไป มีกิจกรรมอย่างอื่นมาเสริม แหย่กันบ้าง ฝึกการหัวเราะบ้าง เดินจงกรมบ้าง และร้องเพลงด้วย" ปู่พีระบอกว่าเพลงที่นำมาสอนเป็นเพลงที่ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากค้นและจัดเตรียมให้ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์บ้าง เพลงรำวงบ้าง ตามประสา

ไม่ว่าจะทำท่าโยคะ หัวเราะ เดินจงกรม หรือร้องเพลง กริยาอาการที่ไม่ควรลืมและควรทำทุกครั้งคือ ให้ยิ้มในหน้าไปด้วย ยิ้มนิดๆ ช่วยสร้างอารมณ์ที่ดี อารมณ์เย็นจะทำให้หายใจได้สบาย  

คำแนะนำอีกประการที่ปู่พีระฝากไว้สำหรับการฝึกโยคะคือ ควรมีสมุดเล็กๆ ไว้สำรวจตัวเอง บันทึกพัฒนาการและความก้าวหน้าของตัวเอง แล้วจะเห็นได้เป็นรูปธรรมว่าทำโยคะแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
 

ข้อมูลสื่อ

369-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
โยคะ
วรรธ