• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทเรียนจากนักศึกษาแพทย์คุณธรรมกับความจริง

โรงเรียนแพทย์เห็นความสำคัญในการบ่มเพาะจริยธรรมให้นักศึกษาแพทย์ เพื่อให้เห็นคุณค่าของการเป็นหมอที่ดี ตระหนักในศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันในการเป็นแพทย์ที่ดีของประชาชนในอนาคต

โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ไม่คิดว่าการสอนจริยธรรมโดยจัดชั่วโมงบรรยายให้นักศึกษาแพทย์ฟังจะได้ประโยชน์ จึงจัดเวทีหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้การทำงานดูแลคนไข้ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์แพทย์ตั้งแต่ปีแรกๆ ทำให้ได้เห็นตัวอย่างทั้งที่ดีและที่ไม่พึงประสงค์จากการทำงานจริง เปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น โดยการบันทึกประสบการณ์และจัดเวทีเสวนา


จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักศึกษาแพทย์และอาจารย์แพทย์ในเวทีเสวนา แสดงให้เห็นถึงคุณงามความดีซึ่งเป็นพื้นฐานด้านจิตใจของเหล่านักศึกษาแพทย์ ดังตัวอย่างบันทึกต่อไปนี้

บทเรียนจากอากง

ผมขอเล่าประสบการณ์ที่ทำให้ผมเปลี่ยนตัวเองจากความไม่อยากเป็นหมอ มาตั้งใจเรียนเพื่อเป็นหมอที่ดี คือเหตุการณ์ที่อากงของผมป่วยเป็นโรคหลอดอาหาร ตอนแรกท่านมีอาการกินข้าวไม่อร่อย กลืนอาหารลำบาก และสำลักบ่อยมา 3 ปี ท่านเคยถามผมว่าเป็นอะไร ผมก็ตอบเหมือนหมอที่รักษาท่านเคยบอกคือ เป็นเพราะท่านเป็นโรคไต มีภาวะเกลือโซเดียมต่ำ จึงทำให้เบื่ออาหาร ทั้งๆ ที่ผมก็รู้ว่ามันไม่น่าจะใช่ เพราะหลังจากรักษาให้กินเกลือโซเดียมแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น จนมาประมาณ 1 ปีก่อน อาการของอากงเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ กินข้าวไม่ได้ติดคอตลอด จึงได้เปลี่ยนหมอ หมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลาม ผมรีบกลับมาเปิดหนังสืออ่านเรื่องมะเร็งหลอดอาหาร และทราบว่าอาการคงอยู่ได้ไม่เกิน 2-3 ปี

ผมรู้สึกเสียใจมากกับเหตุการณ์นี้ เพราะผมเคยเจอคนไข้มะเร็งหลอดอาหารมาก่อน และอาการของอากงก็ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้ แต่ผมกลับไม่เคยนึกถึงเลย นั่นเพราะผมแค่เรียนไปวันๆ ให้มันจบ ให้มันสอบผ่าน ไม่ได้คิดว่าจะนำความรู้ไปใช้จริงเลย ผมจึงได้เปลี่ยนความคิดที่จะเป็นหมอที่ดี มีความรู้ความสามารถในการรักษาคนไข้

 "อากงท่านนี้อยากให้ผมเป็นหมอมาก ท่านได้ส่งเงินให้ผมใช้เป็นค่าเล่าเรียนเป็นประจำทุกเดือน"
 

ของขวัญปีใหม่จากคุณยาย

ปลายเดือนธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกล้าจากการตรากตรำมาตลอดทั้งปี ตื่นเต้น นับถอยหลังสำหรับการเริ่มนับ พ.ศ.ใหม่ ได้ของขวัญปีใหม่มา 1 ชิ้น 1 ชิ้นที่ว่าเป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 วินาที เป็นเพียงคำพูดจากปากคุณยายวัย 61 ปี

คุณยายถามว่า "หมอ เมื่อวานไปไหนมา" คุณยายถามเพราะเมื่อวานข้าพเจ้าไม่ได้ขึ้นไปดูคนไข้ อาจเป็นความเคยชินหรืออาจเป็นความผูกพัน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นความเคยชิน คุณยายคงมองว่า ข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดูแลรักษา หรือเป็นความผูกพัน ข้าพเจ้าอดซึ้งใจไม่ได้ แต่ว่าจะเป็นแบบไหนคงดีเกินไปสำหรับข้าพเจ้า

เพราะทุกวันเมื่อขึ้นตึกมาดูคนไข้  ข้าพเจ้าได้แต่ถามด้วยประโยคเดิมๆ ซ้ำๆ มีไข้ไหม ปวดไหม ดูบันทึกการพยาบาล เปิดดูแผล ไม่ได้รู้อะไรเลย มีแต่ความเลื่อนลอยไหลไปตามที่อาจารย์แพทย์สั่ง ไม่ได้คิดว่าต้องรับผิดชอบคนไข้ ไม่มีแผนการรักษา ไม่สนใจภาวะแทรกซ้อน

คำถามของคุณยาย ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่า ข้าพเจ้ากำลังหลงลืมสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำ กำลังทำลายความหวัง ดูแคลนความพยายามของคุณยาย เพราะคุณยายพยายามทำตามที่หมอบอก คุณยายทนความเจ็บปวดบริหารข้อเข่า จนเข่าไม่ยึดติด คุณยายบริหารกำลังแขน รอวันที่จะฝึกเดิน แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าทำ นั่นคือไม่ได้ดูแลคุณยายอย่างสุดกำลังความสามารถ ข้าพเจ้าละอายใจต่อคุณยายที่ยิ้มอย่างใสซื่อให้ข้าพเจ้าทุกๆ เช้า
เมื่อคิดได้ไม่สายเกินไปที่จะรีบกลับไปอ่านหนังสือ ตั้งใจดูแลคนไข้ ตั้งใจจะเป็นหมอที่ดี
 

