• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไม้แก่ดัดยาก

คำโบราณ "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"

แม้ในสมัยนี้ก็ยังเป็นความจริง ผู้เขียนไม่อายที่จะบอกว่า "โตมากับไม้เรียว" ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน เวลาทำผิด แม่จะใช้ไม้เรียวกำราบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ไม่งั้นคงเอาทะโมนไพรอย่างพวกเรา ๓ คนไม่อยู่ เมื่อโตขึ้น ไปโรงเรียนครูก็ใช้ไม้บรรทัดตีมือ นั่นเป็นโรงเรียนอนุบาลที่ครูใจดี พอย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ มีชื่อเสียงในทางดัดสันดาน เจอไม้เรียวของจริงขนานแท้ หวดทีก้นเขียว ผู้เขียนเองก็โดนตีไปหลายครั้ง ทั้งที่เป็นนักเรียนระดับดีหนึ่งประเภทหนึ่ง ที่กล่าวมาอย่างนี้ ไม่ใช่จะสนับสนุนการลงโทษโดยใช้ความรุนแรง แต่จะชี้ให้เห็นว่า การอบรมบ่มนิสัยต้องทำกันตั้งแต่เล็ก
เล็กขนาดไหน
ตั้งแต่แรกเกิด
ฮ้า เอากันขนาดนั้นเชียวหรือ
ถูกแล้วครับ เด็กๆ เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มอุแว้คำแรก ความจริง เขาเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่พูดกันในวันนี้
 

เด็กทารกเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายตั้งแต่เกิด ทารกอายุ 2-3 เดือนรู้จักสิ่งต่างๆ มากกว่าที่เราคิด เขาจำหน้าพ่อหน้าแม่ได้ ไม่แต่เท่านั้น ยังจำเสียงได้ เขาอาจยังไม่รู้ภาษาเท่ากับเด็กโต แต่เริ่มเรียนรู้ภาษา มากพอที่จะขยับแขนขาเข้ากับเรื่องราวที่เขาได้ยินรอบๆ ตัว ฉะนั้นพ่อแม่จึงควรให้ "การศึกษา" แก่เขาอย่างเต็มที่เสียแต่ตอนนี้

พ่อแม่หลายคนสังเกตว่า เด็กวัยสองสามเดือนเวลาตื่นไม่ชอบท่านอน แต่อยากให้อุ้มนั่ง นั่นเพราะเขามองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดีกว่า เขาสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งรอบข้าง ขณะที่ปู่ย่าตายายจะกังวลว่าการนั่งจะทำให้หลังหลานโก่ง ซึ่งไม่เป็นความจริง พอโตขึ้นอีกหน่อย เขาจะชอบให้อุ้มยืน เพื่อจะได้กระโดดๆ นั่นเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพื่อรับการยืน เดิน ที่จะตามมาในอนาคต บางคนบอกว่า เด็กที่ทำอย่างนี้โตขึ้นขาจะโก่ง นั่นก็ไม่เป็นความจริงอีกเหมือนกัน

สรุปว่า เด็กเรียนรู้อย่างรวดเร็วทั้งทางร่างกายและจิตใจ สมองของเด็กโตเร็ว ดันเอากะโหลกที่อยู่โดยรอบให้เจริญตาม การขยายตัววัดได้ทุกเดือน เพราะเส้นใยสมองก่อตัวเพิ่มทวีคูณรองรับความรู้ ทักษะใหม่ๆ ที่เด็กได้รับ เพียงชั่วเวลา1 ปี สมองเด็กก็โตเกือบเท่าสมองผู้ใหญ่แล้ว
จึงมีคำกล่าวว่า ถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้อะไรในช่วงขวบปีแรก ก็จะไม่มีทางเป็นคนเก่งหรืออัจฉริยะได้เลยในชีวิต จะเรียกว่าเป็นปีทอง หรือวินโดว์พีเรียด (window period) ก็ไม่ผิด

ถ้าถึง 2 ปียังไม่มีการเรียนรู้ เขาว่าให้ลืมไปได้เลย ฉะนั้น ถ้าท่านต้องการปลูกฝังลักษณะนิสัยดีๆ ให้ลูก จงทำเสียก่อนถึง 2 ขวบเถิด หลังจากนั้นไปจะเรียกว่า "สายเสียแล้ว" จริงอยู่ คนเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แต่นั่นเป็นการต่อยอดเพิ่มเติมจากฐานรากที่มีอยู่แล้ว ถ้าท่านไม่สร้างฐานรากแข็งแรงให้ลูกใน 2 ขวบแรก เท่ากับท่านทิ้งโอกาสทองไป จะต่อจะเติมอะไรทีหลัง ยากแล้ว เพราะฐานรากมันไม่แข็งแรง เติมเสริมไปมากๆ พาลจะพังเอาง่ายๆ

