• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮ็อบบี้ (๑)

ตอนนี้ให้ชื่อว่า "ฮ็อบบี้" ที่มาจากภาษาฝรั่ง Hobby ไม่ใช่ "ฮ็อบบิต" นะครับ

"ฮ็อบบิต" เป็นชื่อชนเผ่าแคระในเรื่อง "Lord of the ring" 

ฮ็อบบี้ คืองานอดิเรก
พ่อกับแม่ผู้เขียนชอบให้ลูกมีงานอดิเรก ตอนเล็กๆ งานอดิเรกของพวกเราคือสะสมแสตมป์ จะว่าเป็นการริเริ่มของพ่อกับแม่ก็ไม่ใช่ เราได้มาจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียนต่างหาก แต่พ่อกับแม่ก็คอยสนับสนุนส่งเสริม วิธีคือ แม่จะตัดแสตมป์จากจดหมายเก็บไว้ให้พวกเราเสมอ
สมัยนั้น การโฆษณายาตัวใหม่ๆ จะใช้วิธีส่งจดหมายมาจากต่างประเทศ พ่อจะได้รับจดหมายจำพวกนี้ประจำ เราจึงมีแสตมป์ต่างประเทศสะสมโดยง่าย แสตมป์บางทีก็ซ้ำๆ กัน เราเอาไปแลกกับแสตมป์อื่นของเพื่อนๆ

ประเทศที่ส่งมาส่วนใหญ่จะเป็นเยอรมนีกับสวิตเซอร์แลนด์ เราจึงรู้จักคำว่า Deutsch แทนประเทศเยอรมนี และ Helvetia หมายถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะ ๒ คำนี้ปรากฏบนแสตมป์ของประเทศทั้ง ๒ แทนคำว่า Germany และ Switzerland
นี่เป็นตัวอย่างความรู้รอบตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้จากการสะสมแสตมป์

ต่อมา เรามาเห่อสะสมผีเสื้อ และแมลงชนิดต่างๆ เรื่องของเรื่อง มีภราดาที่โรงเรียนเป็นนักสะสมของพวกนี้ ท่านส่งเสริมให้เด็กนักเรียนหาแมลงสวยๆ งามๆ และผีเสื้อมาให้ท่าน ท่านมีรางวัลตอบแทนให้ ไม่ช้าไม่นาน กลายเป็นกระแสความนิยมระบาดไปทั้งโรงเรียน

พอดีกับเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ เรานำกระแสนี้กลับมาที่บ้านด้วย พ่อรับกระแสนี้อย่างเต็มที่ คงเห็นเป็นโอกาสที่พวกเราทโมนไพร จะได้มีอะไรทำในช่วงวันหยุดอันยาวนาน ท่านสั่งให้คนตัดถุงผ้าติดปลายไม้สำหรับไล่ช้อนจับผีเสื้อ นำขวดแก้วเปล่าที่เคยใส่ยามาใส่ยาล้างเชื้อโรคและดองซากศพจำพวกฟอร์มาลินไว้ข้างใน

เมื่อเราจับผีเสื้อหรือแมลงได้ ก็เอาตัวมันใส่ลงไปในขวด มันก็จะตายและไม่เน่าเปื่อย นับเป็นการทำบาปอยู่ไม่น้อย แต่เราก็สนุกสนานกับการไล่จับผีเสื้อและแมลงสวยงามต่างๆ เช่น แมลงเต่าทอง แมลงทับ ด้วงหนวดยาว ฯลฯ ตลอดฤดูร้อนนั้น เมื่อได้ตัวมา เราก็นำมาเซ็ตในกล่องกระดาษ ตรึงด้วยเข็มหมุด แยกประเภทเป็นกล่องๆ สมัยนั้นยังไม่มีหนังสือสมุดภาพผีเสื้อ หรือแมลงขาย เราได้แต่จัดรวมตามความคิดของเรา โดยมากเอาตัวที่คล้ายกันมาไว้ในกล่องเดียวกัน แต่บางทีก็ดูตามความสวยงาม นับเป็นงานอดิเรกที่เพลิดเพลินไม่น้อย ที่สำคัญมันสอนให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติ มุมหนึ่งเป็นการทำลายชีวิต ขณะเดียวกัน มันช่วยให้เราได้ชื่นชมกับความงามของผีเสื้อและแมลงต่างๆ เมื่อนำมาพิจารณาใกล้ๆ จนนำไปสู่ความหลงใหลในธรรมชาติในกาลต่อมา

