• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จากใจถึงใจ คนไข้จิตเวช

การดูแลรักษาคนไข้จิตเวช มีความยุ่งยากซับซ้อนแตกต่างไปจากคนไข้ทางกาย  ผู้รักษาพยาบาลต้องใช้มิติทางด้านจิตใจสูง จึงจะสามารถเยียวยาคนไข้ได้ดี นอกจากนั้นแพทย์และพยาบาลยังต้องมีใจไว้เยียวยาตัวเองด้วย

ผมมีโอกาสไปเยี่ยมให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาคุณภาพสถาบันจิตเวชแห่งหนึ่ง ได้เรียนรู้การปฏิบัติงาน ปรัชญาแนวคิดของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนไข้ เป็นประสบการณ์ที่
น่าประทับใจ จึงขอนำมาเสนอในบทความนี้ เพื่อเผยแพร่เมล็ดพันธ์คุณงามความดี

 

คนไข้ต้องการความรัก

"ตอนมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ วันหนึ่งถูกคนไข้ตบหน้าจนหมวก (พยาบาล) หลุดกระเด็น"
พยาบาลอาวุโสคนหนึ่งเล่า เพียงเธอกล่าวคาดโทษคนไข้คนหนึ่งซึ่งประพฤติเกเร คนไข้ขัดใจและทำร้ายเธอ

"ตอนแรกเสียใจอยากลาออก แต่เมื่อคิดอีกทีตัวเราเป็นพยาบาล มีหน้าที่ต้องทำ ถ้าลาออกแล้วใครจะพยาบาลคนไข้"
เธอตั้งใจทำงานด้วยความรู้ทักษะและจิตใจที่ดีงาม สามารถชนะใจ เยียวยาความทุกข์และโรคภัยของคนไข้ได้  ทุกวันนี้เธอทำงานอย่างมีความสุข

ในขณะที่เธอนำผมเยี่ยมคนไข้ที่เรือนพักคนไข้ คนไข้หญิงคนหนึ่งโผเข้ากอดเอวของเธอแล้วร้องไห้ เธอปลอบประโลมหญิงวัยไล่เลี่ยกันเหมือนแม่ปลอบลูก คนไข้คนนี้ผูกพันกับเธอมาก มักโผเข้ากอดเธอทุกครั้งที่ได้พบ คนไข้จิตเวชต้องการความรัก และรักคนอื่นได้ไม่น้อยกว่าคนปกติ

คนไข้ที่มีอาการไม่สงบ จัดให้อยู่ในห้องแยก มีห้องส้วมอยู่ในห้อง แม้จะถูกล็อกประตูเสมือนถูกขัง แต่เนื้อตัวคนไข้สะอาด สวมใส่เสื้อผ้าสะอาด สภาพห้องและห้องส้วมสะอาดเรียบร้อย  แสดงถึงการดูแลคนไข้ด้วยความเอาใจใส่

 

กิจกรรมสำหรับคนไข้

คนไข้ที่อาการดี ได้รับการฝึกให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเอง โดยจัดแปรงสีฟัน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เฉพาะคน ไม่ปะปนกัน

เมื่อถึงเวลากินอาหาร คนไข้จะมารวมกลุ่มกันที่ห้องอาหาร ต่างช่วยกันจัดโต๊ะและเสิร์ฟอาหาร คนที่มีอาการดีช่วยดูแลคนที่มีอาการหนักและช่วยตัวเองไม่ได้ เมื่อกินอิ่มแล้ว ต่างช่วยกันเก็บสำรับ ล้างแก้วน้ำของตัวเองไปเก็บอย่างเรียบร้อย

มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และนันทนาการสำหรับคนไข้เป็นกลุ่มๆ ผมมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมกลุ่มที่นักเรียนพยาบาลสอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติด คนไข้หลายคนพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิธีการพูดและเนื้อหาสาระเหมือนคนปกติ

เนื่องจากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของนักเรียนพยาบาลที่ฝึกอยู่กับคนไข้กลุ่มนี้ เมื่อจบกิจกรรม จึงกินอาหารว่างร่วมกันและล่ำลากัน

ตัวแทนคนไข้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องจะไม่ข้องแวะกับยาเสพติด และกล่าวขอบคุณได้อย่างน่าฟัง
"คนไข้จิตเวชไม่โง่ มีความคิดดีๆ เพียงแต่มีปัญหาเรื่องอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ " พยาบาลคนหนึ่งอธิบาย

 

การพัฒนาทักษะอาชีพ

มีการฝึกสอนงานศิลปหัตถกรรม โดยทีมงานอาชีวบำบัดร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เป็นการฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ฝึกทักษะการทำงานที่ประสานทั้งสายตา มือ และสมาธิ

จัดห้องแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากคนไข้ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ ภาพวาด  เครื่องประดับ กล่องกระดาษทิชชู พัด พรมเช็ดเท้า ทำให้คนไข้มีรายได้จากผลงาน มีการขยายงานการฟื้นฟูทักษะอาชีพและสังคม เพิ่มเติมจากงานศิลปหัตถกรรม เช่น แม่บ้าน คนสวน ซักฟอก  ผู้ช่วยแม่ครัว ช่างทาสี เป็นต้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา คนไข้สามารถทำงานได้หลายสิบคน และมีการจ้างงานแล้ว 4 คนโดยประกอบอาชีพแม่บ้าน ทำความสะอาด และงานหัตถกรรม

