"ได้ละหมาดแค่ตอนเช้ามืด ก่อนออกจากบ้านมาทำงาน ส่วนรอบเที่ยงและบ่ายไม่มีโอกาสได้ทำ ตอนเย็นกลับบ้านไปจึงต้องทำชดเชย 2 ครั้งนั้นด้วย จะทำเป็นปล่อยผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ ปกติทำละหมาดแต่ละครั้งต้องนิ่ง มีสมาธิมากอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องทำชดเชยย้อนหลังไปแบบนี้ยิ่งต้องใช้สมาธิมากขึ้นไปอีก ต้องรวบรวมจิตใจให้อยู่กับตรงนั้นให้ได้"
พี่เล็ก หรือจุฑารัตน์ บินอุสมาน หัวหน้างานคดีและประกันชีวิต โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พูดถึงสมาธิและการรวบรวมจิตใจ ซึ่งเธอถือว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับมุสลิมที่ต้องทำละหมาดทุกวัน วันละ 5 รอบ
การกราบไหว้พระเจ้าหรือละหมาดทั้ง 5 รอบ คือ เช้ามืด หลังเที่ยง บ่ายสาม หกโมงเย็น และหลังสองทุ่มนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก ผู้ทำต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่ากำลังยืน ก้ม นั่ง และกราบ ในกรณีที่ต้องทำชดเชยรอบที่ผ่านไปแล้วด้วยยิ่งต้องตั้งสมาธิให้ดี ต้องลำดับให้ได้ว่ากำลังทำของรอบไหนอยู่ ไม่ใช่เพียงทำๆ ไปเพื่อให้ครบจำนวนครั้งเท่านั้น
"คำว่า สมาธิ ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือการทำสมาธิต่อหน้าพระเท่านั้น แต่สมาธิคือการมีสติ ระลึกรู้ในทุกขณะที่เคลื่อนไหวเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลามหรือศาสนาใดๆ สมาธิมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน"
สิบกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้พี่เล็กยิ่งตระหนักในเรื่องของการมีสติคือ การทำโยคะ
ตั้งแต่ครั้งที่ได้ไปอบรมคอร์สการออกกำลังกายเพื่อมาเป็นครูสอนบุคลากรในโรงพยาบาลครั้งนั้น ทำให้พี่เล็กมีโอกาสได้รู้จักกับโยคะและรู้สึกชอบโยคะมากกว่าการบริหารร่างกายแบบอื่น แม้ช่วงแรกของการเป็นครูจะยังไม่ได้สอนเรื่องโยคะ แต่ทุกครั้งที่นำออกกำลังกายจะหาโอกาสแทรกโยคะเข้าไปด้วยเสมอ จนกระทั่งได้สอนโยคะแบบจริงจังในปัจจุบัน
"โยคะ ทำให้สงบ เมื่อไหร่ที่เล่นโยคะทำให้รู้สึกเหมือนการกลับไปอยู่กับธรรมชาติ เพราะร่างกายและจิตใจมีความสมดุล ใจนิ่ง อารมณ์เย็นมากขึ้น รู้จักจัดการและควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ โยคะทำให้หายใจเป็น หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ หายใจเข้าไปเท่าไหร่ หายใจออกให้หมดเท่านั้น การหายใจที่ถูกต้องจะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น"
"สิ่งที่สังเกตได้คือ อาการภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ดีขึ้นชัดเจน ผลพลอยได้อีกอย่างคือ กล้ามเนื้อที่แข็งแรงและรูปร่างที่ดีขึ้น"
ด้วยวัยที่ย่างเข้า 53 ปีแล้วแต่ยังมีรูปร่างที่ดี จึงกลายเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้บางคนเข้ามาเรียนโยคะเพราะคาดหวังว่าจะมีรูปร่างเป็นที่พึงพอใจอย่างที่เห็นจากครูฝึก
"อยากให้คิดว่ามาออกกำลังเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพมากกว่าเรื่องความสวยงาม สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ความสม่ำเสมอ ต้องมีใจที่จะทำ บังคับกันไม่ได้ ต้องมีใจอยากจะทำเอง อย่าบอกว่าไม่มีเวลา อยากให้คิดเหมือนการกินข้าว ถึงเวลาก็ต้องกิน เมื่อไหร่กินจนเป็นปกติวิสัยแล้ว วันไหนไม่ได้กินก็หิว เช่นเดียวกับการออกกำลัง พยายามทำให้สม่ำเสมอ จัดเวลาให้ลงตัว ถึงเวลาทำก็ต้องทำ เมื่อทำจนเคยชินแล้วหากวันไหนไม่ได้ทำ ร่างกายไม่ได้หลั่งสารความสุข ก็ไม่สบายตัว จนกระทั่งต้องกลับมาทำนั่นแหละจึงจะรู้สึกดีขึ้นมาได้ในที่สุด"
เพราะเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ประกอบกับเล่นโยคะมานาน ทำให้รู้จักจัดระเบียบความคิด ให้หันมามองอารมณ์ตัวเองมากขึ้น เน้นให้มีสติ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกิน
"พี่เล็กต้องออกกำลังอยู่เสมอ เพราะเป็นคนกินเยอะ กินได้ทั้งวัน จึงใช้วิธีกินให้มีสติ คือต้องรู้ว่าในแต่ละวันกินอะไรไปเท่าไหร่แล้ว ถ้าตอนเที่ยงกินแป้งเยอะไป ตอนเย็นต้องไม่กินอีกแล้ว ต้องหันไปกินผัก ผลไม้แทน หากกินทุกอย่างตามใจตัวก็จะได้สุขภาพที่แย่ตามมา"
ทุกวันนี้พี่เล็กสอนโยคะอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน สอนคนอื่นตัวเองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ความสุขอย่างหนึ่งของการสอนโยคะนอกจากการได้รับความสนใจและยอมรับจากคนส่วนใหญ่แล้ว นั่นคือ การได้เห็นทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่มีความสุข เป็นความภูมิใจของคนที่ตั้งใจทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม
- อ่าน 6,315 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้