พอโตมาอีกหน่อย เราเริ่มเลี้ยงสัตว์ เริ่มจากปลากัดที่นำมาใส่ในขวดหมึกควิ๊งก์ (quink) ที่ใช้หมดแล้ว หมึกควิ๊งก์เป็นหมึกที่ใช้กับปากกาคอแร้ง และปากกาเบอร์ ๕ ปากกาคอแร้งใช้เขียนภาษาอังกฤษ สามารถกดหนักเบาเป็นลายเส้นตัวอักษรที่งดงามอย่างตัวหนังสือในสมัยเชกสเปียร์ ส่วนปากกาเบอร์ ๕ ใช้สำหรับคัดไทย สมัยนั้นเรายังไม่มีปากกาลูกลื่นใช้ อย่างดีก็มีปากกาหมึกซึมซึ่งจะใช้ได้เฉพาะนักเรียนชั้นโตๆ

ขวดหมึกควิ๊งก์ใช้เลี้ยงปลากัดได้เป็นอย่างดี เพราะมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก สามารถบรรจุในช่องเก็บของโต๊ะห้องสตั๊ดดี้ได้ (สตั๊ดดี้ มาจากภาษาอังกฤษ Study ที่แปลว่า การศึกษา) ห้องสตั๊ดดี้คือห้องทำการบ้านสำหรับเด็กประจำ เวลาอยู่ในห้องต้องเงียบกริบ ห้ามส่งเสียงคุยกัน เป็นการทำลายสมาธิของผู้อื่นที่กำลังทำการบ้าน หรือก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเรียน

หนังสืออ่านเล่น หนังสือการ์ตูนเป็นของต้องห้ามสำหรับอ่านในเวลาสตั๊ดดี้ การเลี้ยงปลากัดก็เป็นสิ่งต้องห้าม แต่เราแอบทำกัน ครูบางทีเห็นก็ทำเป็นไม่เห็น ทำนองเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ คงเห็นเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของนักเรียน สำหรับอาหารปลากัดคือลูกน้ำ บางทีหาลูกน้ำไม่ได้ ก็ตบยุงที่มากัดเราให้ปลากินบ่อยๆ

เราเอาปลากัดมาวางชิดกัน เพื่อดูมันพองครีบ พองหาง ขดตัวรำเข้าใส่กัน สีสันพลอยเปลี่ยนไปสดใสขึ้นด้วย เราไม่ค่อยเอามากัดกันจริงๆ เสียดายว่าหูหางขาดรุ่งริ่ง หมดสวย
ครั้งหนึ่งตอนปิดเทอม ผู้เขียนเพาะปลากัดที่บ้าน เอาตัวผู้ตัวเมียในโหลมาวางเคียงกันอยู่หลายวัน นางเมียจะไข่สุกจากการจ้องตากันไปมาผ่านขวดโหล นึกๆ ดูก็แปลกดี พอตัวเมียท้องแก่ได้ที่ เราเอามันทั้งสองใส่ในตุ่มน้ำที่เตรียมไว้ ตัวผู้จะรัดตัวเมียให้ออกไข่ ตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมา ไข่จมลงสู่ก้นตุ่ม ตัวผู้จะดำลงไปอมไข่ไว้ในปากนำมาพ่นที่ผิวน้ำทีละใบๆ จนเป็นหวอดใหญ่ แล้วมันจะไล่ตัวเมียไป กลัวตัวเมียจะมากินไข่ของตัวเอง เราก็ช้อนตัวเมียออก ตัวผู้จะอยู่เฝ้าไข่ ระยะนี้มันจะดุร้าย คอยไล่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่เข้ามาใกล้ ตัวมันเองไม่กินอาหาร คอยเฝ้าไข่จนผอมโซ ในที่สุด ไข่ก็ฟักเป็นตัว ลูกปลากัดออกมาตัวเท่าหัวเข็มหมุด ผมนับจำนวนคร่าวๆ ได้ราว ๑๕๐ ตัว ช้อนเอาปลากัดตัวผู้ (พ่อ) ออก เพราะสัญชาตญาณของมันจะกินทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว แม้แต่ลูกของมันเองก็ตาม ปลาตัวผู้เมื่อถูกช้อนออกมาใส่โหลเดิมของมัน พอใส่อาหารคือลูกน้ำลงไป มันจะกินเอาๆ ด้วยความหิวกระหาย