ฐานรากขั้นที่ 2 เปรียบเหมือนเทพื้นเทคานบ้านชั้นที่ 2 เขาว่าอยู่ช่วงอายุ 2-7 ขวบ ตอนนี้แหละเด็กจะซึมซับตัวอย่างทุกชนิดจากผู้ใหญ่ไป อย่างคำกล่าว "พ่อปู แม่ปู ลูกปู" ถ้าท่านต้องการให้ลูกเป็นคนตรง จงแสดงตัวอย่างให้เห็น ถ้าไม่ต้องการให้ลูกพูดปด ก็อย่าปดกับลูกก่อน ดังนี้เป็นต้น อย่าลืมว่า การกระทำสำคัญกว่าคำพูด ไม่มีประโยชน์ที่ท่านจะพร่ำสอน ถ้าท่านไม่ประพฤติ ปฏิบัติอย่างที่ท่านสอน เด็กจะยึดถือเอาสิ่งที่เขาเห็น มากกว่าสิ่งที่ได้ยิน


คำกล่าวที่ว่า "เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม" เห็นจะมีที่มาที่ไปจากตรงนี้เอง กล่าวคือ เด็กที่ขอมาเลี้ยงบางทีมีอายุแล้ว ตั้งแต่หลายเดือนไปถึงหลายปี ฐานรากถูกวางไปเรียบร้อยแล้ว อาจเป็นฐานมั่นคงหรือง่อนแง่น ฐานที่ดีหรือเสียก็ไม่รู้ได้ เมื่อเอามาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจึงเป็นความเสี่ยง เหมือนเอาเมี่ยงของคนอื่น ที่เขาใช้อมแล้วมาอมต่อ ต้องยอมทนต่อกลิ่นน้ำลาย กลิ่นปากของคนอมเก่า

"อุ้มแล้วติดมือ" เป็นคำกล่าวที่ได้ยินอยู่เรื่อย พ่อแม่บางคนเวลาลูกร้อง ปฏิเสธไม่ยอมอุ้ม เพราะความกลัวดังกล่าว กลัวจะติดมือ ผู้เขียนจะบอกกับพ่อแม่มือใหม่หัดขับเหล่านี้เสมอว่า อย่าได้กลัวการติดมือเลย ลูกเขายอมให้เราอุ้มเขาอีกไม่นานเลย พอถึงอายุหนึ่ง เขาไม่อยากให้เราอุ้มแล้ว เขาต้องการให้เราปล่อยเป็นอิสระ เพื่อจะได้คืบ ได้คลาน ได้วิ่ง ได้เล่นตามประสา เมื่อพ่อแม่เหล่านี้รู้ว่า ลูกจะ "ติดมือ" เขาอีกเพียงไม่กี่เดือน ก็จะอุ้มเด็กมากขึ้น นานขึ้น นั่นเป็นการเลี้ยงที่ถูกต้อง เพราะเด็กต้องการสัมผัสใกล้ชิด เพื่อการเจริญเติบโตปกติทั้งกายและจิต ขณะเดียวกัน เขาต้องการให้เราอุ้ม เพื่อเขาจะได้เห็นโลกได้มากที่สุดในช่วงเขายังไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนด้วยตนเองได้ การเห็น การได้ยิน ได้ฟัง การสัมผัส เป็นการเรียนรู้ที่วิเศษสุดสำหรับทารกน้อยผู้น่ารัก เขาจึงไม่เลือกเลยว่าใครจะอุ้มเขา จะเป็นพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา หรือคนแปลกหน้า ขอให้พาเขาไปพบเห็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ตื่นตา ตื่นใจ เพื่อเขาจะได้บันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ในสมองน้อยๆ สังเคราะห์ให้เกิดเป็นฐานข้อมูลไว้ใช้ในวันข้างหน้า

ฉะนั้น ใครที่คิดว่า ลูกตัวน้อยๆ ที่ลืมตาโพลงอยู่ในเปลจะสนใจดูแต่ปลาตะเพียนที่แขวนเอาไว้ คงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ บางครั้งคำพูดที่ท่านคุยกันได้ถูกบันทึกไว้ในสมองของเขาเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำดีหรือไม่ เด็กเขาเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่เกิดครับ ไม่ต้องรอให้ถึงอนุบาลหรอก
 

ข้อมูลสื่อ

369-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น