ภูมิใจคนไข้กอด

ความรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่เป็นการได้เข้าไปพูดคุย ถามเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือปัญหาต่างๆ ของคนไข้ รู้สึกได้ว่าการได้พูดคุยสามารถทำให้คลายความกังวลได้บ้าง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ต้องนอนรักษาตัวในที่แปลกถิ่น ไกลบ้าน ไม่มีญาติมาเฝ้า ทำให้กังวลหรือกลัว

การได้พูดคุยกับคนไข้นั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดี มีกำลังใจจากการเรียนได้บ้าง การได้ดูแลคนไข้ อย่างน้อยก็ได้ช่วยดูในบางเรื่องที่คนไข้ไม่กล้าบอกกับหมอรุ่นพี่หรืออาจารย์ เราได้ช่วยเป็นสื่อกลางให้

ตอนที่อยู่แผนกอายุรกรรม มีคนไข้หญิงสูงอายุคนหนึ่งที่ต้องดูแล ข้าพเจ้าตรวจกำลังกล้ามเนื้อ คนไข้คงจะงงปนขำ ว่าหมอตรวจอะไร ให้ออกแรงสู้กัน คนไข้หัวเราะและคว้าตัวเราเข้าไปกอด ก็เป็นความรู้สึกที่ดี ที่การตรวจไม่ได้ทำให้คนไข้เจ็บหรือลำบาก เป็นเรื่องราวดีๆ ที่ภาคภูมิใจ
 

ถุงนอนสำหรับลูกกตัญญู

เมื่อข้าพเจ้าเรียนอยู่ภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้ดูแลคนไข้หญิงอายุ 35 ปี คนไข้เป็นเบาหวานมาด้วยอาการเป็นแผลที่เท้า สิ่งที่ประทับใจคือ ลูกชายของคนไข้อายุ 8 ขวบ มาคอยดูแลคนไข้ตลอด และจากการซักประวัติทำให้ทราบว่าในครอบครัวมีแต่แม่กับลูก เมื่อแม่ไม่สบายลูกชายเป็นคนคอยดูแล ทุกครั้งที่มาเฝ้าแม่ ลูกจะนอนใต้เตียง แม่ก็เป็นห่วงลูกเพราะยุงมาก กลัวว่าลูกจะเจ็บไข้ไม่สบาย จะให้ลูกกลับไปบ้านก็กังวลเป็นห่วงลูก ส่วนลูกไม่ยอมกลับบอกจะอยู่ดูแลแม่

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ช่วยเหลือคือ ไปยืมถุงนอนที่ศูนย์แพทย์มาให้ลูกคนไข้ เมื่อคนไข้แผลหายดี ทั้งสองแม่ลูกได้มาขอบคุณข้าพเจ้าที่หาถุงนอนมาให้ ข้าพเจ้าได้แนะนำเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาล การดูแลรักษาความสะอาดแผล

นอกจากความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนไข้แล้ว ข้าพเจ้ามีความประทับใจในความรักระหว่างแม่กับลูก ความห่วงใย ความกตัญญูของลูกที่คอยดูแลแม่
 

รอยยิ้มครั้งสุดท้าย

คนไข้คนหนึ่งเป็นมะเร็งรังไข่ลุกลามไปปอดและตับ นอนรักษาตัวโดยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ  ผมเห็นคนไข้ทรมานมาก และได้ยินอาจารย์แพทย์คุยกับแพทย์ประจำบ้านว่า คนไข้อยู่ในระยะสุดท้าย ใช้การรักษาแบบประคับประคอง ผมมาดูคนไข้ ไม่มีอะไรในหัว ไม่รู้จะทำอย่างไร คิดอย่างเดียวอยากให้คนไข้ยิ้ม และมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ผมไปพูดคุยด้วย ทราบว่าคนไข้มีอาชีพขายอัญมณี สังเกตเห็นคนไข้สีหน้าทุกข์ทรมาน เลยแนะนำว่า ตื่นขึ้นมาให้จินตนาการว่าตัวเองกำลังขายเพชรพลอยให้กับคนอื่นๆ ที่นอนรอบตัว ไม่ต้องนึกว่าตัวเองกำลังป่วย

เช้าวันต่อมา ผมมาดูคนไข้ ถามเธอว่าขายได้เยอะไหม สิ่งที่ผมดีใจคือ เธอยกนิ้วโป้งให้ และพยายามยิ้มให้ผม

ผมคิดว่าบางครั้งชีวิตเราไม่ต้องการอะไรมากหรอก แค่มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แค่คิดถึงเรื่องดีๆ ก็น่าจะทำให้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นบ้าง ผมดีใจที่คนไข้ของผมยังมีรอยยิ้มก่อนจากไป เป็นรอยยิ้มครั้งสุดท้ายที่ให้บทเรียนแก่ผม

สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะได้อะไรจากคนไข้ เราอาจได้โอกาสเรียนรู้ อาจมีรายได้จากการประกอบวิชาชีพ แต่เรื่องสำคัญสำหรับผมคือ เราได้ให้อะไรมากกว่า

ข้อมูลสื่อ

372-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์