• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ให้งานทำ คุณค่าสำคัญต่อชีวิตคนพิการ

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ มีการกล่าวถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การคุ้มครองแรงงาน มาตรการเพื่อการมีงานทำ และการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ

สาระสำคัญให้เจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงาน 
ในอัตราส่วนที่กำหนด ถ้าไม่รับต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  นอกจากนั้นเมื่อรับคนพิการเข้าทำงาน มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีตามสัดส่วนค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการ\

โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รับคนพิการเข้าทำงานในแผนกต่างๆ ซึ่งมีแง่มุมที่น่าคิดและเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง ในการสร้างโอกาสในการทำงานแก่คนพิการ

 

ศูนย์สั่งการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

ชายพิการ ๓ คน ได้รับโอกาสทำงานที่ศูนย์สั่งการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน คนหนึ่งแขนขาด คนหนึ่งขาพิการ และอีกคนหนึ่งกระดูกสันหลังหัก ขาอ่อนแรง
ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกของคนพิการทั้งสาม
"หลังจากที่ผมได้รับการผ่าตัดแล้ว ผมไม่สามารถขยับตัวได้เลย ผมไม่ได้สิ้นหวัง แต่ผมไม่มีความหวังอยู่เลย"

"ผมได้รับการติดต่อให้มาทดลองงานที่ห้องศูนย์สั่งการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในตอนแรกก็รู้สึกดีใจมาก หัวใจเต้นแรงหลายวัน แต่เมื่อคิดดีๆ มีความกังวลว่า เราจะทำงานให้เขาได้หรือ... แต่พอได้มาทำงานแล้ว ความกังวลใจตอนแรกก็หายไป... ผมรู้สึกเป็นสุข อยากทำงานทุกวัน ขอขึ้นล่วงเวลา  โดยไม่ได้คิดค่าตอบแทน แปลกใจว่าเขาเป็นคนอื่นเขายังไว้ใจเรา มอบหมายงานที่สำคัญให้เรา ผมจึงตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด "

"ได้ประสบการณ์ในการติดต่อกับบุคคลอื่น การอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้ในการปรับปรุงตนเองให้มีค่าในสายตาของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้คิดดูให้ดีว่ามีค่ามากแค่ไหน เพราะไม่ว่าเราจะทำงานที่ไหน เราจะอยู่กับกลุ่มคนใดต่อไปในอนาคต การเรียนรู้ในเรื่องของคนในช่วงนี้ จะให้ประสบการณ์ที่มีค่าต่อชีวิตเรามาก"

"โชคดีมากทำงานได้ไม่นาน ได้ไปเที่ยวพัทยา ๒ วัน และไปเที่ยวพม่าอีก ๔ วัน ไม่เคยไปมาก่อน ยังไม่เคยขึ้นเครื่องบิน ตื่นเต้นน่าดู เวลาทำงานมีเรื่องตื่นเต้นสนุกสนานทุกวัน"

ผลการปฏิบัติงานของคนพิการทั้ง ๓ มีประสิทธิภาพดี ไม่แพ้คนปกติ แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในเพื่อนร่วมงาน

เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เปลี่ยนไป ตั้งใจทำงานมากขึ้น เกิดความรักในงาน ให้ความสำคัญต่องาน หวงแหนอาชีพ หวงแหนร่างกายและอวัยวะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เคยพักเที่ยงหนึ่งชั่วโมง ก็ใช้เวลาพักน้อยลง และที่สำคัญมีความรักและเอื้ออาทรกันมากขึ้น

 

หมอนวดตาบอด

ชายคนนี้เกิดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ ทำให้ตาบอดทั้ง ๒ ข้างตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี เขาจบปริญญาวิศวโยธา ปัจจุบันเป็นหมอนวดที่หน่วยการแพทย์แผนไทย เป็นวิทยากรอาสาสมัครรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ ทุกวันอังคารนั่งรถโดยสารจากบ้านไปเรียนที่มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ยานนาวา กรุงเทพฯ เขาเรียนหลักสูตรการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย

"ผมไปคนเดียวได้แม้ต้องขึ้นรถทัวร์ต่อรถเมล์ ออกจากบ้านตี ๒ กลับถึงบ้านเกือบเที่ยงคืน  ผู้บังคับบัญชาใจดี ให้หยุดงานวันอังคาร และมาทำชดเชยวันเสาร์ ไม่ต้องขาดงาน"

"อยากได้ความรู้ทักษะไว้ช่วยรักษาคนไข้ นวดให้ถูกเส้นถูกจุด เขาจะได้หาย ดีใจที่มีส่วนช่วยให้คนไข้คลายเจ็บปวด ทำงานแล้วมีความสุข"

"แม้รายได้จะน้อย แต่อยู่ได้ ใช้จ่ายประหยัด อยู่อย่างพอเพียง"

พยาบาลซึ่งดูแลหน่วยการแพทย์แผนไทยให้ความเห็นว่า
"คนพิการอ่อนไหวง่าย การทำงานกับคนพิการต้องเข้าใจเขา แล้วจะทำงานได้ด้วยดี บางครั้งเขาเครียด ถ้าหมอนวดเครียด การนวดจะเปลี่ยนไปจนคนไข้รู้สึกได้ การนวดเป็นศิลปะที่เกี่ยวพันกับจิตใจ ถ้าคนนวดผ่อนคลาย คนไข้ก็จะผ่อนคลาย"

"เป็นคนรักงาน ใฝ่รู้ มีความหวังและพยายามทำประโยชน์แก่คนอื่น"

 

งานฟื้นฟูคนพิการ

มีคนพิการทำงาน ๒ คน ที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คนหนึ่งเป็นหญิงแขนและขาขาดทั้ง ๒ ข้าง อีกคนหนึ่งเป็นชายขาขาดทั้ง ๒ ข้าง
"ทำงานที่นี่มีความสุข ได้ทำงานได้เรียนรู้โลกกว้าง ได้พบกับผู้คนมากหลากหลาย เป็นการสร้างโอกาสให้กับตนเอง มีความฝันที่จะเป็นครูในอนาคต"

"ดีใจที่มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อคราวเสด็จฯ งาน ๑๐๐ ปีโรงพยาบาล ได้ถวายภาพวาดแด่พระองค์"

ม้จะแขนขาขาดทั้ง ๒ ข้าง แต่เธอสามารถวาดภาพด้วยท่อนแขนได้สวยงาม โดยเริ่มต้นหัดวาดหลังจากถูกตัดแขนแล้ว เหมือนปาฏิหาริย์ เธอวาดภาพได้สวยงามกว่าก่อนถูกตัดแขนเสียอีก

หญิงสาวคนนี้นอกจากทำงานในโรงพยาบาลแล้ว ยังทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ นอกจากนั้นวันเสาร์อาทิตย์ไปเรียนปริญญาตรี สาขาการศึกษาพิเศษ ครุศาสตร์บัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ

"คนพิการที่ทำงานได้ดี มีความรับผิดชอบ อุตสาหะ อดทน เข้มแข็ง และมีวิธีคิดทางบวก ถ้าให้เขาพูดคุยกับคนไข้ คนทุพพลภาพ จะกระตุ้นกำลังกายกำลังใจได้มาก" คุณหมอซึ่งใกล้ชิดกับคนพิการให้ความเห็น 

 

ขอเป็นคนคนหนึ่ง

คนพิการมิได้ต้องการให้คนเวทนา หรือหยิบยื่นความสงสารให้ เขาต้องการเพียงโอกาสที่เมื่อพิการแล้วขาดหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสให้การทำงาน เพื่อให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนคนคนหนึ่ง

จากการเรียนรู้ของผู้ใกล้ชิดคนพิการพบว่า คนพิการมีการพัฒนาความรู้และทักษะได้เร็วเพราะมีความมุ่งมั่นสูง เมื่อได้ทำงานจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น มีสุขภาพจิตดี  พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป มีความกล้าในการแสดงออกและอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนอย่างมีความสุข

ข้อมูลสื่อ

371-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์