ผู้เขียนเฝ้าดูลูกปลาในตุ่มดินเผาสีแดงทุกวันด้วยใจจดใจจ่อ จะเรียกว่าตื่นเต้นเสียยิ่งกว่าพ่อแม่ปลาอีกก็ว่าได้ โธ่! มันเป็นครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเฝ้าดูชีวิตน้อยๆ เกิดมาตั้งแต่เป็นไข่จนถึงออกมาว่ายระริกระรี่นี่ครับ

จากการเฝ้าดูทุกวัน ผู้เขียนสังเกตว่าจำนวนลูกปลาน้อยลงๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ อาหารเราอุตส่าห์ช้อนไรแดงมาให้ ไรแดงมีขนาดเล็กพอดีคำของลูกปลา ลูกปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนที่ลดลงทำให้ผู้เขียนเป็นห่วง ในที่สุด จาก ๑๕๐ ตัวเหลืออยู่เพียง ๕๐ ตัวเท่านั้น ผู้เขียนจึงวิ่งโร่ไปหาเกจิอาจารย์ที่อยู่ข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เกจิเป็นลุงแก่ๆ ที่ผู้เขียนซื้อปลากัดมาจากแก และได้ถ่ายทอดวิชาการเลี้ยงปลากัดทุกๆ อย่างรวมถึงการเพาะปลากัดด้วย พอเล่าเรื่องให้เกจิฟัง แกถามคำเดียว

"เอาอะไรมาใส่ในตุ่มอีกหรือเปล่า"

ผู้เขียนพยายามนึกดู เกจิบอกให้ผู้เขียนเตรียมโอ่งอย่างไร เช่น ใส่ดินเหนียวรองก้น ใส่ตับจากแห้งลงไปในน้ำเพื่อเป็นอาหารลูกไร ฯลฯ ผู้เขียนทำตามทั้งหมด นึกไม่ออกว่า ทำผิดตรงไหน ถึงได้เกิดเรื่องลูกปลาหายไป เกจิคงเห็นอยู่ว่าผู้เขียนงง จึงถามซ้ำ

"มีพวกไม้น้ำใส่ไปด้วยไหม"

คราวนี้ ผู้เขียนถึงบางอ้อ นึกได้ทันทีว่าเอาดอกจอกที่เก็บมาจากหนองน้ำใส่ลงไปด้วย แต่ก็แค่ดอกเดียว ยังนึกไม่ออกว่าเกี่ยวกันตรงไหน เกจิอมยิ้ม ไม่ยอมอธิบาย บอกให้กลับไปเปิดดูใต้ดอกจอก จะรู้คำตอบ