จากการติดตามประเมินผลพบว่า คนไข้ทำงานได้ดี เป็นที่พอใจของนายจ้าง และเปิดโอกาสให้มีการแนะนำงานต่อๆ กัน

การที่คนไข้ทำงานและพึ่งตนเองได้ สร้างความเชื่อมั่นและกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา เป็นวิธีการเยียวยาที่ได้ผลดีมาก

 

 

 

 

 

 

 

                                                              สวนในโรงพยาบาล

 

ปฏิบัติการที่หน่วยฉุกเฉิน

หน่วยฉุกเฉินมีภาระงานที่ต้องเผชิญกับคนไข้ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้เกือบทุกวัน บางคนญาติควบคุมตัวมา บางคนตำรวจนำส่ง

คนไข้บางคนซ่อนอาวุธมาในเสื้อผ้า ถุงเท้า กระเป๋า เช่น มีด กรรไกร ค้อน สิ่ว ตะปู ท่อนเหล็ก แม้แต่คนนำส่งยังไม่ทราบ อาวุธเหล่านี้คนไข้พร้อมจะใช้ทำร้ายบุคคลอื่นและตัวเอง
ทีมเจ้าหน้าที่ที่มีการฝึกฝนอบรมความรู้และทักษะในการรับมือคนไข้อย่างดี ร่วมกับการถ่ายทอดประสบการณ์จากเจ้าหน้าที่รุ่นพี่ เกิดการประยุกต์วิธีการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ มีการสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ทั้งผ้าผูกยึด เสื้อรัดตัว การยึดตรึงม้านั่งคนไข้เพื่อป้องกันคนไข้ยกใช้ทำร้าย การบุขอบโต๊ะ และเคาน์เตอร์ด้วยยาง กันคนไข้กระทบกระแทกทำร้ายตนเอง เป็นต้น

ทีมเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการสร้างสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจและร่วมมือ แม้จะยุ่งยาก 
แต่ทุกคนทำงานด้วยเจตคติที่ดีและมีความอดทน เจ้าหน้าที่สามารถผูกมัดคนไข้ ยึดอาวุธ และ

ฉีดยาคนไข้ด้วยวิธีการละมุนละม่อม โดยไม่ให้คนไข้บาดเจ็บ และป้องกันตนเองจากการถูก
ทำร้าย
 

 

 

 

 

 

 

                         การใช้ผ้าพันตัวคนไข้ซึ่งทำได้รวดเร็ว  และคนไข้ถอดออกได้ยาก

 

สิ่งแวดล้อมสำหรับคนไข้จิตเวช

คนไข้จิตเวชอาจเกิดอันตรายได้มากกว่าคนไข้ทางกาย เช่น การหลบหนี การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย การทำลายทรัพย์สินและการทำร้ายเจ้าหน้าที่ อาการเหล่านี้มักเกิดจากประสาทหลอน และไม่มีสติในการควบคุมตนเอง

การจัดสัดส่วนอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมจึงเน้นความปลอดภัยด้านโครงสร้าง ทั้งต่อคนไข้ ญาติ และเจ้าหน้าที่ และในขณะเดียวกันต้องไม่ให้เกิดสภาพเหมือนถูกควบคุมตัว สร้างความไม่วางใจ และเกิดความหวาดกลัว

โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับต้นไม้ บำรุงรักษาอย่างดี มีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีเคียงคู่อาคารทันสมัย จัดสวนสวยงามร่มรื่นตามมุมต่างๆ ทั่วโรงพยาบาล

อาคารหลังใหม่ที่กำลังจะเปิดใช้  ได้รับการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาคนไข้จิตเวชโดยเฉพาะ มีการเลือกใช้โทนสีและใช้ภาพ เพื่อลดความน่ากลัวของช่องลูกกรง จัดสัดส่วนเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถมองเห็นคนไข้ได้ แต่คนไข้ไม่สามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้
วัสดุอุปกรณ์ที่คนไข้สามารถใช้ในการทำร้ายตัวเอง ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม เช่น ภายในห้องน้ำ ฝักบัวจะฝังเข้าไปในผนังและหักง่าย ไม่มีก้านที่คนไข้สามารถใช้คล้องเชือกผูกคอตัวเองได้  ใช้ถังน้ำขนาดเล็กใส่น้ำล้างโถอุจจาระ ป้องกันคนไข้จุ่มศีรษะลงในถังน้ำเพื่อฆ่าตัวตาย ประตูห้องน้ำไม่สามารถล็อกได้จากด้านใน เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

คุณหมอท่านหนึ่งให้ข้อคิด
"เราดูแลคนไข้เหมือนคนคนหนึ่ง พยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนจัดให้คนปกติ  จัดให้มีของใช้ส่วนตัวของแต่ละคน มีตู้เก็บของ ให้มีโอกาสร่วมกิจกรรม ฝึกให้รับผิดชอบตัวเอง  เพื่อให้มีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม ที่สำคัญคนทำงานต้องมีใจ"    
 

ข้อมูลสื่อ

370-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์