ผู้เขียนวิ่งตื๋อกลับบ้าน ตรงไปยังตุ่มน้ำและเปิดฝา หยิบเอาดอกจอกขึ้นมา พลิกดูข้างล่าง ไม่มีอะไรนอกจากรากที่ห้อยลงเป็นสายๆ ราวกับหนวดแมงกะพรุน ผู้เขียนพลิกไปพลิกมาจนทั่ว ไม่เห็นสิ่งผิดปกติ จึงวางดอกจอกกลับลงไปในน้ำ จ้องดูลูกปลาตัวเล็กๆ ว่ายเข้ามาตอมดอกจอก นึกในใจว่า คราวนี้โดนเกจิหลอกเสียแล้ว

ทันใดนั้น ผู้เขียนเห็นลูกปลาตัวหนึ่งดิ้นกระแด่วๆ เหมือนถูกจับไว้ด้วยมือที่มองไม่เห็น ผู้เขียนแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ปลาถูกลากเข้าไปใต้ดอกจอกอย่างช้าๆ ผู้เขียนชะโงกหน้าชิดเข้าไปในตุ่ม แล้วก็พบสาเหตุของความลึกลับทั้งมวล ลูกปลาติดอยู่กับปากของสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนไม่เคยเห็นมาก่อน ตัวของมันใสๆ เกือบเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ นี่เป็นสาเหตุที่ผู้เขียนมองไม่เห็นมันในตอนแรก เมื่อดูอย่างพินิจ ตัวของมันคล้ายตั๊กแตนตำข้าว ขนาดยาวราวหนึ่งนิ้วฟุต มันเป็นตัวอะไรไม่รู้แน่ ผู้เขียนรีบจับตัวมันไปพร้อมกับดอกจอก นำไปให้เกจิดู แกหัวร่อร่า บอกผู้เขียนว่า เขาเรียกตั๊กแตนน้ำ ความจริงเป็นตัวอ่อนของแมลงปอ มันคงวางไข่ติดไว้กับรากดอกจอก ฟักเป็นตัวพร้อมกับลูกปลา และได้อาศัยลูกปลาเป็นอาหารอันโอชะ มันมีเพียงตัวเดียว นับเป็นโชคดี ไม่งั้นผู้เขียนอาจไม่มีวาสนาได้เห็นลูกปลาเติบโตเต็มวัยเลยสักตัวเดียว

ต่อมา เราเริ่มสนใจเลี้ยงนกพิราบสื่อสาร ตั้งต้นจากเพื่อนชื่อวิชัยนำเรื่องการเลี้ยงนกพิราบที่บ้านมาคุยให้ฟัง พวกเรารู้สึกทึ่งเมื่อรู้ว่านกสามารถบินกลับบ้านจากที่ไกลๆ ได้ เช่น เมื่อปล่อยจากเชียงใหม่ บินกลับกรุงเทพฯ ได้ เราเริ่มเรียนรู้ว่า ไม่ใช่นกพิราบทั่วไปจะสามารถทำได้อย่างนี้ มีเฉพาะนกที่ผ่านการคัดพันธุ์อย่างพิถีพิถันเท่านั้น เจ้าวิชัยคุยต่ออีกว่า นกพิราบอย่างที่ว่า บ้านเขาก็มี พวกเราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้เขียนกับพี่น้อง แต่เป็นผู้เขียนกับเจ้าฮูกเพื่อนสนิทคอเดียวกันสมัยอยู่โรงเรียนประจำ เราสั่งวิชัยให้เอานกมาขายพวกเราคนละคู่ สนนราคาไม่ใช่ถูกเลย ตัวละ ๑๐๐ บาท สมัยที่ทองยังราคาบาทละ ๔๐๐ บาท นกตัวหนึ่งซื้อทองได้ ๑ สลึง คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่าไร คำนวณเอาเองแล้วกัน

พอดีหน้ากระดาษหมด ต้องอดใจอ่านงานฮ็อบบี้เลี้ยงนกพิราบต่อในฉบับหน้า

 

ข้อมูลสื่อ

372-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น